เดือนที่ผ่านเกือบเรียกได้ว่าเป็นตลาดน้ำสี่ภาคแห่งวงการละเม็งละครไทย ช่อง3 ฉาย ‘รากนคร’ ช่อง7 เล่น ‘นายฮ้อยทมิฬ’ ช่อง8 เล่น ‘เงาอาถรรพ์’ ก่อนรากนครจะรีบฉายทีเดียวรวดชิงจบอย่างรวดเร็ว ทว่าคนดูยังไม่จบ มันก็จบยากอยู่แล้วล่ะ เพราะละครประเภทวัฒนธรรมล้านนา หรือวัฒนธรรมท้องถื่นอื่นๆ แบบสยามล่าอาณานิคม ที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่วัฒนธรรมกรุงเทพฯ ดีที่สุด ไม่เพียงจะเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน อยู่ฉายวนไปมาเรื่อยๆ เหมือนละครปลุกกระแสชาตินิยม (ที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอีกนั่นแหละ) ที่เร่าๆ ให้คนดูสละชีพเพื่อประเทศชาติ
ผู้หญิงที่อุทิศตนเองแบบ ‘แม้นเมือง’ หรือมีบทบาททางการเมืองในรัฐจารีตล้านนา มีมากมายในประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษร และประวัติศาสตร์นิพนธ์
หากเชื่อตำนานพระนางจามเทวีนางพญาแห่งนครหริภุญชัย ก็ถือได้ว่าผู้หญิงเดินทางคู่กันมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างชุมชนซับซ้อนจนพัฒนาเป็นอาณาจักรล้านนา
ในนิทานตำนานกล่าวว่า เธอเป็นธิดาของเจ้าเมืองละโว้ชื่อ ‘จามเทวี’ แต่งงานกับเจ้าชายรามราชจนตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน ก็ดั้นด้นเดินทางมาเป็นประมุขนครหริภุญไชย ตามคำเชิญของฤๅษีวาสุเทพที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นผู้เนรมิตรเมือง ‘หริภุญไชย’ เมื่อเธอเดินทางมาถึง ก็สร้างศาสนสถานและคอยอุปถัมภ์ศาสนา ตลอด 7 ปีที่เธอปกครอง[1]
การมาของจามเทวี เธอมิได้มาเพียงลำพังหากมาพร้อมกับพระภิกษุ นักปราชญ์ นักวิชาการ ขุนนาง ช่างศิลปะ ดังที่ในตำนานมูลศาสนากล่าวว่า “ … (1) พระมหาเถรที่ทรงปิฏกมีประมาณ 500 คน (2) หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล 500 คน (3) บัณฑิต 500 คน (4) หมู่ช่างสลัก 500 คน (5) ช่างแก้วแหวน 500 คน (6) พ่อเลี้ยง 500 คน (7) แม่เลี้ยง 500 คน (8) หมู่หมอโหรา 500 คน (9) หมอยา 500 คน (10) ช่างเงิน 500 คน (11) ช่างทอง 500 คน (12) ช่างเหล็ก 500 คน (13) ช่างเขียน 500 คน (14) หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆ 500 คน และ (15) หมู่พ่อเวียก (ช่างโยธา) ทั้งหลาย 500 คน ”[2]
มีเอกสารโบราณของจีนชื่อว่าหมานซู แต่งโดย ฝานฉั้ว หรือ ฝานฉ้อ เรียกนครแห่งนี้ว่า ‘หนี่หวังก๊ก’ หรือ ‘หนี่หวังหวอ’ (Nu Wang Guo) ซึ่งหมายถึงอาณาจักรที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์[3] เอกสารจีนชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อปี 1406 สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161 – 1450)
อย่างไรก็ตามจามเทวีเป็นบุคคลในตำนาน เอกสารที่กล่าวถึงเธอก็เกิดขึ้นภายหลัง จามเทวีจึงน่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ในความทรงจำถึงการสร้างเมือง ที่อยู่ในรูปแบบตำนานเพื่ออธิบายความเป็นมาความรุ่งเรืองของรัฐเท่านั้น เช่นเดียวกับฤๅษีวาสุเทพ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการมีศาสนาพุทธในพื้นที่นั้นๆ และอภินิหารย์เนรมิตรเมืองก็น่าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมใหม่บนโครงสร้างสังคมดั้งเดิม ด้วยกลไกทางการเมืองและความเชื่อทางศาสนา จนนำไปสู่ความเจริญเติบโตของเมือง
เนื่องจาก ‘นครหริภุญไชย’ เป็นเมืองที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 1000 บนลุ่มแม่น้ำปิงจากการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญ 2 พวก คือพวกพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยเป็นสังคมชนเผ่านับถือผี กับพวกเคลื่อนย้ายจากภายนอก
เช่นจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากการค้าขาย พร้อมกับได้นำเทคโนโลยี ศิลปะวิทยาการเช่น ศาสนาพุทธหินยาน ตัวอักษรและภาษา จนขยายขอบเขตอำนาจเป็นเครือข่ายและพัฒนากลายเป็นชุนชนเมือง[4]
