เชื่อว่าใครหลายคนเคยโดนเพื่อนแกล้งจนโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายผิด ที่ไปเอาจริงเอาจังกับการโดนแกล้งซะงั้น แล้วเคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงชื่นชอบการกลั่นแกล้งนัก ถึงขั้นเกิดกระแสของเหล่า ‘Prankster‘ หรือ ‘พวกขี้แกล้ง‘ ทั่วทั้งโลกออนไลน์ขึ้น แล้วการแกล้งของพวก Prankster ทั้งหลายควรจะมีขอบเขตสิ้นสุดอยู่แค่ไหนกัน
ปัจจุบัน ผลการค้นหาของคำว่า ‘Prank’ ในยูทูบก็ได้ทะลุไปมากกว่า 34,000,000 ครั้ง และมีจำนวนชั่วโมงดูมากกว่า 3,500,000 ชั่วโมง
ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ยูทูบได้ออกมายอมรับว่ากระแสการแกล้งคนได้กลายเป็นวัตถุดิบชิ้นใหม่ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอที่มีความนิยมสูง โดยจุดไคลแมกซ์ของวิดีโอเหล่านี้ก็คืออาการตกใจกลัวและอับอายของคนที่ถูกแกล้ง การกลายเป็นคนดังเพียงชั่วข้ามคืนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่มีไอเดียแกล้งคนเจ๋งๆ มุมกล้องดีๆ ไว้แอบถ่ายท่าทางตลกๆ ได้ก็เพียงพอแล้ว
ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงสนุกกับการกลั่นแกล้ง?
โทนี บรอกเลย์ (Tony Brockley) นักอาชญาวิทยาจาก University of Derby ให้สัมภาษณ์ว่า สังคมของมนุษย์เรานั้นเป็นสังคมที่ถูกครอบงำด้วยความรู้สึก อาการตกใจกลัวของเรากลายเป็นการแสดงออกถึงความประทับใจบางอย่างจากส่วนลึกในจิตใจ และเป็นการเพิ่มความมั่นใจของคนแกล้งไปด้วย จึงไม่แปลกอะไรถ้าฝ่ายชายจะเริ่มเข้าหาหญิงในฝันของพวกเขาด้วยการแกล้งก่อน แหม่…กิ๊วๆ รักหรอกนะ จึงหยอกเล่น
แล้วสังเกตไหม ว่าทำไมฝ่ายชายมักจะเป็นฝ่ายที่ชอบแกล้งมากกว่าฝ่ายหญิงกันละ โทนีได้อธิบายเพิ่มเติมในมิติทางด้านสังคมอีกว่า ก็เพราะผลของวัฒนธรรมความเป็นชายชี้นำ หรือ ‘Hegemonic Masculinity’ นั่นแหละ ที่เชื่อว่าความอ่อนแอและอ่อนหวานของเพศหญิงเป็นสิ่งน่ารังเกียจ และต้องกีดกันออกจากความเป็นชาย เพราะฉะนั้นการแกล้งผู้หญิงที่ไร้ทางสู้คือการแสดงออกว่าตนอยู่เหนือเพศหญิง ทั้งในแง่ของอำนาจและความรู้สึก นอกจากนี้ การแกล้งคือการปลดปล่อยความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่สังคมทั่วไปยอมรับได้ ยกตัวอย่าง กรณีช่อง ViralBrothers ที่โด่งดังจากคลิปวิดีโอแกล้งแฟนสาวของตนเองมาตั้งแต่ปี 2014 หรือช่องของ Jake Paul ยูทูเบอร์ชาวอเมริกันชื่อดังที่มักจะอัพโหลดคลิปแกล้งอดีตแฟนสาวจนเกิดเป็นดราม่าและเลิกรากันในที่สุด
แกล้งกันขนาดนี้ ใครเป็นคนแรกที่เริ่มการแกล้งขึ้นมานะ?
ย้อนกลับไปสมัยจักรวรรดิโรมันยังรุ่งเรืองอยู่ มีตัวตลกตัวหนึ่งนาม King Kugel เดินเข้าไปบอกกับจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine the Great) ว่า ตัวข้าสามารถเป็นจักรพรรดิได้ดีกว่าท่านอีก คอนสแตนตินฟังแล้วก็ทรงกริ้ว แต่ลึก ๆ แล้ว ตัวจักรพรรดิเองก็เป็นคนชอบเรื่องขำขันเหมือนกัน ท่านเลยตอบกลับไปว่า เดี๋ยวข้าจะให้เจ้าลองดู คอนสแตนตินเลยให้โอกาสหนึ่งวันตามคำที่ท่านพูดไว้แก่ตลกตัวนั้น เพื่อลองพิสูจน์ตัวเองในการปกครองจักรวรรดิโรมันซะ วันนั้นเองจึงกลายเป็นวันที่ใครๆ ในจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ สามารถทำเรื่องไร้สาระ และแกล้งกันได้โดยไม่ผิดกฎหมายตามคำสั่งของตัวตลกตัวนั้น และนี่ก็คือที่มาของวันแห่งการอำ หรือ วันเมษาหน้าโง่ (April’s Fool Day) นั่นเอง
จากประเพณีการแกล้งที่อนุญาตให้ทำได้แค่วันเดียวของปีเท่านั้น แต่เมื่อคนเราเสพติดความสนุกจากการแกล้งคนไปหนึ่งวันเต็มๆ แล้ว จะทำยังไงดี เอ๊ะ ก็แกล้งมันต่อไปเรื่อยๆ เลยดีกว่า ส่วนใครจะคิดมากหรือโมโหอะไรก็แค่พูดไปว่า “I’m just kidding” หรือ “แค่ล้อเล่นเอง” ก็ถือว่าหายกัน
ยูทูบในฐานะผู้ส่งออกวัฒนธรรมการแกล้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก?
