“เป็นเด็กเป็นเล็กอย่ามีความรักเลย”
“ความรักในวัยเรียน เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน”
ผู้ใหญ่มักจะมีประโยคแสดงความห่วงใย กลัวว่าเราในวัยเด็กจะโฟกัสเรื่องความรัก มากกว่าหน้าที่หลักอย่างการเรียนหนังสือ
จากความห่วงใยที่เชื่อฟังมาอย่างดีตั้งแต่ตอนเด็กๆ รู้ตัวอีกที…เราก็เติบโตมาโดยไม่รู้ว่า การสร้างความรักและความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นแบบไหน แล้วทำไมไม่เคยมีใครสอนเรื่องนี้มาก่อน?
บางคนอาจรู้จักการรักจากความสัมพันธ์ในครอบครัว บ้างก็มีตัวอย่างจากคนรอบข้าง แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีความสัมพันธ์ที่ดี หรือมีคนที่คอยแนะนำเราได้ว่า ทำยังไงไม่ให้ความสัมพันธ์นั้นเป็นพิษ (toxic relationship) เริ่มจีบแบบไหนถึงจะไม่คุกคาม หรือควรรับมือกับการอกหักครั้งแรกยังไง การมีทักษะเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หรือ ‘healthy relationship’ จึงเป็นส่วนสำคัญในการเติบโต ที่เราควรจะได้เรียนรู้ก่อนเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ หรือเข้าใจตั้งแต่ช่วงวัยเรียน
ส่วนผสมของ healthy relationship มีทั้งการเคารพตัวตน ความไว้วางใจ ความเท่าเทียม ความซื่อสัตย์ และการเปิดใจพูดคุยกันได้ โดยอาจจะมีช่วงที่ความคิดเห็นขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็สามารถประนีประนอมหาตรงกลางให้เดินต่อไปด้วยกันได้ในที่สุด หรือแม้แต่ตอนที่ความสัมพันธ์จบลง ก็กลายเป็นการจากกันด้วยดี ไม่เจอปัญหาอย่างการทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือตามติดอีกฝ่ายแบบไม่ยอมเลิกรา
พอพูดถึงเรื่องความรัก บางคนอาจจะนึกถึงวิชาเพศศึกษาที่ทุกวันนี้เริ่มเปิดกว้างมากกว่าสมัยก่อน แต่ความรู้เรื่องเพศศึกษาจะเน้นเรื่องการป้องกันและสุขภาพกายมากกว่า ขณะที่การสร้างและรักษาความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องทางใจ ซึ่งต้องอาศัยทักษะที่ต่างออกไป
ใน Phi Delta Kappan วารสารด้านการศึกษาที่รวมบทความ นโยบาย การวิจัย ประเด็นทางวิชาชีพ และนวัตกรรมด้านการศึกษา มีข้อมูลจากการสำรวจกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาที่พบว่า นักเรียนราว 70% อยากให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับวิธีสร้างความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ และ 46% ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรับมือหลังเลิกรากับคนรัก
ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2016 พบว่า เด็กวัย 13-14 ปี ที่ได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์แบบเฮลตี้ในห้องเรียน เริ่มยอมรับความรุนแรงในครอบครัวน้อยลง และมีแนวโน้มจะขอความช่วยเหลือมากขึ้น เมื่อพวกเขาถูกคุกคามทางคำพูด ร่างกาย จิตใจ หรือด้านอื่นๆ ในความสัมพันธ์
ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์แบบเฮลตี้เลยไม่ใช่แค่การเรียนรู้ว่า ‘ความรักที่ดีเป็นแบบไหน’ แต่ยังรวมถึงการรู้จัก ‘สร้างขอบเขต’ ทางความสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้เกิดการทำร้ายกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
แต่คำถามต่อมาคือ อายุแค่ไหนเราถึงจะเริ่มเรียนรู้เรื่องนี้ได้?
