เมื่อพูดถึงการทำงานศิลป์เป็นอาชีพแล้ว หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยากมากในยุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานหัตถกรรม เพราะไม่เพียงใช้เวลานานกว่าจะสร้างสรรค์งานให้สำเร็จออกมาได้สักชิ้น ผลตอบแทนก็ไม่ได้มากมายเท่าไหร่นัก
ยิ่งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ก็ยิ่งผลักให้งานทำมือเหล่านี้ดูเป็นเรื่องไกลตัวของคนรุ่นเรามากขึ้น หากแต่ กุ๊กไก่-มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ และเป็ด- วิศรุต ทวีวรสุวรรณ สองคู่คิดเจ้าของแบรนด์ ‘สานสาด’ กลับมองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแวดวงศิลปะได้ จนนำมาสู่การประยุกต์หลักการออกแบบที่ได้ศึกษามาผสมผสานกับงานหัตกรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นอกจากจะนำเสนอและสร้างผลงานในแบบตัวเอง โดยคงกลิ่นอายงานฝีมือดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วนแล้ว ‘สานสาด’ ยังทำให้เห็นด้วยว่า เราสามารถทำงานศิลป์เป็นอาชีพที่ใช้หล่อเลี้ยงร่างกายและหัวใจไปได้พร้อมๆ กันด้วย
จุดเริ่มต้นสู่การลงมือทำ
มนัสนันท์เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจงานจักสานเตยปาหนัน เดิมทีพวกตนมักชอบเดินทางไปชุมชนต่างๆ เพื่อทำความรู้จักวิถีชีวิตและดูงานฝีมือของชุมชนนั้นๆ วันหนึ่งได้มาเจองานจักสานเตยปาหนัน ก็ประทับใจและชอบผิวสัมผัสของวัสดุที่ต่างจากงานจักสานทั่วไป แล้วบังเอิญที่ต้นกำเนิดของงานหัตถกรรมเตยปาหนันอยู่ที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณแม่ จึงทำให้มีโอกาสได้ไปลงพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างบ่อย
เจ้าตัวเล่าถึงเบื้องหลังการยกระดับงานจักสานชุมชนให้ไปไกลกว่าเดิมว่า “เราติดต่อทางชุมชนไป เพื่อขอเข้าดูงาน โดยศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดูว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง ลงลึกไปถึงวิถีชีวิตพวกเขา ไปเดินรอบชุมชน ขับรถรอบอำเภอ คุยกับช่างสานหลายคน แล้วรู้สึกว่าอยากทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณภาพชีวิตคนในนั้นดีขึ้น ทำให้พวกเขาภูมิใจที่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ดีๆ ออกมา เพราะคนไม่ค่อยเห็นมูลค่างานหัตถกรรมเท่าไหร่ มักจะสั่งผลิตเยอะๆ เหมือนสินค้าที่ผลิตจากโรงงาน”
นอกจากนี้ การลงพื้นที่ชุมชนก็ทำให้ได้เห็นแง่มุมของงานฝีมือท้องถิ่นที่กำลังจะตาย “เราไม่ได้คุยแค่ช่างสาน เราได้เจอเด็กๆ ในชุมชนด้วย ตอนที่เข้าไปจะเห็นแต่คนอายุ 50 ขึ้นทำงานจักสาน แต่ไม่มีเด็กรุ่นใหม่มาทำตรงนี้ เรารู้สึกว่าทำไมพวกเขาไม่เห็นถึงความภูมิใจในงานที่ทำให้เขามีเงินและเติบโต และคิดว่าภูมิปัญญานี้ไม่ควรหายไป”
สิ่งนี้เองที่ทำให้มนัสนันท์และวิศรุต คิดจะทำแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับงานจักสานเตยปาหนัน “เรามองว่าถ้าเราอยู่ในฐานะพ่อค้าคนกลางอย่างรับงานฝีมือจากชาวบ้านมาขาย งานเหล่านั้นคงไม่ได้พัฒนา พอทำไปเรื่อยๆ วันนึงเราเบื่อแน่ๆ ต้องอยู่ที่เดิมต่อไป ไม่ได้สร้างคุณค่า ไม่มีความท้าทายและสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ชุมชนก็เหี่ยวเฉาเหมือนเดิม
“ก็เลยเริ่มคุยกับพี่จันทร์เพ็ญที่เป็นหัวหน้าชมรมทำงานจักสานที่นั่นว่าเราสองคนอยากทำงานด้วย เราอยากทำให้มันโตชึ้น ทำให้งานจักสานชิ้นนี้มีงานดีไซน์เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่า ทำให้เด็กรุ่นหลังสนใจมากขึ้น ตัวช่างสานเองก็เกิดความภูมิใจ เวลาเกิดความภูมิใจแล้ว เขาจะสานงานออกมาด้วยความสุข”
การสร้างตัวตนกับชื่อแบรนด์ ‘สานสาด’
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการสร้างแบรนด์ ชื่อก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย เพราะชื่อแบรนด์ควรเป็นจุดที่ทำให้คนนึกถึงว่าทุกๆ ครั้งแบรนด์เริ่มจากอะไร โดยวิศรุตเล่าถึงที่มาชื่อ ‘สานสาด’ ที่เกิดจากการรวมตัวของคำธรรมดาสองคำไว้ ดังนี้
“คำว่า ‘สาน’ บ่งบอกถึงการสานหัตถกรรมชนิดหนึ่ง ส่วน ‘สาด’ หมายถึงเสื่อในภาษาใต้ ซึ่งชุมชนทำกันแพร่หลาย แล้วสอดคล้องกับวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตในอดีตของเขา จากที่พูดคุยมา คนมักใช้เสื่อในงานศาสนา พิธีละหมาด งานแต่งงานที่ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวทำเตรียมไว้ หรืองานศพที่ใช้รองศพ เราเลยอยากให้คำนี้สื่อถึงการสานต่อสิ่งที่จะทำต่อไป อีกความหมายหนึ่งก็ไปพ้องกับคำว่า ‘ศาสตร์’ ที่หมายถึงความรู้แห่งงานสาน สื่อว่าเราเองก็สนใจงานสานชนิดอื่นด้วยเหมือนกัน”
การเดินทางและค้นหา DNA Brand
เมื่อพูดถึงวิธีเพิ่มมูลค่างานจักสานเตยปาหนัน มนัสนันท์เล่าถึงขั้นตอนสร้างงานฝีมือที่ผสมผสานการออกแบบสมัยใหม่กับภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้อย่างน่าสนใจ “เราเริ่มต้นจากการทำรีเสิร์ช โดยดูภาพรวมความเป็นอยู่ของช่างสาน ไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับของใช้ต่างๆ แล้วได้เจอสิ่งที่หายไปซ่อนอยู่ เราเลยเริ่มจากตรงนั้น
“เรารื้อลายดั้งเดิมโบราณที่หายไปแล้วขึ้นมาทำใหม่ โดยนำมาแกะลาย วางแพทเทิร์น ลองใส่สีเข้าไป เพื่อปรับโทนอารมณ์ไม่ให้ดูโบราณจ๋า ดูเข้ากับบริบทคนสมัยใหม่ สะท้อนความเท่ มีความเป็นกราฟิกและงานดีไซน์มากขึ้น พอเห็นแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่งานจักสาน แต่มีสไตล์บางอย่างที่ลึกกว่าเดิม ซึ่งยังคงกลิ่นอายของงานหัตกรรมอยู่ด้วย”
นอกจากนี้ วิศรุต หัวหลักในการคิดค้นและออกแบบงานจักสานของแบรนด์กล่าวเสริมว่า “จริงๆ เราดูความเป็นไปได้ด้วย ดูว่าเขาย้อมสีแบบไหนได้ ทำได้ประมาณไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือดูว่าทำเส้นตอกสานขนาดเท่าไหร่ ทุกอย่างดูจาก know-how เดิมของเขาก่อน จากนั้นลองแมตช์สีดู ทั้งสีคู่ตรงข้ามบ้าง สีที่ไปในทางเดียวกันบ้าง จนได้ออกมาหลายคาแร็กเตอร์ที่ใช้เป็น material สำหรับทำโปรดักส์ต่อไป”
‘เตยปาหนัน’ ความโดดเด่นที่แตกต่าง
หากว่ากันถึงจุดเด่นงานจักสานของแบรนด์ คงหนีไม่พ้น ‘เตยปาหนัน’ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน นี่เองจึงทำให้การทำงานคราฟต์จากเตยปาหนันกลายเป็นความแปลกที่พิเศษ เพราะส่วนใหญ่แล้ว สตูดิโองานศิลป์ประเภทหัตกรรมมักผลิตงานทำมือที่ทำจากไผ่ หวาย กระจูด หรือผักตบชวาเป็นส่วนใหญ่ โดยมนัสนันท์อธิบายถึงความแตกต่างของเตยปาหนันอีกด้วย
“เราชอบเตยปาหนัน เพราะว่าลักษณะพิเศษของเขามีความนุ่มนิ่ม เบา เงา เพราะมีน้ำมันที่ออกมาเคลิอบผิวเองโดยธรรมชาติ ยิ่งถ้าเราจับหรือสัมผัสบ่อยๆ ก็เหมือนช่วยนวดใบให้ขับน้ำมันออกมามากขึ้น ซึ่งทำให้เรารู้สึกทึ่งว่างานจักสานอื่นไม่ได้เป็นแบบนี้
“ถ้าพูดถึงความแตกต่างในเรื่องการออกแบบ เราก็พยายามทำงานจักสานที่ไม่เหมือนงานจักสานแบบเดิม เราลงไปทำกับชุมชนจริงๆ พัฒนาชุมชนจริงๆ ตัวแบรนด์เองก็มีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกันกับที่อื่นด้วย”
เบื้องหลังคอลเล็กชันล่าสุด “MITI Screen”
เริ่มแรก ‘สานสาด’ เน้นทำงานจักสานที่เป็นสินค้าในหมวดไลฟ์สไตล์อย่างกระเป๋าและสายคล้องกล้อง ซึ่งเป็นของที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้คน พอมาถึง ‘MITI Screen’ คอลเล็กชันล่าสุดก็ยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ ซึ่งเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น โดยงานชิ้นนี้ได้นำมาจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2021 อีกด้วย
วิศรุตเผยถึงเบื้องหลังและการวางคอนเซ็ปต์กว่าจะมาเป็น MITI Screen ไ้ว้ว่า “จริงๆ ถ้าดูงานสานที่เป็นเตยปาหนันมันจะมีฟอร์แมตหกเหลี่ยมเรียงกัน โดยเราเอาเทคนิค 3D printing มาช่วยในการขึ้นรูป เพื่อให้ได้รูปทรงและสัดส่วนมากขึ้น นี่เป็นการต่อยอดจากของที่เราทดลองทำไว้กับชุมชนตั้งแต่แรกๆ เราอยากให้มันมีทั้งฟังก์ชันการใช้งาน ความสวยงาม และมูลค่าที่มากกว่าการเป็นแค่ถาดสานทำมือ ตอนแรกก็ต่อกันเหมือนเป็นโมดูลาร์ ทำเป็น wall decoration
“เราอยากให้งานใกล้ชิดและมี interact กับผู้คน เลยนำมาทำเป็นสกรีน เพิ่มลูกเล่นการใช้งาน คำว่า MITI อธิบายลายสานที่ดูเป็นสามมิติอยู่แล้ว และอธิบายมิติการใช้งาน ไม่ว่าจะพลิกด้านหน้าหรือด้านหลังก็ใช้งานได้ทั้งสองด้าน จะพลิกด้านนึงให้เป็นกระจกก็ได้ พลิกอีกด้านก็เป็นเฉดบัง หรือพลิกหงายให้อยู่แนวคั่นตรงกลางทำเป็นชั้นวางของเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ ส่วนมิติอีกความหมายนึง ก็สื่อถึงความสวยงาม โดยเราให้ชาวบ้านลองสานแบบแรนด้อม คือไม่ได้สานจบเป็นลายมิติ แต่เขาจะสานแบบจบแค่ไหนแค่นั้น ทำให้ได้ลายสวยแบบธรรมชาติ ไม่เหมือนกัน”
จุดยืนธุรกิจที่ไม่ได้ผูกติดแค่ “ขายของ”
พอพูดถึงการทำธุรกิจ หลายคนอาจมุ่งไปที่การขายของเป็นหลัก ทั้งในแง่ของการทำกำไรหรือแม้แต่ร่วมลงทุนเป็นพาร์ทเนอร์ หากแต่วิธีการขายและสร้างฐานลูกค้าของ ‘สานสาด’ อาจต่างไปจากมุมมองของคนค้าขายส่วนใหญบ้าง
เมื่อถามถึงการวางแผนจำหน่ายและกระจายสินค้าของแบรนด์ มนัสนันท์ได้ตอบว่า ก่อนหน้าโควิดจะออกอีเวนต์ ซึ่งเกี่ยวกับงานคราฟต์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้คนได้รู้จักแบรนด์มากขึ้น ส่วนตอนนี้จะเน้นขายช่องทางออนไลน์ โดยเปิดรับจอง เพื่อวางแผนจัดสรรการผลิตและส่งตรงถึงลูกค้าเอง นอกจากนี้ ก็มีคนที่รู้จักแบรนด์แล้วมาซื้อกับแบรนด์จากการบอกต่อแบบปากต่อปากด้วย
“เรารู้สึกว่างานเรายากที่จะวางขายโดยที่ไม่ได้ให้ความรู้ลูกค้า เพราะคนจะเข้าใจตัวงานยากหากมองผ่านๆ และไม่มีคำอธิบายจากคนขายโดยตรง อีกอย่างคือเรามักเปลี่ยนแบบไปเรื่อยๆ และชิ้นงานค่อนข้างมีจำนวนจำกัด เลยทำให้ต้องเปิดรับจองเป็นรอบๆ ซึ่งเวิร์กกว่า เพราะเราก็ได้คุยกับลูกค้าด้วย”
นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าของแบรนด์มักเป็นคนเฉพาะกลุ่มที่สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ถึงอย่างนั้น การได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ก็ทำให้ได้ฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ โดยแบรนด์ได้เริ่มออกโปรดักส์ไลน์ใหม่ให้มีขนาดเล็กลงในช่วงที่เกิดคลัสเตอร์รอบสอง เพื่อที่จะได้ลดราคาให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทำให้ได้เจอเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจและชื่นชอบมากขึ้น
สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติก็มีเข้ามาเรื่อยๆ โดยจะเข้ามาสั่งสำหรับนำเข้าแล้วไปขายให้กับ distributor ในประเทศนั้นๆ ต่อไป แน่นอนว่าแบรนด์เองก็เลือกขายงานให้กับกลุ่มคนที่สนใจและเข้าใจความเป็นงานจักสานจริงๆ
ก้าวต่อไปของสานสาด
นอกเหนือจากการพัฒนาแบบงานใหม่ๆ ‘สานสาด’ ก็มีแพลนทำสตูดิโออย่างจริงจัง “เราอยากให้เป็นที่โชว์ผลงานของเรา ตอนนี้ก็ค่อยๆ ทำเรื่อยๆ เพราะด้วยความที่เราทำงานหัตถกรรม ต้องทำแบรนด์ด้วย ก็เลยค่อยๆ แต่งเติมสเปซตรงนี้กันไป เพื่อเอาไว้แสดงศักยภาพงานของเราให้ได้มากที่สุด แล้วก็แพลนไว้ว่าจะทำเป็นที่วางสินค้าในอนาคต ให้ลูกค้าได้เข้ามานั่งคุยกัน
“เรามีแผนจะทำธุรกิจ B2B เพื่อขาย raw material ให้กับพวก interior designer ทำโปรเจกต์ใหม่ร่วมกับแบรนด์อื่น ซึ่งพยายามหาโอกาสที่ทำให้มีความตื่นเต้นในชีวิตเกิดขึ้น ที่จริงตอนนี้ มีทำโปรเจกต์กระเป๋ากับอีกแบรนด์นึง ซึ่งจะออกปลายปี เราสนุกกับการทำแบบนี้ มันเหมือนกับว่าเราต้องช่วยขับเคลื่อนไปด้วยกัน ก็เลยทำให้ตัวแบรนด์มองเห็นในอีกหลายๆ มิติ”
เมื่อถามถึงโปรเจกต์ที่จะทำร่วมกับชุมชนเอง ก็มีแพลนไว้หลายอย่าง “เราวางแผนไว้ว่าจะทำให้คนได้รู้จักงานจักสานมากขึ้น ได้ไปเวิร์กชอป ได้ไปเห็นชุมชนและสิ่งที่เราเคยไปสัมผัสว่าเป็นอย่างไร ที่จริงเราวางโปรแกรมไว้แล้ว แต่ติดโควิดเลยยังทำไม่ได้ ตอนนี้เลยคิดว่าจะทำแคมเปญให้ทุนการศึกษาเด็กก่อนดีกว่า เพราะเด็กต้องใช้เรียนตอนเปิดเทอม
“พอเราได้อยู่กับเขาไปเรื่อยๆ ก็มีช่างสานคนนึงที่เราภูมิใจ เพราะเขาจะถามตลอดว่ามีงานไหม เราเลยรู้สึกว่านี่อาจทำให้คนทำเป็นอาชีพหลักได้ อาจทำให้เขาได้เงินมากขึ้นต่อวัน ซึ่งเรารู้สึกเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นจากการทำงานมาสามปีกว่า” มนัสนันท์กล่าวไว้
หากใครสนใจหรืออยากรับชมงานคอลเล็กชันล่าสุด MITI Screen ของแบรนด์ สามารถเข้าไปร่วมชมได้ที่งาน Bangkok Design Week 2021 โดยจัดแสดงถึงวันที่ 20 มิถุนายนนี้
ส่วนใครที่อยากทำความรู้จัก ‘สานสาด’ และเป็นส่วนหนึ่งในสนับสนุนงานศิลป์ประยุกต์จากฝีมือช่างสานท้องถิ่น เข้าไปติดตามหรือสอบถามได้ทางช่องทางต่างๆ ของแบรนด์
เว็บไซต์ : sarnsard.com
เฟซบุ๊ก : SarnSard
อินสตาแกรม : SarnSard