เมื่อพูดถึงคาบเรียนวิชาศิลปะ หลายคนมองว่าเป็นวิชาที่ได้ปลดปล่อยจินตนาการในหัวให้โลดแล่น ผ่านสีน้ำ สีเทียน สีโปสเตอร์ บ้างก็ดินสอ 2B ลงบนกระดาษร้อยปอนด์ และเป็นวิชาที่สามารถจุดประกายให้เด็กคนหนึ่งค้นพบเส้นทางของตัวเองว่า จริงๆ แล้วเขาอาจจะอยากเป็นศิลปินก็ได้นะ
แต่บางครั้งอิสรภาพในการแสดงออกของจินตนาการเหล่านั้น ก็ไม่ได้มีมากมายอย่างที่เราคิด อาจด้วยมาตรฐาน กฎเกณฑ์ หรือกรอบทางสังคมบางอย่าง ที่กดทับความสร้างสรรค์เอาไว้ไม่ให้สะท้อนออกมาผ่านผลงาน วิชาศิลปะจึงกลายเป็นฝันร้ายของเด็กบางคนได้เช่นกัน
แล้วคุณล่ะมีความทรงจำเกี่ยวกับวิชาศิลปะในโรงเรียนยังไงบ้าง?
ป่าน―ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรืออีกชื่อที่ทุกคนรู้จักกันดี Juli Baker and Summer ด้วยความที่เธอเป็นเจ้าของผลงานศิลปะอันมีเอกลักษณ์สีสันสดใส และลายเส้นที่เป็นอิสระ ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์มาจำกัด The MATTER จึงได้ชวนเธอมาพูดคุยถึงภาพจำของวิชาศิลปะในวัยเยาว์ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ จนกลายเป็นที่มาของผลงานเธอในทุกวันนี้
ป่านมีความทรงจำเกี่ยวกับการเรียนศิลปะในโรงเรียนยังไงบ้าง?
เราเริ่มได้เรียนศิลปะนอกโรงเรียน ตอนที่วิชาศิลปะในโรงเรียนเรียกพบผู้ปกครองเรา คือตอนเราอยู่ชั้นอนุบาล 2 เราได้โจทย์วาดรูปผู้หญิง ให้วาดเหมือนจริงหรือวาดตัวเองอะไรแบบนี้ แล้วเราดันไประบายสีผมหลายสี แล้วเราก็คงเป็นเด็กที่ระบายสีออกนอกเส้น ดูแล้วไม่สวย
ครูเขาก็เลยเชิญผู้ปกครองมา บอกว่าเราไม่ระบายสีเป็นสีดำตามสีผมจริง เหมือนกลัวว่าเราจะมีปัญหาการใช้สี แล้วทำงานไม่เรียบร้อย เขียนตัวหนังสือตัวใหญ่มาก ออกนอกเส้นไปเลย เขาใช้คำว่าหม้อข้าวหม้อแกง (หัวเราะ) แต่แม่เราไม่เคยมาเลยสักครั้ง แต่โรงเรียนจะคิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา
โชคดีที่พี่แม่เราเป็นคนที่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ เขาคิดว่าลูกน่าจะเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (หัวเราะ) โคตรโชคดีอะ เขาก็ส่งเราไปเรียนศิลปะตั้งแต่ตอนนั้นเลย คิดว่าลูกต้องมาแนวนี้แล้วแหละ เพราะวิชาการก็ไม่รอด โชคดีมาก ไม่งั้นเราก็คงสูญเสียความมั่นใจไปเลย
หลังจากไปเรียนศิลปะนอกโรงเรียน ความสุขของเราก็เลยเป็นวิชาศิลปะ แต่วิชาศิลปะในโรงเรียนของเราก็คือเรียนสัปดาห์ละ 50 นาที แล้ว 50 นาทีนั้น โจทย์ก็คือให้วาดภาพเหมือน ไปในเชิง realistic เลย คือเวลาในการเรียนวิชาศิลปะมันน้อยมาก คิดว่าช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดก็คือการวาดรูปเล่นในสมุดวิชาอื่นมากกว่า อันนั้นคือความสุขจริงๆ
เราก็มีความสุขในการวาดอย่างนั้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งไปติวเข้าแฟชั่น ก็คือเราชอบวาดรูปผู้หญิงสวยๆ อย่างที่บอก แล้วตอนนั้นมันก็ต้องเลือก เราอยากทำอาชีพเกี่ยวกับศิลปะแหละ แต่เป็นศิลปะแบบไหนดี
ซึ่งความรู้ความเข้าใจเราตอนอายุเท่านั้นก็ไม่รู้ว่าศิลปะทำอะไรได้บ้าง แต่ถ้าเป็นดีไซเนอร์มันฟังดูน่าจะหาเงินได้ เพราะเราก็เป็นชนชั้นกลางทั่วๆ ไปที่ก็ต้องหาเงินเลี้ยงชีพ ก็เป็นอาชีพที่เราชอบด้วย แต่ก็ต้องมั่นคงประมาณนึง แล้วตอนนั้นแฟชั่นมันฮิตด้วย เราก็เลยไปเรียน
ทำไมการเรียนแฟชั่นทำให้ความสุขของเราลดลงล่ะ?
