เดือนมีนาคมนับเป็นเดือนสตรีสากล และเพื่อเป็นการต้อนรับเดือนแห่งวันสตรีสากล The MATTER จึงอยากชวนมองออกไปยังพื้นที่ภายนอกคือพื้นที่เมืองที่เราอยู่ เราอาจรู้สึกว่าเมืองก็คือเมือง ไม่น่าจะมีประเด็นเรื่องเพศหรือการออกแบบโดยเอนเอียงไปทางเพศใดเพศหนึ่ง
แต่ทว่า พื้นที่เมืองซึ่งสัมพันธ์กับการลงทุนและการใช้พื้นที่เมืองร่วมกันของคนทุกเพศก็อาจมีอคติจากความคิดเรื่องเพศเจือปนอยู่ ซึ่งอาจเป็นมรดกตกทอดของการวางผังเมืองที่คิดโดยมีผู้ชายเป็นสำคัญ ข้อสังเกตของการออกแบบเมืองคือเมืองส่วนใหญ่มักออกแบบโดยนักผังเมืองผู้ชาย มองไม่เห็นเพศและวัยอื่นๆ ที่ใช้เมืองอยู่ด้วย ในยุคเริ่มของกระแสเมืองเพื่อคนทุกเพศเริ่มต้นอย่างน่าสนใจด้วยนิทรรศภาพถ่ายง่ายๆ จนกลายเป็นกระแสที่เมืองทั่วโลกตอบรับและกลายเป็นกระแสเรื่องเมืองนับรวมซึ่งยังคงสำคัญอยู่
ทีนี้จากนิทรรศการนำไปสู่การสำรวจว่าผู้หญิงใช้เมืองแตกต่างกับผู้ชายไหม พวกเธอมีภาระอะไร ในความเข้าใจนี้เองทำให้เมืองเริ่มขยายสาธารณูปโภคไปสู่บริการที่ส่งเสริมความมั่นคงของผู้หญิง เราเริ่มเห็นนโยบายที่ขยายพื้นที่บริการ เช่น ศูนย์ดูแลโดยเฉพาะการดูแลเด็กซึ่งเป็นภาระที่สังคมมักยกให้ผู้หญิงเป็นผู้รับภาระ การช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลอาจสัมพันธ์กับการที่ผู้หญิงสามารถมีอิสระ เข้าสู่พื้นที่ทำงานได้ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจอาจนำไปนู่การเป็นอิสระและอาจเกี่ยวข้องกับการออกจากความรุนแรงในครอบครัว
นิทรรศการภาพถ่ายที่เวียนนา สู่ Gender mainstreaming
กระแสการพัฒนาที่เริ่มอย่างเป็นรูปธรรมในราวปี 1995 และยังคงเป็นความพยายามของเมืองและรัฐอยู่จนถึงปัจจุบัน คือการทำให้เมืองและนโยบายต่างๆ คำนึงถึงคนทุกเพศมากขึ้นเรียกว่า Gender mainstreaming ในระดับเมืองถือว่าเรียบง่ายมากคือมองว่าเมืองนั้นมีผู้ใช้งานเป็นคนทุกเพศ นโยบายและหน้าตาของเมือง สาธารณูปโภคจากการลงทุนขนาดใหญ่ไปจนถึงถนน ทางเท้า เก้าอี้ ก็จะต้องคิดโดยมีนัยทางเพศในฐานะผู้ใช้งานทุกคนเข้ามาคิดเผื่อด้วย
จุดเริ่มของความคำนึงเรื่องเพศเริ่มมาจากกรุงเวียนนา ซึ่งถือเป็นเมืองที่ไหวตัวเรื่องการออกแบบเมืองที่ไม่ครอบคลุมคนทุกเพศที่เร็วมาก คือเริ่มเอ๊ะตั้งแต่ 30 ปีก่อน ในยุคนั้นเมืองสมัยใหม่กำลังขยายตัว และเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่าเมืองส่วนใหญ่ผู้ชายเป็นผู้ออกแบบ และในการออกแบบเมืองนั้นก็คิดถึงแต่กิจกรรมอย่างผู้ชายสมัยใหม่ คือการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน พื้นที่ในชีวิตประจำวันของผู้หญิงไม่ได้ถูกมองเห็นและออกแบบเมืองเผื่อการใช้ชีวิตของพวกเธอในเวลากลางวันหรือเวลาอื่นๆ เลย
ความเคลื่อนไหวจากเวียนนาในปี 1991 เริ่มต้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจคือ เอฟา ไคล์ (Eva Kail) นักผังเมืองหญิงชาวเวียนนาจัดนิทรรศการชื่อ Who Owns the Public Space. นิทรรศการที่ถามกันตรงๆ ว่าพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เมืองนั้นเป็นของใคร งานนิทรรศการดังกล่าวแสนจะเรียบง่าย โดยจัดแสดงภาพถ่ายของผู้หญิงแปดคน จากเด็กผู้หญิง ถึงคนวัยทำงาน จากผู้ที่นั่งรถเข็นถึงหญิงวัยเกษียณ นิทรรศการนั้นให้ภาพการใ้ช้ชีวิตในหนึ่งวัน เป็นชีวิตประจำวันของเมืองเวียนนา และนิทรรศการนั้นทำให้ทุกคนประจักษ์ว่าเมือง ไม่ใช่ที่ของผู้หญิงเลย
ความเท่ของนิทรรศการนั้นทำให้เกิดการถกเถียงว่า เมืองทั้งเวียนนาและเมืองในยุโรปยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นเมืองที่แสนแห้งแล้ง เมืองถูกคิดจากมุมมองของการอยู่บ้าน นั่งรถหรือขับรถไปทำงาน พื้นที่เมืองมองไม่เห็นกิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้หญิงหรือคนกลุ่มอื่นๆ ก็กำลังใช้งานเมืองเดียวกันนี้อยู่
เมืองในยุคนั้นไม่มีพื้นที่สำหรับแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง อย่างงานดูแลเด็กหรือการจับจ่ายของชำในชีวิตประจำวัน เมืองมองไม่เห็นความแตกต่างของพฤติกรรม เช่น สองในสามของการขับรถเป็นผู้ชาย ผู้หญิงจะใช้การเดินเท้าและขึ้นรถประจำทางเป็นช่วงๆ ซึ่งถ้าเรามองย้อนไปยังบริบทหลังสงครามโลก เมืองกำลังขยายอย่างรวดเร็ว การลงทุนของเมืองนำไปสู่การประกวดและจ้างงานสถาปนิกในโปรเจ็กต์พัฒนา พื้นที่ของการวางผังเมืองและระบบต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงแทบไม่ได้เข้าไปมีบทบาทและร่วมมองเห็นและวางอนาคตหน้าตาของเมืองด้วยมุมมองอื่นๆ
ผลจากนิทรรศการในปี 1991 ในปีต่อมา เวียนนาก็ได้ตั้งสำนักงานของผู้หญิงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายและออกแบบวางผังไปจนถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ของกรุงเวียนนา เรียกว่า Frauenburo ซึ่งก็ได้คุณเอฟาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นหัวหน้าศูนย์ ศูนย์แห่งนี้สัมพันธ์กับการออกแบบและการกำหนดนโยบายจำนวนมาก ผลงานแรกๆ คือการออกแบบพื้นที่พักอาศัยที่มีความยืดหยุ่น เป็นพื้นที่ที่คำนึงถึงพลวัตรของการใช้ชีวิตทั้งบ้าน ทำงานและการดูแลครอบครัวชื่อ Frauen-Werk-Stadt ในปี 1997
โปรเจ็กต์ Frauen-Werk-Stadt แปลตรงตัวว่า woman-work-city เป็นอาคารพักอาศัยที่ถูกคิดอย่างถี่ถ้วนจากมุมมองของผู้หญิง องค์ประกอบของอพาร์ตเมนต์มีรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบให้มีพื้นที่เก็บของที่กว้างและเพียงพอในทุกๆ ชั้น แต่ละชั้นจะมีบันไดที่มีขนาดกว้างกว่าปกติเพื่อชวนให้ผู้อยู่อาศัยและเหล่าเพื่อนบ้านมีปฏิสัมพันธ์กับ หน้าตาของอพาร์ตเมนต์มีความยืดหยุ่น ปรับขนาดและหน้าตาห้องได้หลากหลาย โดยห้องนอนรองถูกคิดให้มีคุณภาพสูง ทำให้มีห้องสำหรับลูกๆ หรือกิจกรรมในบ้านอื่นๆ ที่ยืดหยุ่นหลากหลายขึ้น ไปจนถึงการออกแบบให้ตัวอาคารมีลักษณะเป็นย่านในตัวเอง มีสวน โรงเรียนอนุบาล จตุรัส เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง
มรดกก่อนปี 2000 และเมืองที่ส่งเสริมความมั่นคงให้ผู้หญิง
สำหรับเวียนนาด้วยความที่เริ่มก่อนแถมตั้งหน่วยงานทำงานขนานใหญ่เรื่องเมืองที่ออกแบบเพื่อผู้หญิง รวมถึงความพยายามในการเข้าใจเมือง ในปี 1999 หน่วยงานลงพื้นที่ 9 เขตเมืองของเวียนนาเพื่อทำแบบสอบถามการใช้ขนส่งสาธารณะและการเดินทางภายในเมือง