สำหรับรัฐจารีตล้านนาเองก็มีผู้หญิงเป็นประมุข ได้แก่ พระนางจิรประภา หรือ มหาเทวีจิรประภา ผู้ครองเมืองล้านนาชั่วคราวใน พ.ศ. 2088 – 2089 ระหว่างภาวะวิกฤตทางการเมือง[5] และ พระนางวิสุทธิเทวี ชายากษัตริย์พม่าในช่วงเวลาอันสั้นๆ
ขณะที่ผู้หญิงชนชั้นภายใต้การปกครองเองก็เคยถูกเล่าเป็นตำนานนิทานล้านนาว่า สมัยพญากือนาได้ก่อสงครามกับอโยธยา เมื่อกองทัพอโยธยายกทัพไปตีเมืองลำปาง ได้กวาดต้อนผู้หญิงกับสิ่งของจำนวนมากเอาไว้ ต่อมาผู้ชายชาวเมืองลำปางได้รวมตัวออกไปค้นหาผู้หญิงที่ถูกฉุดคร่ากวาดต้อน เมื่อพวกผู้หญิงรู้ว่าชาวเมืองยกพวกมาช่วย จึงได้พร้อมใจกันเอาดาบฆ่าฟันทหารและแม่ทัพอโยธยาตายเกลี้ยง ภายหลังได้สร้างสถูปเจดีย์ขึ้นในบริเวณนั้น เรียกว่า ‘กู่นางหาญ’ [6]
นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งกลับทำนุบำรุงศาสนา ทำบุญกับวัด สร้างหรือบูรณะศาสนสถานตามจารีตประเพณี กัลปนาที่ดินและผู้คนให้เป็นข้ารับใช้ภายในวัด ซึ่งเป็นการสร้างชุมชนอย่างหนึ่งที่ให้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางชุมชน เพื่อเป็นการประกาศอำนาจบารมีสถานะทางเศรษฐกิจสังคม ขณะเดียวกันก็สะสมบุญบารมีส่วนบุคคลและการอุทิศบุญกุศลให้เครือญาติ เช่นปทุมวดีเทวี มเหสีกษัตริย์หริภุญไชย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 สร้างพระธาตุเจดีย์ ตามที่มูลศาสนา ได้กล่าวไว้ว่า
“ฝ่ายนางปทุมวดีผู้เป็นอัครมเหสีนั้น ก็ให้ก่อเจดีย์องค์หนึ่งเป็นเหลี่ยมภายข้างก้ำเหนือมหาธาตุเจ้า นางก็ให้ใส่ทองคำลงที่ยอด จึงให้ชื่อว่าสุวรรณเจดีย์ ครั้นว่าเสร็จพร้อมบริบูรณ์แล้ว นางก็ให้ฉลองบูชาสัการมากนัก ทั้งได้ถวายอัฐบริขารเป็นทานแก่ภิกษุสงฆ์ และท้าวทั้งสองประกอบด้วยศรัทธาเสมอกัน” [7]
และนางปายโค ธิดาเมืองหงสาวดีที่พญามังรายรับมาเป็นมเหสี ได้กัลปนาที่ดินและผู้คนให้กับวัด โดยระบุไว้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ไว้ว่า
“…เจ้ามังรายกับนางปายโคก็หื้อคนทังหลาย 55 บ้าน มี 500 ครัว คือว่าเม็ง อันเจ้ามังรายและนางปายโคเอามาแต่เมืองหงสาวดีนั้นหยาดน้ำหมายทานไว้กับวัดการโถม วันนั้นแล…”[8]
ในเอกสารชินกาลมาลีปกรณ์ก็พูดถึงพระนางติโลกจุฑาเทวี มเหสีพญาแสนเมืองมา (ราว พ.ศ. 1928 – 1944) กษัตริย์องค์ที่ 7 ในราชวงศ์มังราย ได้เป็นผู้สร้างเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ ต่อจากสวามีที่เริ่มให้สร้างในปี 1934[9] แต่สวรรคตก่อนพระเจดีย์แล้วเสร็จ
“พระเจ้าแสนเมืองมา พระชนมายุ 39 ปี ครองราชย์สมบัติในเมืองเชียงใหม่ได้ 16 ปี พระองค์ทรงเริ่มสร้างเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อเจดีย์หลวงยังไม่เสร็จ พระองค์ก็สวรรคต พระราชินี ผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวง“[10]
เธอได้สานต่อเจตนารมณ์ของสวามี รับช่วงงานก่อสร้างพระเจดีย์หลวงที่ทำค้างไว้ และเป็นแม่กองบัญชาการก่อสร้างด้วยตนเอง ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 5 ปี ต่อมาในปี 1954 เธอได้ทำพิธีปกยอดอันประกอบด้วยทองคำกับดวงแก้วรัตนมณีสามดวงประดับไว้บนพระเจดีย์หลวง ลักษณะของเจดีย์หลวงในสมัยที่เธอก่อสร้างเสร็จนั้น ประดับตกแต่งด้วยโขงประตูทั้งสี่ด้าน พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้งสี่ด้าน มีรูปนาคปั้นเต็มตัวและหัวรวม 5 หัว รูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตั้งอยู่ตรง 4 มุม ทั้ง 4 ขอบตีนขอบ ซึ่งเจดีย์หลวงนั้นมีความสูง 12 วา ถูกเรียกว่า ‘กู่หลวง’ [11]
นอกจากนี้ในเขตวัฒนธรรมล้านนา ยังพบจารึกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการประกาศบุญที่ตนเองได้ก่อขึ้น ตามประเพณีนิยมของชาวล้านนาทุกชนชั้น ที่มักสร้างพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ วัดวาอาราม ตลอดจนกัลปนาที่ดินผู้คนสิ่งของให้แก่วัด แล้วสร้างจารึกขึ้นไว้ที่วัดแห่งนั้น