การเติบโตขึ้นของอุตสาหกรรมสตรีมมิงวิดีโอออนไลน์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้ยูทูบกลายเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอันดับสอง และมีผู้ใช้บริการมากกว่า 1 พันล้านยูสเซอร์ ในช่วงปีที่ผ่านมา คำว่า ‘Prank‘ ถูกค้นหาบ่อยที่สุดเป็นอันดับที่ 13 และจำนวนครีเอเตอร์ช่องดังของยูทูบก็หันมาสร้างคอนเทนต์ด้านนี้กันมากขึ้นด้วย เพราะสามารถเรียกยอดไลก์และยอดแชร์ในอัตราที่สูงกว่าคอนเทนต์อื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การแกล้งกันบนโลกออนไลน์เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากถึงความรุนแรงและขอบเขตความเหมาะสม ในช่วงที่ผ่านมา ยูทูบได้เผชิญกับวิกฤตด้านเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จากกรณีสดๆ ร้อนๆ ของยูทูเบอร์ชาวอเมริกัน Logan Paul กับการเผยแพร่ภาพศพคนฆ่าตัวตายในป่าฆ่าตัวตายอาโอกิกาฮาระ ส่งผลให้ชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปขุดคุ้ยคลิปวิดีโอของเขา จนพบวิดีโออีกจำนวนนึงที่มีเนื้อหาล้อเลียนและกลั่นแกล้งชาวญี่ปุ่นอย่างไร้มารยาทและน่ารังเกียจในสายตาของคนดู
กรณีที่โด่งดังอีกกรณีหนึ่งคือ ช่อง DaddyOFive ที่มักจะถ่ายทำคลิปวิดีโอกลั่นแกล้งลูกชายของตัวเองออกมา จนนำไปสู่การถูกตั้งข้อหาเพิกเฉยลูกตัวเอง ตามมาด้วยการสูญเสียสิทธิการเลี้ยงลูกและถูกคุมความประพฤติอีก 5 ปี แสดงให้เห็นว่า การแกล้งที่ถูกมองว่าขำๆ เป็นเรื่องเล่นๆ แท้จริงแล้วมันอาจนำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่คาดคิด ทั้งยังทำร้ายจิตใจของเหยื่อ หรือแม้แต่ผู้พบเห็นด้วยเช่นกัน ผู้คนจึงเริ่มหันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นการกลั่นแกล้งต่อตัวยูทูบและเหล่าพวกขี้แกล้งในสังคมกันแพร่หลายมากขึ้น โทนีก็ได้เสริมกรณีนี้อีกว่า “มันเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าครีเอเตอร์ต้องเป็นคนรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีใครดู ก็จะไม่มีใครผลิตคลิปวิดีโอประเภทนี้ขึ้นมาอีก ปัจจุบันทุกคนต่างแข่งกันมากขึ้นเพื่อเพิ่มยอดวิว ซึ่งนำไปสู่การคิดค้นการแกล้งที่รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน”
ในฐานะของผู้ให้บริการทางด้านโซเชียลแพลตฟอร์มที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ยูทูบเองก็มีนโยบายความปลอดภัยในหลากหลายมิติเพื่อควบคุมเนื้อหาและความสงบเรียบร้อยของชุมชน ทั้งในแง่ของการล่วงละเมิดเด็ก เนื้อหาเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรง ความเกลียดชัง และการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในประเด็นการบันทึกภาพผู้อื่นซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและปราศจากความยินยอม การโพสต์เนื้อหาที่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รวมถึงความคิดเห็นหรือวิดีโอที่สร้างความเสียหายและส่งผลเสียต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นประเด็นที่พวกขี้แกล้งมักจะไม่คำนึงถึง แต่กระนั้น เราก็ยังคงพบเห็นคลิปวิดีโอหลายคลิปที่มีเนื้อหาขัดต่อนโยบายความปลอดภัยเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหน้าผลลัพธ์การค้นหาหรือแม้กระทั่งบนหน้า Trending เอง โดยคำแนะนำของยูทูบต่อการพบเห็นวิดีโอที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้คือ ให้รีบส่งรีพอร์ตเข้ามาให้ยูทูบพิจารณาทันที เพื่อดำเนินการพิจารณาถอดคลิปออกต่อไป
แต่อย่าลืมว่าทุกๆ หนึ่งนาทีจะมีคลิปวิดีโออัพโหลดขึ้นเว็ปไซต์ความยาวรวมกันกว่า 300 ชั่วโมง การดูแลตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก แม้ยูทูบจะออกมาบอกว่าการตรวจสอบดังกล่าวจะมีผู้ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งฟังแล้วมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ยูทูบจะสามารถควบคุมข้อมูลขนาดใหญ่นี้ ไม่ให้หลุดรอดสายตาไปได้
มีเสียงจากผู้ใช้และเหล่าครีเอเตอร์จำนวนหนึ่งได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้ยูทูบแสดงออกถึงความเป็นผู้นำที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า ยูทูบมักจะหลีกเลี่ยงการลงโทษหรือการพูดถึงกรณีคลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสมของเหล่าครีเอเตอร์ที่มียอดติดตามสูงหลายกรณี เนื่องจากครีเอเตอร์เหล่านี้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจต่อตัวยูทูบเองในแง่ของการนำมาซึ่งยอดวิวและยอดแชร์ และพวกเขายังสังเกตอีกว่า ยูทูบไม่มีมาตรการจัดการที่ชัดเจนต่อประเด็นดังกล่าวเลย มีหลายครั้งที่ยูทูบจะออกบทลงโทษมาหลังการกดดันจากภาคสังคม ซึ่งบทลงโทษส่วนใหญ่ก็คือการตัดโฆษณาออกจากช่อง หรือถอดช่องที่มีปัญหาออกจากรายชื่อคอนเทนต์แนะนำที่ยูทูบใช้หารายได้จากโฆษณา
หลายครั้งกลับกลายเป็นว่า คนดูอย่างพวกเราต่างหากที่ต้องคอยจัดการกับประเด็นเหล่านี้เสียเอง ด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กระแสความไม่พอใจ และข้อเรียกร้องขอคำอธิบาย ส่งผลให้เหล่าพวกขี้แกล้งต้องออกมาขอโทษ หรือประกาศยุติการผลิตคอนเทนต์วิดิโอชั่วคราวเพื่อแสดงความรู้สึกผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งไป
ก็บอกแล้วไงว่าขำๆ ทำไมต้องจริงจังด้วย
หลายคนมองว่าการแกล้ง คือ ‘ศิลปะ‘ แขนงหนึ่ง ในเมื่อมันเป็นศิลป์ เราก็สามารถสร้างสรรค์รูปแบบการแกล้งที่มีไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเหยื่อเป็นส่วนประกอบก็ได้ ความสนุกสนานและความตลกขบขันก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และการให้เกียรติต่อเพื่อนมนุษย์ หรือลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราโดนกระทำแบบนั้น เราจะรู้สึกยังไงบ้าง
ในสมัยที่ทุกคนต่างมีสื่ออยู่ในมือ การเข้าถึงและการผลิตคลิปวิดีโอนั้นก็ง่ายแสนง่าย แต่จะทำยังไงให้คนมาสนใจคลิปวิดีโอของเราล่ะ ปิ๊ง! แกล้งคนไง แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เริ่มจากแกล้งเพื่อนเราก่อนนี่แหละ เรื่องตลกๆ แบบนี้ใครๆ ก็ชอบ ถ่ายเสร็จก็อัพลงโซเชียลมีเดียเพื่อส่งต่อให้คนอื่นเข้ามาหัวเราะเยาะกับคลิปวิดีโอของเรา ใครชอบก็กดไลก์ กดแชร์ต่อไปเป็นทอดๆ จนกลายเป็นกระแสนิยมการแกล้งแบบวนลูป
แต่เราหลงลืมความรู้สึกของเหยื่อหลังจากอัพคลิปไปหรือเปล่า? พวกเขาเหล่านี้เต็มใจหรือไม่ที่ภาพของตัวเองในอาการตกใจและอับอายต้องอยู่ตลอดไปบนอินเทอร์เน็ต หลายครั้งที่เหยื่อของการแกล้งสารภาพว่า พวกเขามีบาดแผลทางจิตใจเกิดขึ้นจริงๆ หลังการอัพโหลดคลิปวิดีโอเหล่านี้
ถ้าให้เลิกแกล้งกันไปเลยก็คงจะยาก แต่ถ้าจะแกล้งก็ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายจะรับได้หรือเปล่า เฮ้อ แค่แกล้งกันทำไมต้องทำเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เราจึงขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดจากนักเขียนหนังสือเด็กชาวอเมริกัน แม็ก บาร์นเนตต์ (Mac Barnett) ผู้เขียนหนังสือ The Terrible Two เรื่องราววีรกรรมพิเรนทร์ของสองตัวละครเด็กสุดแสบ ว่า
“Not only is a good prank harmless, but, like a good story, it reveals an essential truth that would otherwise be hidden.”
(“นอกจากการแกล้งที่พองามจะไม่มีพิษภัยต่อใคร มันแสดงให้เห็นถึงความจริงสำคัญซึ่งอาจถูกซ่อนไว้ เรื่องเล่าที่ดีก็เช่นเดียวกัน”)
อ้างอิงข้อมูลจาก