ย้อนเวลากลับไปสมัยใส่ชุดนักเรียน ตัดผมสั้น ผูกคอซอง หลายคนคงจำความรู้สึกตื่นเต้นขณะออกไปยืนท่องอาขยานหน้าชั้นเรียนวิชาภาษาไทยกันได้ดี พร้อมกับความสงสัยเล็กๆ ที่ว่า เราท่องอาขยานกันไปเพื่ออะไร? จำก็ยาก แถมท่องเสร็จก็ปล่อยให้หายไป ไม่ได้นำกลับมาใช้อะไรอีก
“ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะทุกคนไม่ได้ชอบท่องอาขยาน มันเป็นความชอบส่วนตัว แล้วท่องไปก็ไม่ได้อะไรเลย” ณัฐรดา สุวรรณ อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์
“ไม่จำเป็นต้องจำ ต้องท่อง แต่ควรได้อ่าน ได้เรียน เอาเวลาไปท่องจำภาษาที่สองดีกว่า” จักริน เก้าพัฒนสกุล อาชีพครีเอทีฟรายการโทรทัศน์
“จำไม่ได้ว่าเคยท่องหรือเปล่า” ธนากร สุนทร อาชีพนักเขียน
การออกไปท่องอาขยานหน้าชั้นเรียน จัดอยู่ในประเภท ‘การเรียนรู้แบบท่องจำ’ (rote learning) ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นการเรียนรู้ที่ ‘ล้าสมัย’ มาอย่างยาวนานจากเหล่านักวิชาการและตัวผู้เรียน แต่ด้วยความหวังดีของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่หวังจะฟื้นการท่องอาขยาน สูตรคูณ และหน้าที่สิทธิพลเมืองให้แก่เด็กๆ นั้น ก็เลยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้ เพราะการจะต้องมานั่งจำข้อมูลซ้ำๆ เพื่อนำไปสอบ ดูจะไม่ก่อให้เกิดปัญญาเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับการเรียนรู้แบบวิเคราะห์ที่มุ่งเน้นความเข้าใจเป็นหลัก จึงเกิดเป็นข้อถกเถียงที่ว่า แล้วการท่องจำบทอาขยานนั้น ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?
“รู้ไว้ใช่ว่า แต่ไม่ควรเป็นการบังคับ ควรให้มันเป็นสุนทรียภาพมากกว่า” ลิลล์รฎา ไชยชุมพล อาชีพนักการตลาด
“เรียนได้ไม่เสียหาย ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าอาจารย์ไม่ให้ท่อง” อนวัช ศรีปลัดกอง อาชีพนักศึกษา
จากความเห็นของนักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงานที่ผ่านการสอบท่องอาขยานมาเนิ่นนาน ดูเหมือนการต่อต้านส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดพลาดของหลักสูตรการสอน ที่ก่ออคติให้เกิดขึ้นในใจของตัวผู้เรียน บางส่วนรู้สึกว่าการท่องอาขยานเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น บางคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยท่องหรือเปล่า อาจด้วยความที่ว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ไม่สนุก และไม่ได้นำไปใช้อะไรต่อในชีวิตประจำวัน นอกเหนือไปจากการสอบหน้าชั้นเรียนเท่านั้น ซ้ำยังเป็นกระบวนการผลิตนักเรียนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ต้องท่องจำอะไรตามสูตรสำเร็จรูป ซึ่งในที่สุดก็จะถูกลดทอนความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และการตั้งคำถามไป
แน่นอนว่าเมื่อมีเสียงต่อต้าน ก็จะต้องมีเสียงสนับสนุน
ในแง่ของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย บทอาขยานทำให้เรารู้สึกเหมือนได้โลดแล่นไปในโลกวรรณคดีสมัยก่อน ทั้งตัวละคร ภาษา คำศัพท์ และบริบทต่างๆ ที่ประกอบกันจนเป็นบทอาขยานบทหนึ่ง ชี้ให้เราเห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตอันเก่าแก่ สอดแทรกผลผลิตในเรื่องของเพศ ชนชั้น และสังคมในยุคนั้นๆ พร้อมกับให้เราได้ศึกษาวิวัฒนาการทางภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาไปในตัว
“มันก็เป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมของเรา เราต้องรักษาไว้ แต่ไม่ต้องเยอะ เพราะภาษาเราเป็นภาษาที่สวยงามและมีเอกลักษณ์” วิไลหงษ์ แซ่เจีย อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ
“บทอาขยานเป็นการใช้สำบัดสำนวนเพื่อสื่อสารอย่างสร้างสรรค์” อรรณพ เกิดวุฒิ อาชีพนักศึกษา
“คิดว่ามันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ผ่านการใส่ทำนอง ทำให้เราสามารถจำได้ดีขึ้น เป็นทักษะหนึ่งของเด็กไทยที่มีมานาน ถ้าถามว่ามันยังจำเป็นไหม ก็ถือว่าจำเป็นอยู่” โสภา นิลสริ อาชีพนักเขียน
“เราว่ามันจำเป็นนะ อย่างข้อความในใบเซียมซี เด็กมัธยมหรือผู้ใหญ่บางคนยังแปลไม่ออกเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นคำง่ายๆ ถ้าเราปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้ ได้รู้จักคิด วิเคราะห์ เราว่ามันก็เป็นผลดี เรียนไปไม่เสียหาย” นายศุภกฤต อนานนท์ อาชีพนักศึกษา
การเรียนรู้แบบท่องจำอาจไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป การท่องจำเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ และถือเป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่การเรียนระดับสูงได้ เพราะการเรียนรู้บางอย่างจำเป็นจะต้องมีการจดจำ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นต่อไป
วิธีนี้อาจจะได้ผลที่ชัดเจนกับคำศัพท์ กิริยา 3 ช่องในวิชาภาษาอังกฤษ ที่เราต้องท่องจำเพื่อนำไปใช้สร้างประโยคให้สมบูรณ์ หรือแม่สูตรคูณในวิชาคณิตศาสตร์ ที่เราต้องท่องจำเพื่อไปใช้ในการคำนวณเลข แต่การท่องจำบทอาขยานล่ะ เอาไปใช้ทำอะไรได้?
