‘หยุดคุกคามประชาชน’ คือหนึ่งข้อเรียกร้องในหลายๆ การชุมนุม และของคณะประชาชนปลดแอก ที่ต้องการให้รัฐหยุดการคุกคาม ปิดกั้น ประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง คิดเห็นต่าง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเสรีภาพของประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย
แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วงที่เกิดกระแสการชุมนุมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ กลับมารายงานถึงประชาชนที่ถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตัวแกนนำผู้จัดงาน และผู้ชุมนุมที่เข้าร่วม ในรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างกันไป โดยทาง iLaw ได้รวบรวมข้อมูลไว้ว่า ตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา เกือบ 1 เดือนนี้ มีการคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 63 ครั้งแล้ว
The MATTER รวบรวมรูปแบบการถูกคุกคามของประชาชน จากการพูดคุยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และจากตามข่าวต่างๆ มาให้ดูกันว่า รูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีแบบไหนบ้าง และหากเราพบเจอการคุกคามเหล่านี้ เรามีสิทธิที่จะทำอะไรได้บ้าง
ไปเยี่ยมหรือเฝ้าที่บ้าน / หอพัก
การคุกคามโดยการส่งเจ้าหน้าที่ทั้งใน และนอกเครื่องแบบไปบ้านพักอาศัย หรือหอพัก เป็นรูปแบบการคุกคามที่พบเห็นได้บ่อยมากที่สุด เช่นกรณีของ เพนกวิน – พริษฐ์ และรุ้ง ปนัสยา 2 แกนนำนักกิจกรรม ที่มีส่วนร่วมกับการปราศรัยในการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบรออยู่หน้าหอพัก และมีกระแสข่าวอาจจะเข้าจับกุมพวกเขา
หรืออย่างกรณีของ ฟ้า (นามสมมติ) นักเรียนที่มีส่วนกับการจัดชุมนุม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย ในวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งในการเยี่ยมบ้าน ตำรวจได้มาพูดคุยเพื่อให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และให้ตั้งใจเรียน ทำให้หลังจากนั้นเธอ ได้ถอนตัวจากการเป็นแกนนำ และไม่เข้าร่วมกิจกรรมอีก
ในกรณีเหล่านี้ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความฯ บอกกับเราว่า “อันนี้มันคือกระบวนการจิตวิทยา ที่ไม่ว่าคุณทำผิดหรือถูกกฎหมายก็ไม่ควรต้องโดนกระบวนการแบบนี้”
ดูกล้องวงจรปิดตามที่พัก / ที่ต่างๆ เพื่อตามถึงตัว
การขอเข้าดูกล้องวงจนปิด มีทั้งในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดูกล้องวงจรปิด ตามสถานที่ชุมนุม เพื่อตามตัวผู้ชุมนุมไปยังที่พักอาศัย ไปถึงการขอดูกล้องวงจรปิดที่บริเวณหอพัก หรือคอนโดด้วย
โดยในกรณีนี้ ศูนย์ทนายความฯ เล่าว่า “ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะตามคนชูป้ายเป็นหลัก ตามกล้องวงจรปิด เช่น ถ้าเราไปร่วมชุมนุมเสร็จ เค้าก็จะดูว่าเราขึ้นรถอะไร แล้วก็ไล่สายไปจนถึงที่พักของเรา แล้วเค้าจะไปขอข้อมูลเราที่ที่พัก มันมีกรณีที่เขาไปของดูกล้องวงจรปิดของคอนโด”
คุกคามผ่านทางผู้ปกครอง
การชุมนุมในรอบนี้ มีเด็กรุ่นใหม่ และเยาวชนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในช่องทางการคุกคามจึงเป็นการกดดัน คุกคามผ่านทางผู้ปกครองด้วย ซึ่งมีทั้งการไปหาผู้ปกครองที่ทำงาน การโทรศัพท์ หรือการส่งรูประหว่างการชุมนุมไปขมขู่ครอบครัวด้วย
เช่นกรณีของกิจกรรม #อีสานบ่ย่านเด้อ ที่จังหวัดขอนแก่น ได้มีการส่งรูปของนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมที่ขอนแก่น พร้อมกับรูปหน้าในบัตรประชาชนของเขาให้กับคนในครอบครัว มีการเรียกคนในครอบครัวไปพูดคุย และส่งข้อความทางไลน์ไปหาคนในครอบครัวด้วย หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม #เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ ก็ถูกคนโทรไปหาครอบครัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเช่นกัน
ศูนย์ทนายความมองถึงกรณีนี้ว่า เด็กส่วนใหญ่จะรู้ข้อมูล และยืนยันในหลักการของตัวเอง แต่สิ่งที่ทำให้ก้าวข้ามไม่ได้คือครอบครัว “เพราะว่าการที่เขายังเด็กอยู่ ทุกอย่างมันต้องเป็นไปตามผู้ปกครอง ยิ่งเด็กมัธยมจะลำบากมาก ส่วนเด็กมหา’ลัยจะมีอำนาจต่อรองมากกว่า เพราะว่าโตแล้ว แต่ถ้าเด็กมัธยม ยิ่งถ้าครอบครัวไม่เข้าใจ เด็กก็ค่อนข้างที่จะซัฟเฟอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่เค้าก็รู้จุดนี้ เค้าถึงเข้าหาแบบนั้น”
