เมื่อทุกวันนี้เราต่างใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบจนหลงลืมตัวเอง และลืมนึกไปว่าชีวิตของเราก็มีเดดไลน์สำคัญคือ ‘ความตาย’ ถ้าเดดไลน์มาถึง เราจะเสียดายเรื่องอะไรบ้าง?
จากธีสิสจบของ ‘ไนล์’ นิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปลี่ยนเรื่องราวจากนิสัยผัดวันประกันพรุ่งของตัวเองที่ทำให้เสียดายเวลาบ่อยๆ มาสู่คำถามว่าหากวันหนึ่งเดดไลน์ของชีวิตมาถึง เขาจะรู้สึกเสียดายอะไรบ้าง ซึ่งเขาได้ชวน ‘มินนี่’ เข้ามาร่วมโปรเจกต์ในฐานะคนคิดคอนเทนต์และการลงพื้นที่เก็บข้อมูลต่างๆ รวมถึงทีมงานอีกสี่คนที่คอยเป็นแรงกำลังสำคัญจนเกิดเป็นโปรเจกต์ Deadline Always Exists ขึ้นมา
The MATTER ไปพูดคุยกับพวกเขาทั้งสองคนถึงที่มาที่ไปของโปรเจกต์ รวมถึงคอนเซปต์และมุมมองความคิดในการออกมาชวนทุกคนคุยถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หากมันมาอย่างที่เราไม่ทันตั้งตัว
** เนื่องจากบทความนี้มีเนื้อหาพูดถึงความตาย ผู้ที่ป่วยหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หรือบุคคลที่รู้สึกสิ้นหวังหดหู่ในช่วงเวลานี้ โปรดหลีกเลี่ยงและใช้วิจารณญานในการอ่าน**
โปรเจกต์นี้เป็นมายังไง?
ไนล์ : ผมเป็นนิสิตจุฬาฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์ กำลังจะขึ้นปีสี่ มันก็ต้องทำธีสิส ก็เลยต้องหาหัวข้อมาทำ ตอนแรกเราก็คิดอยู่ว่าอยากทำอะไร เรื่องแรกที่อยากทำ คืออยากทำเรื่องผัดวันประกันพรุ่ง เพราะเรารู้สึกว่าเราประสบปัญหานี้อยู่ เราอยากรู้จักตัวเอง อยากรู้ว่ามันเป็นยังไง เราก็เลยเลือกหัวข้อผัดวันประกันพรุ่งก็เลือกมาตั้งแต่ปีสามว่าจะทำอันนี้ จนเริ่มทำวิจัย ก็ทำมาเรื่อยๆ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำในมุมไหน จนเราเจอมินนี่ มินนี่ก็เล่าให้ฟังว่ามีความฝันว่าอยากทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องความตาย เกี่ยวกับ social experiment เราก็เลยบอกว่า เอ้อ น่าสนใจจัง ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอรีเสิร์ชไปเรื่อยๆ เราก็คุยกับมินนี่ว่า หรือสองเรื่องนี้มันสามารถรวมกันได้วะ มันสามารถพูดเรื่องผัดวันประกันพรุ่งในแง่ของความตายได้รึเปล่า เพราะเหมือนว่าแก่นหลักๆ ของการผัดวันประกันพรุ่งที่เรารีเสิร์ชมามันคือการยังไม่ทำตอนนี้ แต่เอาไว้ทำทีหลัง ตอนใกล้ๆ เดดไลน์ แล้วมันก็จจะเกิดความรู้สึกเสียดายตามมา เราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ มันก็ทำร่วมกันได้นี่นา ก็เลยถามมินนี่ว่า ถ้าเอาเรื่องที่เขาอยากทำมาพัฒนาร่วมไปกับธีสิสเราได้มั้ย มินนี่ก็บอกว่าได้ แต่ว่ามีข้อแม้ว่ามินนี่ต้องทำด้วย แล้วก็ไม่อยากทำแค่เลเวลธีสิสของเราเท่านั้น อยากทำให้ใหญ่กว่านั้น ก็เลยเริ่มจากตรงนั้น
ตอนออกแบบกราฟิกและเว็บไซต์มีคอนเซปต์ยังไง
มินนี่ : ถ้ามู้ดแอนด์โทนของงานทั้งหมด ดีไซน์เอย งานเขียนเอย มันถูกทำให้ธรรมดาทั้งหมด แม้แต่คำพูดของยมทูตเองก็ตาม เพราะเรารู้สึกว่าความตายมันเป็นเรื่องธรรมดานะ แค่สังคมมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้ความตายมันไม่ธรรมดา เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง ทั้งๆ ที่ชีวิตมนุษย์ต่างหากที่คาดไม่ถึง แต่ความตายมันนแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องตาย ถ้าเห็นมู้ดแอนด์โทนเวลาเข้าไปในเว็บไซต์จะเห็นความเรียบง่าย โล่งๆ
ทำไมสนใจเรื่องความตาย
