ประเด็นหนึ่งของเดือนไพรด์และการเดินขบวนไพรด์คือการปรากฏของคนทุกเพศได้อย่างภูมิใจ ในบรรยากาศงานไพรด์ นอกจากความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจในช่วงนี้ ในหลายปริมณฑลของสังคม เราเองก็ยังคงต้องมองหาความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่เป็นรูปธรรม คือยังมีเรื่องราวให้ร่วมกันหาทางต่อ นอกเหนือไปจากการประดับธงหรือเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้ง
ในโอกาสที่เมืองท้่วโลกกำลังปูไปด้วยสีรุ้ง แต่ในบางบรรยากาศในชีวิตประจำวัน พื้นที่กายภาพคือพื้นที่เมืองของเรา บางครั้งอาจทำให้ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มเพศหลากหลายหรือ LGBTQ+ เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือความรู้สึกสะดวกใจในการแสดงความรัก การเดินจับมือกันในพื้นที่สาธารณะและปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่สัมพันธ์กับบริบทการออกแบบและหน้าตาของเมือง รวมถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ
ประเด็นเรื่องเพศและการออกแบบเมือง เป็นอีกหนึ่งกระแสสำคัญ เป็นกระแสที่เริ่มต้นจากกรุงเวียนนาเมื่อครั้งมองเห็นว่าเมืองไม่ได้ออกแบบเพื่อผู้หญิง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่มีงานวิจัยพบว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเมื่อใช้เวลาในพื้นที่สาธารณะ จากความรู้สึกไม่ปลอดภัย มีการเก็บกัก ปิดกั้นตัวตนไว้
ในปี 2021 มหาวิทยาลัยเวสมิสเตอร์ของอังกฤษในความร่วมมือกับองค์กร Arup องค์กรด้านความยั่งยืนระดับนานาชาติ เสนอแนวคิดและงานวิจัยชื่อ Queering Public Space เป็นรายงานและข้อเสนอว่า ด้วยความสำคัญและความสัมพันธ์ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ ส่วนหนึ่งเสนอคำตอบว่าเมืองจะสามารถปรับปรุงและออกแบบโดยคำนึงเรื่องความเป็นเพศเพื่อออกแบบให้ทั้งเมืองและพื้นที่ของเมือง ดีกับคนทุกเพศ เป็นพื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัยและทุกคน ไม่ว่าจะคนเพศไหนสามารถจูงมือและแสดงความรักกันได้อย่างสบายใจ
Gender Mainstreaming เมื่อเมืองยังมีเรื่องเพศ
เราอาจรู้สึกว่าโลกนี้เท่าเทียมกันแล้ว มีเดือนไพรด์ มีขบวนสีรุ้งแล้ว การต่อสู้น่าจะจบลงได้แล้ว ทว่า ถ้าเราย้อนดูในหลายๆ พื้นที่ การขบคิดใคร่ครวญก็อาจทำให้เรายังมองเห็นการเรียกร้องและความเปลี่ยนแปลงต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือพื้นที่กายภาพอย่างสำคัญคือพื้นที่เมือง พื้นที่ที่การออกแบบต่างๆ ยังอาจมีเงื่อนไขและข้อกำจัดเรื่องเพศอยู่
กระแสการมองเมืองเรื่องเพศเกิดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา กรุงเวียนนาพบว่า เมืองไม่ได้ออกแบบเพื่อผู้หญิง ส่วนใหญ่นักวางผังมักเป็นผู้ชาย และผู้หญิงที่ใช้เมือง สาธารณูปโภคส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการใช้ชีวิตที่ซับซ้อนของพวกเธอ ในที่สุดเวียนนาเกิดกระแสที่เรียกว่า Gender Mainstreaming เปิดหน่วยงานเฉพาะที่นำโดยนักออกแบบหญิง มีโครงการบ้าน โปรเจ็กต์พัฒนาเมืองที่มีผู้หญิงเข้าไปออกแบบหรือมีส่วนร่วม
กระแสเรื่องเมืองเพื่อคนทุกเพศเป็นประเด็นทางความเท่าเทียมอย่างสำคัญ เป็นกระบวนการที่รัฐและพื้นที่เมืองมองการใช้งานเมืองของทุกๆ คน พื้นที่เมืองส่วนใหญ่ยังมีนัยทางเพศ เช่นถ้าเรายังรู้สึกหรือผู้หญิงรู้สึกว่าเมืองไม่ปลอดภัย พื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่นสวน รถโดยสาร ป้ายรถเมล์ ไม่ปลอดภัยในช่วงกลางคืน สนามและลานกว้างมักคิดถึงเด็กผู้ชาย เป็นสนามวิ่งเล่นกีฬาแบบผู้ชาย ไม่นับว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมในการพัฒนาและออกแบบเพื่อผู้หญิงด้วยกันมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ยังเป็นหลักฐานว่าเมืองยังอาจมีปัญหาเรื่องมิติทางเพศอยู่
จากการออกแบบเมืองเพื่อผู้หญิงจึงค่อยๆ ขยายไปสู่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในระดับเมืองและวัฒนธรรม หลายเมืองของโลกยังปิดกั้นผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้แต่ในเมืองที่ดูก้าวหน้าแล้ว ด้วยบริบทและการออกแบบเมืองเองก็อาจจะยังไม่เอื้อให้ผู้คนแสดงตัวตนและความสัมพันธ์ซึ่งเป็นมิติหรือพื้นที่ส่วนบุคคลในพื้นที่สาธารณะได้
งานศึกษาจำนวนมากทำการศึกษาความกลัวในกลุ่มเพศหลากหลายทั้งในผู้ที่มีสภาพเป็นหญิงและชาย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศมักเผชิญกับความกลัวเมื่อต้องปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะ โดยทั่วไปกลุ่มตัวอย่างมักจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการแสดงออก ความกลัวมีมิติอย่างซับซ้อนเช่นกลัวการถูกมอง ถูกโจมตี บางส่วนสัมพันธ์กับมิติทางเชื้อชาติ อาจเกี่ยวข้องกับความกลัวในการถูกเหยียดทั้งเหยียดเพศและเหยียดเชื้อชาติ
พื้นที่สาธารณะกับการทำให้กลายเป็นเควียร์
จากงานวิจัยเรื่องความรู้สึกไม่ปลอดภัยของกลุ่มเพศหลากหลาย ในงานศึกษามักจะพูดถึงความปรารถนาที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมีพื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะได้ ในแง่นี้พื้นที่สาธารณะอันหมายถึงสวนและพื้นท่ีบริการต่างๆ ของรัฐและเอกชน รวมถึงถนนหนทางและบริการอื่นๆ จึงมักถูกมองข้ามไป
คำว่าการทำให้กลายเป็นเควียร์ (queering) เป็นคำที่ค่อนข้างซับซ้อน ความเควียร์มักอยู่ตรงข้ามกับบรรทัดฐานหรือความปกติ (norm) พื้นที่ส่วนใหญ่มักเป็นพื้นที่ของความปกติ ความเคร่งขรึม ในรายงานเรื่อง Queering Public Space ผู้วิจัยซึ่งทำงานกับกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเช่นนักผังเมืองและนักออกแบบระดับนานาชาติ ให้สัมภาษณ์ว่าพื้นที่สาธารณะไม่เคยเป็นกลางทางเพศ การถูกมองเห็นในมุมมองทั่วไปไม่เท่ากับความรู้สึกที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกจ้องมอง ทางกลับกันพื้นที่ปิดล้อมจนเกินไปอาจเสี่ยงเกิดความรุนแรงและการโจมตีเพศหลากหลายได้
ในกลยุทธ์ว่าด้วยการทำให้เมืองมีความเควียร์ขึ้น เบื้องต้นที่สุดคือการทำให้พื้นที่เมืองโดยทั่วไปให้ความรู้สึกปลอดภัยกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรืออันที่จริงคือให้ความรู้สึกปลอดภัยกับคนทุกเพศทุกวัย ตัวอย่างสำคัญคือถนนและพื้นที่สวนสาธารณะ
ข้อเสนอจากรายงานพูดถึงความรู้สึกปลอดภัยซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่เมือง นึกภาพถนนหนทางหรือพื้นที่อื่นๆ ออกแบบแสงสว่างหรือไฟของเมืองส่วนใหญ่มักคิดจากความปลอดภัย เป็นการใช้โคมไฟที่เน้นการตรวจตรา ทว่าแสงที่สว่างเกินไป ส่องตรงเกินไปมักก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อผู้คน (แต่เดิมคิดถึงความปลอดภัยของทรัพย์สิน) กรณีเรื่องพื้นที่เมืองที่เป็นลานกว้างและไฟส่องสว่างที่ดูเหมือนเรือนจำ เมืองนิวยอร์กเป็นเมืองที่รับความคิดและปรับพื้นที่สาธารณะไปสู่การติดตั้งไฟโทนอบอุ่น ในขณะเดียวกันก็ทั่วถึง ทำถนนให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น