คุกคามผ่านที่ทำงาน หรือสถาบันการศึกษา
ไปขมขู่ผ่านเจ้านายในที่ทำงาน หรือคุณครูในโรงเรียนกดดันให้นักเรียนเลิกทำกิจกรรม ก็เป็นการคุกคามที่พบบ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการคุกคามในสถาบันการศึกษา ซึ่งศูนย์ทนายความมองว่า เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าโรงเรียน กับตำรวจหรือรัฐบาลจะไปในแนวเดียวกันได้ เราก็เห็นปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้น
ที่ผ่านมาพบว่า มีนักเรียนที่ถูกคุณครูเรียกผู้ปกครอง ขมขู่ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม ล้มเลิกการจัด ไปถึงการเอาคะแนน ผลการเรียน หรือใบจบมาเป็นเงื่อนไขไปถึงบางกรณี ที่ตำรวจจะขอความร่วมมือจากทางโรงเรียน หรือคุณครูเรียกนักเรียนไปคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ
การเปิดเผยข้อมูลทางสาธารณะ เพื่อให้เกิดการคุกคาม กลั้นแกล้งทางออนไลน์ ไปถึงการล่าแม่มด ซึ่งในกรณีก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน ให้มีการถูกไล่ออก หรือทำโทษทางวินัยต่างๆ ได้ โดยมักเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร่วมชุมนุม ไปเผยแพร่ทางกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดการคุกคามต่อไป
การคุกคามรูปแบบนี้ อาจส่งผลให้ตัวผู้ที่เคยแสดงออกทางการเมือง ไม่กล้าออกมาโพสต์ หรือแสดงจุดยืนในช่องทางเดิมที่เคยทำ รวมถึงหวาดกลัวว่าข้อมูลที่ถูกเผยแพร่เหล่านั้นจะกระทบไปถึงครอบครัว และการงานของครอบครัวได้เช่นกัน
ขอดูบัตรประชาชน หรือขอถ่ายรูป ในที่ชุมนุม
ในที่ชุมนุมเอง ไม่เพียงแค่ผู้ร่วมชุมนุมด้วยกัน แต่แน่นอนว่าย่อมมีการปะปนของเจ้าหน้าที่ทั้งใน และนอกเครื่องแบบ ซึ่งประชาชนอย่างเราอาจถูกขอดูบัตรประชาชน หรือขอถ่ายรูป โดยที่เราไม่พึงประสงค์ได้
ในกรณีนี้ ศูนย์ทนายความฯ แนะนำว่าการขอดูบัตรนั้น ไม่ใช่ขอดูทุกคนได้ โดยเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งเหตุในการขอดู เช่น มีพฤติกรรมจะทำความผิด แต่ถ้าหากไม่มีเหตุ เรามีสิทธิปฏิเสธได้ ไปถึงการถ่ายภาพที่ถือเป็นเป็นสิทธิส่วนบุคคล เรามีสิทธิปฏิเสธทุกกรณี ถ้าไม่ยินยอม สามารถไปบอกให้ลบได้ หรือถามชื่อ-สังกัดของเจ้าหน้าที่กลับได้ด้วย เพื่อความปลอดภัยของเรา
ส่งหมายเรียก หรือจับกุมตัว > พาไปปรับทัศนคติ, เซ็น MOU หรือขอเข้าถึงช่องทางโซเชียล และพาสเวิร์ด ฯลฯ
การส่งหมายเรียก คือการให้บุคคลมารับทราบข้อกล่าวหา แต่ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความฯ มองว่า มีหมายเรียกหลายแบบที่ใช้เพื่อกีดกันการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เรื่อง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด หรือ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ซึ่งหากกรณีที่ถูกหมายเรียกจริง บุคคลก็มีสิทธิที่จะมีทนายความ มีคนไว้วางใจไปด้วย ไม่ต้องถูกควบคุมตัวด้วย
แต่ในระยะหลังเอง นอกจากจะไม่มีหมายแล้ว ยังมีการควบคุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมไปด้วย อย่างกรณีที่ผู้จัดกิจกรรม #พิษณุโลกคนกล้าไม่ก้มหัวให้เผด็จการ โดยมีการยึดโทรศัพท์มือถือ พาไปยังสถานที่ที่ไม่รู้จัก และปรับทัศนคติเกี่ยวกับการจัดงาน
ไม่เพียงแค่การควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ ที่ผ่านมานั้น ยังพบเห็นการควบคุมตัวไป และบังคับให้เซ็นสัญญา หรือ MOU ว่าจะไม่กระทำการดังกล่าวอีก เช่นการร่วมชุมนุม หรือการโพสต์ข้อความต่างๆ ไปถึงความพยายามขอเข้าถึงช่องทางโซเชียลมีเดียลของบุคคลนั้นๆ และขอพาสเวิร์ดด้วย ซึ่งศูนย์ทนายความย้ำว่า นี่เป็นกระบวนการที่อยู่นอกกฎหมาย ซึ่งเรามีสิทธิที่จะปฏิเสธทุกอย่าง และเลือกจะติดต่อทนายความที่ไว้วางใจได้
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความฯ ยืนยันว่า สิทธิในการชุมนุม คือการแสดงออกโดยสงบสันติ เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย คือชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถเป็นเหตุที่เราจะถูกคุกคามได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้นสิทธิในการชุมนุมก็ถือเป็นสิทธิที่เราควรจะกระทำได้ แต่ในกรณีที่ถูกคุกคาม เราก็ควรจะรู้สิทธิของเราต่อไปด้วย
อ้างอิงจาก
Illustration by Waragorn Keeranan