เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเด่นประเด็นร้อนที่เป็นที่ฮือฮาไม่เพียงแต่ในแวดวงศิลปะบ้านเรา แต่ยังดึงดูดความสนใจของคนนอกวงการศิลปะและชาวบ้านร้านตลาดด้วย นั่นก็คือข่าวของอดีตนักร้องหญิงชื่อดังอย่างคุณหฤทัย ม่วงบุญศรี หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ อุ๊ หฤทัย (ถ้าเป็นแฟนเพลงรุ่นเดอะหน่อยจะรู้จักเธอในชื่อ อุ๊ เปเปอร์แจม)
ผู้ซื้อภาพวาดเก่าเลหลังเหมาโหลในราคาหลักพันบาท จากร้านขายของเก่าแห่งหนึ่งมาประดับบ้านของเธอเมื่อหลายปีก่อน แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า เธอสงสัยว่าหนึ่งในภาพวาดเหล่านั้น อาจเป็นผลงานของหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh) ที่หายสาบสูญและตกหล่นจากการสำรวจของนักประวัติศาสตร์ศิลปะก็เป็นได้!
ตัวเธอเองหลังจากได้ทราบเรื่อง ก็ทุ่มเทความพยายามในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพวาดภาพนี้ ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฏีศิลปะ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือพิสูจน์หลักฐานจากสื่อออนไลน์ และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา
แต่เรื่องกลับมาโอละพ่อตรงที่เธอดันไปให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า วิญญาณของ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ มาหาและมาเฉลยปริศนาเกี่ยวกับภาพวาดภาพนี้ให้แก่เธอ เรื่องก็เลยกลายเป็นปาหี่บันเทิงเชิงไสยศาสตร์ไปในทันทีทันใด
หนำซ้ำยังมีข่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลายปีก่อนหน้า เธอเคยส่งภาพวาดภาพนี้ไปให้พิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์ ตรวจสอบแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการรับรอง โดยทางพิพิธภัณฑ์เองก็ได้ยืนยันว่าเคยปฏิเสธภาพวาดและบอกกับเธอไปแล้วว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ผลงานของวินเซนต์ แวน โก๊ะห์ แต่อย่างใด
ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ในแต่ละปี พิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์เองก็ได้รับการยื่นคำร้องให้ตรวจสอบผลงานที่เจ้าของเชื่อว่าเป็นของแวน โก๊ะห์ หลายร้อยชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ภาพถ่าย และในจำนวนนั้น มีเพียงภาพวาดไม่กี่ภาพเท่านั้น ที่ทางพิพิธภัณฑ์ขอให้เจ้าของนำผลงานเข้าไปรับการตรวจสอบเพิ่มเติมที่พิพิธภัณฑ์ ส่วนงานที่เหลือนั้นก็ถูกปัดซ้ายไปอย่างไร้เยื่อใย
นั่นแปลว่าที่คุณอุ๊ หฤทัย เธออ้างว่าภาพวาดที่เธอครอบครองอยู่นั้นเป็นของ แวน โก๊ะห์ จริงแท้แน่นอนนั้นเป็นเรื่องมั่วนิ่มฤา?
เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งด่วนตัดสินไป เพราะอันที่จริงในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็มีภาพวาดที่เคยถูกทางพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์ปฏิเสธ แต่ในภายหลังก็ถูกนำกลับไปตรวจสอบใหม่อีกครั้ง และได้รับการยืนยันว่าเป็นของแท้อยู่ด้วยเหมือนกันนะเออ!
ในปี 2013 เคยมีการค้นพบภาพวาดของแวน โก๊ะห์ ที่ถูกเก็บเอาไว้ในห้องใต้หลังคาอยู่เป็นศตวรรษ ภาพวาดภาพนั้นมีชื่อว่า Sunset at Montmajour (1888) หรือ พระอาทิตย์ตกที่มงต์มาชูร์
ก่อนหน้านี้ในปี 1901 ภาพวาดภาพนี้ถูกเก็บอยู่ในคอลเล็กชั่นของธีโอ (Theo van Gogh) น้องชายของแวน โก๊ะห์ หลังจากที่เขาเสียชีวิต ภรรยาหม้ายของธีโอ โยฮันนา แวน โก๊ะห์-บองเกอร์ (Johanna van Gogh-Bonger) ขายมันให้กับนักค้างานศิลปะชาวปารีส และในปี 1908 นักค้างานศิลปะผู้นี้ก็ขายให้กับนักสะสมชาวนอร์เวย์ แต่กลับถูกวินิจฉัยว่าเป็นของปลอม นักสะสมผู้นั้นจึงอัปเปหิผลงานชั้นนั้นไปไว้ในห้องใต้หลังคา และอยู่ที่นั่นจวบจนเขาเสียชีวิตในปี 1970 ซึ่งเจ้าของคนปัจจุบันก็ซื้อมาอีกทอดหนึ่งหลังจากนั้น
จนในปี 1991 เขาก็นำภาพวาดไปให้พิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์ ตรวจสอบ แต่ในเวลานั้น ผู้เชี่ยวชาญที่นั่นระบุว่ามันเป็นของปลอม มันก็กลับไปอยู่ในห้องใต้หลังคาอีก จวบจนเวลาล่วงผ่านไป 20 ปี ในปี 2011 เจ้าของภาพก็นำภาพกลับไปให้พิพิธภัณฑ์ตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งในเวลานั้น พิพิธภัณฑ์ได้พัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการระบุความจริงแท้ของงานศิลปะขึ้นมาอย่างมาก เมื่อถูกนำกลับมาให้นักวิจัยได้มีโอกาสตรวจสอบอีกครั้ง หลังจากการตรวจสอบเป็นเวลาสองปี ในที่สุดวันที่ 9 กันยายน 2013 ทางพิพิธภัณฑ์ แวน โก๊ะห์ ก็เปิดเผยว่าภาพวาดภาพนี้เป็นผลงานที่แท้จริงของศิลปินชั้นครูอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ และกล่าวว่ามันเป็นการค้นพบครั้งสำคัญยิ่ง
เมื่อนั้นภาพวาดของ แวน โก๊ะห์ ที่ถูกทิ้งเอาไว้ในห้องใต้หลังคาของนักนักสะสมงานนิรนามโดยไม่เป็นที่รู้จักจากสาธารณะชน ทั้งยังถูกเพิกเฉยจากเหล่านักประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นเวลาราวศตวรรษ ก็ปรากฏโฉมสู่ชาวโลกในที่สุด
ภาพวาด Sunset at Montmajour ถูกวาดขึ้นที่เมืองอาร์ลส์ ในปี 1888 มันเป็นผลงานจากช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตการทำงานของแวน โก๊ะห์ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เขาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก ชิ้นแล้วชิ้นเล่าอย่าง The yellow house (The street) (1888), The Bedroom (1888) และ Sunflowers (1889) อันลือเลื่องนั่นเอง
อ็อกเซล รูเกอร์ (Axel Rüger) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวผ่านบทสัมภาษณ์ว่า “ภาพวาดภาพนี้พรรณาให้เห็นถึงทิวทัศน์เนินเขาและป่าไม้ยามโพล้เพล้ของมงต์มาชูร์ ในโพรวองซ์ ไกลออกไปในภาพเป็นทุ่งข้าวสาลีและอารามเบเนดิกตินปรักหักพัง บริเวณรอบๆ มงต์มาชูร์นี้เองที่เป็นสถานที่ที่แวน โก๊ะห์กลับไปเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยครั้งในช่วงที่เขาอยู่ที่เมืองอาร์ลส์”
ส่วน เจมส์ ราวน์เดล (James Roundell) นักค้างานศิลปะและผู้อำนวยการสาขาภาพวาดสมัยใหม่ของแกลเลอรี่ดิกคินสัน ในลอนดอนและนิวยอร์ก ผู้คลุกคลีกับงานศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์และโมเดิร์นกล่าวว่า “มีผลงานในช่วงแรกๆ ของชีวิตการทำงานของแวน โก๊ะห์ปรากฏออกมาให้เห็นอยู่หลายครั้งจนถึงเดี๋ยวนี้ แต่ผลงานในช่วงสูงสุดของอาชีพแบบนี้ถือว่าหาได้ยากมาก มันยากที่จะทำนายได้อย่างจะแจ้งว่าภาพวาด Sunset at Montmajour ชิ้นนี้มีราคาขายในตลาดเท่าไหร่ แต่คาดเดาได้ว่ามันน่าจะมีราคาราวสิบล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้นเท่าไรนัก”