มินนี่ : คือของมินจะต่างจากพี่ไนล์ตรงที่ พี่ไนล์มันเริ่มมาจากการผัดวันแล้วเขาเสียดายบ่อยมาก ส่วนมิน มินเป็นคนที่ใช้ชีวิตตามกฎของสังคม ตามสิ่งที่คนในสังคมบอกให้เราทำ ทุกอย่างที่ผู้ใหญ่ให้ทำ ทั้งเรียนได้ดี ทำกิจกรรมดี เกรดดี มาตามร่องทุกอย่าง แต่พอถึงจุดนึง เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เห้ย เราทำทุกอย่างดีหมดเลยขนาดนี้ แล้วตัวเราในเรื่องนี้มันอยู่ตรงไหนวะ มันแบบ ทำไมเราเสียดายบ่อยมากๆ เลย ทุกครั้งที่ทำอะไรดีมากๆ เราสงสัยว่าแล้วตัวเราอยู่ตรงไหน ทำไมเรายังเสียดายกับความสำเร็จที่เราก็ทำได้ เราไม่เคยภูมิใจกับสิ่งที่เราเป็นเด็กดี มีการศึกษาดี เรียนดี ไม่เคยภูมิใจเลย แล้วอะไรที่ทำให้เราภูมิใจได้บ้าง จะทำยังไงให้ชีวิตเราไม่ต้องเสียดายได้อีก คือมีความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดนึง มีเพื่อนเสีย มันกลายเป็น wake up call แล้วว่า เฮ้ย หยุดได้แล้วนะ สิ่งที่คุณทำตามที่คนอื่นบอก พอได้แล้ว มันคือจุดที่เรากลับมาถามตัวเองว่าอยากทำอะไร เพราะความตายมันใกล้มากๆ เลย
แต่มินก็เก็บไว้ในใจแล้วไม่ได้ทำนะ มินเป็นคนที่ถ้าไม่มีอะไรมาบีบก็ไม่ยอมลงมือทำ ก็เป็นแค่ความฝันที่อยากทำ แล้วก็ไม่ได้ทำ มาหนักๆ ช่วงหลังเรียนจบ มินเรียนจบ ก็ไปทำงาน แล้วก็เหมือนเดิมเลย เป็นคนทำตามระบบได้ดีมาก ทำตามความคาดหวังได้ดีมาก ทำงานได้ดี ทำงานหนัก ตั้งใจทำโอที ทำเกินที่เขาสั่งตลอดเวลา แล้วพอถึงจุดหนึ่ง มีวันนึงที่เงินเดือนออก แล้วเราตั้งคำถามว่า เดือนนี้เราทำงานหนักมากเลยเนอะ แล้วมันให้รางวัลอะไรเราบ้างวะ เรากำลังทำงานหนักขนาดนี้ รู้สึกผิดที่ทำงานเบา เพื่อให้ใครสักคนมีผลประกอบการที่สูงขึ้น แล้วสิ่งนี้มันกลับมาหาเรายังไงบ้าง มีตัวเราตรงไหนบ้าง เราก็เพิ่งมา realized ได้ว่าเราไม่ได้แพชชั่นเรื่องนี้เลย เราไม่ได้แพชชั่นกับงานที่เราทำ แล้วก็เลยนึกไปถึงเรื่องความตาย อยากทำมากๆ ซึ่งจังหวะนั้นพอดีกับที่พี่ไนล์อยากเอาเรื่องนี้ไปทำธีสิส มินเลยบอกว่า ได้ แต่ถ้าจะทำให้มินทำด้วย เพราะพอไม่มีมคนบังคับมินไม่ทำแน่
ก็เลยกลาายเป็นว่า 9 เดือนหลังจากนั้น ก็คือนั่งทำสิ่งนี้ทุกวัน จนออกมาเป็นงานที่ทุกคนเห็น
9 เดือน นี้ทำอะไรกันมาบ้าง
มินนี่ : พวกมินเริ่มจากรีเสิร์ชอะ เพราะจริงๆ มันเริ่มมาจากความเสียดาย แล้วก็เลยมาคิดว่าความเสียดายมันมาจากมุมมองไหนบ้าง เลยทำรีเสิร์ชทั้งเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ คุยกับคนเยอะ ทำแบบสอบถามเยอะ จนเราไปเจอจุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือตอนที่เราถามว่าเราผลัดวันกันเรื่องอะไรบ้าง ทุกคนตอบว่าเรื่องงาน เรื่องเรียน แต่พอถามว่าถ้าต้องตายอะ คุณเสียดายเรื่องอะไรบ้าง ไม่มีใครนึกถึงเรื่องงานหรือเรื่องเรียนเลย ทุกคนนึกถึงสิ่งที่เกิดมาแล้วอยากทำจริงๆ
ดังนั้น พอเราถามว่าแล้วที่ผ่านมาคุณคิดถึงสิ่งนี้บ่อยมั้ย คือเขาแทบไม่คิดเลย เพราะเขามองว่าเขามีเวลาเหลือเยอะมาก บางคนตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าต้องเสียดายอะไรบ้าง เพราะไม่รู้ว่าเขาชอบอะไร เราเลยเริ่มจากตรงนี้ว่าแบบ ตอนนี้ทุกคนกำลังใช้ชีวิตวนลูป แบบมีรูทีน มีชีวิตประจำวัน ใช้ชีวิตตามความคาดหวังของสังคม จะทำยังไงให้คนที่วนลูปอยู่ใน 24 ชั่วโมงเรื่อยๆ ได้กลับมาคิดว่าเขาอาจมีอะไรอย่างอื่นที่อยากทำจริงๆ หรือทำให้ตัวมินเองที่นั่งอยู่ในออฟฟิศวันนั้นระลึกได้ว่า เห้ย มิน มึงมีความฝันที่อยากทำมากกว่าการมานั่งอยู่ในออฟฟิศให้ไปทำ จะอยากทำอะไร พี่ไนล์เลยปิ๊งว่า คนแบบพี่ไนล์ที่เมื่อไหร่ใกล้เดดไลน์ก็จะตาลีตาเหลือกทำๆๆ เพราะงั้นเราลองเอาความตายไปเจอกับคนเป็นตรงๆ ให้เขาได้คิดถึงความตายแล้วเกิดการตื่นรู้ว่าคุณกำลังทำอะไรหล่นหายไปจากชีวิต หรือทำให้ชีวิตเขามีความหมายมากขึ้นเพราะเขาไม่ได้พลาดอะไรไปเลย
หลังจากนั้นก็ไปปรึกษาผู้ใหญ่เยอะมาก แล้วก็ไปปรึกษามูลนิธิ peaceful death คือลองรีเสิร์ชไปแล้วมันเห็นว่ามันมีคนพูดเรื่องนี้อยู่ด้วยนี่นา เราไปปรึกษาเขา แล้วมันก็มีหลักธรรมที่เรียกว่า มรณานุสติ พวกเราก็เลยลองกระโดดไปศึกษาเรื่องนี้แบบดีๆ ว่า มรณานุสติคืออะไร แล้วหลังจากนั้นเราก็ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนซ้ำไปซ้ำมา พยายามพัฒนาตัวงานออกมา
งานมันมีสองชิ้นคือ interact กับจดหมาย ตัวจดหมายหรือหนังสือจะออกมาก่อน ก็คือเราสัมภาษณ์แล้วเอามาเขียนจดหมาย แล้วก็สัมภาษณ์อีก เราคุยไปประมาณห้าสิบกว่าคน ก็เป็นการลงพื้นที่ที่ใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งก็จะวางจำหน่ายโดยที่เราคิดแค่ต้นทุนการทำเล่ม ไม่เอากำไรหรือค่าแรงเลย
ในทีมนี้ทำกันกี่คน
มินนี่ : หลักๆ แล้วคือพี่ไนล์ทำ มินเป็นคนไปสัมภาษณ์ ไปหาข้อมูล ทำ insight มีน้องสองคนมาช่วยมินทำ แล้วก็มีอีกสองคนที่ทำเรื่องการสร้างเว็บ
ไนล์ : ตอนแรกเราทำกันสองคน แค่อยากทำส่งงานธีสิส แต่พอทำแล้วมินนี่รู้สึกอยากเผยแพร่เราก็เลยขยายทีม
คิดว่าคนรุ่นใหม่เขามองความตายกันยังไง
มินนี่ : ยังรู้สึกว่าคนไม่ได้คิดถึงความตายกันขนาดนั้น รู้สึกความตายเป็นเรื่องจริงแต่ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว นี่คือสิ่งที่เจอ เพราะว่าวัฒนธรรมเรามันทำให้เราพูดถึงความตายได้แบบตรงๆ ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องความตายออกไป แม้กระทั่งพวกเราเองที่ทำเรื่องนี้ก็กลัวเจ็บจากการพูดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามันไม่พูดไม่ได้ เพราะมันคือความจริง
ไนล์ : ผมว่ามันก็เข้าใจได้ ที่ในธีสิสของผมมีเป้าหมายหลักๆ คือวัยรุ่น เพราะพอไปรีเสิร์ช มันก็เข้าใจได้เขาเพิ่งอายุสิบ ยี่สิบกว่า มันก็ไม่แปลกที่เขาจะไปคิดถึงความตายยังไง เอาจริงๆ ถามว่าอีกไกลมั้ยไม่มีใครรู้ แต่มันมีมั้ย มันมีแน่ๆ
มินนี่ : ซึ่งตรงนี้คุยกันว่ามันน่าเสียดายนะ เพราะจุดที่มินและไนล์อยู่ เราทุกคนอยู่ มันคือจุดที่เราแข็งแรงที่สุด มันคือจุดที่เรามีแรงมากที่สุด มีเวลามากที่สุดในการใช้ชีวิต แต่เรากำลังเอาเวลาของเราไปทุ่มกับความคาดหวังของคนอื่น กับความฝันของคนอื่น มันน่าเสียดายที่ถ้าเรารู้เร็ว มันก็ทำได้เร็ว
แต่มันก็จะมีคนที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วย อันนี้คือเราต้องพูดก่อนเลยว่าโปรเจกต์เราอะ ไปแนวปรัชญาในการใช้ชีวิตมากๆ ไม่เกี่ยวกับการรักษาโรค หลายๆ คนอาจจะเข้าใจผิด
เรากังวลมากว่าถ้าคนเป็นโรคซึมเศร้ามาเล่น
อันนี้คุณไม่ได้ตายเพราะเป็นไปตามธรรมดาของชีวิต
แต่โรคของคุณทำให้คุณรู้สึก ดังนั้นอย่าเล่นเว็บเราเลยนะ ได้โปรด
ความตายมันสำคัญกับชีวิตเรายังไง
ไนล์ : ของผม ก่อนเร่ิมทำสิ่งนี้ ผมรู้สึกว่าถ้าเป็นความตายของเราเองเราก็เฉยๆ อะ มันก็เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่ต้องเกิด แต่ถามว่าน่ากลัวมั้ย มันไม่ได้กลัว อาจจะแค่กลัวว่าคงไม่ได้ทำสิ่งนู้นสิ่งนี้เลย มันคือเรื่องความเสียดาย ด้วยความเป็นคนที่แบบผัดวันประกันพรุ่ง แต่ถ้าเป็นความตายของคนอื่น คนใกล้ตัว พ่อแม่ คนที่เรารัก พอเป็นแบบนั้นมันเริ่มมีความกลัวเข้ามา แต่หลังจากทำธีสิสนี้ จากที่เคยกลัวมัน กลายเป็นว่าตอนนี้เราไม่ได้กลัวอีกแล้ว แต่ความตายมันทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น กลายเป็นว่าเรามองเป็นอีกมุมหนึ่งมากกว่า เหมือนกับว่าความตายทำให้เราใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ระมัดระวังขึ้น