เมื่อได้ลองพูดคุยกับคนที่คลุกคลีกับการสอนภาษาไทยอย่างคุณสุชาวดี โพชัยศรี ผู้มีประสบการณ์วิชาชีพครูภาษาไทย ก็ได้ความว่า “ถ้าท่องจำได้ ก็นำไปใช้ในการแต่งคำประพันธ์ได้ จะได้รู้โครงสร้างหรือที่เรียกว่าฉันทลักษณ์ของบท อย่างจำนวนคำในแต่ละวรรค สัมผัสเชื่อมโยง กระทรวงกำหนดให้บรรจุลงในวิชาเรียน เพราะถือเป็นหลักการใช้ภาษา ถามว่าสำคัญหรือจำเป็นแค่ไหน ก็คงเป็นในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมนั่นแหละ”
และความเห็นเพิ่มเติมจากคุณธิติมา ขวาคำ นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย “การท่องอาขยานหรือร่าย โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มันคือเสน่ห์ของภาษาและเป็นเสน่ห์ของตัวคนนั้นด้วย เพราะทำให้เรามีคลังคำในหัวที่หลายคนไม่รู้ ส่วนความจำเป็นที่จะต้องท่องหรือไม่ เอาเป็นว่ารู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ หรือเอาแค่ผ่านหูผ่านตาไว้ก็ดี”
ในด้านของหลักภาษา แน่นอนว่าการท่องจำอาขยานจะทำให้ผู้เรียนคุ้นชินกับโครงสร้างของกลอน แต่สมัยนี้การแต่งกลอนหรือบทกวีนั้นแทบจะเป็นความสนใจที่เฉพาะกลุ่มมากๆ และไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจะเป็นนักประพันธ์บทกลอน จึงจะเป็นไปได้ไหม หากหลักสูตรนี้จะถูกจัดเข้าไปอยู่ในวิชาเลือก เพื่อให้บทอาขยานได้อยู่ในพื้นที่ที่มีแต่ผู้คนที่มองเห็นคุณค่า
การศึกษาบทอาขยานอาจจะทำหน้าที่ได้ดีในการคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน แต่หากจะบอกว่าการท่องจำอาขยานนั้น ก็เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกซาบซึ้งกับความเป็นไทยที่ซ่อนอยู่ในนั้นเห็นจะไม่ได้ผลเสมอไป ถ้าการท่องจำที่ว่าเป็นเพียงแค่ความจำระยะสั้นที่มีเพื่อเอาไว้สอบเก็บคะแนน
อย่างไรก็ตาม อาขยานไม่ใช่เรื่องที่ดูนกแก้วนกขุนทองมากมายนัก หากมองในเรื่องประโยชน์ของการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ หลักภาษา หรือเสพเป็นงานศิลป์เพื่อสุทรียภาพ เพียงแต่เราควรจะมีวิธีอื่นไหมในการศึกษาความหมายของกลอนอันไพเราะเหล่านั้น ที่นอกเหนือไปจากการท่องจำและนำไปสอบหน้าชั้นเรียน ซึ่งหลังจากนี้ก็คงเป็นโจทย์เล็กๆ ฝากให้กับกระทรวงศึกษาธิการว่า จะทำให้ยังไงให้การศึกษาบทอาขยานดูมีคุณค่ามากกว่าการท่องจำ เพื่อลดอคติในใจและเพิ่มความใกล้ชิดกับตัวผู้เรียนมากขึ้น และเพื่อที่อย่างน้อยๆ ก็คงจะเหมือนใครหลายคนให้ความเห็นว่า “รู้ไว้ไม่เสียหาย” นั่นเอง