ในช่วงที่ประชาชนออกมาเรียกร้อง และต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ เราเห็นวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะการออกมาบนท้องถนน การแสดงเชิงสัญลักษณ์ ไปถึงการใช้เพลง ที่มีเนื้อหาพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และถ่ายทอดความรู้สึกต่อรัฐออกมา
เพลงปฏิรูป เพลงใหม่ของ RAD ถือว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาที่พูดถึงอะไรที่ทะลุเพดานมากขึ้น
ผมเป็นคนเริ่มไอเดียเพลงน้ี และชวนคนอื่นๆ ขึ้นมา เป็นเพลงที่เราอยากทำเพื่อเป็นฟีลม็อบ ปลุกไฟของคนที่อยู่ในม็อบ แต่ตอนแรกหาเนื้อหาไม่ได้ และเราลงพื้นที่ม็อบกันบ่อย เราก็รู้สึกว่าใน 3 ข้อเสนอของประชาชน มันน่าจะเอามาย้ำให้อยู่ในเพลงเราชัดๆ ก็เลือกคำว่า ‘ปฏิรูป’ จากข้อ 3 คือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประเด็นก็วนไปวนมา เช่นการใช้ภาษี หรือพล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกไป แต่ที่แตะเพดาน คือเรื่องของสถาบันกษัตริย์ในเพลงนี้
เพลงมันสะท้อนภาพสังคมอะไรในตอนนี้บ้าง
ผมว่ามันสะท้อนม็อบเลย ที่เป็นการออกมาของคนที่เขามีคำถาม เขาออกมาตามหาว่า สิ่งที่เขาไม่ถูกคลี่คลายในหลายๆ เรื่องคืออะไร ตลอด 3-4 เดือนที่ม็อบออกมาประเด็นมันก็ถูกพูดถึงมากเรื่อยๆ แต่ก็เข้มข้นขึ้น แต่ฝั่งรัฐเอง ก็ไม่ได้ตอบเราอย่างจริงใจ อย่างที่เขาบอกในแถลงการณ์ว่าจะตอบอย่างจริงใจ ซึ่งเราก็ไม่เคยรู้สึกว่า เขาคุยกับม็อบเลย หรือไม่มีการถอยคนละก้าวแบบที่เขาทำ การทำเพลงของเราก็ไม่ถอยเหมือนกัน นำเสนอเรื่องนี้ไปย้ำๆ และคุยกันอย่างจริงจัง
พอเพลงของ RAD ออกมา ได้รับกระแสตอบรับดีมาก ทั้งจากประชาชน และจากภาครัฐ มักมีข่าวว่าจะถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเนื้อเพลง ในฐานะแร็ปเปอร์ และศิลปิน มองเรื่องนี้อย่างไร
ผมว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ ที่พอมีใครทำอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง และมีสปอตไลท์จับมา ตำรวจก็คงตรวจสอบ ผมก็เชื่อว่าตำรวจเขาตามเราอยู่แล้ว อย่างช่วงที่ผมถูกจับ ผมเองก็ถูกตามมอนิเตอร์เฟซบุ๊กส่วนตัว และเพจเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่กลุ่ม RAD เอง การปล่อยเพลงก็คงถูกตามไปฟัง แต่เราก็ไม่คิดว่าเขาจะเอาผิดอะไรเราได้ เพราะเราก็รีเช็กแล้วว่าเราไม่ได้โฟกัสชื่ออะไรเข้าไป แต่ทุกคนก็รู้ความหมายของเราในเนื้อเพลง
การที่ภาครัฐเราจับตามองเพลงของ RAD หรือมีเรื่องกฎหมายจะดำเนินคดี แต่ในต่างประเทศ RAD ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก มันสะท้อนถึงอะไรบ้าง