เราเข้าใจว่าแฟชั่นคือการวาดรูป คือวาดรูปผู้หญิงแต่งตัวสวยๆ แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ มันเน้นธุรกิจมากๆ ต้องเรียนเรื่องเทรนด์ จนเราตั้งข้อสงสัยว่าเราทำเสื้อผ้ามากมายขนาดนี้ไปเพื่ออะไร ทำให้ตอนเรียนเริ่มไม่มีความสุขเท่าตอนวาดรูปสมัยเด็กๆ แล้ว
เราว่ามันอยู่กับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยด้วย เราว่าบางมหาวิทยาลัยเน้นแฟชั่นไปในเชิงอาร์ต แต่ที่จุฬาลงกรณ์เน้นการตลาด ตอนที่กรรมการให้คะแนน เขาก็จะบอกเลยว่าอันนี้ขายได้ อันนี้ขายไม่ได้ ดูแพง ดูถูก แล้วแปลว่าที่เราทำมันต้องขายได้หรอ ถึงจะมีความสุข อะไรคือตัวชี้วัดว่าอันนี้มันดี มันไม่ดีแค่เพราะมันไม่ตามเทรนด์หรอ แล้วใครเป็นคนกำหนดเทรนด์ นายทุนหรือเปล่า
ถ้ามีเพื่อนที่เคยติวแฟชั่นก็จะรู้ว่ามันกดดันมาก ยิ่งที่ติวเรา ติวเตอร์เขาขึ้นชื่อมากเรื่องความเฟียส มี personality แบบแฟชั่นเลย แต่เขาก็จะมีผลลัพธ์มาโชว์ว่าคนที่มาติวที่นี่ สอบติดมหาวิทยาลัยเยอะมาก ช่วงเวลานั้นเราก็เริ่มสับสน เพราะเราวาดรูปด้วยความเป็นกังวล ความสุขก็ค่อยๆ ลดลง กังวลว่าเขาจะชอบมั้ย เสื้อผ้ามันจะดูเก๋มั้ย เราวาดดีพอหรือยัง
ตอนที่ติววันแรกเลย เขาให้เรียนเรื่องการวาดฟิกเกอร์หรือหุ่นนางแบบ ตอนแรกเราก็ตกใจ แต่ทุกคนก็วาดตามปกติ เราก็ อ๋อ นี่หรอความเก๋ นี่หรอความสวย เราก็วาดไป แต่ก็วาดไม่ได้เหมือนเขา ด้วยพื้นฐานเป็นคนวาดไม่เหมือนอยู่แล้ว วาดเบี้ยวๆ ตัวใหญ่กว่าคนอื่น ก็จะโดนบอกว่า เนี่ย หุ่นอ้วนไปนะ
แล้วมันตลกมากที่ทั้งคลาส ทุกคนวาดหุ่นแบบเดียวกันหมด เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่หุ่นคนจริงๆ อะ แล้วจะกังวลมาเรื่องหน้าตาของหุ่น กลายเป็นว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าตามากกว่าการออกแบบของตัวเองแล้ว กลัวหน้าไม่สวย หุ่นไม่ดีพอ เพราะเขาใช้ตรงนั้นเป็นเกณฑ์ด้วย
แล้วเราก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยมในที่เรียนด้วย ความเป็นรุ่นพี่ที่เรารู้สึกว่า personality แบบนี้คือดี แล้วเราต้องเคารพเขา ซึ่งหลายๆ ครั้งมันก็กดทับคนที่เขาไม่ใช่คน extrovert มันมีคนที่มาเรียนแล้วกดดันมาก ต้องออกไปอ้วกก็มี
คือเรารู้ว่าตอนนั้นเราโง่มากเลย เรารู้สึกว่า อ๋อ นี่หรอวงการแฟชั่น อยากไป ELLE Fashion Week จัง อยากจะทำให้รุ่นพี่คนนั้นพึงพอใจ เพื่อที่เขาจะได้ให้บัตรเรา โคตรน่ากลัวเลย นึกย้อนกลับไปก็อะไรวะ แต่พี่ที่สอนเราเขาก็ไม่ใช่คนไม่ดีนะ แต่เหมือนเขาก็รับมาอีกทีนึง เรารู้ว่าเขาหวังดี ถ้าได้เจอกันอีกครั้งก็อยากจะเล่าให้ฟังว่ามันมีเด็กที่เจ็บปวดจากสิ่งที่เขาทำนะ
แปลว่าที่เราทำมันต้องขายได้หรอ ถึงจะมีความสุข?
