“จุดยืนของเรา คือต้องการให้เกิดการฟัง และเข้าใจกัน เพราะต่อให้เราเห็นไม่ตรงกัน ถ้าเรารับฟังและเข้าใจกัน ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น”
การหาเสียงเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย เหลือเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศของปี 2566 ทั้งเลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค.) และเลือกตั้งตามกำหนดการ (14 พ.ค.)
บรรดาผู้สมัคร ส.ส. ตัวแทนพรรคการเมือง และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต่างเดินสาย ‘พูด’ เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร – แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ต้องเงี่ยหู ‘ฟัง’ ปฏิกิริยาจากผู้คนด้วยว่า มีอะไรที่คนอยากให้พวกเขาปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาให้ดีขึ้น
ท่ามกลางโลกออนไลน์ที่ข้อมูลท่วมท้น หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดการฟังเสียงของผู้คน ก็คือ social listening tool ซึ่งมีผู้ให้บริการในไทยอยู่หลายเจ้า หนึ่งในนั้นก็คือ Wisesight ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกันแบรนด์นี้ดี
ประโยคเปิดบทความข้างต้นเป็นของ กล้า ตั้งสุวรรณ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งของ Wisesight หลังจากการเลือกตั้ง ส.ส. รอบนี้ มีการจับมือกับสื่อมวลชนหลายแห่ง เพื่อนำเสนอเครื่องมือชื่อ ZocialEYE ที่เป็น social listening tool แบบนี้ ให้สื่อมวลชนไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ประชาชนแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียแพล็ตฟอร์มหลักๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป อินสตาแกรม ฯลฯ เพื่อเป็นเสียงสะท้อนไปยังตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ว่า นโยบายที่พวกเขาเสนอ คำพูดที่พวกเขา การกระทำที่พวกเขาแสดงออก … ผู้คนมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร มีการพูดถึงมากน้อยแค่ไหน พูดถึงในแง่บวกหรือแง่ลบ … เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ยิ่งในช่วงที่วันเลือกตั้งขยับขึ้นมาเรื่อยๆ
กล้าบอกกับ The MATTER ว่า ประโยชน์ของ ZocialEYE ในช่วงแคมเปญหาเสียงรอบนี้ มีหลักๆ 4 ข้อ
- สามารถทำให้ผู้ใช้ก้าวข้าม algorithm ของโซเชียลมีเดีย ที่ปิดกั้นการมองเห็น ทำให้เราสามารถเข้าใจภาพรวมของสังคมได้
- ข้อมูลมีการอัพเดทที่รวดเร็วในระดับนาทีต่อนาที ทำให้ผู้ใช้งานไม่พลาดข้อความต่างๆ ในเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การหาเสียง ฯลฯ
- ข้อมูลมีการประมวลผลมาให้ในระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ใช้งานประหยัดเวลาในการอ่านข้อมูลดิบจำนวนมาก สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และนำเสนอในเบื้องต้นได้ทันที
- อีกทั้ง ยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในเชิงลึกได้ต่อไป
The MATTER สงสัยว่า แต่ความเห็นของ ‘คนในออนไลน์’ อาจไม่ใช่ความเห็นของ ‘ผู้คนทั้งหมด’ เพราะจากข้อมูลสถิติต่างๆ พบว่า คนไทยกว่า 70 ล้านคน ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีอยู่ราว 85% โดยใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ 7 ใน 10 คน
กล้าตอบว่า เครื่องมือของ Wisesight ไม่ใข่ความเห็นทั้งหมดของสังคมไทย เพราะไม่มีใครยืนยันขอบเขตนั้นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่จากข้อมูลสถิติที่ได้ก็พอจะทำให้เราสามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
“ความเห็นในโลกออนไลน์ ก็คือความเห็นของผู้คนจริงๆ เพราะมันคือความรู้สึกจริงๆ ของเขา เสียงบ่นจริงๆ ของเขา เขาไม่ได้พูดเพื่อต้องการจะตอบคำถามเรา ข้อมูลเหล่านี้จึงสามารถสะท้อนความรู้สึกของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี”
ส่วนข้อสงสัยว่า เมื่อถึงคราวที่มีอีเว้นต์การเมืองสำคัญๆ ก็มักจะมีกลุ่มความเห็นจัดตั้งเพื่อทำปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่า IO (Information Operation) ทั้งเพื่อเชิดชูฝ่ายของตัวเองจนออกนอกหน้า หรือด้อยค่าฝ่ายตรงข้ามอย่างเป็นขบวนการ – ความเห็นของบรรดา IO เหล่านี้ เครื่องมือ ZocialEYE จะช่วยแยกแยะหรือกลั่นกรองกับความเห็นจริงๆ ของผู้คนได้อย่างไร
ซีอีโอของ Wisesight ให้คำตอบว่า ‘ความเห็นตามธรรมชาติ’ กับ ‘ความเห็นที่ผ่านการจัดตั้ง’ จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สามารถสังเกตได้
“ความเห็นของประชาชนทั่วไป พวกเขาจะมีเสรีภาพสูงมาก ทุกคนจะมีอิสระที่จะพูดอะไรก็ได้ ในขณะที่ความเห็นที่ผ่านการจัดตั้ง มักจะมีคำพูดซ้ำๆ อย่างมีแบบแผน”
กล้าระบุว่า หากตรวจสอบพบการจัดตั้งบางอย่าง เราสามารถใช้วิธี Reverse Engineering เพื่อย้อนดูถึงแบบแผนการจัดตั้ง IO เหล่านั้นได้ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนที่นำเครื่องมือของ Wisesight ไปใช้งานในการวิเคราะห์ข้อมูล
เครื่องมือนี้ยังช่วยประหยัดเวลาในการสู้กับปัญหาการให้ข้อมูลผิดๆ หรือที่เรียกกันว่า disinformation ได้อีกด้วย เพราะหากสื่อมวลชนพบว่า ข้อมูลผิดไหนกำลังแพร่กระจายไปในวงการ ก็สามารถทำข่าวที่ให้ข้อมูลซึ่งถูกต้องออกมาโต้แย้งได้
ตามปกติแล้ว ลูกค้าของ Wisesight ที่มาขอใช้ social listening tool มักจะเป็นภาคธุรกิจ ระหว่างการทำงานกับแบรนด์ต่างๆ และการทำงานกับประเด็นทางการเมือง มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร
กล้าตอบเปรียบให้ฟังว่า ถ้าว่ากันด้วยเชิงแบรนด์ คนที่ชอบดื่มโค้ก ไม่จำเป็นต้องเกลียดเป๊ปซี่ ถ้าหากเป็นประเด็นทากงารเมืองหลายครั้งจะมีการ polarization หรือการแบ่งขั้วกันที่ค่อนข้างชัดเจน
“ส่วนความเหมือนคือ ทั้งแบรนด์และเหล่านักการเมือง ต่างต้องการการสื่อสารที่สามารถสร้าง impact ต่อผู้บริโภคหรือสังคม”
เราถามปิดท้ายว่า ตามปกติแล้วภาคธุรกิจมักหลีกเลี่ยงที่จะมาข้องเกี่ยวกับการเมือง แล้วเหตุใดครั้งนี้ถึงนำเครื่องมือ ZocialEYE มาให้กับสื่อมวลชนได้ใช้มอนิเตอร์ประเด็นทางการเมืองโดยตรง
“การเลือกตั้งเป็นอีเว้นต์ที่มีคนใช้โซเชียลมีเดียสูงสุดตลอดกาลเมื่อเทียบกับทุกๆ อีเว้นต์ เช่น เคาน์ดาวน์ปีใหม่, ฟุตบอลโลก, คอนเสิร์ตแบล็กพิงก์ ฯลฯ อย่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2565 ก็มีข้อความรวมกันถึง 1.2 แสนข้อความ เป็นกว่า 20 ล้านเอ็นเกจเม้นต์”
เขาระบุว่า ภาคธุรกิจแยกไม่ขาดจากการเมือง ยกตัวอย่าง Wisesight เองก็ได้รับประโยชน์จากทิศทางการพัฒนาประเทศ เช่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เศรษฐกิจใหม่ เรื่องข้อมูล ฯลฯ
“มีบางช่วง ที่การเมืองมีการแบ่งขั้วชัดเจน และแบ่งแยกผู้คน ช่วงนั้นผมเชื่อว่า ไม่มีเอกชนรายไหนต้องการสนับสนุนขั้วใด เพื่อทำลายล้างผู้บริโภคอีกขั้วหนึ่ง เพราะนั่นก็คือผู้บริโภคของเราเช่นกัน ผมเชื่อว่าเอกชนทั้งหมด ถ้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไปในทางที่พวกเขาเชื่อมั่น จะไม่มีใครปฏิเสธอย่างแน่นอน
ซีอีโอของ Wisesight สรุปว่า เราอยากแบ่งปันคุณค่าของเรา ในเรื่องการฟังและเข้าใจกัน จึงยกประโยชน์นี้ให้เป็นสาธารณะ ผ่านการให้สื่อมวลชนสามารถเข้ามาใช้เครื่องมือ ZocialEYE เพื่อวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ เพื่อส่งเสียงไปให้ถึงผู้เกี่ยวข้องว่า ประชาชนคิดเห็นอย่างไรกับนโยบาย คำพูด หรือการกระทำของพวกเขา
รอติดตามข้อมูลที่ได้จากการ ‘ฟัง’ เสียงผู้คนในโลกโซเชียลฯ ได้ตามสื่อมวลชนต่างๆ รวมถึงช่องทางของ The MATTER