หากถามถึงที่ที่เราจะใช้เวลาดูหนังดีๆ สักเรื่อง และได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันหลังดูหนังเรื่องนั้นจบแล้ว พอจะนึกถึงที่ไหนได้บ้าง แน่นอนว่า ‘โรงหนัง’ อาจเป็นคำตอบ แต่โรงหนังแบบที่คนส่วนใหญ่ไปกันไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างหลัง เพราะเมื่อหนังจบ คนก็แยกย้ายออกจากโรงไปหาอย่างอื่นทำตามใจตนเอง กลายเป็นว่าการหาโรงหนังที่สร้างความเป็นคอมมูนิตี้ในไทยนั้นดูจะเป็นเรื่องยากเหลือเกิน
ถึงอย่างนั้น เหล่าคนรักหนังและการสนทนาทางความคิดคงมีหมุดหมายเช็กอินมากขึ้น เมื่อ Doc Club & Pub. ได้ทำ Soft Opening ไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โดยนำเสนอในฐานะเป็น ‘พื้นที่ทางศิลปะและวัฒนธรรมแห่งใหม่’ บนใจกลางกรุงย่านธุรกิจ ผสมผสานความเป็นโรงหนังเล็กและคาเฟ่สำหรับจิบกาแฟ ดึงดูดให้ผู้คนมาได้เสพและลิ้มรสอาหาร ศิลปะ และวัฒนธรรมตามจริต ในขณะเดียวกัน ก็ได้ร่วมสังสรรค์ผ่านการแบ่งปันและตกผลึกทางความคิดหลังจากได้รับชมหนัง หรือนำแรงบันดาลใจจากการได้ดูหนังมานั่งสร้างงานของตัวเองต่อก็ได้
จุดกำเนิดของ Doc Club & Pub. เริ่มต้นจากการรับไม้ต่อจาก Bangkok Screening Room ที่ประกาศปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นปี ผนวกกับไอเดียและความตั้งใจเดิมที่อยากจะสร้างโรงหนังทางเลือกที่มีความเป็นคอมมูนิตี้และ public space ปลุกปั้นจนกลายมาเป็น Doc Club & Pub. ในที่สุด
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ หมู-สุภาพ หริมเทพาธิป หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ที่แบ่งปันเรื่องราวกว่าจะมาเป็น Doc Club & Pub. ตลอดจนประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับความสำคัญของหนัง คน ความคิด และพื้นที่สาธารณะในไทยที่น่านำไปถกเถียงต่อยอดกัน
ชื่อของ Doc Club & Pub. เริ่มต้นมาจากไหน
Doc Club เป็นชื่อที่มีมาตั้งแต่เป็น Documentary Club อยู่แล้ว ส่วน Pub มองว่าอยากได้บรรยากาศของการพบปะพูดคุย เจอะเจออย่างไม่เป็นทางการ สามารถพูดคุยต่อยอดกันได้ในทุกๆ เรื่อง แต่ด้วยต้นทางที่เป็น Doc Club เลยมองว่าตัวภาพยนตร์ที่นำมาฉายก็มาจาก Documentary Club ส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นต้นทางของการเริ่มต้นบทสนทนา
ส่วนความสบายๆ ของบรรยากาศ Pub ที่อยากให้มีนั้น คือสิ่งช่วยต่อยอดบทสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น ยืดยาวไปได้เรื่อยๆ ก็นึกถึงภาพสถานที่ที่เรานั่งคุยกับคนที่มีความคิดและมุมมองที่ต่างฝ่ายต่างเติมเต็มและต่อยอดให้แก่กัน ไม่มีเวลามากำกับว่าจะจบตอนไหน เพราะเมื่อได้เปิดบทสนทนาแล้ว ก็อาจต่อเนื่องไปสู่การเจอกันครั้งที่สองหรือครั้งที่สาม
อีกคำหนึ่งที่อยากนำมาอิงด้วยคือ public space ผมมองว่าบ้านเรามีพื้นที่ลักษณะนี้ค่อนข้างน้อย แล้วจากการสังเกตด้วยตัวเอง พบว่าคนรุ่นใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยต้องการ public space ยกตัวอย่างอย่างหอศิลป์ เรามักเห็นครุ่นใหม่ไปใช้พื้นที่ตรงนั้นทำกิจกรรมที่แต่ละคนชอบหรือสนใจ เลยรู้สึกว่าหากเรามีพื้นที่แบบนี้เพิ่มขึ้น โดยที่ทำหน้าที่อย่างที่ว่าได้ด้วย ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
ต้นธารความคิดโรงหนังกึ่งพื้นที่สาธารณะมาจากไหน
ถ้าถามว่าได้ไอเดียลักษณะนี้มาจากไหน คงเกิดจากการได้ไปเห็นหลายๆ ที่ที่เรามีโอกาสได้ไป ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การฉายหนัง แล้วตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘ถ้าทำพื้นที่ฉายหนังแบบนี้บ้างจะเป็นอย่างไร’ หรือ ‘ทำไมที่ต่างประเทศถึงมีพื้นที่ฉายหนังลักษณะนี้ ทำไมบ้านเราไม่มี’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตลอดและพยายามทำให้มันเกิดขึ้นเท่าที่ปัจจัยต่างๆ จะเอื้อให้ทำได้ในก่อนหน้านี้
เมื่อได้ทำแล้วก็พบว่ามันมีคนต้องการ (พื้นที่แบบนี้) อยู่นะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน และยังไม่มีใครตอบสนองความต้องการลักษณะนี้ได้ เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสและศักยภาพเราทำให้เกิดพื้นที่ที่มีรูปแบบกิจกรรมที่คิดไว้ได้ก็จะทำ
จาก Doc Club Theatre สู่ Doc Club & Pub. เป็นยังไงบ้าง
Doc Club Theatre เกิดขึ้นมาด้วยจังหวะพอดีที่ตอนนั้น คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ได้พื้นที่ที่ Warehouse 30 และอยากให้มีกิจกรรมฉายหนังและคงเคยเห็นธิดาโพสต์เรื่องทำนองนี้ เลยลองชักชวน
แต่ว่ามีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขของการใช้พื้นที่ที่ว่าอยู่ ก็คือหนึ่งเป็นพื้นที่เปิด แต่การฉายหนังต้องการความเงียบ และการฉายหนังเองก็มีเสียงที่อาจไปรบกวนคนอื่น สอง การฉายหนังต้องการความมืดเพื่อให้ฉายหนังได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งทำให้เกิดการออกแบบกระบวนการฉายหนังที่ฉายได้ช่วงค่ำๆ เย็นๆ และมาทำอะไรต่อจากนั้นได้ยากบ้างในบางครั้ง
กิจกรรมที่เรามองไว้คือตั้งวงสนทนาขึ้นมาจากการดูหนัง เพราะหนังบางเรื่องมีประเด็น ทั้งประเด็นของตัวหนังเองและประเด็นเกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนั้น มาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งก็จัดลักษณะนี้มาโดยตลอด ถามว่าน่าพึงพอใจไหมสำหรับเรา ก็ถือว่าพึงพอใจมากสำหรับการฉายหนัง การเปิดให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและต่อยอดในเรื่องความรู้ความคิดต่างๆ ทำให้เราได้เรียนรู้จากพื้นที่นั้น แต่เงื่อนไขคือว่าเราไม่สามารถทำงานได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เช่น เริ่มต้นฉายหนังได้ตั้งแต่บ่ายๆ เที่ยงๆ เพราะมีเรื่องแสง เรื่องเสียง เลยต้องจัดพื้นที่ให้สอดรับกับพื้นที่ของส่วนรวมและกิจกรรมที่จะทำต่อ
สิ่งที่ขาดหายไปจากภาพในหัวของเราในการออกแบบพื้นที่ฉายหนัง
คือการสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่นำมาต่อยอด พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน
และหนังเป็นตัวสร้างคอมมูนิตี้นี้ให้ดำเนินไปได้ แต่พอเริ่มฉายหนังตอนเย็นแล้ว ก็อาจต่อยาก เพราะมีเวลาคุยกันได้แค่สั้นๆ เลยยังไม่เป็นไปตามที่เราคิดเท่าไหร่
พอเป็นที่นี่ (Doc Club & Pub.) เดิมทีทาง Bangkok Screening Room ออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่จัดฉายหนังได้ตลอดเวลา ค่อนข้างตอบโจทย์และเติมเต็มสิ่งที่เราอยากได้ นั่นก็คือทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เชื่อมต่อกับการดูหนังเป็นพื้นที่ที่เราอยากเข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยน หรือแม้กระทั่งนั่งทำงานแบบดูหนังเสร็จแล้วเกิดไฟอยากทำงานต่อ หรืออยากนั่งเฉยๆ ก็ทำได้
ไทยยังขาดพื้นที่สาธารณะแบบไหนบ้าง
(หัวเราะ) Public Space ที่เราควรจะมีมันขาดหมดนะในตอนนี้ จริงๆ แล้วคนที่สนใจว่าพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและเห็นว่าพื้นที่ส่วนไหนยังขาดอยู่ อยากให้มันเกิดขึ้น ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะมีคือภาครัฐเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นสามารถออกแบบและใช้พื้นที่ได้ โดยที่รัฐสนับสนุนสนับสนุนเชิงกายภาพของพื้นที่ ทุนที่ทำให้เขาดำเนินกิจกรรมที่สนใจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะสิ่งเหล่านี้คือการต่อยอดประชาชน empower คน กระทั่งทำให้คนพัฒนาศักยภาพตัวเอง หรือเห็นว่าสิ่งที่เขาพัฒนาต่อจะเป็นสิ่งที่ทำมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศในอนาคต
หากคุณไม่เติมให้เขาเลย มันไม่มีทางสำเร็จได้ ถ้ามนุษย์มีศักยภาพแค่นี้ เดินไปบนเส้นทางแคบๆ และอาจจะสั้นๆ ด้วย มันจะต่อยอดอะไรไม่ได้และหดแคบลงไปเรื่อยๆ และวันนั้นอาจช้าเกินไปในขณะที่โลกคนอื่นก้าวไปเรื่อยๆ และเราอาจไม่ได้แค่หยุดนิ่งเฉยๆ แต่จะถอยลงไปด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นทุกที่
การจะเกิดสิ่งเหล่านี้อาจต้องมาพร้อมเรื่องบริหารจัดการในเรื่องของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามามีอำนาจในการจัดการตนเอง เพื่อให้คนในพื้นที่ได้พัฒนาศักยภาพตามที่พื้นที่นั้นๆ มีต้นทุนของตัวเองอยู่ แต่จะเติมอะไรบ้างนั้น ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องมองเห็นร่วมกันระหว่างคนที่จะสนับสนุนท้องถิ่นและคนในท้องถิ่นที่จะตกลงและหาว่าเราควรมี Public Space เพื่อเติมหรือต่อยอดให้คนอย่างเราต่อไปอย่างไร
สถานการณ์โรงหนังอิสระในไทยตอนนี้เป็นไงบ้าง
จริงๆ แล้ว เราพยายามจัดพื้นที่ฉายหนังมาโดยตลอด ตั้งแต่เราสนใจเรื่องหนังมา ก็เห็นการดำเนินกิจกรรมฉายหนังนอกระบบ ตั้งแต่ดวงกมลฟิล์มเฮาส์ ห้องสมุดเรวัติที่ธรรมศาสตร์ และอีกหลายที่ที่ทำพื้นที่ในลักษณะนี้
แต่ที่ผ่านมา มีเงื่อนไขในการดำเนินกิจกรรมลักษณะที่ว่าอยู่ เรามองว่าเป็นส่วนที่เข้าไปต่อยอดพื้นที่ที่มีอยู่เดิมให้ทำฟังก์ชันเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ทำเป็นหัวใจหลัก พอถึงจุดหนึ่งเมื่อได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่เป็นส่วนต่อยอดจึงได้รับผลกระทบก่อน เลยพบว่าพื้นที่ลักษณะนี้จะมาแล้วค่อยๆ หายไป
หลังจากนั้น พื้นที่ลักษณะที่ว่าก็มีการเข้าไปเชื่อมโยงกับธุรกิจ โดยก่อนหน้านั้นมันเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนต่อยอดเชิงวัฒนธรรม เช่น เป็นพื้นที่ของการเผยแพร่วัฒนธรรมเชิงภาพยนตร์ของสถาบันทางวัฒนธรรมประเทศต่างๆ พอถึงจุดหนึ่งที่ภารกิจดังกล่าวถูกลดบทบาทลง พื้นที่นั้นก็หายตามไปด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะการขยายตัวของธุรกิจภาพยนตร์ และส่วนที่เติบโตขึ้นมาจำนวนหนึ่งต้องการพื้นที่ฉายหนังด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน ก็มีพื้นที่โรงหนังที่เคยประกอบธุรกิจแต่เดิมแบบเดิม แต่ต้องการคอนเทนต์ที่แตกต่างไปจากเดิมที่ตัวเองเคยทำมา เลยเป็นการเกิดรูปแบบโรงหนังที่ฉายหนังที่ไม่ใช่หนังกระแสหลัก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ยุคที่เป็นมินิเธียเตอร์ โดยจะเห็นตั้งแต่สมัยมาบุญครอง สยามสแควร์ชั้นบน ตั้งฮั่วเส็งแถวปิ่นเกล้า แถวฮอลลีวู้ด ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งที่เราได้เห็นพื้นที่เหล่านี้ค่อยๆ เกิดขึ้น
เราเห็นว่าเริ่มมีที่ทางให้กับหนังอิสระอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น แต่มีฟังก์ชันของการเป็นโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังเป็นหลักเท่านั้น ยังไม่ค่อยเกิดพื้นที่ที่เป็นโรงภาพยนตร์ทำหน้าที่ให้คนมาใช้พื้นที่ในลักษณะอื่นที่เชื่อมโยงกิจกรรมการดูหนังของคน เพราะมันถูกแยกมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราก็คิดว่าจุดนี้น่าจะตอบโจทย์เราเอง และคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยก็ต้องการพื้นที่แบบนี้เหมือนกัน
และด้วยความที่เป็นพื้นที่เล็กแค่นี้ คนที่ชอบหรือมีรสนิยมคล้ายกันก็น่าจะมีอยู่ พอจะหล่อเลี้ยงให้กิจการนี้ดำเนินไปได้เลยลองทำดู
ความต่างเรื่องคอนเทนต์ระหว่าง ‘โรงหนังกระแสหลัก’ กับ ‘โรงหนังทางเลือก’ คืออะไร