อะไรคือตัวชี้วัดว่าอันนี้มันดี?
มันไม่ดีแค่เพราะมันไม่ตามเทรนด์หรอ?
แล้วใครเป็นคนกำหนดเทรนด์ นายทุนหรือเปล่า?
แล้วมารู้ตอนไหนว่าจริงๆ แล้วศิลปะมันสามารถหลากหลายได้มากกว่านั้น?
จริงๆ ตอนที่เราสอบติดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็ยังมีความรู้สึกนั้นอยู่ แต่เรามาปลดล็อกความรู้สึกนั้นตอนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่อังกฤษ ได้เรียนคลาสที่เป็นคลาสวาดรูปจริงๆ แล้วเขาได้แนะนำศิลปินที่ไม่ได้วาดเหมือน คือเรามีปมในใจนิดนึงว่าเราเป็นคนวาดรูปไม่เหมือน แต่ชอบวาดรูปมาก คือวิชา drawing ปีหนึ่งก็จะวาดแนว realistic ไม่ได้ ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะวาดรูปได้ดี
แต่พอไปเรียนที่อังกฤษ เราเริ่มได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่ใช่แค่ขายได้กับขายไม่ได้ เขาเริ่มวิจารณ์ว่าถ้ายูชอบสไตล์นี้ ลองไปดูงานของศิลปินคนนี้สิ แล้วมันทำให้เราเริ่มมั่นใจและได้สำรวจงานของตัวเองในมุมที่หลากหลายขึ้น คือจริงๆ มันก็ไม่ได้ทุกข์ขนาดนั้นนะ แค่เราเริ่มมีความรู้สึกอยากจะวาดรูปเล่นมากขึ้นเท่านั้นแหละ แต่ตอนนี้หลักสูตรหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปนะ อย่างเรื่องฟิกเกอร์ รุ่นน้องที่เรียนก็วาดหลากหลายขึ้น
แปลว่าระบบทุนนิยมก็ทำร้ายวงการศิลปะเหมือนกัน?
ตอนเรียนแฟชั่น เราจะโดนตำหนิว่าออกแบบเยอะเกินไป ไม่ตามเทรนด์ อย่างทุกวันนี้เขาฮิตเสื้อครอปกัน ไม่ใช่อยู่ๆ ทุกคนจะมาฮิตนะ แต่เพราะนายทุนเขาเลือกกันมาแล้วว่าปีนี้ทุกคนมาออกแบบเสื้อแบบนี้กันให้ครบทุกแบรนด์ แล้วมันจะขายได้ เพราะเราก็ตกเป็นเหยื่อการตลาด เราก็รู้สึกว่า ‘ของมันต้องมี’ จริงๆ เราไม่ต้องมีก็ได้เว้ย เราอาจจะไม่ได้ชอบมัน แต่มันเป็นคำพูดของคนอื่น ใครสักคนที่กำหนดมาว่าถ้าเราไม่มีเราจะตกเทรนด์
มันก็ยากที่เราจะเข้าใจและอยู่เหนือสิ่งนั้นได้ เพราะเราไม่รู้ว่าที่เราชอบ นั่นเพราะเราชอบจริงๆ หรือเพราะเราตกอยู่ภายใต้อำนาจของการที่เขาทำนายมาแล้วว่าเราจะต้องชอบอะไร แต่ถ้าเกิดว่าเรายังไม่สามารถอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้มันก็ไม่ผิด เพราะมันก็ต้องโทษสื่อ โทษอะไรด้วยที่ยังประโคมสิ่งเหล่านี้ออกมา
ช่วงนี้จะเห็นหลายคนวาดรูปจากป๊อปคัลเจอร์เยอะมาก เช่น ซีนจากในหนังหรือ MV เพลง ต้องเป็นป๊อปคัลเจอร์เท่านั้นถึงจะขายได้หรือเปล่า?
เราไม่ติดนะ เราว่าศิลปะมันคืออะไรก็ได้ ยิ่งในประเทศไทย ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ (หัวเราะ) แล้วโลกศิลปะมันโอบอุ้มด้วยทุนนิยมมากๆ อะ เราจะทำเป็นพูดว่า art for art’s sake มันเป็นไปไม่ได้ อย่างเราอะ ถ้าเราทำศิลปะเพื่อตัวเองอย่างเดียว คงไม่มีทางหาเงินได้ ทุกวันนี้ที่เราหาเงินได้ เพราะรูปเราถูกแปะลงผลิตภัณฑ์ของนายทุนสักคนเพื่อหาเงินให้เขา แล้วเขาก็ให้เงินเรามานิดนึง แต่มันก็ทำให้เรายังใช้ชีวิตอยู่ได้ ซึ่งเราก็เชื่อว่ามันเป็นหนึ่งในวิธีที่สร้างรายได้ ทำให้คนรู้จัก สำหรับนักวาดภาพที่ยังเด็กอยู่
เราว่าทุกคนเริ่มจากสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว ถ้าย้อนกลับไปตอนเด็ก ทุกคนก็น่าจะวาดจากการ์ตูนที่ตัวเองชอบ ไม่ใช่จู่ๆ จะวาดอะไรที่ abstract ขึ้นมาได้เลย
ป่านคิดว่าการเรียนการสอนศิลปะสะท้อนค่านิยมอะไรบางอย่างในสังคมบ้าง?
ศิลปะคือการแสดงออกของคน คนเป็นแบบไหน ศิลปะก็ออกมาเป็นแบบนั้น อย่างในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เราก็ศึกษาเรื่องราวในช่วงนั้นผ่านศิลปะ เรียนรู้วิถีชีวิตของเขาจากภาพวาดฝาผนัง เราว่าในทุกยุคทุกสมัย ถ้าอยากเรียนรู้ชีวิตคน ให้ไปดูจากศิลปะได้เลย
อย่างในประเทศไทยก็เหมือนกัน เราว่ามันก็สะท้อนให้เห็นในทุกๆ ด้านเลย ไม่ว่าจะหยิบด้านไหนมา อย่าง beauty standard นี่ก็ได้ แม้กระทั่งระบอบการปกครอง กรอบในการเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะของประเทศต่างๆ มันก็แตกต่างกันออกไป
อย่างที่ไทยนี่รู้เลยว่ามีเรื่องไหนบ้างที่เราแตะไม่ได้บ้าง มันก็สะท้อนให้เห็นว่าเรามีเสรีภาพในการแสดงออกมากน้อยแค่ไหน หรืออย่างที่เราบอก ศิลปินหลายคนก็หารายได้จาก commercial art สะท้อนให้เห็นว่าวงการศิลปะไทยถูกโอบอุ้มด้วยนายทุนหรือระบบทุนนิยมอยู่
ศิลปะคือการแสดงออกของคน
คนเป็นแบบไหน ศิลปะก็ออกมาเป็นแบบนั้น
…อย่างที่ไทยนี่รู้เลยว่ามีเรื่องไหนที่เราแตะไม่ได้บ้าง
มันก็สะท้อนให้เห็นว่าเรามีเสรีภาพในการแสดงออกมากน้อยแค่ไหน
ถ้าพูดแบบนี้เดี๋ยวคนก็จะมองว่าเราด่าแต่นายทุน แต่มันมีจริงๆ นะประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาลเขาส่งเสริมศิลปินให้ทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำจริงๆ น่าอิจฉา (หัวเราะ) เราเห็นชัดมากตอนที่เราไปอยู่ญี่ปุ่น เราเคยไป residency มา
รัฐบาลที่ญี่ปุ่นเขาผลักดันศิลปะจนทำให้ศิลปะอยู่ในวิถีชีวิตของคนจริงๆ แล้วเศรษฐกิจมันดี คนที่มาซื้องานมันแตกต่างจากคนที่มาซื้องานเราที่ไทย คือที่ไทยเราจะขายงาน painting ได้เฉพาะคนรวย เขาจะมีรสนิยมแบบนั้น แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นที่มาซื้อก็เป็นคนทั่วๆ ไปนี่แหละ อย่างแม่บ้าน คุณครู ลูกชอบงานแล้วอยากซื้อไปแต่งบ้าน เป็นคนที่เดินผ่านมาเห็นงานเราที่สวนสาธารณะแล้วอยากจะซื้อ มันเข้าถึงคนแล้วอยู่ในชีวิตคนจริงๆ ทำให้คนมีความเข้าใจในศิลปะ
หรือแม้กระทั่งตอนที่เราไป รัฐบาลญี่ปุ่นก็เป็นคนออกเงินให้ เราไปอยู่ในเมืองที่ต่างจังหวัดมาก ติดภูเขา เขาก็ยังยอมลงทุนจ่ายให้เรา เพียงเพื่อที่จะได้ทำงานศิลปะในเมืองเล็กๆ เมืองนั้น มันแสดงให้เห็นว่าศิลปะมันกระจายไปทั่วทุกจังหวัด ไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในเมืองหลวง เรารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้ โดยที่เราสามารถบาลานซ์งานที่ตัวเองอยากทำจริงๆ กับ commercial art ได้มากกว่าที่ไทย
เอาง่ายๆ นะ ถ้าจะดูว่าศิลปะมันสะท้อนสังคมได้ยังไง
วัดจากจำนวนแกลอรี่ในประเทศก็ได้
ทำไมหอศิลป์ถึงมีแค่ในกรุงเทพ
หรือหอศิลป์กรุงเทพ ทำไมเรายังต้องขอร้องให้ได้อยู่ต่ออีก
ล่าสุดเห็นที่ไปวาดรูปปกเกี่ยวกับเรื่องเพศให้กับสำนักพิมพ์ Soi ช่วยเล่าการทำงานให้ฟังหน่อย
Soi เขาก็จะเป็นนักแปล แปลหนังสือดีๆ มาให้ แล้วเราก็ได้ทำปก ก็จะเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน จำได้ว่าออกช่วงวันวาเลนไทน์ หนังสือนอกจะชื่อว่า ‘Beyond The Gender Binary’ พอแปลเป็นชื่อไทยก็คือ ‘แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน’ ก็คือพูดถึงเรื่องความลื่นไหลทางเพศ (gender fluid) เลย พูดถึงแนวคิดชายจริงหญิงแท้มันกดทับใครอยู่บ้าง ซึ่งเราคิดว่าเป็นแนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ
แปลว่าศิลปะช่วยขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมได้หลายประเด็นอยู่นะ
แน่นอน ศิลปะมันก็คือการเล่าเรื่อง ถ้าเราเล่าเรื่องอะไร คนก็จะรับสารไปแบบนั้น แต่มันพิเศษกว่าตรงที่มันเป็น soft power คือการเล่า strong message ออกมาในวิธีที่มันละมุนละม่อม พอมันมีศิลปะ มันทำให้คนที่ไม่ชอบอ่านงานวิชาการได้เข้าใจง่าย ผ่านการดูงานศิลปะ ดูหนัง แล้วมันทำให้เขาเอะใจกับอะไรบางอย่างได้
พอต้องคิดงานที่สื่อมาจาก strong message คิดยากมั้ย?
ถ้าเป็นปกของ Soi ไม่ยาก เพราะเขาชัดเจน แล้ว Alok Vaid-Menon (ผู้แต่งหนังสือ Beyond The Gender Binary) เขาเป็นเควียร์ แล้วเขาอยากให้สื่อถึงคนนี้มากที่สุด เราก็เลยวาดเป็น portrait ตัวนักเขียนเลย เพราะเขามี personality ที่ชัดเจนมากๆ คือเขาไว้หนวดไว้เครา ใส่ดอกไม้ คือไม่ต้องบอกว่าเขาคือเพศอะไร เพราะเขาคือเขา มันก็คือการมองคนเป็นคน
พอเราได้เข้าใจแล้วว่า เราสามารถจินตนาการถึงความหลากหลายของศิลปะได้มากกว่าที่คิด ไม่จำเป็นต้องวาดฟิกเกอร์ขายาวเสมอไป หรือการต้องลงสีผมเป็นสีดำได้สีเดียว มันเปลี่ยนแปลงความคิดและการทำงานของเราไปยังไงบ้าง?