ผมว่าคนรุ่นใหม่ หรือตัวเราเองที่ลุกขึ้นมาสู้ เรามองภาพตัวเองเป็น Global citizen หรือพลเมืองโลกที่ทุกอย่างในโลกมันลิงก์กันหมด การได้รางวัลที่นอร์เวย์ในงานวันนั้น เขาเป็นงานที่แสดงให้เห็นว่ายังมีคนที่ลุกขึ้นสู้อยู่ทั่วโลก นอกจากเราก็มีศิลปินอีกหลายประเทศที่ทำงานแบบเรา แต่เขาโดนมากกว่าเราอีกขนาดที่อยู่ในประเทศตัวเองไม่ได้ ต้องลี้ภัย แต่จริงๆ ของเราแค่ถูกออกข่าว หรือถูกตรวจสอบจากการทำเพลงแร็ปก็ตลกแล้ว แล้วการที่ต่างชาติเห็น แค่นี้ก็สะท้อนแล้วว่าเขามองประเทศเราอย่างไร
อย่างภาพการสลายการชุมนุมที่ปทุมวัน วันที่ 16 ตุลาที่ผ่านมา ซึ่งภาพของรอยสเตอร์ก็ได้รางวัลเป็น picture of the year ผมเชื่อว่าต่างประเทศเห็น และเขาแสดงว่าเขาสนใจการเมืองไทยผ่านวิธีการพวกนี้ ให้รางวัลภาพข่าว เชิญนักเคลื่อนไหวของเราไปพูดในต่างประเทศ คือการที่เขาจับตาอยู่ ผมว่ามันก็มีผลทางอ้อมกับความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศต่างๆ ในแง่การเป็นประชาธิปไตย ในโลกปัจจุบัน ถ้าคุณปากก็บอกว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ยังมีการปฏิบัติแบบเผด็จการอยู่ ต่างประเทศเขาก็เห็น
นอกจากเพลงแล้ว RAD ก็ขึ้นเวทีแสดงในหลายการชุมนุม เราเห็นกระแสการชุมนุมเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
หลังจากที่คำว่า ‘ทุกคนคือแกนนำ’ มันถูกพูดมากขึ้น แกนนำหลักไม่ได้ขึ้นเวที เพราะโดนจับ เวลาเราไปม็อบ วันที่ชุมนุมที่นางเลิ้ง RAD ก็ไปเปิดเวทีตรงพื้นที่ริมถนนกันเอง ลากลำโพงไป 1 ตัว ไมค์ 2 อัน และตรงนั้นก็เป็น 6 ชั่วโมง ที่นางเลิ้ง ตั้งแต่ค่ำ ยันตี 2 คือเราอยู่กับม็อบแหละ แต่อยู่โซนด้านนอกที่คนเข้ามา ออกไป จะเจอเวทีเรา ก็มีคน 50-100 คน ที่มามุงๆ กัน
เรารู้สึกว่าม็อบมันเปลี่ยนไปตรงที่ ใครมาทำอะไรในพื้นที่ม็อบก็ได้ โดยเป็นการแสดงออกของคุณ มีการพ่นลงพื้น มีการพูดปราศรัย โดยมีแค่โทรโข่ง มีการแสดงสัญลักษณ์แปะโพสต์อิสในมุมนึง ผมว่าคนต้องการพื้นที่แสดงออกกันจริงๆ เขาถึงออกมากันขนาดนี้โดยที่บนเวทีไม่ต้องมีแกนนำก็ได้ แค่มีการรวมตัวของคน และมาแสดงออกกัน แต่ว่ามันไม่จำเป็นว่าทุกครั้งต้องเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องมีแกนนำเหมือนกัน
พูดถึงเพลงแร็ป หรือฮิปฮอป หลายคนวิจารณ์ว่า มีเนื้อหาข้อความหยาบคาย คิดว่าจำเป็นไหมที่ต้องคำหยาบ และมองถึงคนที่รับคำเหล่านี้ไม่ได้อย่างไร
มันเหมือนตอนเพลงฮิปฮอปสมัยใหม่ก้าวขึ้นมา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมันถูกคอมเมนต์ว่าทำไมต้องมีคำหยาบคาย ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทย ยังวนเวียนติดอยู่กับแค่เรื่องพวกนี้ และสุดท้ายเราไปไม่ถึงโครงสร้างจริงๆ เพราะเราติดอยู่กับปัญหาผิวเผิน ทำไมต้องหยาบ หรือทำไมต้องพ่นสีใส่กำแพงวัด แต่ว่าสิ่งที่เรากำลังต่อสู้จริงๆ คือทั้งโครงสร้าง ทั้งระบบ ทั้งอำนาจทุกอย่างที่มันกดทับเราอยู่ แล้วผมเชื่อว่าประชาชนไม่มีพื้นที่ที่จะแสดงออกพอที่จะระเบิดความโกรธ หรือความคับแค้นใจออกมาได้ เพลงแร็ปเลยเป็นในลักษณะคำหยาบ