ผมมองว่าคนผลิตคอนเทนต์กระแสหลักมีที่ทางของตัวเองอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนาน แต่ที่ผ่านมา พบว่าคนทำหนังอิสระจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่ยุคหนังสั้นเริ่มเกิดขึ้นในบ้านเราและมีคนทำรุ่นใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อันนั้นต่างหากที่ยังขาดโรงภาพยนตร์ที่เป็นพื้นที่เชิงสาธารณะในการเผยแพร่งานเขา เลยคิดว่านี่น่าจะเป็นส่วนที่เข้ามาสนับสนุนคนทำหนังอิสระ
แต่ถ้าถามถึงขนาดพื้นที่ จำนวนที่รองรับคนดูได้ไม่มาก สิ่งที่ขาดก็คือจำนวนการสนับสนุนที่ไม่มากพอที่จะทำให้คนเลือกทำคอนเทนต์นอกกระแสดำรงตัวเองอยู่ได้ด้วยคอนเทนต์ที่ตัวเองผลิต โดยอาศัยพื้นที่นี้เป็นหลักเท่านั้น
การเกิดโลกออนไลน์อาจทำให้ทุกอย่างเชื่อมต่อกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันในการใช้พื้นที่จริงและพื้นที่เสมือนกับคอนเทนต์เดียวกัน ทำให้คนทำงานมีอิสระในการทำงานที่ตัวเองชอบ รวมทั้งนำเสนองานที่มีความหลากหลายให้คนได้ดูมากขึ้น
แต่นี่ก็เป็นแค่จินตนาการนะ ความเป็นจริงจะเกิดขึ้นได้ไหมนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างกลุ่มคนดู สร้างความคุ้นเคยของคนดู ทั้งในรูปแบบการดูในโรงหนังและผ่านช่องทางออนไลน์ มองว่าต้องค่อยๆ หา ทั้งคนทำพื้นที่โรงหนังและคนทำคอนเทนต์คงต้องช่วยๆ กันหาหนทาง เพื่อทำให้โอกาสของคนผลิตคอนเทนต์มีมากไปกว่าการทำคอนเทนต์ที่ถูกกำหนดโดยคนอื่นหรือเป็นแค่เฟืองจักรผลิตงานออกสู่ตลาด แต่ต้องการจะดำรงชีพด้วยงานภาพยนตร์ที่ตนเองสนใจและอยากจะนำเสนอฝีมือของตัวเองออกมาให้คนได้รับรู้
การสนับสนุนคนทำหนังตัวเล็กจากภาครัฐเป็นยังไงบ้าง
ในระยะหลังๆ เรามักได้ยินคนจากภาครัฐหันมาสนใจเรื่องของคอนเทนต์ หรือพูดกันอย่างหนาหูเกี่ยวกับ soft power ต่างๆ แต่คำพูดไม่ทำให้มันเกิดงานออกมาได้ ผมคิดว่าสิ่งที่ควรจะเกิดคือกระบวนการทำงานอย่างแท้จริงที่จะทำให้สิ่งที่เป็นคำพูดกลายเป็นชิ้นงาน กระบวนการที่ทำให้เกิดการพัฒนางานที่ค่อยๆ หาหนทางในการไปต่อของมันได้ ถ้าเราได้แต่พูดแต่ไม่ได้ทำ มันยากที่จะเกิด
แต่อย่างที่บอกไป คนที่พูดเยอะที่สุดก็คือภาครัฐ รัฐจึงควรออกแบบ ทำงาน แล้วลงทุนไปกับมัน เพื่อทำให้เกิดขึ้นจริง จะหวังให้เอกชนมาทำงานลักษณะที่ว่านี้ แค่เอาตัวรอดยังเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องพูดถึงคอนเทนต์ที่ตั้งใจจะทำเป็น soft power นะ เอาแค่ตั้งใจจะทำให้คอนเทนต์มันรอดยังเป็นเรื่องยาก ถ้าจะให้ทำคอนเทนต์ตอบโจทย์รัฐว่าต้องเป็น soft power ที่เป็นสินค้าที่ไปสร้างมูลค่าเพิ่มหรือแบรนด์ให้กับประเทศนี้ รวมทั้งมีที่ทางในการทำอะไรต่อไปอีกนั้น ผมว่าเป็นการผลักภาระให้ภาคเอกชนและประชาชนมากเกินไป
คนที่ควรเริ่มลงทุน ลงแรง ลงสมองความคิดไปกับมัน ควรเริ่มต้นจากภาครัฐ
แต่หากภาครัฐยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่เพียงพอ ผมคิดว่าภาคเอกชนและคนทำงานในวงการนี้ก็พร้อม เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครยื่นมือเขามาช่วยอยู่แล้ว มีแต่คนยื่นมือเข้ามาขอ ถ้ามีคนยื่นมือเข้ามาช่วยแล้วจะขออะไรจากเขา ผมว่าเป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับคนวงการนี้
ในยุคสตรีมมิ่ง โรงหนังมีความสำคัญยังไงบ้าง
เมื่อกี้นี้เราเจอคนที่มาดูหนังที่นี่ทั้งที่ไม่ได้เป็นหนังฉายในโรงหนังนะ แต่เป็นพื้นที่ public ถามว่าทำไมถึงเลือกมาดูเทศกาลหนังที่จัดในส่วนคาเฟ่ ซึ่งก็มีจัดเป็นแบบออนไลน์ด้วย เขาบอกว่าถ้าอยู่บ้าน ดูๆ ไปแล้วจะหลับ แต่พอมาดูในพื้นที่นี้ เขาโฟกัสกับตัวคอนเทนต์ที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า
นั่นก็คือว่า คอนเทนต์คือตัวที่จะพาเราไปเจออะไร แต่ไม่ใช่เราเป็นคนที่บอกว่าฉันอยากจะเสพหรือไม่เสพคอนเทนต์นั้น มันมีทางเลือกว่าเราจะกดดู กดหยุด หรือไม่ดูต่อตามความสะดวกของเรา กับให้คอนเทนต์พาเราไป ไม่ว่าจะเบื่อแค่ไหน แต่สุดท้ายปลายทางแล้วก็จะพบอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนมุมมองความคิดบางเรื่องที่ค้างคาในหัวเราก็ได้ มองว่านี่เป็นเรื่องที่แตกต่าง
อีกอย่างเลยที่หนังมันทำงานกับเราในฐานะคนดูมาตลอดก็คือเรื่องราวที่ส่งเข้ามาหาเราหรือปะทะกับเรา และสิ่งนั้นทำให้เราเกิดความรู้สึก นี่คือสิ่งสำคัญของการมาอยู่ในที่ที่เป็น public แล้วปล่อยให้หนังทำหน้าที่ของมันไป โดยที่เราไม่ไปขัดขวางกระบวนการที่เราทำได้หากเทียบกับการที่เราเลือกดูหนังอยู่ที่บ้าน
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโรงหนังมาตั้งแต่ต้นคืออะไร
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนัง ตั้งแต่การประกวดจนการจัดฉายหนังต่างๆ มันเปิดโลกที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ทำให้รู้จักสังเกต ระมัดระวังประเด็นบางประเด็นที่เราไม่เคยให้ความสนใจ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราอาจไม่เคยให้ความสำคัญ มองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หนังและกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องหลังการฉายหนังทำให้เราเรียนรู้ว่าจะมาเอาความคุ้นเคยตามแบบสังคมที่เราเติบโตหรือเป็นกันอยู่แต่ดั้งเดิมนั้น จะทำแบบนั้นอีกไม่ได้ เพราะโลกยุคใหม่ไม่อนุญาตไม่คุณทำแบบนั้นแล้ว
ทำให้เราเติบโตทางความคิดมากขึ้น คิดว่าเป็นสิ่งดีที่หากพื้นที่ของเราทำหน้าที่นี้ให้กับคนอื่นได้อีก เพราะเราทั้งหลายต้องเติบโตและอยู่กับโลกที่มีข้อตกลงใหม่ๆ เราจึงไม่ควรละเลยข้อตกลงของมนุษย์โลกที่จะอยู่ร่วมกัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกจริงเชื่อมโยงกันด้วยโลกออนไลน์ ทำให้เราอยู่กับผู้คนในโลกตลอดเวลา
เลยคิดว่าหนังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราและคนอื่นๆ สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ อยู่กับคนในสังคมโลกได้