คำว่า Mediocre หมายถึงการอยู่ในจุดกลางๆ เป็นคนกลางๆ มีนัยว่าเป็นคนงั้นๆ ไม่หวือหวา ออกจะน่าเบื่อ ไม่มีอะไรโดดเด่น
ตอนเด็กๆ ยังจำความรู้สึก ‘เรื่อยๆ’ ได้ไหม การที่เราใช้ชีวิตแบบ ‘กลางๆ’ ไปเรื่อยๆ ทำอะไรก็ทำได้ ไม่ดี ไม่แย่ คะแนนสอบก็ไม่ตก แต่ก็ไม่ดีมาก ตอนนั้นการที่เรายืนอยู่ตรง ‘ค่าเฉลี่ย’ ไม่จำเป็นต้องโดดเด่น ไม่ได้แย่ถึงกับตก ก็ดูจะเป็นความรู้สึกของการใช้ชีวิตที่ไม่เลวเท่าไหร่
ระยะหลัง ยิ่งเมื่อเราเติบโตขึ้น เราเริ่มเจอคำปลุกใจแบบว่า “ต้องเป็นที่ 1 ให้ได้” “โลกต่างให้ความสนใจ” เริ่มได้เห็นการฉายสปอตไลท์ไปที่คนกลุ่มหนึ่ง คนที่ยืนโดดเด่นอยู่หน้าเหล่า ‘ฝูงชน’ และด้วยแสงไฟนี่เองทำให้ดูเหมือนว่า เราทุกคนกำลังถูกผลักให้ต้องดิ้นรนออกจากค่าเฉลี่ย เป็นคนที่โดดเด่นเหนือกว่าใคร เป็นเซ็มบัตสึ เป็นคนแถวหน้าให้ได้
คำว่า ‘กลางๆ’ จากที่เราเคยรู้สึกว่า ก็ดูเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความปกติ’ ของ ‘ค่าเฉลี่ย’ คนส่วนใหญ่ เราอาจมีชีวิตเรื่อยๆ แบบทั่วๆ ไป เรียนก็กลางๆ ทำงานก็เงินเดือนปกติ เป็นมนุษย์เงินเดือน พอเงยหน้ามองดูทีวีก็เห็นแต่ชีวิตคนเท่ๆ คนไทยที่ออกไปเหยียบดวงจันทร์ ไปยืนอยู่ที่ดวงดาว คนที่ประกอบธุรกิจอายุน้อยร้อยล้าน แล้วพอมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ก็คือ ยืนกลางฟู้ดคอร์ด ต่อแถวแลกคูปองเอาน้ำฟรีอยู่ ทำให้เริ่มรู้สึกไปว่า คำว่า ‘กลางๆ’ ค่อยๆ เป็นคำที่น่ากลัวไปโดยปริยาย บางครั้งถูกมองว่าไม่ได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ เป็นคนธรรมดาโลกไม่จำ
ไม่ตกมีนแต่ก็มีแนวทางของตัวเอง
มีข้อสังเกตว่า ความคิดที่เราไปนิยามใครว่า ‘ธรรมดา’ หรืออยู่ที่ค่าเฉลี่ย ซึ่งหมายถึงว่าคนคนนั้นไม่แตกต่างจากฝูงชนมีความเกี่ยวข้องกับ ‘การนิยามตัวเอง’ และอาการ ‘หลงตัวเอง’ (narcissism) อันเป็นอาการที่กำลังก่อตัวขึ้นในช่วงศตวรรษนี้ จากผลสำรวจในปี 1950s มีเด็กมหาวิทยาลัยในสหรัฐแค่ 12% ที่นิยามว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ แต่ 20 ปีให้หลังเมื่อมีการสำรวจในคำถามเดียว ผลกลายเป็นว่ามีเด็กถึง 80% ที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนสำคัญ—คือรู้สึกว่าตัวเองต้องพิเศษโดดเด่นกว่าคนทั่วไป
ในแง่หนึ่ง การที่รู้สึกว่าตัวเองพิเศษ ไปจนถึงการมีคุณสมบัติเช่นความทะเยอทะยานและความมั่นใจดูจะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ช่วยผลักดันให้คนคนหนึ่งก้าวหน้าขึ้น แต่ Rob Kaiser นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของหนังสือ too-much-of-a-good-thing effect บอกว่าการมีคุณสมบัติที่ฟังดูเป็นเชิงบวกและผลักดันเราเยอะๆ อาจจะกลายเป็นดาบสองคมได้ เช่น นำไปสู่การหลงคิดไปว่าตัวเองเก่ง และในทางกลับกัน คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนธรรมดา บางครั้งคุณสมบัติที่เรารับรู้ความธรรมดาของตัวเองทำให้เราอยู่ในโลกแห่งความจริง ยอมรับและเข้าใจตัวเองจนนำไปสู่การพัฒนาชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไปตามแนวทางของตัวเอง
ในแง่นี้การเป็นคนธรรมดาจึงไม่ได้หมายถึงว่าการหยุดนิ่ง เรื่อยเจื้อยไม่นำไปสู่อะไร แต่บางทีอาจหมายถึงการมองโลกนี้ตามความเป็นจริง มีความรู้สึกถ่อมตัวเจืออยู่นิดๆ ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกหวือหวาต้องเป็นคนที่อยู่บนยอดของ 1% อะไรขนาดนั้น
ค่ากลางที่วัดไม่ได้ และเสน่ห์ของผู้คน
ความกลัวค่าเฉลี่ยดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการเสพติดการประเมิน การกะเกณฑ์ชีวิตด้วยตัวเลข จากที่เราไม่สนใจการอยู่ที่ค่ากลางหรือการอยู่ที่ 1 ของอะไรก็ตาม เราเริ่มค่อยๆ ถูกถามว่าเรียนหนังสือได้ที่เท่าไหร่ จบมหาวิทยาลัยจากไหน เงินเดือนเท่าไหร่ พวกตัวเลขคร่าวๆ พวกนี้ค่อยๆ จำแนกเราโดยมีลำดับชั้นแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่มๆ และเป็นการวัดความสำเร็จไปโดยปริยาย เราดูเป็นคนกลางๆ เมื่อเราได้เงินเดือนประมาณหนึ่ง ขับรถราคาประมาณหนึ่ง
สำหรับชีวิตจริง เราไม่สามารถวัดค่าของคุณภาพของผู้คนและชีวิตจากแค่ตัวเลขแค่ชุดเดียวได้ เรารู้ดีว่าเราชอบพอคนๆ หนึ่งในระดับที่ลึกซึ้งกว่าแค่การพบกันเพียงผิวเผิน คำว่าค่ากลาง เป็นคนกลางๆ ดูจะไม่ค่อยมีความเท่าไหร่ หลายครั้งในคนกลางๆ เหล่านั้นกลับเป็นคนที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่มีเสน่ห์ เป็นคนที่มีทักษะในการสื่อสาร มีอารมณ์ขัน แก้ปัญหาเก่ง มีความคมคาย ในทำนองเดียวกัน ยิ่งในเด็กๆ เราจะยิ่งพบว่าเด็กๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เด็กแสบๆ ร้ายๆ ทั้งหลายมักเป็นเด็กเกรดกลางๆ แต่มีความน่าสนใจในแบบของตัวเอง
มีข้อสังเกตหนึ่งของปัญหาการกลัว ‘ภาวะงั้นๆ’ คือความกลัวนี้จะทำให้เราไม่กล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ เช่น การมีงานอดิเรกใหม่ๆ หรือลองทำกิจกรรมอื่นๆ เราอาจจะคุ้นๆ คำพูดแบบว่า อายุปูนนี้แล้วจะไปลองเรียนรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็สายไปแล้ว ความกลัวเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความคิดที่ว่าถ้าทำแล้วไม่ดีก็อย่าทำเลย ไปเรียนภาษา หัดวาดรูปตอนนี้ก็สายไปแล้ว(สายไปที่เราจะกลายเป็นคนเก่งในด้านนั้น) ถ้าเราไม่ได้สนใจว่าต้องเก่งหรืออะไร แค่อยากลองทำ ก็อาจจะเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่โอเคเนอะ ไม่ต้องกังวลว่าจะทำแล้วยอดเยี่ยมไหม ทำได้ระดับกลางๆ ก็โอเค
สุดท้าย ในโลกสมัยใหม่ ต้องอย่าลืมว่า การเป็นคนกลางๆ อยู่ที่ค่าเฉลี่ย ไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตเราจะเจ๊งซะหน่อย และในโลกนี้ไม่เคยมีคำว่า ‘ดีพอ’ ให้เราอยู่แล้ว เราถูกผลักให้ทะลุเพดานบางอย่างอยู่เสมอ บางที ชีวิตก็ไม่ต้องทะลุอะไรตลอดเวลาบ้างก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก