“เราเป็นผู้จัดหาเนื้อหาให้กับผู้ชม หรือเรียกว่า content provider เราไม่เคยคิดว่าเราอยากจะเป็นช่อง ถ้าเราเป็นคนขายอาหาร เราก็อยากอยู่ห้างที่ดีที่สุด เราไม่อยากเป็นเจ้าของห้าง เราไปทุกห้างดีกว่า เวลามีคนอยากให้เราไปขาย เราก็ไป”
นั่นคือคำเปรียบเทียบถึงการเป็นนักผลิตเนื้อหารายการเพื่อส่งต่อให้กับสถานีโทรทัศน์และผู้ชม ที่ ‘คุณเอ-วราวุธ เจนธนากุล’ พิธีกรและผู้ก่อตั้ง Zense Entertainment ได้มาเล่าให้กับ The MATTER ฟัง ตั้งแต่การทำรายการแรกสุด คือ ‘ศึกน้ำผึ้งพระจันทร์’ ไปจนถึงรายการขวัญใจใครอีกหลายคนอย่าง ‘The Money Drop Thailand’, ‘ลูกทุ่งไอดอล’ หรือ ‘บริษัทฮาไม่จำกัด’
นอกจากนี้คุณเอยังได้เล่าให้เราฟังถึงการทำงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การก้าวผ่านภาวะฟองสบู่ของวงการทีวี และความสนใจส่วนตัวในรูปแบบรายการอย่าง ‘เกมโชว์’ ที่เขาอยากจะเรียนรู้และผลักดัน เพื่อวันหนึ่งจะเป็นที่ยอมรับในระดับสากลให้ได้
ทำไมรายการที่ Zense Entertainment ผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากจะเป็นรายการ ‘เกมโชว์’
ตั้งแต่วันแรกที่เราจะทำรายการ จริงๆ เราก็มีโจทย์ประมาณนึงว่าเราจะทำรายการยังไงให้ขายได้ การทำรายการสนุกๆ ก็เรื่องนึง แต่ทำรายการเพื่อขายได้มันก็อีกเรื่องนึง เราก็มาดูว่าเราสามารถทำอะไรแล้วน่าจะเอาไปขายได้บ้าง แล้วก็ดูว่าทีมงานของเรามีประสบการณ์ในการทำรายการเกมโชว์มั้ย ส่วนตัวชอบดูเกมโชว์อยู่แล้ว ถ้าให้เทียบทอล์กโชว์กับเกมโชว์ เราเลือกดูเกมโชว์ก่อน ก็เลยเป็นความชอบส่วนตัว
เกมโชว์มันมีคาแรกเตอร์ในการขายได้ เวลาเอาไปนำเสนอมันก็จะมีความแตกต่าง คนดูสามารถจดจำได้ง่าย ในช่วงเริ่มต้นของ Zense Entertainment เราก็เลยมุ่งเน้นไปที่การทำเกมโชว์เป็นหลัก
‘เกมโชว์ไทย’ มีแต่อะไรซ้ำๆ จริงมั้ย
สมัยก่อนการรับรู้มันก็มีข้อจำกัด เราเห็นแต่โทรทัศน์ พอมาปัจจุบันเรามีช่องทางในการรับชมเนื้อหาต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ถามว่าสมัยก่อนมันซ้ำมั้ย ก็อาจจะมีซ้ำ เพราะผู้ผลิตมีอยู่ไม่กี่เจ้า แต่ตอนเรามาทำก็เรียนรู้ว่าจะทำอะไรให้มันแตกต่าง บางทีก็ต้องเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ มาดูคนต่างประเทศเขาทำอะไรกัน ผมถูกสอนมาว่าการทำธุรกิจคือต้องเห็นว่าโลกนี้กำลังไปทางไหน ถ้าเราเห็นทิศทางของโลกที่กำลังจะไป เราจะได้ไปถูกทาง ถ้าเปรียบเทียบตอนนี้เราก็เหมือนอยู่ในกะลา เราคิดว่ากะลาของเราคือที่สุดของโลกแล้ว แต่จริงๆ โลกมันใหญ่กว่านั้นตั้งเยอะ
คุณเอเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ซื้อรายการจากต่างประเทศ เพื่อที่วันหนึ่งเราจะไปขายพวกเขา” อยากให้เล่าถึงไอเดียนี้ให้ฟังหน่อย
ถ้าให้เปรียบเทียบ สมัยเรียนเราจะมีตำราภาษาไทย ซึ่งเขียนด้วยคนไทย แล้วก็จะมีตำราภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นของต่างประเทศ จะเห็นว่าตัวอย่างกับรายละเอียดมันต่างกันเยอะมาก ประเทศเขากว้างใหญ่กว่าเรา มีกรณีศึกษาให้อ่านเยอะมาก เทียบกับ textbook ที่คนไทยเขียนไม่ได้เลย นั่นคือสาเหตุว่าทำไมบางวิชาเราถึงต้องใช้ textbook
รายการแรกที่เราทำคือ ‘ศึกน้ำผึ้งพระจันทร์’ รายการนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับนึง แต่เป็นรายการที่พอเราทำแล้วเรารู้สึกว่ามันมีเนื้อหาที่มันยังไม่ลงตัว ด้วยความที่ระบบระเบียบในการคิดการทำโทรทัศน์สมัยนั้น ไม่ได้มีระบบระเบียบที่ชัดเจน เพราะเงื่อนไขการทำรายการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
สิ่งที่ยากที่สุดคือการขอเวลาจากสถานี ตอนนั้นสถานีมีแค่ 4 ช่อง ขอเวลายากมาก ยากขนาดที่ว่าพอได้เวลามาปุ๊บ เราต้องขึ้นเลย แปลว่าเราต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน คุณภาพมันไม่ได้ เพราะไม่มีเวลาเลย
พอได้เวลามาก็แบ่งหน้าที่ของแต่ละฝ่าย วันผลิตก็เอามาเจอกัน เราเคยทำรายการนึงที่มีฉากใหญ่มาก ดูดีมาก แต่เล่นอยู่มุมเดียว เพราะคนคิดมันต้องคิดให้ใหญ่ แต่คนเล่นมีอยู่แค่นิดเดียว ดารารับเชิญก็มาอีกทางนึง มันมีส่วนขาดส่วนเกินอยู่ในรายการเรา อย่างนี้ไม่ใช่
เรามาจากสายงานอื่นเราเลยไม่ทราบเรื่องการผลิต ก็ได้มาเรียนรู้เหมือนกัน เห็นเลยว่าธรรมชาติของอุตสาหกรรมมันบังคับให้เราต้องทำแบบนี้ ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปจะโตยังไง จะโตแบบมีคุณภาพมั้ย นี่คือคำถามที่เราถาม เราเลยไปดูโลกหน่อยดีกว่า
ทิศทางของเกมโชว์ระดับโลกเป็นยังไงบ้าง
ปีที่สองผมบินไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส ไปดูว่าโลกนี้เขากำลังทำอะไรกัน ถ้าเห็นรูปแบบไหนดี เราก็จะซื้อเพื่อมาเรียนรู้ เพื่อวันนึงเราจะคิดให้ได้แบบนี้ และมาขายเขาบ้าง ครั้งนั้นเราก็ตั้งใจติดต่อขอซื้อประมาณ 3 รายการ แต่ไปแล้วไม่มีใครคุยกับเราเลย เรายื่นนามบัตรไป เขารับแล้วก็วาง บอกเราว่าไม่ว่าง เราเข้าใจว่าวันแรกคงยุ่งอยู่ จนวันสุดท้ายไปยืนดูก่อน ยังไม่ยื่น ก็เห็นว่าเขาว่างกันอยู่ เลยยื่นนามบัตรอีกที เขาดูเสร็จแล้วก็วาง พร้อมกับบอกคำเดิมว่าไม่ว่าง
เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ประเมินตัวเองว่าเราคงเป็นบริษัทที่เล็กเกินไป เขาอาจจะยังไม่รู้จักเราเต็มที่ วันนั้นคิดแบบนั้น แต่พอมีโอกาสได้ทำงานกับเขาจริงๆ เขาบอกว่า เป็นเพราะเรามาจากประเทศไทย สมัยนั้นประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการมาดูงานแล้วเอาแรงบันดาลใจกลับไปทำเอง (หัวเราะ) เขาก็พูดสุภาพนะ
เรากลับมาด้วยความผิดหวังเล็กน้อย บอกทีมงานว่าวันนึงเขาจะต้องเห็นความตั้งใจของเราเอง กลับมาเราก็เขียนอีเมลแนะนำตัวว่าเราสนใจรายการเขา ส่งไปทุกวัน เขียนไปเป็นพันฉบับ แต่ไม่มีใครตอบกลับมาเลย จนกระทั่งมีอีเมลฉบับนึงเด้งขึ้นมา เป็นอีเมลจากบริษัท Endemol Shine โห ดีใจมาก เขาถามว่าสนใจรายการนี้จริงๆ เหรอ เคยมีคนไทยเคยสนใจจะซื้อนะ แต่เขาติดปัญหาอะไรสักอย่าง แล้วเขาก็เหมือนไปทำรายการคล้ายๆ กัน คุณยังอยากจะทำอยู่เหรอ เราบอกว่ายังอยากทำอยู่ เพราะเชื่อว่ารายการของเขาคิดมาสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เราเคยดูมาแล้ว เขาก็บอกว่า เอาสิ งั้นมาคุยกัน นั่นคือรายการ The Money Drop Thailand ที่เรามีโอกาสทำให้กับช่อง 7 รายการแรก แล้วเราก็สร้างเรตติ้งได้ถึง 10.8 ถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์เกมโชว์เลยก็ว่าได้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรามีผลงานในการไปคุยกับทางสถานี ทางผู้ผลิตอื่นๆ
หลังจากนั้นเราก็ทำรายการมาเรื่อยๆ เลย 48 รายการ ซึ่ง 32 รายการคือรายการที่เราคิดเอง และ 16 รายการเป็น international format ที่ใหญ่ๆ และประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ทีมงานเราเลยได้เรียนรู้วิธีทำ วิธีคิด ลักษณะการถ่ายทำทั้งหมด ผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล จนเราบอกว่าวันนี้ Zense น่าจะเป็นเจ้าต้นๆ ในประเทศที่ต่างชาตินึกถึง ทุกวันนี้ถ้าเขามีรูปแบบรายการใหม่ๆ เขาก็เอามาให้เราดูหมดเลย ตอนนี้เรามีเพื่อนทั่วโลกที่เขาพร้อมจะเอารายการดีๆ มาให้เราผลิต
อะไรคือสิ่งที่แตกต่างระหว่างเกมโชว์ไทย-ต่างชาติ
ด้วยความที่ประเทศเราอาจจะชอบความสนุกสนาน เกมโชว์ไทยต้องมีเสียงหัวเราะ เราไม่เคยขาดเสียงหัวเราะเลย ถ้ามันเครียดเกินไปส่วนใหญ่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มันเป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ ร่างกาย และความตลก ถ้าเราไม่สามารถผสมเข้าด้วยกันได้ มันก็จะลำบากและไกลตัวคนดู
ส่วนตัวผมชอบอะไรที่มันคิดเยอะๆ แต่เราก็ต้องเอาฐานคนดูเป็นหลักก่อน การทำงานของเรามี 3 ส่วนหลักๆ คือเราต้องบริหารส่วนของคนดู สปอนเซอร์ และทิศทางของสถานี เหมือนเป็นก้อนกลมๆ ที่เราต้องเอามาวางให้พอดีกัน ถ้าเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งเยอะก็ไม่ได้ ถ้าไปตอบโจทย์คนดูโดยไม่สนใจช่องกับสปอนเซอร์ เราก็ขายลำบาก เราจะตอบโจทย์สปอนเซอร์เยอะโดยไม่สนใจคนดูกับช่อง คนดูก็ไม่ชอบ มันเป็นการบาลานซ์กัน มันเป็นสิ่งที่เราต้องวิ่งมาหาบาลานซ์ที่ดีของ 3 สิ่งนี้
การไปขายรายการต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
มันมีเงื่อนไขบางอย่าง เราต้องคิดรายการที่จะต้องนำไปขายต่างประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้คนดูคนไทยชอบด้วย เรายังคงชอบอะไรที่มันมีความสนุกสนาน ส่วนรายการต่างประเทศเขาอาจจะชอบความตื่นเต้นหรือความแปลกใหม่ที่เขาไม่เคยเห็น เพราะฉะนั้นเราเลยจะต้องหาจุดตรงนั้นให้เจอ
ช่วงแรกยาก แต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ เราเคยคิดว่ารายการแบบนี้โอเค แต่พอไปคุยกับต่างประเทศ เขาก็บอกว่าสเกลมันเล็กไปหน่อย จุดขายมันยังไม่ชัด ไม่รู้ว่าแข่งแล้วได้อะไร มันมีโจทย์อีกหลายอย่างที่ต่างประเทศเขาก็มีข้อจำกัดอยู่พอสมควรเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถามว่าความยากมีมั้ย มี เพราะมันเป็นครั้งที่เราอยากจะทำ แต่เราก็เรียนรู้และมีที่ปรึกษาที่ดี ก็คือเพื่อนๆ ที่เป็นคนขายรายการให้เรานี่แหละ มันก็เลยเกิดรายการ Single Auction เป็นรายการที่เราทำขึ้นมาเพื่อจะเอาไปขายโดยตรงเลย
พอเป็นรายการที่เราตั้งใจจะขายต่างประเทศโดยเฉพาะ เราเลยอยากจะควบคุมการผลิตด้วยตัวเราเองก่อน เราเลยหาพื้นที่ในการออกอากาศ ทำให้เขาเห็นว่ารายการหน้าตาแบบนี้นะ ไม่ได้มาแค่กระดาษหรือคอนเซปต์ รายการมันหน้าตาแบบนี้ สนุกแบบนี้ เรตติ้งแบบนี้
วงการทีวีไทย เปลี่ยนไปอย่างไรนับแต่มีทีวีดิจิทัล ที่สุดท้ายกลายเป็นฟองสบู่
ตั้งแต่วันที่มีโทรทัศน์ดิจิทัลเข้ามาวันแรก เรารู้สึกว่ามันเยอะไปนะ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยมีแค่ 4 ช่องที่เป็นคอมเมอร์เชียลจริงๆ อยู่ๆ เพิ่มมาเป็น 24 ช่อง แปลว่าเพิ่มขึ้นมาอีก 6 เท่า มันไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่จะสามารถรองรับการเติบโตได้เร็วขนาดนี้ เป็นไปไม่ได้เลย ตัวเลขของวงการโทรทัศน์ดูเหมือนจะสวยงาม แต่จริงๆ แล้วกว่าจะประสบความสำเร็จได้ ไม่เคยมีช่องไหนใช้เวลาแค่ปีเดียว ทุกคนต้องปูพื้นฐานมาหมด ตอนนี้ทีวีดิจิทัลเหมือนอยู่ในช่วงเฟสแรก มีการคืนช่อง และเดี๋ยวมันก็คงจะมีเฟสต่อๆ ไป ท้ายที่สุดแล้ว อาจจะเหลือเพียงแค่ 8-9 ช่อง เพราะถ้าหลุดจากนั้นไปก็จะทำให้ขายลำบาก
มันต้องเริ่มคิดจากพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ก่อน การมีช่วงเวลาว่างของแต่ละคน ทุกๆ ครั้งที่เราว่างแล้วอยู่หน้าจอโทรทัศน์ เราจะเปิดหารายการที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับเรา ณ เวลานั้น ถ้าจะเลือกทำรายการโทรทัศน์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นั่นคือรายการที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง นี่คือคำถามของเรา สมมติมีเป็นสิบรายการ แต่เราก็ต้องเลือกดูรายการเดียว เพราะหน้าจอดูได้แค่รายการเดียว เพราะฉะนั้นธรรมชาติของธุรกิจแบบนี้ ถ้าใครไม่เคยทำก็จะไม่เข้าใจ
สมมติอยากดูรายการข่าว เราก็ต้องหารายการข่าวที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ต้องเป็นรายการที่น่าเชื่อถือ เห็นภาพ คนอ่านข่าวดี ดังนั้นถ้าอยากดูเกมโชว์ เราก็ต้องหาเกมโชว์ที่มันเจ๋ง สนุก ลุ้น รายการเดียวเหมือนกัน
จุดยืนที่ทำให้ผ่านวิกฤตนั้นมาได้
สิ่งที่เราปรับตัวได้ก็คือ เราต้องใช้โอกาสที่มีจำนวนช่องเยอะ สร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับในทุกๆ ฝ่าย เราเป็นผู้จัดหาเนื้อหาให้กับผู้ชม หรือเรียกว่า content provider เราไม่เคยคิดว่าเราอยากจะเป็นช่อง ต่อให้อนาคตเราก็เชื่อว่าเราจะไม่ทำเป็นช่อง เพราะเรายังถนัดในแง่ของการทำเนื้อหาให้กับช่องหลัก ถ้าเราเป็นคนขายอาหาร เราก็อยากอยู่ห้างที่ดีที่สุด เราไม่อยากเป็นเจ้าของห้าง เราไปทุกห้างดีกว่า เวลามีคนอยากให้เราไปขาย เราก็ไป
อะไรที่มีปริมาณเยอะขึ้น ราคามันก็ลดลงตามธรรมชาติ แต่อย่างที่บอก มันเยอะขึ้นโดยที่มันไม่มีคุณภาพ พอถึงจุดๆ นึงมันก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายราคามันก็จะค่อยๆ ปรับตัวกลับขึ้นไป แต่คงไม่ได้ปรับขึ้นไปเท่ากับตอนที่มี 4 ช่องหรอก เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าใครจะรักษาคุณภาพและเรตติ้งได้มากกว่า เราเลยวางตัวเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก
ทุกวันนี้เนื้อหามีประโยชน์ตรงที่มันไปได้ทุกแพลตฟอร์ม สมัยก่อนมันเคยโผล่ในแค่โทรทัศน์ ถ้าคนดูดูไม่ทันคือจบเลย ต้องฟังจากเพื่อนอย่างเดียว ไม่มีดูย้อนหลัง คนดูต้องทำตัวว่าง ถ้าติดรายการไหน วันนั้นช่วงนั้นต้องไม่ทำอะไร เคลียร์คิวให้ว่างเพื่อมานั่งรอดูเลย เพราะถ้ามันจบไปแล้วไม่รู้จะไปหาดูจากไหน แต่วันนี้เราสามารถดูย้อนหลังได้ เนื้อหามันเลยส่งไปถึงคนดูได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ในเฉพาะแพลตฟอร์มโทรทัศน์แล้ว มีทั้งในโทรศัพท์ แล็บท็อป วันนี้เนื้อหาน่าจะเข้าถึงคนมากขึ้นโดยธรรมชาติ
ตอนนี้หลายคนแทบจะเรียกว่าเป็น ‘ยุคทองของออนไลน์’ Zense Entertainment เองก็ใช้ทั้งแพลตฟอร์มทีวีด้วย ออนไลน์ด้วย แบ่งสัดส่วน หรือ เลือกเนื้อหาอย่างไร ว่าอะไรเหมาะจะอยู่แพลตฟอร์มไหน
ทุกคนอาจจะพูดว่าแพลตฟอร์มนี้ตายแน่นอน ไม่มีหรอก ไม่มีอะไรตายขนาดนั้นหรอก มันมีแค่อะไรที่มันปรับตัวลำบาก มันอาจจะหายไป อันนี้ต้องยอมรับ โทรทัศน์ยังคงมีอิทธิพลต่อคนดูอยู่ เพียงแต่ลดกำลังลง แต่ไม่มีวันตาย เพราะอย่างน้อยๆ ทุกคนกลับบ้านไปก็ต้องเปิดโทรทัศน์เอาไว้ ดูไม่ดูก็อีกเรื่องนึง แต่ต้องเปิดทิ้งไว้แก้เหงา สุดท้ายแล้วการมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาก็เพื่อทำให้คนดูเข้าถึงได้มากขึ้น
มันมีคาแรกเตอร์บางอย่างที่แตกต่างกัน เราก็พยายามศึกษาคนดูออนไลน์เหมือนกัน youtuber ทั้งหลายเขาก็จะเสนอความเรียล ความแตกต่างจากโทรทัศน์ที่เขามี เช่นเดียวกัน โทรทัศน์ก็มีข้อจำกัด เรามีเซนเซอร์ มีกฎระเบียบในการออกอากาศ เราก็อยากทำแบบ youtuber หลายๆ คน แต่เราทำไม่ได้ เพราะเราออกรายการโทรทัศน์ จริงๆ เรามองว่าวันนี้มันต้องมาปะติดปะต่อกัน ดูว่าเนื้อหาไหนที่มันไปได้ทั้งกับโทรทัศน์และออนไลน์ อย่างรายการ ‘บริษัทฮาไม่จำกัด’ ก็ไปได้ทั้งออนแอร์ในโทรทัศน์และออนไลน์ เพราะเขาก็มีฐานคนดูในออนไลน์ชัดเจน
มันอยู่ที่ว่าเนื้อหานั้นเหมาะกับแพลตฟอร์มไหนมากกว่า บางเนื้อหาเหมาะเฉพาะในโทรทัศน์ ไม่เหมาะกับออนไลน์ก็มี เพราะคนในออนไลน์บอกว่าไม่ชอบแบบนี้ เขาชอบอะไรที่มันเรียลกว่า ที่มันเหมือนเพื่อนกันมากกว่า ซึ่งมันจะตอบโจทย์คนละแบบกัน ทุกวันนี้เราก็พยายามจะบาลานซ์กันให้มันออนแอร์ได้ด้วย ออนไลน์ได้ด้วย ถ้ามันไปด้วยกันได้คือเพอร์เฟกต์เลย ถ้ามันออนแอร์ได้ดีกว่า ก็ยังโอเคสำหรับเรา
จริงๆ Zense ปีหน้าก็จะมาเน้นเนื้อหาออนไลน์มากขึ้น ตอบโจทย์ออนไลน์มากขึ้น ทำเพื่อออนไลน์โดยเฉพาะเลย มันก็จะมีความเรียลกว่า กูๆ มึงๆ เต็มที่ เป็นเพื่อนกันกับทุกคนได้มากขึ้น
‘รายการในดวงใจ’ ที่อยากไปให้ถึงจุดนั้น
ขอพูดถึงรายการแรกที่สนใจแล้วกัน ‘The Money Drop’ เป็นควิซโชว์ที่เราว่ามันสมบูรณ์แบบมาก สมบูรณ์แบบในทุกๆ องค์ประกอบของรายการ มันเป็นควิซโชว์ที่คำถามดี ถามแล้วคนอยากจะตอบ คนจะคิดต่อว่าคำตอบมันคืออะไร แต่ถ้าบางคำถามถามไปแล้วคนดูหยุดคิด ตอบไม่ได้ช่างมัน นี่คือคำถามที่ไม่ดี คำถามในรายการ The Money Drop เป็นคำถามที่เกี่ยวกับสถิติส่วนใหญ่ มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรา สัมผัสได้ เราอยากที่จะตอบ แล้วรายการนี้ก็มีกลไกในการเฉลยที่ดี ควิซโชว์ที่ตื่นเต้นจะต้องมีจังหวะเฉลยที่ดี จังหวะที่ต้องมาลุ้นว่าถูกหรือไม่ถูก ใช่หรือไม่ใช่ The Money Drop มันมีประตูกลที่เอาเงินไปวาง พอเปิดแล้วมันจะตก แบบนี้มันมีความตื่นเต้นในการลุ้นมากกว่า
รายการส่วนใหญ่จะค่อยๆ ตอบคำถามไปเรื่อยๆ ข้อหนึ่งถูก ได้หนึ่งพัน ข้อสองถูก ได้ห้าพันบาท ไล่ไปเรื่อยๆ สิบกว่าข้อ ได้ล้านนึง แต่รายการนี้ ข้อแรกเราจะเป็นเจ้าของเงินล้าน แต่เราจะรักษาได้เท่าไหร่ตอนกลับบ้าน ด้วยคำถามอีก 7 ข้อข้างหน้า ซึ่งเราเรียกว่า reverse logic ของเกมโชว์ สำหรับเราควิซโชว์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดก็ยังยกให้ The Money Drop อยู่ดี แล้วเขาก็ทำมาหลายประเทศทั่วโลก
อีกหนึ่งรายการคือ ‘The Voice’ เป็นรายการที่ทำมาไม่ต่ำกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ทุกๆ ซีซั่นเขาสามารถทำรายได้เข้าบริษัทไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ยิ่งถ้าเป็นประเทศเจริญแล้ว ค่าลิขสิทธิ์ยิ่งแพงเข้าไปอีก 80 ประเทศ ซีซั่นนึงก็ 8,000 ล้าน จากแค่ไอเดียและแพทเทิร์นเดียว เขาสามารถต่อยอดไปได้ขนาดนี้
ผมเคยเห็นรายการนึงของไทย 20 กว่าปีแล้ว เขาเอาคนทางบ้านมารวมกับนักร้องนักดนตรีแล้วอยู่ข้างหลังม่าน แล้วก็ให้ทายว่าคนไหนเป็นใคร ใช้โลจิกเดียวกันเลย ฟังเสียงโดยไม่เห็นหน้าว่าคนนี้คือใคร แล้วเราตัดสินเขาจากเสียง แค่การนำเสนอต่างกันเฉยๆ ด้วยไอเดียหลักเดียวกันแต่สามารถเกิดขึ้นได้อีกหนึ่งรายการ เราอาจจะไม่ได้คิดให้มันขายได้ แต่โลจิกเดียวกันเป๊ะเลย The Voice เพิ่งมาได้แค่ 10 กว่าปีเอง
ผมเชื่อว่าถ้าเราคิดได้เป็นคนแรกๆ ก็อาจจะคิดได้ทั่วโลกแหละ เพียงแต่ต้องมีคนที่คิดให้มันสมบูรณ์แบบมากขึ้น ทั้งองค์ประกอบ การแข่งขัน การนำเสนอทุกอย่างดีหมดแค่นั้นเอง ทำให้เรามานั่งคิดว่ามันจริงหรอเนี่ย ความคิดคนเราสามารถนำไปขายได้เป็นพันล้านเลยหรอเนี่ย ก็เลยคิดว่าวันนึงอยากจะทำแบบนี้บ้าง
นอกจากเกมโชว์แล้ว รายการแบบไหนที่ Zense Entertainment ขาดไปไม่ได้
เวลาเราสร้างรายการขึ้นมา เราก็จะสร้างให้มันครบวงจรของคำว่า ‘Entertainment’ เนื้อหามันควรจะมีควิซ อย่าง’ The Money Drop’ หรือ ‘Guess My Age’ มีประกวดร้องเพลง อย่าง ‘ลูกทุ่งไอดอล’ มีโชว์ความสามารถพิเศษ อย่าง ‘Sing Your Face Off’ ที่เอาดารามาเปลี่ยนหน้า แล้วก็ให้เขาโชว์ความสามารถของเขา แล้วก็มีซิทคอม ก็คือ ‘บริษัทฮาไม่จำกัด’ แล้วก็ซิทคอมที่เรารับจ้างผลิตให้กับทางสถานี ถัดจากนั้นไปเราก็มีรายการที่เกี่ยวกับคู่รัก ชื่อ ‘Couple Or Not’ ก็เป็นรายการที่เราทำเกี่ยวกับเรื่องความรัก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามันเป็นส่วนผสมของคำว่า Entertainment มารวมกัน ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่ง มันก็ทำให้วงจรนี้ไม่สมบูรณ์ ทุกอันมีความสำคัญสำหรับเราหมด