การถูกมองเห็นเป็นอีกประเด็นสำคัญ ผู้วิจัยในรายงานเรื่อง Queering Public Space พูดถึงหัวใจสำคัญอย่างการเดินจับมือกันซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย การถูกล้อเลียนด้วยถ้อยคำหรืออาจเลวร้ายกว่านั้น ในกรณีนี้ มิติของการออกแบบเมืองจึงเริ่มซับซ้อนขึ้น แน่นอนว่าการมองเห็นได้ (visibility) เป็นหลักการสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีมุมอับ ในแง่นี้พื้นที่สาธารณะจึงอาจพิจารณาการมีสัดส่วนของพื้นที่ส่วนตัว (privacy) ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ คือมีจุดที่ผู้คนอาจสามารถใช้เวลาเป็นส่วนตัวได้ เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกมองเห็นสำหรับกลุ่มคนที่อาจจะยังไม่สะดวกใจนัก
ทีมวิจัยเรียกว่าเป็น cozy corner คือมุมสบายๆ พื้นที่ที่จะทำให้พื้นที่สาธารณะเปิดให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติมขึ้น ประเด็นเรื่องสวนนำไปสู่การออกแบบภูมิทัศน์เช่นกลุ่มพื้นที่สีเขียว การออกแบบที่ผสมผสานน้ำ รวมถึงการคำนึงถึงบรรยากาศและเสียง ไปจนถึงงานศิลปะต่างๆ ที่สัมพันธ์กับตัวตนส่วนบุคคล ทำให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงทั้งกับพื้นที่สาธารณะและสัมพันธ์กลับไปสู่ตัวตนหรือความรู้สึกส่วนบุคคลของตัวเองได้
ตรงนี้เองที่กิมมิกเล็กๆ เช่นการติดธงสีรุ้งเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงการ queering ความเคร่งขรึมต่างๆ เช่นการที่เมืองใส่ลูกเล่นลงในป้าย ในพื้นที่ที่ควรจะขึงขังของทางการ ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการที่เมืองปรับบรรยากาศ คิดและมองเห็นคนทุกเพศได้มากขึ้น
สุดท้ายประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ การต่อสู้ ความเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถผลักดันความเท่าเทียมให้กว้างขวางและครอบคลุมกันต่อไปได้อีก ตรงนี้เองจึงอาจกลับไปยังบางพื้นฐาน เช่น การมีเข้าไปมีส่วนร่วมและร่วมคิดตัดสินใจที่ครอบคลุมคนทุกเพศ บางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับพื้นท่ีทางวิชาชีพที่จะช่วยชี้ให้เห็นการปรับปรุงไปสู่สาธารณูปโภคที่มองเห็นมิติเรื่องเพศที่อาจยังเป็นปัญหาอยู่
ในประเด็นความเป็นสาธารณะ โครงสร้างหรือบริการต่างๆ ยังมีอีกหลายส่วนที่ทบทวนและเปิดพื้นที่อื่นๆ ได้ บทความใน The Conversation พูดถึงในระดับผังเมืองเช่นการวางผังและการคิดเรื่องย่านชานเมือง หน้าตาของบ้านที่อาจคิดภาพครอบครัวแบบคลาสสิกที่เป็นครอบครัวชายหญิงมีลูกหนึ่งถึงสองคน แต่ถ้าเรามองชุมชนในฐานะครอบครัวแบบใหม่ เป็นครอบครัวหลากหลาย บ้านและพื้นที่รอบๆ ควรมีสาธารณูปโภคที่เหมือนกันไหม ถ้าในอนาคตเรามีครอบครัวเพศหลากหลาย มีผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเพศหลากหลาย คนเหล่านั้นต้องการบริการอะไร ต้องการพื้นที่สุขภาพ บริการทางการเงินแบบไหน
ในแง่ของความหลากหลายทางเพศ จึงอาจยังมีสิ่งที่ร่วมกันคิดและทำอีกมาก
อ้างอิงจาก