ผมเชื่อว่าทุกคนที่อาจจะไม่ชอบเพลงที่มีคำหยาบของเพลงฮิปฮอปก่อนหน้านี้ เขาอาจจะฟัง RAD แล้วเปิดใจขึ้นบ้าง เพราะเขาเข้าใจว่าคือความโกรธ บางทีเราอาจจะต้องพูดว่า ‘ไอสัส ไอเหี้ย’ เพราะเราโกรธจริงๆ เราอยากด่าจริงๆ จะให้เราพูดว่า ‘นายมันตัวร้าย’ มันก็ไม่ใช่ และเราไม่ได้ทำเพลงที่เปิดอย่างในวิทยุ แต่เราทำเพลงออกมาให้ประชาชน คุณจะไปเปิด จะไปร้องที่ริมถนนก็เปิดเพลงของเราได้
มองเส้นแบ่งของคำหยาบกับ hate speech ยังไงบ้าง
Hate speech เป็นการสร้างความเกลียดชัง มันอาจจะลงลึกไปกว่าหยาบคายด้วยซ้ำ หยาบคายก็มีแค่หยาบ แต่ไม่ได้มีบริบทเสริมของคำหยาบคาย เช่น ‘ไอเหี้ย’ แล้วยังไงต่อ แต่ถ้าคุณถูกเหยียดในบริบทของ Hate speech เช่น ‘คุณเป็นปลิงดูดเลือด เกาะกินสังคม’ คือมันเห็นภาพชัดเพิ่มขึ้นไป แต่ถามว่าห้ามไหม ที่เรามาเรียกร้องแล้วต้องไม่มี Hate speech สำหรับผมไม่ซีเรียสเลย เพราะในแง่ที่ว่าเราเกลียด หรือเราต่อต้านเผด็จการ เราเกลียดมากๆ เราก็สามารถทำได้ แต่การคุยกับประชาชนด้วยกัน ที่เราอยากจะชวนเขามาเป็นพวก อาจจะให้ข้อมูลอีกแบบ
การระบายออกไป ผมว่าตามอารมณ์ เพราะเราโดนกดกันมาอยู่แล้วจากอำนาจ แล้วเราต้องมากดตัวเองในใจ เวลาจะระบายออกไป อันนี้ hate speech ไหม จะได้ไหม ผมว่ามันเก็บกดเกิน และจิตใจคนที่เก็บ และถูกกดมา มันก็มีจุดที่ไม่ไหวเหมือนกัน
การต่อสู้กับอำนาจด้วยเพลง ก็เป็นสันติวิธีในทางนึง ในขณะที่สังคมไทยถกเถียงกันมากว่าเส้นแบ่งของสันติวิธีคืออะไร พี่ฮ็อกคิดอย่างไรกับประเด็นนี้
สันติวิธี คือการที่เราทำอะไรก็ได้ แต่ไม่ไปทำร้าย คุกคามฝั่งตรงข้าม หรือมนุษย์โดยตรง ไม่ทำร้ายตำรวจ ผมเฉยๆ กับวิธีอย่างการพ่นถนนมาก
เพราะคุณจะให้ประชาชนทำอย่างไร ในเมื่อรัฐไม่ฟังเราเลย แล้วประยุทธ์อยู่กับประเทศนี้มา 6-7 ปีแล้ว เราต้องอดทนโดยไปยืนพูดเฉยๆ หรอ ทุกอย่างถูกทำมาหมดแล้ว กระบวนการวิชาการถูกพูดแล้ว เพลงผมก็ทำไปแล้ว ทั้งประเทศกูมี และปฏิรูป ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะถอย มันต้องแสดงออกได้
แม้ว่ามันอาจจะมีภาพผู้ชุมนุมตอบโต้ตำรวจ แต่มันก็มาจากที่ตำรวจบุกเข้าฉีดนี้ หรือดันมา ทั้งๆ ที่การชุมนุมเริ่มโดยสันติ ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายนึงใช้อำนาจ ซึ่งมักจะมาจากฝั่งที่มีอาวุธอยู่เสมอ ซึ่งม็อบนี้สันติที่สุดแล้ว เพราะว่าเราจะพูดอะไรออกมา บางทีคนก็มาเตือนกันจนถกเถียงกันเองในวง จนไม่ได้ดันประเด็นไปต่อ จนรัฐอาจจะมองว่า เดี๋ยวม็อบก็เลิก นี่คือม็อบที่สันติที่สุดแล้ว
แต่ทำยังไงให้เขาฟังเรามากกว่านี้ หรือแอคชั่นอะไรทุกอย่างของรัฐมันก็แสดงชัดเจนแล้วในสภา ว่าเขาไม่ได้สนใจว่าเราเคลื่อนไหวยังไง ต้องเห็นใจประชาชน หรือเขาต้องเกร็งใจประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศจริงๆ
แปลว่าคนไทยโกรธกันไม่พอหรือเปล่า
ผมว่าโกรธกันไม่พอด้วย แต่ที่น่ากลัวกว่าโกรธไม่พอ คือไม่รู้ว่าตัวเองต้องโกรธกับเรื่องอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาทั้งหมด มันเกิดขึ้นมาจากภาษีด้วย มาจากเสียงที่เราโหวตด้วย แต่บางคนก็ไม่รู้ว่าเราต้องโกรธหรอ แต่มองว่าที่ ส.ว.มานั่ง ก็คือการทำหน้าที่ของเขา
แต่สำหรับพวกผม เรื่อง ส.ว.เราทำเพลง 250 สอพลอกันตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง เพราะเราอยากย้ำว่า ถ้าคุณเลือกฝั่งนั้น จะมี 250 ส.ว.นะ เรารู้ตั้งแต่ตอนแก้รัฐธรรมนูญว่าประเทศไปต่อไม่ได้แน่ๆ อีกหลายปี แล้วจะเกิดความขัดแย้งแน่นอน ทุกอย่างมันคือความที่คนต้องโกรธ แต่ผมว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าโกรธไม่พอ คือไม่รู้ว่าต้องโกรธกับเรื่องนี้
คิดว่าทำไมคนไม่รู้ว่าควรต้องโกรธ
เราถูกสร้างภาพ สร้างความเชื่อ ถูก propaganda ความดีในการกระทำของคนว่า คนนี้เป็นคนดี คนนี้มีความรักมากกว่าคนอื่น อันนี้ผมหมายถึงความรักโดยอ้างสถาบันเข้ามาเลย คนที่รักสถาบันคือคนดี คนดีไม่ต้องเก่งก็ได้ แบบนี้ผิดเลย แค่พูดมาอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่แคร์มุมอื่นเลยหรอ แค่คุณรักสถาบัน แล้วเป็นคนดี มาเพื่อปกป้อง แล้วมุมอื่นของประเทศมันไม่ได้มีแค่ต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างเดียว มุมอื่นที่ต้องบริหาร หรือต้องมองคนในประเทศทั้งหมดไม่ว่าฝั่งไหนที่เป็นประชาชนเหมือนกัน มันหายไป
เลยมีคำถามว่า เราจะต้องทำยังไงกับปัญหานี้ เพราะสุดท้ายคนไม่ได้เห็นปัญหาจริงๆ ว่าต้องโกรธอะไร หรือต้องสนใจประเด็นอะไร เพราะเราถูกภาพพวกนี้มันปิดไว้หมด แล้วมองว่าไม่ต้องไปมีปัญหา เลือกความสงบ แล้วมันสงบจริงๆ ไหม คุณเอาสิ่งที่บอกว่าดี มาห้ามอีกฝั่งแสดงออก มันไม่มีความสงบเกิดขึ้นแน่นอน
พี่ฮ็อกเป็นคนนึงที่เจอการคุกคามจากรัฐโดยตรง จากการขึ้นไปร้องเพลงในที่ชุมนุมเยาวชนปลดแอกวันที่ 18 กรกฎา เคยคิดไหมว่าเราจะถูกคดี หรือถูกจับเลย
ไม่คิดครับ เพราะเราไม่ได้ปราศรัย เราขึ้นไปเพราะเราทำเพลง และสิ่งที่เราแสดงบนเวทีก็คือเนื้อเพลง เท่ากับว่าเผยแพร่เนื้อเพลงไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว เราแค่ขึ้นไปร้องเนื้อเพลงนั้นบนเวที ที่ผิดอย่างเดียวก็เป็นเวทีที่ไม่ได้ขอจัดชุมนุม ซึ่งผิดที่ไม่ได้ขอใช้เสียง หรือสถานที่ แต่ผมโดนมาตรา 116 เลย ในข้อหายุยง ปลุกปั่นประชาชน
ผมก็งงว่าเราผิดขนาดที่ต้องโดนตามจับที่หน้าบ้านเลยหรอ ทั้งๆ ที่โปรไฟล์ชีวิตเราตำรวจก็รู้ ค้นหาไม่ได้ยาก เราไม่ได้เป็นอาชญากรสงคราม หรืออาชญากรความคิด เราแค่เป็นคนที่ทำงาน หาเลี้ยงชีพ และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ จ่ายภาษีปกติ แต่วันนี้เราออกมาเรียกร้องสิทธิที่เราต้องมี กลายเป็นว่าเรายุยง ปลุกปั่นประชาชน และเป็นภัยต่อประเทศเลย งงครับ ตลกก็ตลก หดหู่ก็หดหู่ว่าประเทศเรายังมีความคิดแบบนี้กันอยู่
ไม่ใช่แค่พี่ฮ็อก แต่แกนนำ รวมถึงประชาชนก็ถูกหมายมากมาย มองเรื่องการใช้กฎหมายของรัฐในช่วงนี้อย่างไรบ้าง
มันชัดเจนมากๆ ว่า เขาใช้กฎหมายเล่นงานคนที่เห็นต่าง บางคนแค่ไปร่วมชุมนุม หรือเป็นกลุ่มคนที่ประสานงานจัดม็อบก็โดนกันหมดเลย และโดนตลอดเวลา ถ้าเราตามทนายสิทธิมนุษยชน จะเห็นว่าทนายเหนื่อยมาก เพราะมีการโดนคดีกันเยอะมาก ผมก็ไม่รู้ว่าวิธีการของตำรวจทำเพื่ออะไร ตำรวจแถลงว่า ใครทำผิดก็ต้องรับโทษตามที่กระทำ แต่ว่าเป็นการโดนฝ่ายเดียวหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ว่า กลุ่มเสื้อเหลือง หรือกลุ่มอื่นเวลาจัด เขาขอเหมือนกันใช่ไหม หรือทำไมสามารถไปจัดในที่ๆ ฝั่งเราไปไม่ได้ ทำไมเราไปแล้ว ถึงมีหมายตามมา
แล้วการชุมนุมในยุคก่อนหน้านี้ ผมว่าคนไม่โดนหมายกันขนาดนี้ ในยุค กปปส. หรือเสื้อแดงเอง ก็ไม่มีการโดนหมายกันขนาดนี้ ที่โดนเยอะมาก และขนาดเด็กมัธยมก็โดน คุณมองประชาชนเป็นอะไรไปแล้ว เป็นศัตรูขนาดนั้นเลยหรือเปล่า
ตอนนั้นที่โดนจับ เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้าครอบครัวด้วย
หมายที่ผมโดนคือหมายจับ ตำรวจบุกมาจับ คิดว่าเขาตามมาที่บ้าน ดูพื้นที่ต่างๆ ประมาณนึง ถึงรู้ว่าผมจะออกจากบ้านกี่โมง ดักหน้าหมู่บ้าน และคงเลือกจับตอนเราอยู่กับภรรยา และลูก เพราะคงคิดว่าเราจะไม่หนีมั้ง แต่มันก็เป็นผลกลับไปที่เขา ที่โดนด่าจากสังคม
กระบวนการต่างๆ ของคดีเป็นอย่างไรบ้าง
พอเขาจับเราไป เขาก็ไปฝากขัง ซึ่งศาลให้ประกันตัว ไม่ให้ขัง แต่ผมก็งงตั้งแต่แรกว่า ต้องฝากขังด้วยหรอ เพราะในยุคนี้มันไม่ได้หนีง่าย ตำรวจก็รู้บ้านเรา และเราก็ไม่คิดจะหนีไปไหนด้วย แล้วทำไมต้องฝากขัง ?
แต่ศาลก็ให้ประกันตัว โดยศาลพูดกับคนที่โดนจับในวันนั้นพร้อมผมว่า คดีการเมืองก็อยากให้มันจบทางการเมือง ไม่อยากให้เข้ามาที่ศาล เพราะคนโดนจับมา ศาลก็ให้ประกัน หรือบางทีอาจจะมีบางคนที่โดนขังไป แต่อย่างที่เห็นอยู่ การฝากขัง มันคือคดีที่ยังไม่ถูกตัดสินเลยด้วยซ้ำ แต่ฝากเพราะจะสอบสวนต่อ และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหนี ซึ่งพอถูกฝากขัง เท่ากับเราเข้าไปในฐานะที่ยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แค่เป็นผู้ต้องหา แต่บางคนก็โดนตัดผม โดนกระทำไปแล้วเหมือนเป็นนักโทษ ซึ่งก็เป็นปัญหาซ้อนข้างในอีก
ผมว่ามันชัดเจนว่า เขาใช้กฎหมายมาเล่นงานแบบนิติสงคราม ใช้ข้อกฎหมายมาไล่จับ โดยเริ่มจากแกนนำ ของผมโชคดีที่ว่า อัยการไม่ฟ้องในระยะเวลาที่ต้องฟ้อง คดีจบจากชั้นศาลไป เด้งไปที่ตำรวจ แต่ว่าอายุความมัน 10 ปี ทางฝั่งนี้เขาอาจจะไม่ฟ้อง แต่วันใดวันหนึ่งเขาอาจจะเล่นงานอะไรผมอีกก็ไม่รู้เหมือนกัน
ความรู้สึกหลังโดนจับเป็นอย่างไรมาก กลัวไหม หรือทำให้อยากเคลื่อนไหวต่อ
วันแรกๆ ผมเซ็งมาก ช่วงออกมาจากศาล พอกลับบ้าน เราไล่อ่านข่าว ก็ยังงงอยู่ และก็คิดว่าเราต้องทำยังไงต่อดี กังวลเล็กๆ เหมือนกัน เพราะก่อนที่คดีจะหมดอายุในชั้นศาล เขาก็เตือน และในตัวประกันตัวก็ระบุว่า ห้ามกระทำผิดซ้ำเดิมอีก ช่วงนั้นเราก็ระวังตัว ไม่ได้ไปขึ้นเวทีเท่าไหร่
แต่พอพ้นช่วง เราก็ยิ่งอยากออกมาอีก คือคุณปิดเราไม่ได้ ใช้กฎหมายมาปิดปากเรา ก็ไม่ทำให้เรากลัว และคนยิ่งออกมาเยอะขึ้นจนผมเชื่อว่า หลายๆ คนไม่ได้กลัวกฎหมาย เพราะเขาใช้กฎหมายเล่นเกมไปแล้ว คุณจับ เราก็ออกมาอีก
ก่อนจะมี RAD พี่ฮ็อกเองก็ทำเพลงแร็ปที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่ก่อนแล้ว ทำไมถึงเลือกใช้การทำเพลง ในการพูดถึงการเมือง เป้าหมายคืออะไร
ผมเริ่มทำเพลง ก่อนเพลงประเทศกูมีไม่ได้นาน ประมาณ 2 ปี ชื่อเพลงอุดมการณ์ ที่พูดถึงอุดมการณ์ทางการเมือง และก็มี mixtape อยู่อีกประมาณ 3-4 เพลง แต่ก่อนหน้านั้นผมทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองมาตั้งแต่สมัยมหาลัย
ช่วงปี พ.ศ. 2555 ช่วงการสลายการชุมนุมปี พ.ศ. 2553 เราเริ่มเข้าใจเหตุการณ์ เห็นปัญหามากขึ้น เราสงสัยว่า ทำไมต้องยิงประชาชนกลางราชประสงค์ แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครโดนจับ ไม่มีใครโดนคดีย้อนเลยว่าเป็นผู้สั่งกการ หรือผู้กระทำ ทหารที่มีภาพยิงก็ไม่ถูกดำเนินคดีอะไร มันไม่ถูกคลี่คลาย คนถูกทำให้ตายไปโดยที่ไม่มีใครผิด มันคือเรื่องที่น่ากลัวมาก และนั่นคือโซนกลางกรุงเทพฯ ย่านที่พัฒนาที่สุดในกรุงเทพฯ ย่านเศรษฐกิจ เราเลยรู้สึกว่าเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้
ผมทำหนังสือ หนังสั้นที่เกี่ยวกับอำนาจเผด็จการ ทำตั้งแต่มหาลัย จนมาถึงยุคที่เรารู้จักเพลงแร็ป และเราใช้วิธีการนี้เล่าปัญหานี้ออกมาได้ เลยเลือกที่จะทำเพลง พอทำได้ประมาณ 2-3 ปี เรารู้สึกพลังมันไม่พอ ‘Liberate P’ (แร็ปเปอร์อีกคนใน RAD) ก็มาชวนว่าเราทำกลุ่มดีกว่า ที่จะทำให้แข็งแรงขึ้น
พี่ฮ็อกเป็นคนที่ทำงานในวงการเพลง วงการศิลปะโดยตรง มองว่ารัฐควรสนับสนุนวงการนี้มากกว่านี้ยังไงบ้าง
เรื่องนี้ถูกพูดถึงมาตลอดว่า ศิลปะควรถูกผลักดันมากกว่านี้ มากกว่าแค่ผลักดันเพื่อมาขอทุน และหายไป ตอนนี้ทุกอย่างไปติดอยู่กับทุน ถ้าทำไปแล้ว ไม่ได้ทุนกลับมาก็เลิก และยังถูกกดเรื่องเสรีภาพอีก งานศิลปะถูกถอดออกจากแกลลอรีไปหลายงาน โดยที่ไม่มีคนรู้ มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ฉายแล้วมีปัญหา ต้องผ่านเซ็นเซอร์ มันถูกกดจากการแสดงออก นี่เป็นปัญหานึงเลยว่า นอกจากจะหาเงินไม่ได้ ยังถูกปิดกั้นการแสดงออกอีก
ศิลปะมันทำให้เกิดแอคชั่นของความคิด ความสร้างสรรค์ ความเอาไปต่อยอดตามมา เราจะเห็นว่า ทำไมต่างประเทศเขาถึงชอบผลักดันศิลปะกัน มีการแสดง มีองค์ประกอบของศิลปะตลอด แต่ของไทยมักจะมีปัญหาเรื่องถูกปิดกั้นว่า ศิลปะจะต้องมีทุนคุมอยู่เสมอ ถึงจะทำงานได้ นั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อวงการศิลปะ และวงการเพลงด้วย
คิดว่าถ้าการเมืองดี วงการเพลงไทย โดยเฉพาะวงการเพลงแร็ปจะดีขึ้นอย่างไร
ถ้าการเมืองดี อาจไปผูกกับสวัสดิการของรัฐ หรือว่าการกระจายอำนาจที่ผูกขาดอยู่ ตอนนี้ แค่วงการแร็ป ศิลปินที่เป็นอาชีพ ทำเพลงหาเงิน และไปเล่นงานโชว์ได้ มีจำนวนไม่เยอะ และเราก็ติดอยู่กับกลุ่มทุนอยู่ดี งานที่จะไปเล่นก็ต้องหวังพึ่งสปอนเซอร์ กลุ่มคนจัดปาร์ตี้เองในแวดวงก็น้อยมาก จัดแต่ละทีก็ต้องลุ้นมากว่าจะรอดไหม พอไม่รอดก็เจ็บตัวไป
การสนับสนุนจากส่วนรวมมันน้อยมาก คนไทยฟังเพลงไม่หลากหลาย ทุกคนที่จะต้องดัง ต้องทำเพลงเพื่อไปเลี้ยงตลาด บางคนไปเล่นร้านเหล้ายังต้องเอาเพลงดังของวงดังไปเล่น เพื่อเอาใจคนที่มาร้าน ผมว่ามันทำให้เห็นว่าเรายังไม่ก้าวผ่านตรงนี้ไป เราไปสู้กับทุนนิยมไม่ได้อยู่แล้ว
นอกจากนั้นรสนิยมของคนที่ต้องซัพพอร์ตกันเองมันก็ยังไม่ได้โต แรปเปอร์เกิดมาเยอะมาก มีแรปเปอร์การเมืองเกิดมากับ RAD เยอะมาก แต่เราไม่มีพื้นที่แสดงออกเลยนอกจาก YouTube แล้วเราใช้มันมา 5-6 ปีในการแสดงผลงาน ไม่ได้ไปข้างนอก ม็อบมันถึงเป็นที่นึงที่ทุกคนอยากมาแสดงออกกัน
ลองนึกภาพทุกวงการไม่มีที่แสดงผลงาน ติดกันอยู่แค่ในโซเชียล แล้วเราไม่ได้เอางานไปอยู่ในพื้นที่ของสังคมจริงๆ ปัญหาการเมือง งบประมาณมันไปอยู่ที่ส่วนอื่นๆ มากเกินไป อยู่กับอำนาจมากเกิน จนไม่มาอยู่ที่ประชาชนจริงๆ ถ้ามันมาซัพพอร์ตฝั่งประชาชน เราอาจจะเกิดงาน festival ที่ดึงดูดชาวต่างชาติก็ได้
เพราะความไม่หลากหลายในสังคมด้วยหรือเปล่า
ความไม่หลากหลายในสังคม และการถูกปิดกั้นทางความคิดให้ไม่หลากหลาย สิ่งที่ถูกสอนมาตอนเด็กให้คิดแค่นี้ มันไปปิดมุมมองด้านศิลปะ และครีเอทีฟของเรา อย่างตำแหน่งงานที่เปิดรับในไทย เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เปิดโอกาสให้ใช้ความครีเอทีฟได้เยอะ หรือให้คนต้องสนใจความสร้างสรรค์ แต่เป็นการปลูกฝังให้คนทำงานหนัก ไม่ได้มองว่าทำงานเพื่อต่อยอดอะไรในสังคม เพราะว่าพื้นที่ข้างนอกไม่มี
ที่ผ่านมาเราเห็นว่ารัฐไม่ได้ตอบอะไรเราเลย แล้วพี่ฮ็อกมองการต่อสู้ครั้งนี้ในอนาคตอย่างไร เราจะเผชิญหน้า หรือมันจะจบอย่างไรบ้าง
ผมว่าอย่างเร็วคือ 8-10 ปี คือมีน้องมาถามผมเยอะมาก ว่าเราต้องม็อบอีกกี่เดือน กี่ปี หรือถ้าเปลี่ยนแล้วจะเป็นยังไง จะจบยังไง ซึ่งผมก็บอกว่าไม่รู้ ตอบไม่ได้ แต่ผมว่าที่แน่ๆ 8 ปีแน่นอน เพราะหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดเหลือ 2 ร่าง ต้องรอมี สสร. และ ส.ว. ยังมีอำนาจเลือกตั้งอยู่ ซึ่งเขาไม่เลือกคนฝั่งที่เด็กรุ่นใหม่อยู่แล้ว เป็นอำนาจเดิมแน่ๆ เพราะ ส.ว.ถูก คสช.ตั้ง เท่ากับอำนาจ คสช.จะยืนระยะไปอีก 8 ปี เราจะยังม็อบอีก 8 ปีไหวไหม ?
ผมว่าผมไหวนะ แต่คนอื่นๆ ไหวหรือเปล่า ไม่รู้จะถูกกลืนกินไปกับระบบหรือเปล่า เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนจบ และไปหางานทำ จะเจอปัญหาตอนหางานหรือเปล่า ตอนนี้มันเป็น generation gap ที่แตกต่างกันไปแล้ว ไม่ใช่แค่กับวัย แต่เป็นการความเชื่อทุกๆ อย่างที่ไม่ใช่แค่การเมือง ที่เชื่อเรื่องความดี ความชอบแตกต่างกันไปแล้ว
ไม่รู้ว่ามันจะไปจบยังไง แต่ถ้าเราลุกขึ้นมาเรื่อยๆ มันมีโอกาสจะเปลี่ยนเร็วตลอด ทุกวันนี้กระบวนการมันถูกเร่งแน่ๆ จากโลกปัจจุบัน และสื่อ เราไม่คิดเหมือนกันว่า 4 เดือน เราจะม็อบกันจนมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญประชาชน ฉบับ iLaw เข้าสู่สภา ถ้าเราไม่ม็อบ ก็คงไม่มีคนที่มาลงชื่อคงไม่ถึงแสนคน แต่เราจะทำยังไงให้มันเยอะกว่านั้น เร็วกว่านั้น เพราะผมก็ไม่ทนเหมือนกันที่ต้องม็อบอีก 10 ปี จนลูกผมที่เพิ่งเกิดอายุ 10 ขวบ ยังต้องเจอหน้า ส.ว.เดิมๆ อีก
อาจจะตอบแบบสิ้นหวัง ทุกคนก็จะบอกว่าเล่นเกมยาว ถึงแม้ปลายทางมันยังไม่สว่างขนาดนั้น แต่ถ้าเราลุกขึ้นมาเรื่อยๆ กระบวนการมันจะถูกเร่งไปเร็วเรื่อยๆ และคิดว่ามันก็คงต้องจบที่รุ่นเรา
พูดถึงลูกแล้ว พี่ฮ็อกอยากให้ลูกโตมาในสภาพสังคมแบบไหน
พูดแบบรวมๆ คือมันต้องดีกว่านี้ แต่ถ้าพูดอย่างเจาะจง คือ ออกจากบ้าน เดินออกได้มีฟุตปาธดีๆ ให้เดิน ไม่ต้องเดินริมถนน หรือพาไปเที่ยวก็สบายใจกว่านี้ ค่าเดินทาง รถไฟฟ้า หรือการเดินทางต่างๆ คงดีกว่านี้ เราจะได้ตอบลูกได้ว่า มันเปลี่ยนตอนยุคของพ่อ แค่ลูกผมเห็นอะไรที่ดีกว่าตอนนี้ ถ้าพวกนี้ดี แปลว่าโครงสร้างข้างบนมันดี อำนาจที่ถูกส่งต่อมันดี และทุกคนจะมองว่า นักการเมืองคือคนที่คนมีอำนาจจะเปลี่ยน ไม่ใช่นักการเมืองคือขี้โกงในสภา ที่รัฐบาลที่ผ่านมามันทำให้เราเห็นแบบนั้น
สิ่งที่มันเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปในสภา ก็เริ่มทำให้เห็นว่า เรามีลุ้นในการจะเปลี่ยน เพราะเขาเอาเสียงของประชาชนไปพูดในสภา ผมก็หวังว่าชุดถัดไป ในวันที่ลูกผมมีสิทธิเลือกตั้ง หรือลูกผมเริ่มรู้เรื่อง มันจะดีกว่านี้