การสำรวจในครั้งนั้น ผู้รับผิดชอบระบุว่า ผู้ชายนั้นกรอกแบบสอบถามอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะพูดถึงการขับรถหรือขึ้นขนส่งสาธารณะวันละสองครั้ง การใช้เมืองของผู้ชายมีแค่นั้น แต่ในการกรอบแบบสอบถามของผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้เวลานาน พวกเธอกรอกรายละเอียดเล็กๆ ของเส้นทางที่แตกต่างและปรับเปลี่ยนไปตามภาระและกิจกรรมของเธอในแต่ละวัน
ผู้หญิงส่วนใหญ่รายงานว่าพวกเธอใช้สารพัดการเดินทาง พวกเธอใช้ทางเท้า ขึ้นรถราง ใช้รถเมล์ ตัวอย่างที่พวกเธอรายงานรูปแบบเส้นทางของพวกเธอมีตั้งแต่พาลูกไปหาหมอ พาแม่ไปจ่ายตลาด ทำสารพัดกิจกรรมรวมถึงไปเข้าทำงานหาเงินด้วย
ดังนั้นเมืองจึงเริ่มเห็นความยากลำบากและภาระจำนวนมากของผู้หญิง โดยเฉพาะเรื่องการดูแล (care) ทั้งการดูแลเด็กและการดูแลผู้สูงอายุ ตรงนี้เองจึงตอบสนองกับการออกแบบเมืองในระดับผังเมืองที่สนับสนุนผู้หญิงมากขึ้นเช่นการขยับโรงเรียนเข้ามาไว้ใกล้บ้าน หรือทำให้พื้นที่อยู่อาศัยมีศูนย์รวมของกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันเช่นร้านค้า ลาน สวน ไปจนถึงการคิดเรื่องเส้นทางที่เชื่อมต่อกันของพื้นที่ต่างๆ เช่นว่าการเดินจากขนส่งสาธารณะไปยังพื้นที่หนึ่งๆ การเดินสะดวกไหม ไกลรึเปล่า รถเข็นเข็นได้ไหม
จากยุค 1999 โลกเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่การทำงานมากขึ้นและเมืองหลายแห่งก็สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่โลกการทำงาน ทว่าภาระโดยเฉพาะการดูแลลูกและผู้สูงอายุเป็นภาระสำคัญ หลายเมือง เช่น โตเกียวประสบปัญหาบริการดูแลเด็กในเวลากลางวันไม่พอ ในทางกลับกันพื้นที่บริการดูแลเด็กที่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานของรัฐก็สัมพันธ์กับการสนับสนุนให้ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่อาจมีรายได้น้อยสามารถเข้าทำงานได้ การเข้าถึงการทำงานนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การมีอิสระทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้น มั่นคงมากขึ้น
สุดท้าย เราอาจรู้สึกว่าประเด็นเรื่องความเท่าเทียม สิทธิและสถานะระหว่างเพศอาจเริ่มอยู่ในจุดที่เท่าเทียมแล้ว แต่ประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคทางเพศที่แทรกซึมอยู่โดยเฉพาะในพื้นที่กายภาพหรือในการลงทุนต่างๆ ของรัฐและนโยบายไปจนถึงกฎหมาย พื้นที่เหล่านี้อาจยังคงสามารถปรับเปลี่ยนและมองเห็นเงื่อนไขบางอย่าง
ซึ่งการเปิดพื้นที่เหล่านั้นให้มีนัยทางเพศที่เท่าเทียมกันมากขึ้น นอกจากจะสัมพันธ์กับความยุติธรรมของการใช้พื้นที่เมืองที่แบ่งปันอย่างเสมอกันแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังอาจส่งเสริมคุณภาพชีวิตและช่วยทำให้ปัญหาของสังคม เช่น ความรุนแรงในผู้หญิง การที่สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงอดทนและดูแลเช่นการตั้งครรภ์ ไปจนถึงการดูแลสมาชิกในครอบครัว เป็นสิ่งที่ครอบครัวและรัฐร่วมแบ่งเบาภาระของผู้หญิงให้ไม่ลำบากเกินไปนักได้
อ้างอิงจาก