เฟรด ลีมาน (Fred Leeman) อดีตหัวหน้าภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งในปัจจุบันเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์อิสระและนักวิชาการเกี่ยวกับแวน โก๊ะห์ กล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นของจริงแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้สร้างความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวศิลปินผู้นี้ เรามีความทรงจำที่ประทับอยู่ในใจว่า แวน โก๊ะห์ เป็นจิตรกรหัวสมัยใหม่ แต่ผลงานชิ้นนี้เขากลับเขียนในแนวทางแบบประเพณีของศตวรรษที่ 19 ออกมา”
หลุยส์ ฟาน ทิลเบิร์ก (Louis van Tilborgh) นักวิจัยอาวุโสของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า “ภาพวาดนี้ถูกวาดลงบนแคนวาสและสีรองพื้นชนิดเดียวกันกับที่แวน โก๊ะห์ใช้กับภาพที่เขาวาดขึ้นในสถานที่ใกล้เคียงกันอย่าง The Rock (1888) ภาพวาดนี้ยังถูกจัดให้เป็นหนึ่งในคอลเล็คชั่นของ ธีโอ แวน โก๊ะห์ ในปี 1890 โดยมีเลข 180 เขียนกำกับอยู่ข้างหลังภาพ ซึ่งสัมพันธ์กับตัวเลขของภาพวาดในคอลเล็คชั่นเดียวกัน ในที่สุดมันจึงได้รับการยืนยันว่าเป็นของแท้แน่นอน
ส่วนวันที่ของภาพวาดที่ถูกระบุไว้คือ 4 กรกฎาคม ปี 1888 โดยในจดหมายของแวนโก๊ะห์ที่เขียนถึงน้องชายในวันถัดไปดูเหมือนจะบรรยายฉากนี้เอาไว้ว่า
“เมื่อวาน ตอนอาทิตย์ตกดิน ฉันอยู่ในป่ารกที่มีต้นโอ๊กเล็กๆ โตขึ้นอย่างบิดเบี้ยว ฉากหลังเป็นซากปรักหักพังบนเนินและทุ่งข้าวสาลีในหุบเขา มันช่างโรแมนติกและไม่อาจเป็นอะไรมากไปกว่า ‘à la Monticelli’ (เขาเปรียบเปรยถึงผลงานของ อดอฟล์ มงติเซลลี หนึ่งในจิตรกรที่แวนโก๊ะห์เลื่อมใสเมื่อเขาย้ายไปอยู่ที่ปารีสในปี 1886 และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้แวนโก๊ะห์ตัดสินใจย้ายไปที่โพรวองซ์) พระอาทิตย์สาดส่องรัศมีสีเหลืองอร่ามเหนือพุ่มไม้และผืนดินที่อาบไปด้วยสีทองอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกเส้นสายมันช่างสวยงาม ภาพที่เห็นทั้งหมดมันช่างสง่างามและเปี่ยมเสน่ห์”
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1888 แวนโก๊ะห์ย้ายไปที่เมืองอาร์ลส์ และใช้เวลาสำรวจทิวทัศน์ในโพรวองซ์ เขาทำงานแบบ ‘en plein air,’ หรือ ‘ท่ามกลางธรรมชาติ’ และหลงใหลทิวทัศน์พื้นราบที่รายล้อมด้วยก้อนหินโผล่ตะปุ่มตะป่ำและทุ่งหญ้าแห้งรอบ ๆ เนินเขาของมงต์มาชูร์เป็นพิเศษ ในจดหมายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1888 เขากล่าวว่าเขาเคยไปที่มงต์มาชูร์อย่างน้อย 50 ครั้ง เพื่อชมทิวทัศน์เหนือที่ราบแห่งนั้น”
“จากหลักฐานอันกระจ่างที่ชี้ชัดอยู่ในจดหมายหลายฉบับของเขา และรายการในแค็ตตาล็อกหลายเล่มของปี 1900 ที่เชื่อมโยงกับภาพวาดชิ้นอื่นๆ หรือชิ้นที่ยังไม่ถูกระบุ เราพบว่าภาพวาดภาพนี้ลงล็อกพอดิบพอดีกับหลักฐานเหล่านั้นอย่างแน่ชัด” เฟรด ลีมาน กล่าว
ภาพวาด Sunset at Montmajour มีขนาดใกล้เคียงกับภาพ Sunflowers ซึ่งถูกวาดขึ้นในปีเดียวกัน และถูกขายไปด้วยราคา 39.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1987 จากการประมูลของสถาบันคริสตี้ ลอนดอน
อนึ่ง ภาพวาดชิ้นสำคัญของแวน โก๊ะห์ ชิ้นสุดท้ายที่ถูกค้นพบก่อนหน้าภาพนี้อย่าง Tarascon Stage Coach (1888) ได้ถูกเปิดเผยสู่สายตาสาธารณชนในช่วงปี 1930
ภาพวาด Sunset at Montmajour ถูกแสดงให้ชมในพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์ เป็นเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2013 ในของนิทรรศการ ‘Van Gogh at Work’ ซึ่งมุ่งนำเสนอการค้นพบใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาการในการทำงานของจิตรกรเอกผู้นี้
ส่วนเจ้าของภาพคนปัจจุบัน ยังไม่ได้บอกว่าพวกเขาตั้งใจจะทำอย่างไรกับภาพวาดชิ้นนี้ต่อไป และเพื่อต้องการสงวนความเป็นส่วนตัวของเจ้าของภาพ ทางพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์ ก็ไม่อาจให้ข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าของภาพในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นอะไรที่แตกต่างกับบ้านเราเอามากๆ เลยเนอะ!)
ส่วนเรื่องภาพวาดที่ คุณอุ๊ หฤทัย มีอยู่นั้นจะเป็นภาพวาดของ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ชัวร์หรือมั่วนิ่มนั้น ก็ต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันต่อไป แต่ยังไงก็ขอให้กำลังใจคุณอุ๊ก็แล้วกัน ว่าถ้ามีความเชื่อมั่น มีความฝัน และมีเจตนาที่บริสุทธิ์ และรักศิลปะจากใจจริงโดยไม่หวังชื่อเสียงเงินทองหรือผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใด ก็ขอให้มุ่งมั่นพิสูจน์มันต่อไป อย่าเพิ่งท้อแท้ถอดใจไปเสียก่อน สักวันมันอาจจะกลายเป็นความจริงได้ และถึงภาพนี้ไม่ใช่ภาพวาดของแวน โก๊ะห์ จริงๆ ต่อไปภายหน้าก็อาจจะได้เจอผลงานของศิลปินคนสำคัญคนอื่นก็ได้ ใครจะไปรู้?
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับวิญญาณแวน โก๊ะห์ ในภาพวาดที่เป็นที่ฮือฮากันนั้น ดูเผินๆ ก็เหมือนจะเป็นเรื่องตลก น่าขัน งมงาย หาสาระอันใดมิได้
แต่เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งด่วนปรามาสกันไป เพราะถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง เรื่องผีสาง วิญญาณ เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติเนี่ย มันก็ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในบ้านเรา เพราะแม้แต่ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของโลกตะวันตกเอง มันก็มีเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แถมเขาเชื่อกันเป็นจริงเป็นจังเสียด้วย
อย่างเช่นในช่วงศตวรรษที่ 19 มีศิลปินหลายคนทำงานโดยได้แรงบันดาลใจและอิทธิพลจากภูติผี ปิศาจ วิญญาณ และสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ โดยเป็นกระแสความเคลื่อนไหวทางศาสนา, ปรัชญา และศิลปะที่เรียกกันว่า Modern Spiritualism ที่ศิลปิน (และผู้ศรัทธา) หลายคนพยายามทำการติดต่อสื่อการกับวิญญาณและถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ ทั้งงานทัศนศิลป์, ดนตรี หรือวรรณกรรม
กระแสความเคลื่อนไหว Modern Spiritualism เริ่มตันขึ้นในอเมริกาในช่วงปี 1840 โดยเริ่มจากความเชื่อที่ว่า วิญญาณของมนุษย์ไม่ได้สูญสลายหายไปไหน แต่ยังคงดำรงอยู่ในโลกหลังความตาย และมีความสนอกสนใจอย่างยิ่งยวดต่อโลกของคนเป็น จึงเกิดเป็นการรวมตัวของบุคคลที่เชื่อกันว่ามีสัมผัสพิเศษที่สามารถสื่อสารกับโลกวิญญาณ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘คนทรง’ และผู้ศรัทธา ที่เชื่อว่าการสื่อสารระหว่างสองโลกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ
กระแสความเคลื่อนไหว Modern Spiritualism เข้าสู่อังกฤษในช่วงต้นปี 1850s และได้รับความนิยมอย่างสูงที่นั่น ก่อให้เกิดผลกระทบทางวัฒนธรรมอย่างมาก โดยรวมไปถึงวงการสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างงานวาดเส้น, งานจิตรกรรม ที่ถูกทำขึ้นในระหว่างการเข้าทรง
ศิลปิน (โดยเฉพาะศิลปินหญิง) ในยุคนั้นหลายคน ทำพิธีเข้าทรงให้วิญญาณหวนกลับจากโลกแห่งความตาย มาชี้นำหรือจับมือศิลปินผู้เป็นร่างทรงให้วาดภาพ พวกเขาเชื่อกันว่า วิญญาณบางดวงเป็นวิญญาณของศิลปินเอกในยุคเรอเนสซองส์อย่าง ทิเชียน (Titian) หรือ คอราจโจ (Correggio) เลยทีเดียว
ที่น่าสนใจก็คือ ศิลปินเหล่านี้หลายคนก็เป็นศิลปินเพศหญิง (ว่ากันว่าผู้หญิงมีสัมผัสสื่อวิญญาณมากกว่าผู้ชาย) อาทิ ศิลปินอย่าง จอร์เจียนา โฮว์ตัน (Georgiana Houghton) ที่อ้างว่าเธอวาดภาพภายใต้การกำกับของวิญญาณ เธอวาดภาพลายเส้นกึ่งนามธรรมสีสันเจิดจ้า น่าพิศวง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งโลกวิญญาณ อย่างที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อนในโลกศิลปะ ดังที่เธอกล่าวเอาไว้ว่า “ภาพวาดของเธอไม่เหมือนอะไรในโลกนี้เลยสักอย่าง”
เธอเริ่มต้นวาดภาพเมื่ออายุ 45 ปี โดยความสนใจในเรื่องลี้ลับและวิญญาณของเธอเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่น้องสาวของเธอเสียชีวิต เธอจึงเริ่มเข้าร่วมการเข้าทรง และพัฒนาทักษะการวาดภาพในฐานะร่างทรงของผีศิลปิน โดยในระหว่างปี 1860 และ 1870 เธอสร้างผลงานวาดเส้นเชิงสัญลักษณ์จากการชี้นำของวิญญาณนับร้อยภาพ แต่มีเพียง 40 ภาพ ที่ยังเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ ภาพวาดลายเส้นเของเธอ เปลี่ยนความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับศิลปะในศตวรรษที่ 19 ไปอย่างสิ้นเชิง
นอกจาก จอร์เจียนา โฮว์ตัน ยังมีศิลปินอังกฤษอีกหลายคนที่วาดภาพโดยการชี้นำของวิญญาณ อาทิ แอนนา มารี โฮวิตต์ (Anna Mary Howitt), บาร์บารา โฮนีวูด (Barbara Honywood), แคทเธอรีน แบร์รี (Catherine Berry), เดวิด ดูกิด (David Duguid), เจน สจวร์ต สมิธ (Jane Stewart Smith) และ วิลเลียม และ อลิซาเบธ วิลคินสัน (William & Elizabeth Wilkinson) ศิลปินเหล่านี้ต่างก็เป็นสมาชิกคนสำคัญของกระแสเคลื่อนไหว Modern Spiritualism ที่แพร่หลายไปทั่วโลก จากอเมริกา สู่อังกฤษ, สก็อตแลนด์, ออสเตรเลีย ไปจนถึงแอฟริกาใต้ หรือศิลปินชาวสวีเดนอย่าง ฮิลมา อัฟ คลินต์ (Hilma af Klint) ก็ทำงานศิลปะโดยอ้างว่าได้รับการชี้นำจากวิญญาณด้วยเช่นกัน
ประวัติศาสตร์เหล่านี้สอนให้เรารู้ว่า เรื่องบางเรื่องที่อาจจะดูเหลวไหลไร้สาระ แต่ถ้าเรามองมันด้วยสายตาและหัวใจที่เปิดกว้าง มองในมุมกลับ หรือแง่มุมใหม่ มองในเชิงประวัติศาสตร์ เชิงวิชาการ เราก็อาจจะได้ความรู้และแรงบันดาลใจใหม่ๆ มาก็เป็นได้
และที่สำคัญ มันทำให้ตระหนักว่า เรื่องลี้ลับและไสยศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่งมงาย บั่นทอนปัญญา และไร้ประโยชน์อย่างที่ใครบางคนคิดเสมอไป เพราะถ้าเอามาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง มันก็กลายเป็นงานสร้างสรรค์ได้ด้วยเหมือนกันนะเออ!
และไม่ว่าภาพของคุณ อุ๊ หฤทัย จะเป็นภาพของแวน โก๊ะห์ ของแท้หรือเทียม แต่ข่าวข่าวน้ีก็ก่อให้เกิดการถกเถียงเชิงวิชาการเกี่ยวกับงานศิลปะขึ้นในวงกว้าง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในบ้านเรา และอย่างน้อยที่สุด มันก็ทำให้คนทั่วไป หันมาสนใจและทำความรู้จักกับศิลปินเอกผู้ยิ่งใหญ่ที่แสนอาภัพอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ผู้นี้ขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ว่าไหมครับ ท่านผู้อ่าน?
อ้างอิงข้อมูลจาก
nytimes.com/2013/09/10/arts/design/new-van-gogh-painting-discovered-in-amsterdam.
en.wikipedia.org/wiki/Sunset_at_Montmajour
nytimes.com/2013/04/30/arts/30iht-vangogh30
en.wikipedia.org/wiki/Hilma_af_Klint