หากปราการด่านแรกของผู้สมัครงานคือเรซูเม่ ปราการด่านแรกของฝ่ายรับสมัครก็เป็น ประกาศรับสมัครงานนี่แหละ ที่สามารถส่งซิก แอบบ่งบอกถึงวัฒนธรรมองค์กรได้ ผ่านข้อความหนึ่งหน้ากระดาษที่เราได้กวาดสายตาอ่าน หลายคนที่กำลังมองหางาน เมื่อเจอประกาศในตำแหน่งที่เหมาะกับเรา ก็ต้องสอดส่องคุณสมบัติแต่ละบรรทัด ว่าเรามีสิ่งที่องค์กรนั้นกำลังมองหาอยู่หรือเปล่า ที่เหลืออย่างเรื่องเงิน ภาพลักษณ์ อาจเป็นปัจจัยต่อไป
โดยส่วนมากนั้น ประกาศรับสมัครงาน จะเริ่มต้องมีตำแหน่งชัดเจน ตามด้วยขอบเขตของหน้าที่ และคุณสมบัติที่องค์กรมองหา ว่าคนแบบนี้แหละที่ใช่ พร้อมกับช่องทางการติดต่อ แพทเทิร์นของแต่ละที่ก็จะไม่หนีไปจากนี้สักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่สื่อสารออกมานั่นแหละที่ทำให้ต่างกัน เราจะได้เห็นคาแรกเตอร์ ทัศนคติ และมุมมองขององค์กรที่มีต่อพนักงาน เชื่อว่าใครที่อยู่ในช่วงมองหางาน มักจะได้เจอประกาศมาหลายรูปแบบ
บางแห่งชอบคนทนต่อความกดดัน ก็เลยออกคำสั่งกันตั้งแต่ยังไม่ทันจะสมัคร บางแห่งอยากพิจารณาให้ค่าตอบแทนจากประสบการณ์ แต่ก็ไม่ได้บอกทั้งจุดสตาร์ทและเพดานว่าอยู่ที่ตรงไหน บางแห่งอยากได้คนไฟแรง เลยจัดหน้าที่ของหลายตำแหน่งมารวมๆ กันไว้ และอีกสารพัดคุณสมบัติอิหยังวะที่ผู้สมัครต้องเกาหัวกันตั้งแต่ได้อ่าน
การเลือกใช้คำที่คลุมเครือ ไม่ระบุสิ่งที่ต้องการไว้อย่างชัดเจน ไปจนถึงมีความหมายบางอย่างแฝงอยู่ ทำให้เราต้องพิจารณาคุณสมบัติในประกาศรับสมัครงานให้ดี ว่าสิ่งนี้ใช่สิ่งที่เรากำลังมองหาอยู่จริงๆ หรือเปล่า ไปจนถึงเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เรามองเห็นคุณภาพชีวิตในการทำงานแล้วว่าจะไปในทิศทางใด
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ ใครยินดีรับเงื่อนไขที่องค์กรเสนอ ก็สามารถไปต่อในขั้นตอนของการสมัคร สัมภาษณ์ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่สำหรับใครที่ยังไม่มีประสบกาณ์ในการทำงานมากเท่าไหร่ หรือใครที่กำลังมองหางานอยู่นั้น อย่าเพิ่งรีบร้อนหยิบเอาทุกตำแหน่งที่เราทำได้ ร่อนใบสมัครไปในทุกที่ที่เข้าตา เพราะการทำงานกินเวลาเกินครึ่งของเวลาชีวิต ให้ลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เริ่มต้นจากประกาศรับสมัครงานก่อนเป็นอันดับแรก
มาดูกันว่าในประกาศรับสมัคร ที่มีสารพัดคำลูกเล่นให้เลือกใช้ มีคำไหนบ้างที่เราเห็นแล้วต้องพิจารณาให้ดี
เงินเดือนตามประสบการณ์ แต่ไม่บอกตัวเลข
เพราะมีรายจ่าย รายได้จึงจำเป็น มองหางานแต่ละที่ มีหรือที่จะไม่เอาปัจจัยเรื่องค่าตอบแทนมาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจ แต่ละคนต่างมีเรตค่าตอบแทนอยู่ในใจ โดยค่าตอบแทนนั้นนอกจากจะต้องครอบคลุมรายจ่ายแล้ว ควรจะคุ้มค่าความเหน็ดเหนื่อย แรงกายแรงใจที่ต้องใช้ ความสามารถ ประสบการณ์ และมากพอที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
เรื่องของตัวเลขนี้ เป็นอันรู้กันว่าสามารถเจรจา ต่อรองกันได้ จากฝั่งผู้ว่างจ้างเอง ก็อยากให้เม็ดเงินที่จ่ายไปในทุกเดือนถูกใช้อย่างคุ้มค่า คำว่า ‘เงินเดือนตามประสบการณ์’ จึงถือกำเนิดขึ้น เก่งแค่ไหน ช่ำชองในสายงานเท่าไหร่ ขายตัวเองออกมา เก่งมากให้มาก เก่งน้อยลงมาหน่อยก็เอาไปตามเนื้อผ้า แล้วองค์กรจะพิจารณาค่าตอบแทนให้ คำๆ นี้มันจึงค่อนไปทาง ‘ไม่มีตัวเลขตายตัว’ เสียมากกว่า
ถามว่าการไม่มีตัวเลขตายตัวมันมีข้อควรระวังอย่างไร ในเมื่อมันอาจจะหมายความว่า เราอาจจะขายตัวเองได้เก่ง จนได้ค่าตอบแทนมากกว่าที่คิดไว้ก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นดีใจด้วย แต่ในอีกด้านนึงของคำนี้ มันหมายถึง เราไม่อาจรู้ว่าตัวเลขที่ว่านั้น มันเริ่มต้นที่เท่าไหร่และสูงสุดเท่าไหร่ ให้ตามประสบการณ์ แต่เพดานอาจไม่เกินเงินเดือนเด็กจบใหม่ก็ได้ ดังนั้น หากเจอคำนี้ ควรมองหาตัวเลขที่ระบุชัดเจนขึ้นมาหน่อย ว่าเริ่มต้นที่เท่าไหร่ หรือไม่เกินเท่าไหร่ เมื่อยื่นข้อเสนอเงินเดือนที่ต้องการ เราจะได้ใส่ตัวเลขที่คาดหวังได้ตรงกับที่องค์กรตั้งไว้ หรือแม้แต่องค์กรเอง ก็ควรระบุตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีตัวเลขในใจที่ไม่คลาดเคลื่อนต่อกันมาก
เวลาทำงานแบบยืดหยุ่น ที่แปลว่ายืดออกไป
ยืดหยุ่นที่ว่านี้มันหมายความว่ายังไงกันนะ หมายถึงเวลาเข้าออกงานหรือชั่วโมงการทำงานที่ไม่ตายตัวหรือเปล่า อาจจะเป็นการเข้าทำงานกี่โมงก็ได้ ออกจางานเมื่องานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อย หรือมันจะหมายถึงทำงานถึงตีสองในวันที่งานเร่ง โดนตามตัวในวันหยุดหรือนอกเวลางานหรือเปล่า อันนี้ต้องสอบถามองค์กรให้ชัดเจน
หากไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสไปถึงรอบสัมภาษณ์เพื่อถามว่ายืดหยุ่นที่ว่านั้นหมายความว่ายืดเข้าหรือยืดออก ทริกเล็กๆ ในการสังเกตอยู่ที่เวลาเข้าออกงานและชั่วโมงการทำงาน หากองค์กรระบุเวลาทำงานไว้ในประกาศอย่างชัดเจน ต้องเข้าเวลาเท่านี้ ออกเวลานี้เท่านั้น ลองดูเพิ่มเติมว่าเราจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันหรือไม่ หากไม่มีคำใบ้ใดที่ทำให้เห็นเลยว่า เวลาที่ระบุมานั้นมันยืดหยุ่นได้อย่างไร นั่นเป็นสัญญาณว่าความยืดหยุ่นนั้น อาจจะเหลือเพียงยืดออกอย่างเดียว
ในขณะที่องค์กรที่ให้ความยืดหยุ่นจริงๆ มักจะระบุขอบเขตของความยืดหยุ่นนั้นเอาไว้ด้วย ว่ายืดตรงไหน หยุ่นเท่าไหร่ หรือถ้าหากอยากลองสักตั้ง ก็อย่าลืมเก็บคำถามนี้ไว้สอบถามในรอบสัมภาษณ์ก็ยังทัน เพราะเรามีสิทธิ์ตัดสินใจว่า หากเข้างานในเวลานี้เท่านั้น เราจะใช้เวลาเท่าไหร่ เดินทางอย่างไร และเราใช้ชีวิตแบบนั้นไหวหรือเปล่า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เราควรไตร่ตรองให้ดี
ทำงาน 6 วันให้กันได้ไหม
ในขณะที่โลกการทำงาน สรรหารูปแบบการทำงานใหม่ๆ เพื่อตอบรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เห็นได้ชัดที่สุดก็คงเป็น hybrid work ที่บูมขึ้นมาและกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในส่วนของจำนวนวันทำงานเองก็ด้วย ปกติเราจะเห็นวันทำงานในรูปแบบ 9-5 หรือ 8-5 หรือการทำงานแบบ 8-9 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ แต่เมื่อโลกการทำงานหมุนไปเรื่อยๆ จำนวนชั่วโมงการทำงานแบบนี้ถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตของคนทำงานมากขึ้น
การทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ (Four-Day Workweek) ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือใหม่ ว่ากันว่าจะมาแรงแซงการทำงานแบบเดิม ซึ่งในหลายประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ประกาศใช้ 4 Day Week Global ลดวันทำงานลง แต่ไม่ลดรายได้ เป็นตัวเลือกให้กับพนักงานแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้เหล่าคนทำงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แต่เรากลับยังเห็นประกาศรับสมัครงาน ที่ต้องทำงานเกิน 5 วันต่อสัปดาห์ แย่ไปกว่านั้น มีหลายคนแชร์ประสบการณ์วันทำงานสุดโหด โดยเป็นวันหยุดแบบเว้นสัปดาห์ อย่างสัปดาห์นี้ได้หยุดแล้วหนึ่งวัน สัปดาห์หน้าไม่ได้หยุด นั่นเท่ากับว่าในหนึ่งเดือน ต้องทำงานโดยที่มีวันหยุดเพียงสองวัน ในขณะที่ทั้งโลกต่างหยิบยกเรื่อง well-being ในการทำงานเป็นประเด็นสำคัญ
ทำงานตั้ง 6 วันต่อสัปดาห์ มันไม่เหนื่อยเกินไปหรอ? ทีนี้มาดูกฎหมายกันบ้าง ว่านายจ้างสามารถให้ลูกจ้างทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ได้จริงหรือเปล่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดให้นายจ้างต้องระบุเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน โดยในแต่ละวันนี้ห้ามให้ทำงานเกิน 8 ชั่วโมง (แต่ถ้าทำไม่ถึง 8 ชั่วโมง สามารถให้ไปทบในวันอื่นๆ ได้ โดยไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมง) และในหนึ่งสัปดาห์ ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง บวกลบคูณหารแล้ว อ้าว เท่ากับว่าทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมงก็ไม่ผิดนี่ ไม่ได้กำหนดจำนวนวันทำงานไว้เสียหน่อย
ในเมื่อผู้ว่าจ้างสามารถกำหนดวันทำงานไว้แบบนี้ ทีนี้เราก็ต้องกลับมาถามตัวเองกันแล้วล่ะ ว่าเราจะโอเคกับเงื่อนไขทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์หรือเปล่า
ขอบเขตงานกว้างไกล แบบเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว
รับสมัครกราฟิกดีไซน์เนอร์ ที่สามารถถ่ายวิดีโอ ตัดต่อวิดีโอได้ รับสมัครครีเอทีฟ ที่สามารถเขียนคอนเทนต์ได้ รับสมัครใครก็ได้ที่ทำได้ทุกอย่างตามที่ขอ ฝันร้ายของคนหางาน ดีใจได้แว้บเดียวเมื่อเห็นตำแหน่งเหมาะ แต่ก็ต้องร้อง โอ้โห เมื่อได้เห็นขอบเขตหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีอะไรจะน่าเหนื่อยใจไปมากกว่าการเอาหน้าที่ของหลายๆ ตำแหน่ง มายำรวมอยู่ในคนคนเดียว โดยได้เงินเท่ากับทำตำแหน่งเดียว
ถ้าหากองค์กรไม่สะดวกที่จะรับหลายตำแหน่งด้วยเหตุผลบางอย่าง จึงอยากได้คนที่สามารถทำหลายหน้าที่ได้ล่ะ? หากเป็นแบบนั้นองค์กรเองก็อย่าลืมว่า ได้ลดค่าใช้จ่ายลงไปเท่าไหร่ จากที่ต้องจ้างคน 2-3 คนเพื่อทำหน้าที่ให้ครบครัน แต่สามารถจ้างคนคนเดียวได้ เขาคนนั้นควรได้เงินเท่าคนที่มีตำแหน่งเดียวหรือเปล่า? เราเองก็อย่าลืมมองถึงแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทไปนั้น มันคุ้มกับค่าตอบแทนของเรา งานนี้มันช่วยให้เรามีคุณภาพที่ดีด้วยหรือเปล่า
ถามว่าถ้าหากเราเต็มใจจะทำ มันผิดไหม? ก็ไม่ผิดเช่นกัน หากใครไหวไปก่อนเลย แต่อย่าลืมว่า สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นค่าพื้นฐานต่อไปในอนาคต มันอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อๆ กันได้ ว่าตำแหน่งนี้ต้องทำแบบนั้นได้ด้วยสิ แบบนี้ได้ด้วยสิ ทำไมเธอทำไม่ได้ล่ะ? นานวันเข้าเราอาจได้เห็นตำแหน่งรวมมิตรในค่าตอบแทนเท่าเดิมก็ได้
ทนแรงกดดันได้ดี แต่ไม่ระบุว่าจากงานหรือจากคน
บอกว่าทำงานภายใต้แรงกดดัน หรือว่าเราจะได้ไปทำระบบไฮดรอลิกกันนะ คำว่าแรงกดดันที่ว่านี้ เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันหมายถึงการทำงานภายใต้เวลาที่บีบเข้ามา กดดันจากความยาก ปัญหาที่ต้องแก้ หรือมาจากปัจจัยใด องค์กรอาจจะแค่ต้องการคนที่สามารถอดทนต่อการทำงานหลายรูปแบบ เจอคนหลายประเภท แล้วสามารถปรับตัวได้ หรือต้องอยู่ในวงเวียนโดนแก้งาน โดนบ่น โดนดุ แล้วยังสามารถสบายอกสบายใจได้
เขาอาจจะอยากได้คนที่มีทัศนคติแบบสู้ไม่ถอย แค่นี้ทนไม่ได้ ต่อไปจะทำอะไรได้ หรืออาจจะแค่อยากได้คนที่รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีเฉยๆ ก็ได้ เป็นเรื่องที่เราไม่อาจเดาได้เลย เพราะคำคำนี้มันช่างคลุมเครือเหลือเกิน แต่เมื่อมันถูกหยิบยกขึ้นมาใส่ในประกาศรับสมัครงาน แสดงว่ามันจะต้องมีความสำคัญบางอย่างต่อองค์กร และสิ่งนี้ก็สามารถสะท้อนวัฒนธรรมบางอย่างในองค์กรได้ด้วยเช่นกัน
รับตำแหน่งนี้อีกแล้วเหรอ…
เมื่อเดือนก่อนเพิ่งเห็นประกาศไป เดือนนี้ประกาศใหม่อีกแล้วหรอ มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ถ้าหากมันคือการขยายองค์กร หาคนเพิ่มให้กับทีม แต่ถ้าหากเราเห็นประกาศรับสมัครตำแหน่งเดิม จากองค์กรเดิม ภายในระยะเวลาอันสั้น มันช่างมีกลิ่นแปลกๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว ให้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในใจว่า มีเหตุผลอะไรกันนะ ที่ทำให้คนที่เพิ่งสมัครไป ลุกจากเก้าอี้นี้ไวสายฟ้าแลบขนาดนี้
โดยเฉพาะเรื่องภายในที่ต้องเข้าไปเหยียบถึงที่แล้วถึงจะรู้ หลายคนคงเคยเจอประสบการณ์โดนหว่านล้อมด้วยข้อมูลต่างๆ จนได้ก้าวเข้าไปทำงานจริง ถึงรู้ว่า อ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า จนทำให้ต้องรีบถอนตัวออกมาเสียแต่เนิ่นๆ เรื่องเหล่านี้ไม่มีระบุเอาไว้ในประกาศรับสมัครงาน แต่มันอาจประกาศเป็นนัยๆ ไว้ด้วยการรับคนในตำแหน่งเดิมซ้ำๆ เพราะไม่มีใครอยู่ในตำแหน่งนี้ได้นานก็ได้