คาเรน แบ็กซ์ (Dr. Karen Bax) นักจิตวิทยาคลินิกและผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง Western University กล่าวว่า เด็กแต่ละช่วงวัยจะรับรู้คอนเซปต์เกี่ยวกับ ‘ความรัก’ ได้แตกต่างกัน
อย่างเด็กอนุบาลจะเริ่มซึมซับจากการสังเกตพ่อแม่ ผู้ใหญ่คนอื่นๆ รวมทั้งสื่อ เช่น นิทาน รายการทีวี “ถ้าคุณถามเด็กๆ ในวัยนี้ว่า แฟนคืออะไร? นิยามของพวกเขามักจะเกี่ยวกับความใกล้ชิด (personal closeness)” และนี่คือเหตุผลที่บางทีเด็กๆ อาจจะบอกว่าพี่เลี้ยงหรือเพื่อนสนิทคนนี้ คือแฟนของตัวเอง โดยแบ็กซ์แนะนำว่า พ่อแม่อาจจะลองถามลูกๆ ว่าชอบอะไรในตัวเพื่อนคนนี้ ก่อนจะค่อยๆ เล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์และความรักรูปแบบต่างๆ สอดแทรกไประหว่างบทสนทนา
ส่วนช่วงมัธยมคือช่วงวัยที่เริ่มมีความรู้สึกและแรงดึงดูดทางเพศ เริ่มเข้าใจนิยามความรักในเชิงนามธรรมมากขึ้น และเปิดประตูสู่คำว่า ‘puppy love’ หรือแม้แต่การเผชิญหน้ากับคำว่า ‘อกหัก’ เป็นครั้งแรกๆ ในชีวิต
แบ็กซ์เล่าว่า การเลิกราเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของช่วงวัยนี้ ซึ่งพวกเขาต้องการคนที่ยอมรับว่านี่คือความสูญเสียที่เจ็บปวดสำหรับพวกเขา และต้องการการรับฟัง การให้คำแนะนำว่าควรรับมือยังไงโดยไม่ตัดสิน นอกจากนี้ แบ็กซ์ย้ำว่าความสัมพันธ์ของ ‘ผู้ใหญ่’ รอบตัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของตัวเอง พ่อแม่เพื่อน หรือแม่แต่คุณครู ก็มีอิทธิพลต่อมุมมองความรักและความสัมพันธ์ของพวกเขาด้วย
เด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยจะมีความสามารถและความต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องความรักความสัมพันธ์ในระดับที่แตกต่างกันออกไป (แต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะเริ่มมีความรักตั้งแต่ช่วงวัยนั้นๆ เสมอไป) ทำให้วิธีการเรียนการสอนนั้นก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ
หนึ่งในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอยู่ในคู่มือของ National Domestic Violence Hotline ที่มีกิจกรรมหนึ่งให้เด็กๆ อ่านเหตุการณ์ตัวอย่าง เช่น
- เราคิดถึงแฟนมาก แต่ก็สามารถเอนจอยเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนๆ หรืออยู่ห่างกันได้โดยไม่รู้สึกกังวล
- แฟนสนับสนุนให้เราได้ทำตามความฝัน หรือเส้นทางชีวิตที่เราอยากเดิน
- เมื่อมีปัญหาหรือทะเลาะกัน เรามักจะใช้ความเงียบมาคุยกันมากกว่า แล้วให้อีกฝ่ายเดาใจว่าเกิดอะไรขึ้น
- แฟนบอกว่าจะไม่ทำร้ายหรือตบตีเราหรอก ถ้าไม่ทำให้เขาไม่พอใจ
หลังจากนั้น เด็กๆ จะได้แยกประเภทของตัวอย่างข้างต้นว่าเป็นแบบความสัมพันธ์แบบ healthy/unhealthy หรือ abusive พร้อมกับแลกเปลี่ยนกันว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ เราสามารถรับมือยังไงได้บ้าง
แน่นอนว่าการรู้จัก healthy relationship ไม่ใช่การบอกให้เด็กๆ ทุกคนออกไปเริ่มหรือตามหาความรัก เพียงแค่มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าในระหว่างที่เด็กๆ เติบโตนั้น พวกเขาได้ ‘รู้จัก’ และฝึกปรือ ‘ทักษะ’ การสร้างความสัมพันธ์แบบเฮลตี้ตามช่วงวัย เพราะการเรียนรู้เรื่องนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความรักแบบ ‘คนรัก’ เท่านั้น และแม้จะไม่ได้ใช้สอบเข้าเรียนต่อหรือใช้ประกอบอาชีพได้โดยตรง แต่เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริงๆ ไปได้ตลอดชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong