คุณขับรถมาถึงที่ทำงานตอน 8 โมงตรง กดลิฟต์แล้วขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้หน้าคอมทันที ก้มหน้างกๆ กับงานจนถึงเวลา 5 โมงเย็นก็กลับบ้าน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคยลา ไม่เคยส่งงานเลท แล้วพอถึงวันที่ 30 ของเดือนเงินก็โอนเข้าในบัญชีคุณทันที… และแทบจะเกลี้ยงก่อนวันที่ 10 ของอีกเดือนหนึ่ง
หรือคุณอาจเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มือดีพอตัวแหละ แต่งานในออฟฟิสแทบไม่ได้จับปากกาวาดภาพเลย กลับต้องทำบัญชี เคลียร์งานเอกสาร เขียนคอนเทนต์ แถมให้แต่งรูปอีกต่างหากในบางจังหวะ คุณเคยสงสัยไหมว่า เอ้ะ คุณทำงานตำแหน่งอะไรกันแน่ ?
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยเจอประสบการณ์เหล่านี้ อย่าเพิ่งพายมือโทษตัวเอง หรือคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติเด็ดขาด เพราะปัญหามันอาจเป็นมากกว่าแค่เรื่องของคุณกับที่ทำงาน แต่มันคือเรื่องใหญ่ระดับสังคมและต้องใช้คำยากๆ ในการอธิบายแบบ สิทธิแรงงาน, กฎหมายแรงงาน หรือการกดขี่พนักงานเลยทีเดียว
The MATTER ลองหอบปัญหาเรื่องงานๆ ทั้งหลายที่ชาวเน็ตมักบ่นในโลกออนไลน์มาพูดคุยกับตัวแทนจากสหภาพคนทำงาน (Workers Union) พัชณีย์ คำหนัก และธีรธร ธนะพานิช ทำไมสังคมเราควรมีสหภาพแรงงาน การรวมกลุ่มของแรงงานสามารถช่วยอะไรคนทำงานตัวน้อยๆ แบบเราได้บ้าง
เพราะบางทีความไร้สาระในที่ทำงานอาจเป็นมากกว่าเรื่องของคุณกับหัวหน้าด้วยซ้ำ
มีนัยยะอะไรไหมที่ตั้งชื่อกลุ่มว่าสหภาพคนทำงาน ไม่ใช้คำว่าแรงงาน
พัชณีย์: มันมาจากการโหวต (หัวเราะ) เพราะบางทีคำว่าแรงงานคนมักชอบเอาไปเทียบกับกรรมกร หรือแรงงานในโรงงาน มันเลยมีคนเสนอคำนี้ขึ้นมา แต่ที่จริงคุณจะทำงานที่ไหนถ้ารับเงินเดือนแบบเดียวกัน คุณก็เป็นแรงงานเหมือนกัน และถ้าไม่มีอำนาจต่อรองก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน และคำที่เราใช้หรือประเด็นที่เราพูด มันก็คือเรื่องแรงงานอยู่ดี เพราะคำว่าแรงงานมันถูกใช้ในเชิงทฤษฎีด้วย และมันลึกซึ้งมากกว่านั้นอีก
ธีรธร: สังคมไทยมักจะมองว่า แรงงานมันเป็นงานก่อสร้างหรือกรรมกรเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไป และวัฒนธรรมไทยก็มักจะมีค่านิยมว่า “เรียนสูงๆ สิจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” เหมือนอยากให้เราเป็น 1% ของสังคมไม่ให้เป็น 99% เหมือนคนอื่น ซึ่งในความเป็นจริงมันยากมาก เพราะหลายๆ คนไม่มีต้นทุนชีวิต ไม่มีเงินเรียนหนังสือ หรือคนที่เคยติดคุก งานเดียวที่เขาทำได้คือเป็นกรรมกร
สหภาพคนทำงานเริ่มขึ้นได้อย่างไร
พัชณีย์: เดิมทีรูปแบบสหภาพแรงงานไทยยังติดอยู่กับบริษัท หรือรูปแบบ House Union เช่น สหภาพแรงงาน Suzuki สหภาพแรงงาน General Motors ทำให้ถูกจำกัดขอบวงการเคลื่อนไหวอยู่ในรั้วโรงงานของตัวเอง นัดหยุดงานก็นัดกันเฉพาะภายในโรงงานของตัวเอง ไม่สามารถรวมตัวกับสหภาพแรงงานอื่นได้
บวกกับผู้นำสหภาพแรงงานไทยกลับออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 สุดท้าย มันกลายเป็นว่ากลุ่มแรงงานอำนาจลดลง ผู้นำสหภาพไม่สามารถปกป้องสิทธิประโยชน์ของแรงงานได้
เราเลยรู้สึกว่ามันถึงทางตันแล้ว ถึงจะมีสหพันธ์แรงงานที่เป็นระดับชาติ แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือหรือสร้างความสมานฉันท์เพื่อเรียกร้องเป้าหมายร่วมกันแบบในเกาหลีใต้ได้ ที่นู้นเขาสามารถนัดหยุดงานร่วมกันทั่วประเทศ จนขับไล่ประธานาธิบดีพัค กึนฮเย (ดำรงตำแหน่งปี 2556-2560) ลงจากตำแหน่ง
มันเป็นที่มาว่าเราจะต้องมีสหภาพแรงงานทั่วไป ที่ใครก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้ รองรับคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนงานที่ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพได้ ซึ่งยังมีอีกเยอะมาก
การที่คนทำงานแบบเรารวมตัวกัน มันนำไปสู่อะไรได้บ้าง
พัชณีย์: ถ้าเราไปดูข้อเรียกร้องของขบวนแรงงานสมัยก่อน ลำดับแรกที่เขาจะพูดคือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างบ้านเราถูกแช่แข็งมานานพอสมควร เพิ่มล่าสุดเป็น 300 บาททั่วประเทศตอนสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่หลังรัฐประหาร 57 คสช. ก็กลับมาใช้นโยบายค่าแรงตามพื้นที่เหมือนเดิม เช่น ภูเก็ตก็ได้ค่าแรงเยอะกว่าที่อื่น ทั้งที่สินค้าส่วนใหญ่มันก็ราคาเท่ากันหมดทั่วประเทศ
สอง เรื่องรูปแบบการจ้างงาน เราพยายามเรียกร้องให้ปรับสัญญาจ้างงานเป็นแบบมั่นคงถาวรให้มากที่สุด ไม่ใช่สัญญาแบบเลิกระยะสั้น หรือเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะพอเป็นสัญญาแบบนี้ ประกันสังคมก็ไม่มีให้ ถ้าคุณบาดเจ็บก็ต้องไปใช้สิทธิรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค หรืออยากส่งประกันสังคมก็ต้องส่งตามมาตรา 40 ที่ได้สิทธิประโยชน์น้อยมากจนไม่ดึงดูดให้คนไปสมัคร
สาม สภาพการทำงานที่เลวร้าย เช่น จากที่เคยบอกว่าให้ทำ OT โดยสมัครใจ แต่พอเงินเดือนแค่ 9,000 บาท มันไม่พอกิน ทุกคนก็ต้องไปทำ OT โดยจำยอมอยู่แล้วเพื่อเพิ่มให้ได้เงินเพิ่มถึง 15,000 บาท
ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับสหภาพแรงงานจะเอาอำนาจที่ไหนไปต่อรองกับนายจ้าง โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 แบบนี้ มันเหมือนนายจ้างจะทำอะไรก็ได้ ลูกจ้างถูกเลิกจ้างกันเป็นแถว แต่นายจ้างกลับไม่จ่ายค่าชดเชยสักบาททั้งที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจน และคุณก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องค่าชดเชยอย่างไร เพราะคุณไม่มีสหภาพ
มีกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น บริษัท BRILLIANT ALLIANCE ซึ่งตอนนี้นายจ้างเผ่นไปต่างประเทศแล้ว และกระทรวงแรงงานบอกว่าไม่สามารถตามนายจ้างมาจ่ายค่าชดเชยได้ และพยายามจะเรียกเงินจากกรรมการบริษัทที่เป็นคนไทย แต่เขาจะเงินจาไหนมาให้ล่ะ จริงไหม
แต่ถ้าเรามีสหภาพเราก็จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มันก็จะมีการแชร์ปัญหากัน พูดเรื่องสิทธิร่วมกัน ข้อมูลมารวมศูนย์ที่สหภาพ และสามารถช่วยกันหาทางออกร่วมกันได้
จากที่เคยบอกว่าให้ทำ OT โดยสมัครใจ แต่พอเงินเดือนแค่ 9,000 บาท มันไม่พอกิน ทุกคนก็ต้องไปทำ OT โดยจำยอมอยู่แล้ว เพื่อให้ได้เงินเพิ่มถึง 15,000 บาท
ในช่วงที่ผ่านมา มันมีปัญหาตรงไหนที่ทำให้กลุ่มแรงงานรวมตัวกันไม่ติด
ธีรธร: การที่สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็งสักที เป็นผลพวงจากกฎหมายสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษธิ์ ธนะรัชต์ (ดำรงตำแหน่งปี 2502-2506) เลย ที่ใช้กฎหมายแรงงานที่เอารัดเอาเปรียบคนรากหญ้า อย่างสมัยนั้น ถ้ามีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือนัดหยุดงาน (General Strike) คือโดนจับได้เลย และกฎหมานฉบับนั้นก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน หรือกฎหมายแรงงานมันไม่ได้สอดคล้องกับยุคสมัยเลย
หรืออย่างกฎหมายที่บอกว่าถ้าจะจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ต้องมีนายจ้างคนเดียวกัน ตรงนี้มันทำให้ไม่เคยมีสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทยจริงๆ เลย เพราะกฎหมายตัวนี้ทำให้แต่ละบริษัทแยกกันตั้งสหภาพตามกลุ่ม และสุดท้าย เวลาจะออกไปเรียกร้องร่วมกัน ก็ไม่มีใครกล้า เพราะเขากลัวทำให้ตัวเองมีปัญหา
สังคมไทยมีภาพจำว่า ถ้าเชิดชูแรงงานคุณคือคอมมิวนิสต์ มองอย่างไรบ้าง
พัชณีย์: จริงๆ แนวคิดคอมมิวนิสต์มันก็พัฒนามาจากแรงงานเนี่ยแหละ อยู่ด้วยกันเป็น Commune ในระบบอุตสาหกรรมที่นายทุนสร้างขึ้นมา แต่เรื่องแรงงานยึดปัจจัยการผลิต หรือมีพรรคการเมืองที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปอีกแบบนึงให้แต่ละที่ปกครองตัวเองได้ มันเป็นไอเดียอุดมดคติที่ยังอยู่อีกไกลมาก
แต่ตอนนี้มันก็มีคนพูดว่าอำนาจรัฐมันเลวร้าย มันรับใช้คนแค่ไม่กี่กลุ่ม และกฎหมายหลายฉบับก็ไม่ได้เกิดจากล่างขึ้นบน แต่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กฎกระทรวง หรือกฎหมายก็เกิดจากการล็อบบี้ ไม่ใช่ความต้องการของผู้คนจริงๆ
เวลาบ้านเรานึกถึงคอมมิวนิสต์มักนึกถึงจีนสมัยเหมา เจ๋อ ตุง หรือการปฏิวัติของรัสเซีย จริงๆ แล้วคอมมิวนิสต์ต้องเป็นแบบนั้นไหม ความเข้าใจสังคมมันคลาดเคลื่อนไปไหม
พัชณีย์: เขาคงอ่านจากหนังสือกระแสหลักของรัฐหรือเปล่า (หัวเราะ) หรือจากสื่อที่อธิบายแค่ส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ มันมีพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรป เช่น อิตาลี, ฝรั่งเศส หรือออสเตรีย ที่ยังมีลักษณะของประชาธิปไตยกำกับภายในอยู่ และยังเคารพความหลากหลายทางเพศ เคารพเรื่องศาสนา เคารพการชุมนุมเรียกร้อง ไม่ใช่ต้องทำลายสิทธิส่วนบุคคลแบบที่จีนทำเสมอ
ธีรธร: ถ้าเรามามองในเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเราบอกทุนนิยมมันดี พอถึงที่สุดมันก็เจอปัญหาเงินเฟ้อ การผูกขาด ด้านคอมมิวนิสต์เอง มันก็เคยเจอปัญหาการผูกขาดทางอำนาจเหมือนกัน อย่างในยุคประธานเหมา ประชาชนจะถูกบังคบไปทำนารวมหมดเลย และไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของตัวเอง ทุกอย่างเป็นของรัฐ
มันเลยมาถึงจุดที่ว่าถ้าเราสามารถนำประชาธิปไตยมารวมกับสังคมนิยมได้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ผมยกตัวอย่าง เยอรมนี ตอนนี้เขามีรัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตย ทางระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ทางระบบเศรษฐกิจกลับเน้นสังคมนิยมเพื่อช่วยคนรากหญ้าให้เจริญเติบโต ลืมตาอ้าปากได้เท่าเทียมกลุ่มนายทุนได้
สหภาพคนทำงานมองชีวิตของแรงงานไทยในภาพรวมไม่ว่าในแง่ค่าจ้าง สวัสดิการ คุณภาพชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
ธีรธร: ถ้าเราเทียบกับประเทศที่เขาพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ นักศึกษาพาร์ทไทม์เขาได้เงินเยอะมากเป็น 100 ต่อชั่วโมง แต่นักศึกษาบ้านเราไปทำพาร์ทไทม์ได้ 40-50 บาท คือ ค่าแรงมันก็แตกต่างแล้ว เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าสวัสดิการ ประกันสังคม สิ่งที่ควรจะได้มากกว่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ
สมมุติ เราถูกเลิกจ้างและไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานหลักประกันสังคม เขาก็จะจ่ายให้เดือนละ 6,000 บาท แต่ผมถามหน่อยว่าเงินเท่านี้มันจะอยู่ยังไง เพราะเรากินเต็มที่วันละ 300 บาทแล้ว และถ้ายังไม่มีสวัสดิการที่ดี มันจะยิ่งซ้ำเติมความจนของพวกเราเข้าไปอีก
มีคำพูดว่า “ขยันไม่มีวันอดตาย” มันจริงแค่ไหนในชีวิตคนทำงานบ้านเรา
พัชณีย์: มันไม่จริง มันเป็นคำพูดของนายทุนไม่ใช่ของแรงงาน ขยันไม่อดตาย แต่คุณให้เงินเดือนต่ำนะ คำพูดของพวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ควรจะเป็นถ้ามีสวัสดิการเพียงพอ เงินเดือนพอ มีหลังพิงทุกคนจะพร้อมทำงานและจะไม่อดตายต่างหาก
แต่กลายเป็นว่าสื่อให้ความสำคัญกับคำสอนของนายทุนกับรัฐบาลเพียงไม่กี่คน ทำให้เราติดอยู่กับวาทกรรมพวกนี้อยู่ตลอด
ธีรธร: คำพูดเท่ๆ ที่พวกนายทุนสร้างมาเพื่อให้ลูกจ้างเชื่อว่าบริษัทไม่มีทางทิ้งคุณ ทั้งที่บริษัทสามารถจะปล่อยมือเมื่อไหร่ก็ได้
ช่วงนี้มีกระแส The Great Resignation และมีแนวโน้มว่าคนทำงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์จะเยอะขึ้น สหภาพคนทำงานมองอย่างไรบ้าง สามารถช่วยคนทำงานอิสระที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร
พัชณีย์: ถ้าเป็นประเทศแถบนอร์ดิก เขาจะมีสหภาพคนทำงานอิสระเลย แต่บ้านเราพอไม่มี มันง่ายต่อการกดค่าจ้างไม่ว่าสื่ออิสระ กราฟิคดีไซเนอร์ ทั้งที่จริงๆ การทำงานต่อชิ้นแบบนี้ค่าตอบแทนควรจะสูง แต่มาตรฐานเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการต่อรอง และถ้าเราไม่มีสหภาพมันก็ต่อรองได้ยากอีก ตอนนี้ราคามันเลยขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะให้เท่าไหร่ หรือขึ้นกับประสบการณ์
นอกจากนี้ มันยังมีเรื่องเปลี่ยนคนเปลี่ยนงานกะทันหัน เช่น วันนี้บอกว่าจะจ้างนักแปลคนนี้ แต่อีกวันนึงบอกมีให้อีกไปแล้ว นี่คือไร้ซึ่งความมั่นคงมากจะบอกปัดเมื่อไหร่ก็ได้ ขนาดนายจ้างที่ทำงานสายแรงงานมาเองยังทำแบบนี้เลย ไม่ได้รู้ตัวเองเลยว่าตัวเองต้องรักษาสิทธิของคนทำงาน
บ้านเราไม่มีสหภาพคนทำงานอิสระ ทำให้มันง่ายต่อการกดค่าจ้างไม่ว่าสื่ออิสระ กราฟิคดีไซเนอร์ หรืออะไรก็ตาม ทั้งที่จริงๆ การทำงานต่อชิ้นแบบนี้ค่าตอบแทนควรจะสูง แต่มาตรฐานเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการต่อรอง และถ้าเราไม่มีสหภาพมันก็ต่อรองได้ยากอีก
งั้นคำประเภทที่บอกว่า นักเขียนไส้แห้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเขียนไม่เคยรวมตัวกันไปเจรจาต่อรองด้วยใช่ไหม
พัชณีย์: ใช่ คุณมีสมาคมไว้ทำไม ถ้าคุณไม่สามารถต่อรองให้นายทุนให้มูลค่ากับงานเขียนเราเยอะขึ้นได้ ทั้งที่มันเป็นงานที่มีความเป็นวิชาชีพสูงนะ
ธีรธร: คำนี้มักจะถูกยัดลงใส่กลุ่มคนทำงานศิลปะ เช่น ศิลปินไส้แห้ง นักดนตรีไส้แห้ง เหมือนเมืองไทยมองว่า hard skill อย่างอาชีพหมอ, วิศวะ หรือทหารสำคัญมาก ทั้งที่จริงๆ แล้ว ทั้งศาสตร์และศิลป์ควรมีค่าพอกัน แต่เมืองไทยกลับมองว่าคนทำงานศิลปะไม่มีวันรวยหรอก
พัชณีย์: แต่ Great Resignation ไม่น่าเกิดกับเมืองไทย เพราะในที่สุดคนก็เรียกหาความมั่นคง
นอกจากคนทำงานอิสระ ยังมีกลุ่มไรเดอร์ที่ถูกนิยามว่าเป็น “พาร์ทเนอร์” ไม่ใช่ลูกจ้าง ทางกลุ่มมีจุดยืนอย่างไรบ้าง
พัชณี: ถ้าเป็นพาร์ทเนอร์จริงก็ต้องเอากำไรมาแบ่งกันชัดเจนแล้ว ต้องมีการร่วมกันออกกฎระเบียบแล้ว ไม่ใช่นายทุนออกแล้วให้บังคับให้ไรเดอร์ทำตามอย่างเดียว และกฎระเบียบหยุมหยิมมาก จนไรเดอร์ต้องแข่งกันเองเหมือนคนขับรถบรรทุกหรือวินมอเตอร์ไซค์ และเสื่อมสุดคือ บางคนรีบทำรอบจนถูกรถชนเสียชีวิต
ทางสหภาพคนทำงานก็พยายามผลักดันอยู่ว่า ต้องรับพาร์ทเนอร์เป็นลูกจ้างคนนึง ซึ่งในต่างประเทศเขาก็สรุปแล้วว่าไรเดอร์คือลูกจ้างที่ต้องอยุ่ภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่กฎหมายบ้านเรายังไม่นำพวกเขาเข้าอยู่ใต้กฎหมายแรงงาน ทำให้พวกเขาไม่ได้รับประกันสังคม ไม่มีค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง ประกันอุบัติเหตุยังไม่มีเลยคิดดู
จุดยืนของพวกเราคือต้องปกป้องพวกเขา โดยเฉพาะในเรื่องสภาพการทำงานและค่าจ้างที่ถูกกดต่ำลงเรื่อยๆ เพราะมีการแข่งขันสูงขึ้น
ธีรธร: พาร์ทเนอร์เป็นคำเท่ๆ ที่นายทุนสร้างขึ้น อย่างในสหรัฐฯ คำว่าพาร์ทเนอมันคือความหมายตามนั้นจริงๆ สมมุติถ้าคนนี้สมัครบริษัทนึงและได้รับเลือกเป็นพาร์ทเนอร์จะมีการแบ่งเปอร์เซนต์ของบริษัทให้เลย แต่ขณะที่เมืองไทยใช้คำนี้เหมือนกัน นอกจากคำเท่ๆ ก็ไม่มีอะไรให้เลย
พัชณีย์: ตอนแพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นมา คนคิดว่าจะใช้เป็นงานอิสระ แต่พอไม่มีงานประจำ งานอิสระกลายเป็นงานประจำ ดังนั้น มันควรมีเงินเดือนประจำ สวัสดิการที่รองรับคนเหล่านี้ เพราะคนน่าจะหันมาทำงานตรงนี้มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไม่ดี
ทุกวันนี้คนไทยทำงานเฉลี่ย 44 ชั่วโมง/ สัปดาห์ ตกมากกว่า 8 ชั่วโมง/ วันทำงาน วิถีชีวิตที่ Work-Life ไม่บาลานซ์ มันเป็นเพราะเราไม่มีสหภาพแรงงานด้วยไหม
ธีรธร: ผมว่าใช่ เพราะถ้าเราไปดูประเทศแถวแสกนดิเนเวียอย่าง ฟินแลนด์ เขาให้คนทำงานวันละ 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น และคนที่ทำงานเสร็จก็สามารถไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง สามารถไปดูหนัง อ่านหนังสือ นั่งคาเฟ่สบายๆ ได้ แต่เมืองไทยนี่เข้า 8 เลิก 5 จะเอาเวลาที่ไหนไปใช้ชีวิต ทำงานมาทั้งวันก็เหนื่อยแล้ว และถ้าเราจะมาอ่านหนังสือคลายเครียดมันก็ดูฝืนนิดๆ
ต่างประเทศเขามองคุณภาพของมากกว่าปริมาณงาน แต่คนไทยชอบคิดว่ายิ่งทำงานหนักเท่าไหร่ ทำหลายชั่วโมงยิ่งดี ทั้งที่ความจริงบางคนทำงานเสร็จตั้งแต่บ่าย 2 แล้ว แต่ต้องมานั่งรอจนเวลาเลิกเพราะว่าเขาไม่อยากมีปัญหากับบริษัท
พัชณีย์: มันเป็นเรื่องของอำนาจต่อรอง ถึงเราจะเห็นด้วยคนเดียวมันไม่พอหรอก คุณจะไปต่อรองกับนายจ้างได้อย่างไร คนที่มีตำแหน่งก็มีอำนาจในการบังคับลูกจ้างอยู่แล้ว ดังนั้น ก็ต้องรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับนายจ้าง อาจขอทำงาน 8 ชั่วโมงแต่ได้รับเงินเดือนมากพอ ไม่ต้องฝืนทำ OT จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น เช่น หาความรู้ หรือทำงานเชิงการเมืองก็ได้
และในช่วงวิกฤต COVID-19 แบบนี้ ยังมีนายจ้างที่พยายามลดจำนวนลูกจ้างลง แล้วบังคับให้ลูกจ้างทำงานแบบ Multi Task ควบคู่ไปด้วย คือใช้คนนึงทำงานหนักขึ้น ควบคุมเครื่องจักร 4-5 ตัว แต่ให้เงินเท่าเดิม ซึ่งมันไม่แฟร์ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้
ธีรธร: มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า Horizontial Mobility การเติบโตในแนวราบ คือในความจริงเราควรจะทำงานอันนึงได้ ก็ควรขยับตำแหน่งไปสูงขึ้น แต่อันนี้เหมือนทำงานไปเรื่อยๆ โอเคทำฝ่ายบุคคลเป็นแล้ว เดี๋ยวมาดูจัดซื้อหน่อย แล้วไปดูฝ่ายอื่นหน่อย
มันเป็นเรื่องของอำนาจต่อรอง ถึงเราจะเห็นด้วยคนเดียวมันไม่พอหรอก ดังนั้น ก็ต้องรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับนายจ้าง อาจขอทำงาน 8 ชั่วโมงแต่ได้รับเงินเดือนมากพอ ไม่ต้องฝืนทำ OT จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น
บริษัท Start Up หลายบริษัทก็ใช้คนลักษณะ Multi Task แบบนี้ ซึ่งจริงๆ ไม่ผิดทั้งหมด แต่ควรทำอย่างไรให้แฟร์
ธีรธ: ถ้าจะให้แฟร์ คนที่ทำหลายตำแหน่งก็ควรได้รับเงินเดือนควบหลายตำแหน่ง
เหมือนรัฐมนตรีคนนึงเขาได้เงินเดือนหลายทาง ทั้งจากตำแหน่ง สส., รัฐมนตรี และยังมีเงินสำหรับตำแหน่งกรรมาธิการอื่นๆ อีก และกลับมาดูลูกจ้างบางคนทำ 3 ตำแหน่งเลย แต่ได้แค่ 15,000 บาท มันหมายความว่าไง
พัชณีย์: เวลาคุยกับนักสหภาพแรงงนในต่างประเทศ เขาจะบอกว่าอย่างน้อยต้องทำให้นายจ้างเคารพมาตรฐานการทำงานให้ได้ แต่บ้านเราเวลานี้ยังทำไม่ได้เลย
ทุกวันนี้บางคนไปลาพักร้อน ยังถูกนายจ้างโทรตามงานอยู่เลย อันนี้เกี่ยวด้วยไหม
พัชณีย์: เพราะนายจ้างจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เขามีอำนานและไม่จำเป็นต้องเคารพข้อตกลงอะไรเลย ซึ่งถ้ามีสหภาพจะมีข้อตกลงเขียนร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเลย
ธีรธร: ในไทยมองว่าคุณคือลูกจ้าง คุณก็อยู่ในสถานะนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ผมสามารถโทรหาคุณเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ว่าคุณทำอะไรอยู่ ซึ่งเมืองนอกมีความเคารพตรงนี้กันมาก ถ้าเลิกงานคุณจะทำอะไรก็ได้มันคือชีวิตคุณ แต่นี่เมืองไทยเลิกงานแล้ว นายจ้างยังโทรตามงานอยู่เลย หรือลาป่วยยังโดนโทรถามอยู่เลยว่าเก็บไฟล์ไว้ไหน
เรื่องของจำนวนวันหยุดนี่เกี่ยวด้วยไหม เคยเห็นคนยุโรปมาเที่ยวเมืองไทยทีนึงเป็นเดือนๆ เลย
พัชณีย์: อย่างในภาครัฐเขามีลาพักร้อนให้ปีละ 6 วัน และมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ปีนึง 13 วัน ซึ่งจริงๆ ถ้าวันหยุดมันติดกันสักสองอาทิตย์แบบตะวันตกเนี่ย เราจะวางแผนวันหยุดของเราได้ดีกว่า เพราะวันลาพักร้อน 6 มันพอสำหรับเดินทางไกลไหม หรือถ้าอยากไปทีนึงต้องสะสมพักร้อนสักสองปีให้มันรวมกันเป็น 12 วัน แต่มันต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเลยนะ สำหรับคนไทยมันยากมากที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาหาความรู้ หรือเปิดหูเปิดตา
แต่อย่างต่างประเทศเนี่ย เขารู้แล้วว่าจะมีวันหยุดหนึ่งเดือนในช่วงคริสมาสต์ เขาจะวางแผนเคลียร์งานให้เสร็จก่อน เพื่อจะได้เที่ยวให้เต็มที่ ซึ่งถ้าเราอยากทำแบบนั้น เราสามารถทำให้ช่วงสงกรานต์หยุดสักสองอาทิตย์แทนได้
ธีรธร: นี่ยังไม่นับบริษัทที่สะสมวันพักร้อนไม่ได้อีกนะ ซึ่งบริษัทผมก็เป็นแบบนั้น คือถ้าไม่ได้ใช้ลาพักร้อนปีนั้นๆ เราก็ไม่มีโอกาสไปใช้ทบต่อในปีหน้าเลย
ดูทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการต่อรองระหว่างแรงงานกับนายจ้างไปเสียหมด ทางกลุ่มมองว่าลำดับแรกสหภาพควรทำอย่างไรบ้าง
ธีรธร: ผมว่าก้าวแรกต้องให้คนมองว่าตัวเองคือแรงงานก่อน เพราะคนไทยยังติดภาพว่าแรงงานเป็นกรรมกร คิดว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน ซึ่งถ้าคิดแบบนี้ เขาจะไม่อยากมาร่วมกับสหภาพคนทำงานอย่างเต็มใจ ทั้งที่มันเรื่องเป็นของเขาเต็มๆ เลย
และถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ไม่ได้ มันจะไปได้ยากมาก มันเหมือนเป็นกุญแจดอกแรกสู่การต่อรองเลย เพราะขบวนแรงงานจะเข้มแข็งหรืออ่อนแออยู่ที่จำนวนคนเข้าร่วม อย่างในต่างประเทศสหภาพเขามีคนอยู่อย่างน้อย 50-60% ของคนทำงานทั้งหมด ซึ่งมันก็ทำให้เขามีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลได้
พัชณีย์: ถึงมันจะมีสมาพันธ์อะไรเยอะแยะไปหมด แต่พอถึงเวลาเคลื่อนไหวจริง มันไม่ได้ช่วยกันเคลื่อนไหวสู่เป้าหมายเดียวกัน มันเลยไม่มีพลัง ทั้งที่การเดินขบวน หรือการนัดหยุดงานมันเป็นอาวุธสำคัญของขบวนแรงงานสำหรับต่อรองกับนายจ้างและรัฐบาล เราไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเราต่างคนต่างทำงาน
และเรายังมีรัฐประหาร 2 ครั้งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และขบวนแรงงานยังไปสนับสนุนนายทุนที่หนุนทหาร หรือนายทุนศักดินาเพื่อไปทำลายนายทุนอีกกลุ่มหนึ่งอีก ขบวนแรงงานบ้านเราไม่มีจุดยืนทางชนชั้นของตัวเองที่ชัดเจน มันเลยทำให้ขบวนอ่อนแอ
ในอนาคต สหภาพคนทำงานตั้งเป้าหมายเชิงรูปธรรมอย่างไรไว้บ้าง
พัชณีย์: เราตั้งเป้าจะเป็นสหภาพแรงงานแห่งชาติ เป็นจุดศูนย์กลางของสหภาพแรงงานหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในระดับนโยบาย และกำหนดสมาชิกไว้ประมาณ 100,000 คน เพราะการเพิ่มอำนาจต่อรอง เช่น รวมตัวนัดหยุดงานมันต้องอาศัยคนเยอะ และมีคนเข้าร่วมหลายกลุ่มไม่ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมรถยนตร์, รวมถึงคนทำงานสื่อมวลชน และครูบาอาจารย์เอง เหมือนสมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ หรือออสเตรเลียที่เป็นศูนย์รวมของทุกกลุ่ม
ในที่สุด เราจะสร้างพรรคแรงงานเหมือนที่เกิดขึ้นในอังกฤษ เพราะถ้าเรามีพรรคชัดเจน เราจะไม่เป็นแค่ปีกของพรรคใดพรรคหนึ่ง นโยบายมันต้องมาจากข้างล่างขึ้นข้างบน จากชีวิตประจำวันสู่การต่อสู้เชิงโครงสร้าง
ธีรธร: ถ้ายังมีแต่สหภาพ มากที่สุดยังทำได้แค่ส่งเสียงเรียกร้องเพื่อเจรจาต่อรอง แต่ถ้ามีพรรคแรงงานไทยขึ้นมา มันจะเหมือนฟันเฟืองตัวหนึ่งที่สามารถเข้าไปแก้ระบบการเมือง แก้กฎหมายแรงงานที่ล้าสมัย ตลอดจนกำหนดนโยบายของเราเองได้
เพราะเมื่ออยู่ในสภา เราไม่ควรเข้าไปเป็นแค่เครื่องมือของพรรคใดพรรคหนี่ง หรือที่เขาเรียกว่าปีกแรงงานเท่านั้น เราต้องมีพรรคแรงงานไทยของเราเอง มันถึงจะตอบโจทย์มากที่สุด
สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของสหภาพคนทำงานได้ที่: WorkersUnionThailand
Photograph By Asadawut Boonlitsak
Illustrator By Waragorn Keeranan