เช่นศิลาจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทอง จุลศักราช 918 ซึ่งตรงกับพ.ศ. 2099 ใจความหนึ่งกล่าวว่า พระอัครราชมารดาพระมหาเทวี ศรัทธาในองค์พระธาตุเจดีย์อย่างมาก ถึงกับอุทิศข้าพระจำนวนหนึ่ง ไว้ทำนุบำรุงพระธาตุเจดีย์และปรนนิบัติรับใช้ภิกษุ พร้อมออกคำสั่งห้ามมิให้เจ้านายผู้ใดเรียกไปใช้ทำงานอื่นหรือเรียกเก็บส่วยแม้ในยามปรกติหรือสงคราม[12] ว่า
“สมเด็จบรมบพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัวตนเป้นพระ พระอัครราชมาดาพระมหาเทวีเจ้าทรงพระราชศรัทธา จึงนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจองทอง แต่นี้ไพเมื่อหน้านี้ข้าพระวัดจองทองมีค่าเท่าใดหื้อไว้รักษาพระมหาธาตุเจ้าจองทองตราบต่อสิ้นศาสนา“[13]
และในจารึกหนึ่ง พระนางติโลกจุฑาเทวีคนเดิม ได้ทำบุญเพื่อถวายและสะสมบุญบารมีส่งให้กับลูกชายของเธอที่ได้เป็นกษัตริย์ล้านนาให้ปกครองยืนนานด้วยทศพิธาชธรรม[14]
จารึกเหล่านี้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ผู้หญิงมีตัวตนด้วยเพศของเธอเอง ไม่ต้องปลอมตัวเป็นผู้ชายเหมือนในนิยาย ละคร หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์บางเรื่องที่ว่าด้วยชีวประวัติวีรสตรีปลอมตัวเป็นชายเสียสละชีวิตคาที่เพื่อประเทศและสามีที่รัก
อย่างไรก็ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ล้านนาเหล่านี้ดำรงอยู่เรื่อยมา จนกลายเป็นฉากและแรงบันดาลใจให้เกิดนวนิยายละครมากมาย กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโบราณสถานศาสนสถาน ที่มักมีป้ายประกาศขนาดใหญ่แขวนไว้ เป็นกฎเหล็กว่า ‘ห้ามผู้หญิงขึ้น’
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สรัสวดี อ๋องสกุล , ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน, กรุงเทพฯ: ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2543, หน้า 44.
[2] พระพุทธพุกาม และ พระพุทธญาณ,ตำนานมูลศาสนา,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม.,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยิ้มศรี, 2482,หน้า 129.
[3]สุรพล ดำริห์กุล, แผ่นดินล้านนา, กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2539, หน้า 55.
[4] สรัสวดี อ๋องสกุล, ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน, กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.
[5] สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539, หน้า 187, หน้า 206.
[6] จิรานุช โสภา, บันทึกเรื่องผู้หญิงในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542, หน้า 59.
[7]พระพุทธพุกาม และ พระพุทธญาณ, ตำนานมูลศาสนา,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม.,กรุงเทพฯ: ยิ้มศรี, 2482, หน้า 180.
[8] อุษณีย์ ธงไชย. จารึกและตำนาน : หลักฐานที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนาลังกาวงศ์, เชียงใหม่: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540, หน้า 19 – 20
[9] สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539, หน้า 141.
[10] แสง มนวิทูร, ร.ต.ท, ชินกาลมาลินีปกรณ์, พระนคร: มิตรนราการพิมพ์, 2509, หน้า 120. ; สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539, หน้า 187.
[11] สุรพล ดำริห์กุล, ความรู้ที่ได้จากการขุดค้นศึกษาพระเจดีย์หลวงเมือง เชียงใหม่, ศิลปากร, 32, 1 ( มีนาคม – เมษายน 2531 ), หน้า 45, 47.
[12] ธงทอง จันทรางศุ, มหาธาตุ, กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534, หน้า 297 – 298.
[13] อ้างถึงใน จิรานุช โสภา, บันทึกเรื่องผู้หญิงในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542, หน้า 47.
[14] อุษณีย์ ธงไชย.จารึกและตำนาน : หลักฐานที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนาลังกาวงศ์, เชียงใหม่ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540, หน้า 19 – 20, 41.