เราว่าพอเราโตขึ้น ศิลปะมันก็โตตามเราไปด้วย เพราะมันสะท้อนตัวตนของเรา ณ เวลานั้น พอเราเริ่มเข้าใจเรื่องมนุษย์มากขึ้น เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน มันก็สะท้อนแนวคิดนั้นออกมาในงานเรา
เราก็ไม่ได้อยากวาดคนในแบบที่คนกลุ่มเล็กๆ มากำหนดว่าแบบนี้คือสวย เราอยากวาดคนที่เราเห็นแล้วเราสบายใจ หรือเราอยากให้คนมองเห็นคนเท่าๆ กัน เราก็อยากจะวาดเรื่องนั้นออกมา ศิลปะมันโตไปพร้อมๆ กับการที่เราเริ่มเข้าใจในสิ่งเหล่านี้
เราไม่ได้อยากวาดคนในแบบที่คนกลุ่มเล็กๆ มากำหนดว่าแบบนี้คือสวย
เราอยากวาดคนที่เราเห็นแล้วเราสบายใจ
หรือเราอยากให้คนมองเห็นคนเท่าๆ กัน เราก็อยากจะวาดเรื่องนั้นออกมา
ศิลปะมันโตไปพร้อมๆ กับการที่เราเริ่มเข้าใจสิ่งเหล่านี้
แต่ก็ยังดีที่เรามีผู้บริโภคที่เข้าใจด้วยเช่นกัน
ใช่ แต่ลูกค้าเราจะติดเรื่องนี้เยอะ บางครั้งไม่ได้มีอะไรเลย แต่เขาจะ self-censor ตัวเองไว้ก่อน เราเพิ่งคุยเรื่องนี้กับเพื่อนเมื่อวาน เพื่อนคนนี้จะชอบวาดรูปผู้หญิงนู้ด เราก็ชอบวาดรูปผู้หญิงนู้ดเหมือนกัน ก็จะโดนประเด็นนี้ตลอด
คือลูกค้าชอบบอกว่า ไม่ให้วาด มันดูโป๊ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคนที่เราวาดเป็นผู้ชายเปลือยท่อนบน ไม่ใส่เสื้อ มันจะไม่โดนแก้ แล้วธีมของรูปนั้นมันเป็นธีมซัมเมอร์ ซึ่งเราว่ามันเมคเซนส์มาก มันไม่ได้อนาจาร ถ้าจะขายให้เด็กก็ขายได้ ทุกคนก็มีนมอะ
เราโดนบ่อยมากเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่ามันสะท้อนให้เห็นเลยว่า วงการศิลปะมันก็ยังกดทับเพศหญิงอยู่ ไม่ต้องไปพูดถึงวงการอื่นไกลเลย
นั่นสินะ แล้วเราจะกล้าโนบรากันได้ยังไง ขนาดแค่ไปอยู่ในผลงานศิลปะยังไม่ได้เลย
ใช่ แล้วคนที่บอกไม่ให้เราวาด เขาเป็นผู้หญิงด้วยนะ คนไทยติดนิสัย self-censor เยอะ บางทียังไม่มีใครห้ามเลย ก็ห้ามตัวเองก่อนแล้ว
นอกเหนือจาก commercial art ป่านวาดรูปที่สะท้อนความเป็นตัวเองจริงๆ ลงที่ไหนบ้าง?
เรามีสตูดิโอเล็กๆ ที่บ้าน ถ้าใครสนใจก็เข้าไปดูได้ แล้วเราก็จะมีจัดแสดงที่โยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ไปซื้อได้ ขายดีกว่าที่ไทยอีก (หัวเราะ)
รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนเราในส่วนไหนบ้าง?
เราได้รับเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่ารัฐบาลไทยอีก เราไม่ต้องจ่ายเงินเลยตอนอยู่ญี่ปุ่น ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง ค่าที่จัดแสดง ตอนนั้นภัณฑารักษ์ก็ถามว่า ยูจะลองหาทุนจากที่ไทยก่อนมั้ย เรารีบตอบเลยว่า ไม่มี (หัวเราะ) ไม่ต้องหา เสียเวลา ไม่มีหรอก เขาก็บอกว่าปกติถ้าดีลกับศิลปินต่างประเทศหรือศิลปินยุโรป เขาจะมีทุนของรัฐบาลให้อยู่แล้ว
ถ้าคนที่อยากได้การสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นแบบป่านบ้าง ต้องทำยังไง?
มันก็มีทางที่เราจะส่งพอร์ทไปเหมือนกัน หรืออีกทางนึงก็คือ ไล่รัฐบาลชุดนี้ออกไป แล้วมีรัฐบาลชุดใหม่ที่เห็นคุณค่างานศิลปะ เราก็จะมีทุนด้วยตัวเอง อย่าง ลูกพีช (รพีพร ตันตระกูล) เพื่อนเราที่เป็นนักร้อง ที่เพิ่งโดนหมายเรียกไป จริงๆ เขาจะได้ไปร้องเพลงที่ music festival ต่างประเทศ แต่ที่ไม่ได้ไปเพราะไม่มีทุนไป โคตรน่าเศร้า
งานประกวดศิลปะในไทยก็มีเยอะนะ แต่ทำไมศิลปินไทยยังไม่เฉิดฉายขนาดนั้น มันมีปัญหาอะไรนอกจากเรื่องทุนอีกหรือเปล่า?
เรารู้สึกว่าการประกวดงานศิลปะที่ต้องวาดภาพเฉลิมพระเกียรติก็มีเยอะประมาณนึง แล้วพอมีงานประกวดภาพวาดสะท้อนสังคม งานที่ชนะก็มักจะเป็นงานที่โรแมนติไซส์ความเหลื่อมล้ำ มากกว่างานที่สะท้อนสังคมจริงๆ เช่น สมมติมีคนวาดชาวนากำลังเกี่ยวข้าวด้วยความสุข กับชาวนาโดนนายทุน งานที่ชนะคืองานแรก เพราะคนที่เป็นสปอนเซอร์งานประกวดศิลปะหลายๆ ครั้งก็คือนายทุนใหญ่ มันก็ย้อนกลับมาว่าวงการศิลปะถูกโอบอุ้มด้วยสิ่งนี้จริงๆ เราว่าตัวศิลปินเองก็ประกวดจนแทบจะไม่เหลือจิตวิญญาณแล้ว
ถ้าเป็นงานที่สะท้อนสังคมจริงๆ ก็จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ งานแบบ underground หน่อย ถึงจะจัดแบบนี้ได้ โคตรน่าเศร้า (หัวเราะ) เราว่าหอศิลป์เองก็พยายามจะบาลานซ์เหมือนกัน อย่างนิทรรศการล่าสุด For Those Who Died Trying ที่เป็นรูปถ่ายของคนที่ถูกอุ้มฆ่าทั้งหมด เราคิดว่าอันนั้นก็อิมแพ็คสุดๆ แล้ว แต่ก็รู้สึกว่าหอศิลป์ทำได้มากกว่านี้ เช่น วันที่ศิลปินโดนคุกคามจากรัฐบาลเผด็จการ เพราะแค่ทำงานศิลปะ เราอยากเห็นแอคชั่นจาก BACC มากกว่านี้
แล้วที่ผ่านมา ตัวป่านเองโดนอะไรบ้างหรือเปล่า?
เราแค่โดนทักแชทมาด่าว่าผิดหวังในตัวเรา แต่ก็เทียบไม่ได้กับคนที่ถูกอุ้มฆ่าหรอก เราได้คุยกับพี่สะอาดที่เป็นนักวาด เขาก็บอกว่าเขางานหาย ด้วยความที่เขาวาดการ์ตูนแล้วคนรักคาแรคเตอร์นั้นมาก พอเอามาวาดให้เกี่ยวกับการเมือง คนก็เลยไม่พอใจ ส่วนเราไม่ได้โดนขนาดนั้น เพราะแบรนด์ที่มาจ้าง กลุ่มเป้าหมายเขาคือคนรุ่นใหม่ แล้วคนรุ่นใหม่ไม่ซื้อไอเดียเผด็จการแล้ว
ถ้าสุดท้ายแล้วหอศิลป์โดนปิดจริงๆ จะทำยังไง?
เราคิดว่าไม่ควรจะรอให้ถึงวันที่หอศิลป์ถูกปิด เราเพิ่งคุยกับ BACC ไปว่าเราอยากให้เขาเกรี้ยวกราดกว่านี้ มันไม่ใช่โทนขอ แต่ต้องเป็นโทนบังคับ ฉันจะไม่ปิด ฉันจะอยู่ แต่ถ้ามันต้องปิดจริงๆ เราคิดว่า ก็ต้องออกไปไล่รัฐบาลแหละ นี่คือทางออกของทุกอย่าง มันการเมืองมากนะ แล้วเรามองว่าการระดมทุน อย่างกิจกรรมขายโปสการ์ดในตอนนี้ มันก็ไม่ได้ช่วยในระยะยาว ไม่ได้แก้ปัญหาที่ยั่งยืน เราจะมาระดมทุนทุกปีไหวหรอ เราจ่ายภาษีกันไปตั้งเยอะแล้วอะ
กลับมาที่วิชาเรียนศิลปะ บางครั้งเด็กอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีความสามารถเพราะเกรดที่ได้ สำหรับป่านคิดวิชานี้ควรมีเกรดมั้ย?
เราคิดว่าควรมีนะ น่าจะวัดได้ เราไม่รู้หรอกว่าเกณฑ์คืออะไร แต่เราคิดว่าทุกอย่างควรจะประเมินได้ ถ้าตัดสินทางทักษะเชิงเทคนิคเราว่าโอเค ทุกคนควรจะต้องฝึกฝนแหละ แต่สิ่งที่ไม่ควรคือการไปบอกเด็กคนนึงที่ไม่มีทักษะเชิงเทคนิคว่าเขาเป็นศิลปินไม่ได้ จำได้เลยว่าเพนพ้อยท์ของพี่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) คือโดนบอกว่าเขาเป็นศิลปินไม่ได้หรอก ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่ เพราะเขาก็ไปดังระดับโลก
นี่มีปมเพราะโดนบอกว่า เธอเป็นคนทำงานสกปรกมาก แล้วจำได้เลยว่าเพื่อนเดินมาบอกว่า ถึงเธอจะทำงานสกปรก แต่เธอวาดรูปสวยนะ ให้กำลังใจ (หัวเราะ) เราว่าคนไทยอาจจะต้องเปิดใจกับการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นด้วย เรายังเชื่อว่าศิลปะไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่ศิลปะควรจะวิจารณ์ได้ เช่นเดียวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
แล้วเราอยากให้วิชาศิลปะในโรงเรียนปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาด้วยความฝันที่อยากจะเป็นศิลปิน?
เราอยากให้วิชาศิลปะให้อิสรภาพกับเด็ก เอาจริงๆ ถ้าให้แก้ ก็คงแก้จากตรงนั้นไม่ได้ ต้องแก้จากโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นอีก เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้คนที่เห็นค่าของงานศิลปะมาเป็นรัฐบาล พอเขาเห็นว่ามันสำคัญ หลักสูตรการเรียนการสอนมันจะเปลี่ยน เด็กจะเข้าถึงงานศิลปะได้ทั่วๆ ไปตามชุมชน เด็กจะมีความฝันว่าโตไปอยากเป็นศิลปิน โดยไม่โดนหลอกด้วยวาทกรรม ‘ศิลปินไส้แห้ง’
หรือควรให้การสนับสนุนมากขึ้น อย่างไปเพ้นท์สีกำแพงที่ชุมชน เด็กเข้าไม่ถึงสี เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ มันก็เป็นเพราะว่าปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำด้วย ข้าวยังไม่มีจะกิน ศิลปะเลยกลายเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับบางครอบครัว ซึ่งสำหรับเรา มันคือสิ่งที่เราใช้ประจำอยู่แล้วในบ้าน มันก็เกี่ยวโยงกันไปหมด ใครบอกว่าศิลปะไม่เกี่ยวกับการเมือง
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้คนที่เห็นค่าของงานศิลปะมาเป็นรัฐบาล
พอเขาเห็นว่ามันสำคัญ หลักสูตรการเรียนการสอนมันจะเปลี่ยน
เด็กจะมีความฝันว่าโตไปอยากเป็นศิลปิน
โดยไม่โดนหลอกด้วยวาทกรรม ‘ศิลปินไส้แห้ง’
จากวันนั้นสู่วันนี้ การที่เราวาดผู้หญิงได้หลากหลายแบบมากขึ้น มันทำให้เรามีมุมมองต่อมาตรฐานความสวยยังไงบ้าง?
แม้เราจะไม่ได้วาดรูปผู้หญิงในแบบที่คนชอบ แต่ลึกๆ เราก็อยากสวยอยู่นะ เพราะมันคงง่ายกับเรามากกว่า ถ้าจะใช้ชีวิตในสังคมแบบนี้ แต่เราก็ไม่ผิดที่เรายังติดอยู่กับมาตรฐานความสวยอยู่ แค่ต้องรู้ให้ทัน อย่างเวลาเราโกรธ เศร้า ผิดหวัง เราก็จะใช้ศิลปะนี่แหละในการปลดปล่อยมันออกมา