มินนี่ : มินว่าความตายมันคือความแน่นอนอะ คือวันนี้พรุ่งนี้มันไม่แน่นอน มันขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา แต่ที่แน่ๆ คือเราตายแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจัดการความไม่แน่นอนให้ในวันที่เราตายก็รู้สึกคุ้มค่ากับชีวิตดีกว่า สำหรับมินความตายคือ inspiration นะ มันเป็นแรงบันดาลใจว่าชีวิตฉันอยากเป็นอะไร ฉันอยู่เท่านี้พอใจแล้วมั้ย เราเลยอยากทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าเขาอยากทำอะไร ถ้าวันหนึ่งเขาตายแล้วเขาจะไม่เสียดายอะไรเลย มัน inspire ได้เยอะมาก มินเอง อาจจะทำโปรเจกต์นี้จากการที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียนมาตลอด ซึ่งมินฝันมาตั้งแต่ป.2 16-17 ปีผ่านไป ถ้าตอนนั้นมินเริ่มเขียน ไม่บอกว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก ป่านนี้มินเป็นนักเขียนแล้วนะ แล้วถ้าเสียดายอะไร มินเสียดายเรื่องนี้ ว่ายังไม่เคยเขียนเลย เพราะงั้นพอรู้ว่าต้องตายมันตัดสินใจง่ายขึ้นจริงๆ งั้นใช้ชีวิตแบบที่รู้สึกว่าเราอาจจะตายได้ตลอดเวลาดีกว่า มีสติกับมันว่าเรามีเดดไลน์กันทุกคน เพราะฉะนั้นลองตั้งสติกับมันก่อน
ก่อนทำโปรเจกต์นี้ กับหลังทำโปรเจกต์นี้ มองความตายเปลี่ยนไปมั้ย
มินนี่ : ตอนแรกเราสองคนพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องความเสียดาย ทำยังไงให้คนไม่เสียดายทีหลัง แล้วไอเดียแรกของเราที่โง่มากๆ คือ ไม่เสียดายก็วางแผนดิ วางแผนทำมันให้ดี แต่พอทำไปเรื่อยๆ ชีวิตมันไม่ใช่สิ่งที่วางแผนได้อะ คนบางคนที่เราไปคุยด้วย เขามีชีวิตอยู่กับแค่อดีตว่าเขาเคยเป็นใครมา กับอนาคตเขาอยากเป็นใครต่อ ก็เลยทำให้เขาเสียดายในทุกๆ วันว่าเขาไม่ใช่คนในอดีตหรือคนในอนาคตที่เขาคาดหวัง เราเลยเข้าใจว่า ชีวิตมันคือปัจจุบันนะ เรื่องของความตายที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้มันคือการใช้ปัจจุบันนี้ให้ดี ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในวันนี้
ซึ่งสิ่งนี้คุยกับทีมตลอดว่าแบบ มันไม่ใช่โปรเจกต์ที่ดีที่สุดในชีวิตเรา แต่ที่เราทำวันนี้ถึงจะผิดบ้าง แต่ว่าเราอายุเท่านี้ ทำได้ดีที่สุดของวันนี้แล้ว นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากๆ เราอยู่กับปัจจุบันเยอะขึ้นมากๆ มันมีแค่ปัจจุบันกับตัวเราที่คิดอะไรทำเลย คิดได้แค่ไหนเอาเลย แล้วสิ่งเราเจอช่วงหลังๆ ของการทำโปรเจกต์ก่อนเผยแพร่ก็คือเรารู้สึกเหมือนเราเป็นอิสระจากตัวตนเดิมของเราเมื่อก่อน เป็นอิสระจากความฝันเดิมของเรา เรามีความฝันใหม่ทุกวัน แล้วไล่ตามความฝันใหม่ทุกวัน
ทุกๆ วันมันมีแรงบันดาลใจในการทำอะไรใหม่ๆ เสมอ และมาจากตัวเราได้ ถ้าวันนี้มีแรงบันดาลใจอยากจะนอนก็ โอเค นอน หลังเผยแพร่ ตอนนั้นเราคุยกันว่าถ้ามีคนขอบคุณเราหนึ่งคนว่าโปรเจกต์นี้ทำให้เขาออกไปทำอะไรสักอย่างได้ แค่หนึ่งคน เราพอละ เรา finish แต่พอปล่อยไป แค่ครึ่งชั่วโมงแรกของการปล่อย ฟีดแบ็กมันมาเยอะมาก มาทุกทางแล้วเราตามไม่ทัน คือตอนปล่อยเว็บ มินนั่งประชุมกับออฟฟิศผ่าน zoom อยู่ แล้วมินก็ไม่รู้ แต่พี่ไนล์ก็มายืนสะกิดๆ ซึ่งแบบไม่คาดฝันว่าจะเป็นอย่างนี้ มันมีทั้งคนที่ออกไปบอกรักใครสักคนหลังจากทำสิ่งนี้ แบบ แอบรักมานานขอบอกหน่อย ซึ่งเขาผิดหวังหรือไม่ผิดหวังไม่รู้นะ แต่เขาก็ได้ทำแล้ว หรือคนที่ไม่ได้เจอพ่อมาสองสามปี ก็กลับบ้านไปเจอพ่อ จากที่เคยทะเลาะ หรือบางคนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าฉันจะไม่กลัวกับความฝันฉันแล้ว คนเหล่านี้เป็นกำลังใจให้เรามากๆ
ตลอดทางเราตั้งคำถามตลอดเวลา เราตั้งคำถามว่าโปรเจกต์จะเสร็จหรือเราจะตายก่อน เราทำไปทำไมวะ เราเหนื่อยมาก เราไม่เคยได้นอนก่อนตีสามเลย ช่วงวีคท้ายๆ เราเครียดมาก ร้องไห้บ่อยมาก เราถามตัวเองว่าทำทำไม เรายอมแพ้มั้ย แต่วันนี้เราไม่เสียดายอะไรเลย พูดตลอดว่าถ้าจะมีใครสักคนได้อะไรจากโปรเจกต์ มันอาจจะมี แต่ที่แน่ๆ เป็นพวกเราที่ได้แล้ว ตอนที่โปรเจกต์ยังไม่ปล่อยนะ
ตอนที่เจออุปสรรคระหว่างทำ ผ่านมันมายังไง
มินนี่ : มีหนึ่งในทีมงานพูดว่า “พี่ลองคิดว่าพรุ่งนี้พี่ต้องตาย พี่จะเสียดายที่พี่ไม่ทำต่อมั้ย” เราก็ตอบไปว่าเราเสียดาย
ไนล์ : ซึ่งเราก็ยึดตรงนี้เป็นแก่นมาตลอด คือจากการที่ผมเริ่มมาจากการผัดวันประกันพรุ่ง แล้วเราซัฟเฟอร์กับพฤติกรรมนี้มานานแล้วตั้งแต่ปีหนึ่งปีสอง เลยคิดว่าไหนๆ ก่อนเราจะจบออกไป อยากทำงานอะไรที่เราไม่อยากเสียดายทีหลังว่าเราทำได้ดีกว่านี้ ทุกครั้งที่เหนื่อยมากๆ ไม่อยากทำ อยากใหห้มันจบๆ ไป เราก็จะคิดว่าเราไม่อยากมองย้อนกลับมาหาตัวเองตอนนี้แล้วคิดว่า ตอนนั้นน่าจะทำให้ดีกว่านี้ ซึ่งมันก็แค่นี้ เราก็ช่วยผลักๆ ดันๆ กันมาเรื่อยๆ
มินนี่ : ตลอดทาง แม้กระทั่งตอนนี้มันก็ยังมีคนที่พูดว่า ประเทศนี้มันพูดถึงความตายไม่ได้ การพูดเรื่องความตายมันไม่ดี มาพูดเรื่องความตายเดี๋ยวตีปากเลย นู่นนี่นั่น แม้กระทั่งมีคนพูดว่า การพูดถึงความตายไม่ใช่เรื่องของวัยรุ่น ซึ่งประโยคนี้เป็นแรงผลักดันเราว่า คอยดูนนะ ฉันจะทำให้ดู
ไนล์ : ก็เข้าใจได้นะว่าคนที่ผ่านชีวิตมาเยอะ ไม่มีอะไรต้องทำ เขาอาจจะไม่เข้าใจว่าเราทำไปทำไม แต่เราก็ยังดื้อที่จะทำไปตามทางของเรานั่นแหละ
มินนี่ : ซึ่งเป็นบทเรียนมากหลังจากปล่อยออกไป เราขอบคุณทุกคนในทีมมากที่เราไม่เชื่อใครนอกจากตัวเอง เราฟังได้ แต่สุดท้ายเราจะเลือกอะไร มันคือการตัดสินใจของเรา ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ตอบทุกคนที่มาเล่น หรือมาขอบคุณเราว่าขอบคุณที่ทำให้คิดได้ เราก็อยากบอกว่าไม่ต้องฟังเรานะ เราเป็นแค่เสียงหนึ่งในสังคมที่คุณเลื่อนผ่านมาเจอ แล้วคุณเห็น แต่สุดท้ายชีวิตคุณ คุณจะใช้เหมือนเดิมก็ได้ไม่ว่า คุณอาจจะเจอคุณค่าอื่นที่มากกว่าชีวิตคุณก็ได้ เราไม่ว่าเลย ไม่ผิดเลย แต่เราแค่อยากให้คุณเห็นทางเลือกและไม่ตัดสินใจใช้ชีวิตเพียงแค่สิ่งที่สังคมเลือกให้หรือมีคนบอกให้คุณเป็น
ฟีดแบ็กที่ได้กำลังตอบอะไรบางอย่างกับทั้งสองคนรึเปล่า
มินนี่ : ต้องพูดว่าคนที่มาเล่นเป็นวัยรุ่นที่เราทาร์เก็ตไว้ คือเป็นม.ปลาย มหาลัย และ first jobber สิ่งที่เราเห็นคือเราเห็นความหวัง เห็นความต้องการในตัวเขาที่จะเป็นอะไรสักอย่างในโลกนี้ ต้องการจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างในโลกนี้ แต่ว่ามันเป็นความหวังที่มาพร้อมความสิ้นหวัง มันเป็นความสิ้นหวังที่เขารู้สึกว่าเขาทำไม่ได้หรอก หรือแบบระบบนี้ไม่ให้เขาทำหรอก มันบล็อกเขาไว้ว่า เอ้ย งั้นพอก่อน ไปเรียนก่อน หน้าที่ของคุณคือไปเรียนก่อน แล้วความฝันของเขาก็จบไปกับระบบที่เราอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นอะ มินเรียกว่ามันเป็นการกบฎของการมีตัวตน การที่เขากบฎหลังจากได้คุยกับตัวเองแล้วเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่าให้ไปทำ รู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการในชีวิตจริงๆ มันคือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยตัวตนข้างในของเขาให้ออกมาอยู่เหนือระบบบ้าง มินรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เห็นหลักๆ ซึ่งมินเชียร์ทุกคนว่าสู้ๆ นะ
มองว่าสังคมนี้กำลังกดความฝัน ความหวัง และอนาคตของเรา?
มินนี่ : ใช่ คือมินรู้สึกว่าสังคมนี้มีความคาดหวังกับสังคมเยอะมาก เราจะชอบพูดว่า “เราขอฝากความหวังไว้กับอนาคตของชาติ” แต่ความหวังที่เราฝาก แม้กระทั่งคนรุ่นเราเองยังทำไม่ได้เลย แล้วเราก็เอาไปยัดเยียดใส่เด็กอะไรแบบนี้ ลองเปิดกระเป๋านักเรียนเด็กประถมก็ได้ เด็กประถมต้องเรียนหนักมาก เขาเรียนเป็นสิบๆ วิชา เราเอาทุกอย่างไปยัดใส่เขาโดยไม่ได้ถามว่าเขาต้องการอะไร มันเลยไม่แปลกว่าพอเขามีความฝันเขาก็ไม่กล้าพูดหรือลงมือทำมันสักที
ซึ่งสิ่งที่มินทำมันอาจจะไม่ใช่การให้พื้นที่เขา คือมันต้องมาจากความอยาก เพื่อที่ว่าพออยาก เขาจะไปหาพื้นที่ของเขา แล้วเขาจะดื้อได้ทุกอย่างเพื่อทำตามความฝันนั้นจริงๆ สิ่งที่มินทำคือการไปสะกิดบอกเขาว่า เฮ้ย เธอไม่ควรอยู่ตรงนี้นะ เธออาจทำได้ดีกว่านี้ หรือถามเขาว่าชีวิตต้องการอะไร เหมือนที่มินเองก็เคยโดนสะกิดจากการทำตรงนี้ มันเคยมีคนถามมินตอนทำโปรเจกต์ว่า ถ้าไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นอยากให้เราทำ หรือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ มีอะไรบ้างที่เราอยากทำ มินแบลงก์เลย แล้วมินก็ตอบว่าไปนอน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งหลักๆ เลยที่มินรู้สึกว่าถ้าเราแค่อยากทำอะไร เดี๋ยวตัวเราก็จะพาเราไปตราบเท่าที่เราเดินไหว แต่สำคัญที่สุดคือเมื่อไหร่เราจะคิดออก ก็หวังว่าเดดไลน์จะ inspire ให้คุณได้
เนื้อหา คำถาม แนวคิดต่างๆ ในเว็บไซต์ คิดออกแบบกันยังไง
มินนี่ : คือจะมีคำถามว่า “หากวันนี้คุณต้องตาย คุณจะเสียดายอะไรบ้าง” เป็นแก่นหลักเลย ซึ่งเป็นคำถามจากมรณานุสติ แต่ที่นี้มันจะมีคำถามอื่นๆ ที่จะ lead มา แต่ละหน้าเราก็ใช้ข้อมูล รีเสิร์ชที่ไปทำมา เอามาจัดเป็นกรุ๊ปว่าแต่ละกรุ๊ปเป็นยังไง มี insight ร่วมยังไง แล้วก็เปลี่ยนข้อมูลตรงนั้นมาเป็นคำถาม
เราไม่อยากทำให้มันเป็นแอพคำคมบาดจิตทุกหน้า ไม่อยากเป็นไลฟ์โค้ช อยากทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของความเป็นความตาย
ถ้าลองเปิดเข้าไปเล่นดู จะเห็นว่าก็เป็นตอนที่เรากำลังจะหลับ ซึ่งจากรีเสิร์ชช่วงเวลาก่อนนอนคนจะคิดถึงแพลนที่ต้องทำวันพรุ่งนี้ เพื่อที่สุดท้ายจะได้กลับมาดูว่าสิ่งที่คุณจะทำในวันพรุ่งนี้ มันมีตัวเองอยู่ในนั้นมั้ย เพื่อให้ในชีวิตจริงหลัวจากเขาตื่นมาแล้วเขาจะได้ลองนึกถึงตัวเองด้วย หรือถ้าทำเพื่อตัวเองอยู่แล้วก็อยากให้ทำมากขึ้นไปอีก
คำถามเรื่องเสียงร้องไห้ ก็คือจะบอกได้ว่าเป็นเสียงของคนที่เรารักมากที่สุด แล้วอยากจะทำให้นึกถึงว่าคุณติดต่อกับเขาครั้งสุดท้ายมันเมื่อไหร่ เราเห็นภาพเขาชัดมั้ยในสมอง แล้วหลังจากนั้นก็จะเข้าพาร์ทความตาย
พอเจอยมทูต เราก็อยากให้คนที่มาใช้เว็บไซต์รู้สึกอยู่กับปัจจุบันก่อน ก็จะมีคำถามว่าคุณรู้สึกยังไงบ้าง พอตอบไปก็จะมีเพลงที่ทำให้ผ่อนคลาย ซึ่งเป็นเพลงที่เราแต่งกันเอง ซึ่งเดี๋ยวมีเวอร์ชั่นยาวปล่อยด้วย แล้วอายุที่เราถามไปตอนต้นก็จะมาเป็นการย้อนถามว่าขวบปีที่ผ่านมาเราเป็นยังไงบ้าง ชีวิตของคุณที่ผ่านมา สนุกกับมันรึเปล่า เพื่อสะท้อนว่าเท่าที่เขาจำได้มันสนุกมั้ย
ไนล์ : แล้วก็จะมาที่คำถามว่ามีเรื่องไหนที่รู้สึกติดค้าง หรือเสียดาย มันก็ผ่านการทำแบบสอบถามสัมภาษณ์จากหลายๆ คนแล้วมาจัดกลุ่มเป็นหมวดๆ ว่ามีอะไรบ้าง ก็จะมี 8 ช้อยส์
มินนี่ : เล่าทีละอันละกัน อย่างความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัว ส่วนมากจะเป็นการไม่ได้พูดหรือทำอะไรออกไปอย่างเต็มที่กับสิ่งนั้น ก็เหมือนให้เขาระบายว่า เออ คุณอยากพูดอะไรกับเขา รวมถึงช้อยส์ความรักด้วย
ความฝันกับอุดมการณ์ มันคือการลองให้กำลังใจตัวเองนะ คือเกือบทุกคนที่ไปสัมภาษณ์มา เวลาให้กำลังใจตัวเองจะพูดด้วยเสียงที่ไม่ดังเลย เราพูดให้กำลังใจคนอื่นได้ดีกว่าตัวเราเองด้วยซ้ำ ดังนั้นช้อยส์สองอันนี้ เราเลยพยายามจะบอกให้คุณลองให้กำลังใจตัวเอง เพราะมันดีต่อตัวคุณเอง อยากให้ใช้ประโยคนี้ในระหว่างที่มีชีวิตต่อไป
ตัวทดลองที่เราลองเอาไปให้เพื่อนๆ ทำก่อน มันมีคนหนึ่งที่พูดให้กำลังใจว่า “รอดูอยู่นะ” แล้วตอนท้ายคำพูดนี้ที่เราบอกว่ามันคือการให้กำลังใจตัวเอง เขาแบบ เขาเองก็อยากรอดูชีวิตของเขาจะไปถึงจุดนั้นได้มั้ย
เหตุการณ์ในอดีตเป็นช้อยส์ที่คนไม่ค่อยตอบเท่าไหร่ แต่ส่วนมากคนที่ตอบมักจะผ่านเรื่องที่หนัก เพราะเขาทิ้งมันไม่ได้ และเราไม่มีสิทธิ์ไปบอกเขาว่าก็ลืมมันไปดิวะ เพราะคำว่าปล่อยวางไม่มีจริง สุดท้ายอดีตจะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา
แต่ว่าสิ่งที่เราจะบอกคือมันหนักแหละ แต่วันไหนเหนื่อยก็พักได้บ้าง
อนุญาตให้ตัวเองพัก เพราะบางคนจะชอบลืมพัก คิดว่าการพักเป็นเรื่องผิด
ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีความฝัน อันนี้เราก็จะถามว่าถ้าไม่มีข้อจำกัดในชีวิต คุณจะทำอะไรที่อยากจะทำมั้ย ซึ่งทุกคนอยากทำแต่ไม่มีแรงที่จะทำมัน ซึ่งเอาจริงๆ คนที่ไม่มีความฝันแต่เขามีความอยากนะ แต่เขาไม่กล้าเรียกว่าความฝัน ยกตัวอย่างมินเองที่เมื่อก่อนอยากเป็นนักเขียนแต่จะไม่กล้าพูด ดังนั้นเรารู้สึกว่าคำว่า ‘ความฝัน’ มันเป็นบ่วงให้เรารู้สึกผูกติดอยู่กับสิ่งนี้ ต้องให้คุณค่าสิ่งนี้ แต่สุดท้ายมันแค่ว่าคุณอยากทำอะไรในวันนี้ เช่น วันนี้คุณอยากไปพารากอน ก็ไปพารากอนเลย หรืออยากไปเกาะแม่ ก็ไปทำ คุณเรียกสิ่งนี้ว่าความฝันไม่ได้เหรอ ความฝันต้องมีขนาดใหญ่ตลอดเวลาเหรอ คิดว่าถ้าเรามีความฝันใหม่ในทุกๆ วัน เราอาจจะสนุกกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
คนที่ตอบว่าไม่มีสิ่งที่อยากทำเลย มันก็จะกลายไปเป็นคำถามถึงความสุขเล็กๆ เราเจอคนนึงที่เราสัมภาษณ์ เขาพูดให้เราฟังว่า เขาบอกว่าชีวิตเขามีความสุขตลอดเวลา เราก็ถามว่า บ้า ใครมันจะไปมีความสุขตลอดเวลา แล้วเขาก็ถามว่าแล้วทำไมชีวิตต้องไม่มีความสุข เราเลยคิดได้ว่าความสุขมันเป็นเรื่องเล็กแค่นี้เอง เป็นส่วนประกอบเล็กๆ ที่เจอในชีวิต แต่เราอาจจะไม่ได้มองหามัน ถ้าเราใช้ชีวิตเพื่อมองหาความสุข ตามหาความสุข เราก็จะเห็นความสุข มันอาจจะเล็กมากๆ แบบ วันนี้แสงสวยจัง วันนี้คนน้อยจัง วันนี้ตื่นมาแล้วไม่ปวดหัวเลย แค่นั้นเอง แต่เราอาจจะไม่เคยทรีตว่ามันเป็นความสุข เพราะฉะนั้นเราเลยอยากให้เขากลับมานึกว่าแล้วความสุขของคุณที่ไม่มีใครมายัดเยียดให้คืออะไร
ซึ่งถ้าไม่มีอีก เราก็อยากให้เขามีชีวิตเพื่อค้นหานะ เกิดมาสักครั้ง
อยากให้มีความสุขจริงๆ ไม่อยากให้คุณเสียดายเรื่องความสุขเลย
ช้อยส์ยังไม่ได้ใช้ชีวิต อันนี้มีหลายคนมากที่ตอบ คือมีความฝัน มีความต้องการ แต่ยังไม่ได้ใช้ชีวิตเลย เพราะว่าทำตามสิ่งที่คนอื่นต้องการอยู่ สิ่งที่เราจะอยากบอกเขาก็คือ เราไม่ตัดสินนะว่าคุณใช้ชีวิตกับอะไรอยู่ เราอยากให้คุณเปิดกว้างแล้วถามตัวเองว่าชีวิตที่คุณมีอยู่คุณใช้กับอะไร แล้วคุณเสียดายมันมั้ย แล้วถ้าคุณเสียดาย ก็อาจจะถึงเวลาที่จะลองไปทำเรื่องอื่นบ้าง แต่ถ้าไม่เสียเวลา คุณทำต่อเลย คุณค่าของเรื่องนี้ในแต่ละคนไม่เหมือนกัน แค่อยากให้ลองมาคิดก่อนว่าสิ่งที่ทำคุณเสียดายเวลามั้ย อย่างมินเคยคิดว่าตอนเรียนมหาลัย เราเรียนวิชานี้ทำไม หรือทำไมเรียนจบแล้วค่อยทำงานได้ เราเริ่มทำสิ่งที่อยากทำตอนนี้เลยไม่ได้เหรอ เรารู้สึกว่าพอเป็นเรื่องที่คนอื่นมาตัดสินใจให้เรา เราเลยเสียดายมาก แต่ถ้าคุณชอบการให้คนมาตัดสินใจให้ ก็โอเคนะ เราไม่ตัดสินเลย
แล้วก็คนที่ตอบว่าไม่มี คือเราก็อยากให้เขาขอบคุณตัวเอง ให้เขาคิดว่าโมเมนต์ที่ชอบที่สุดของชีวิตคุณคืออะไร เราอยากให้เขาขอบคุณตัวเองที่มาถึงจุดนี้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็อยากบอกเขาว่าความรู้สึกนี้ได้มาแล้วมันก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป มันต้องอาศัยการที่คุณจะพยายามทำให้ดอกไม้ดอกนี้ยังคงบานอยู่เรื่อยๆ ไม่เหี่ยวลงไป มันไม่มีความรู้สึกไหนคงทนถาวร เราอยากให้คุณรู้สึกเหมือนเดิม
แล้วต่อมาเราก็เปรียบชีวิตคนเป็นดอกไม้ เราแค่คิดว่าสำหรับคน การเกิดมาครั้งหนึ่งควรได้ ‘ผลิบานก่อนร่วงโรย’ ดอกไม้ที่เกิดมาแล้วไม่แบ่งบานมันเศร้านะ มันควรได้บาน ส่งกลิ่นหอม ก่อนที่สักวันหนึ่งจะร่วงไป
คำถามสุดท้ายคือถ้ามีชีวตอยู่ต่อ จะอยู่เพื่ออะไร ซึ่งเราทำเป็นกิมมิคไว้ให้ตัดไปทันทีระหว่างพิมพ์ ซึ่งอยากจะบอกว่าไม่ต้องตอบเรา เพราะทุกคนตอบคนอื่นได้ดีว่าตัวเอง แต่เราอยากให้คุณได้ตอบตัวเองมากกว่า เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่ต้องรู้ แต่อยากให้ตัวคุณรู้
จนสุดท้ายก็จะมีของที่ระลึกเป็นดอกไม้ให้
หลังจากปล่อยออกมาสักพัก เป็นยังไงบ้าง
มินนี่ : แปลกใจมากนะคะ คนส่วนใหญ่ตอบเรื่องอุดมการณ์ความฝันเยอะมากๆ และคนที่ตอบมักจะเป็นเด็ก เป็นคนที่อายุต่ำกว่า 24 ซึ่งมันเหมือนพวกเราเลย ที่มีความฝัน มีอุดมการณ์ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่ได้ลงมือทำ ซึ่งมันน่าแปลกใจที่หลายคนเสียดายมากถ้าตายแล้วสังคมยังไม่เปลี่ยน
มินเลยรู้สึกว่า เราสองคนเองถ้าเสียดายอะไร ก็คือเสียดายที่เป็นผู้ใหญ่ที่ทำให้คนรุ่นต่อไปต้องถูกฝากความหวังอีกแล้วว่ะ เราเอาปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ไปฝากไว้ที่ลูกหลานอีกแล้ว งั้นเรามารับผิดชอบมันเท่าที่ทำได้มั้ยในชีวิตนี้
ติดตามผลงานธีสิสของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่มเติมได้ที่นี่ : Youngwai-19 : Online graduation showYOUNGWAI-19 : ONLINE GRADUATION SHOW Faculty of fine and applied art, Department of creative design, Graphic major / Exhibition major / Ceramic major, Chulalongkorn university