‘ข่าวใหญ่’ มีมาให้ติดตามแทบจะทุกสัปดาห์ ไม่ใช่แค่ข่าวใหญ่จากโพสต์ลอยๆ ของนักข่าวสายทหารชื่อดังที่กลายเป็น talk of the town เท่านั้น
สิ่งที่เราสนใจไปกว่าข่าวใหญ่ที่ว่ามีเนื้อหาเป็นอย่างไร (จริงๆ ก็สนใจแหละ) ก็คือท่าทีของผู้คนต่อข่าวใหญ่นั้นๆ ว่า เมื่อมีข่าวใหญ่เกิดขึ้นมาแล้ว ข่าวที่ว่าได้รับความสนใจแค่ไหน ใหญ่จริงอย่างที่ว่ากันไหม แต่ละคนมีฟีดแบ็กกันอย่างไรบ้าง และถ้ามีข่าวใหญ่อื่นๆ เกิดแทรกขึ้นมาละ เราจะควรสนใจข่าวใหญ่ (เดิม) หรือหันไปสนใจข่าวใหญ่ (ใหม่) ดีนะ
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว The MATTER จึงใช้เครื่องมือ Zocial Eye ของ Wisesight ในการตรวจสอบสิ่งที่คนไทยพูดถึงบนโซเชียลผ่านการเซ็ต keyword ต่างๆ ที่คนมักใช้กันเวลาที่พูดถึง ‘ข่าวใหญ่’ นั้นๆ
โดยระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม พ.ศ.2562 เราประเมินแล้วว่ามีข่าวที่น่าจะพอเรียกว่า ‘ข่าวใหญ่’ อยู่ 7 ข่าว ได้แก่
- เสี่ยท็อป (1 ตุลาคม) พริตตี้สาวออกมาเปิดเผยว่าแต่งงานกับผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นเสี่ยพร้อมจ่ายค่าจัดงานแต่งงานให้หลายล้านบาท แต่สุดท้ายผู้ชายคนนั้นกลับไม่ใช่เสี่ยหมื่นล้านเหมือนที่อ้างมาจริงๆ พร้อมการเปิดโปงพฤติกรรมหลอกลวงในหลายๆ กรณีตามมา
- ผู้พิพากษายิงตัวตาย (4 ตุลาคม) คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา พยายามฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดีที่ศาล จ.ยะลา ก่อนจะออกแถลงการณ์จำนวน 25 หน้า ที่อ้างว่าถูกผู้ใหญ่แทรกแซงการพิจารณาคดี ให้ตัดสินลงโทษคนที่หลักฐานอ่อน และให้ลดโทษกับเจ้าหน้าที่ทหาร
- อภิรัชต์บรรยาย (11 ตุลาคม) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เปิดบรรยายพิเศษที่กองทัพบก กล่าวโจมตีนักการเมืองบางฝ่ายอย่างชัดเจนทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ข้าราชการต้องเป็นกลางทางการเมือง แถมข้อมูลที่เขาใช้ยังถูกท้วงติงว่าผิดหลายจุด
- ธนาธรพาดพิงทักษิณ (18 ตุลาคม) คำกล่าวของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระหว่างการไต่สวนพยานคดีถือหุ้นสื่อของศาลรัฐธรรมนูญ มีการพาดพิงทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอยู่หลายครั้ง สร้างความไม่พอใจให้กับผู้สนับสนุน
- ข่าวใหญ่ (21 ตุลาคม) นักข่าวสายทหารคนดังโพสต์บนเฟซบุ๊กให้ “รอติดตามข่าวใหญ่เร็วๆ นี้” จนสร้างความตกใจและสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ก่อนจะมีพระบรมราชโองการให้ปลดจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ และถอดยศทหาร บุคคลระดับสูงในเวลาต่อมา
- หนิงปณิตา (21 ตุลาคม) หนิง-ปณิตา ธรรมวัฒนะ โพสต์เฟซบุ๊กตำหนิตำรวจพยายามเดินวนรอบรถระหว่างเขียนใบสั่ง ก่อนจะมีข้อเท็จจริงอีกด้านว่าตำรวจเดินไปดูยี่ห้อรถเพราะไม่คุ้นเคยกับรถหรูที่หนิงขับ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีข้อสงสัยว่ารถคันนี้นำเข้ามาถูกกฎหมายหรือไม่
- หนุ่มแว่นหัวร้อน (23 ตุลาคม) มีการเผยแพร่คลิปหนุ่มแว่นหัวร้อนขับรถป้ายแดงชนรถกระบะ แล้วด่ากราดทุกๆ คน พาดพิงไปถึงคนในสังคมไทย และอวดฐานะของตัวเอง จนมีคนจำนวนมากตามไปล้อมโรงพัก ท่ามกลางข้อสงสัยว่า หนุ่มแว่นคนดังกล่าวมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่
ซึ่งผลการตรวจสอบก็พบว่า ผู้คนพูดถึงข่าวใหญ่เหล่านี้ผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก (เฉพาะโพสต์ที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ) ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม พันทิป ยูทูบ เว็บข่าว และบล็อก รวมกว่า 140,000 ข้อความ
ข่าวใหญ่ไหน..ใหญ่ที่สุด
ข่าวใหญ่ที่สามารถสร้างปฏิกิริยาจากผู้คนบนโลกออนไลน์ที่สุดหากพิจารณาจาก engagement ในช่วงพีก เรียง 3 ลำดับแรก ได้แก่
‘ข่าวใหญ่’ (4.35 ล้านเอ็นเกจเม้นต์)
‘หนุ่มแว่นหัวร้อน’ (4.13 ล้านเอ็นเกจเม้นต์)
‘หนิงปณิตา’ (2.05 ล้านเอ็นเกจเม้นต์)
ส่วนข่าวการเมืองที่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ กลับจำกัดปฏิกิริยาจากผู้คนอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น ‘อภิรัชต์บรรยาย’ (1.34 ล้านเอ็นเกจเม้นต์) และ ‘ธนาธรพาดพิงทักษิณ’ (3.3 แสนเอ็นเกจเม้นต์)
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ องค์ประกอบของข่าวใหญ่ Top 3 ที่เราลิสต์มา ดูเหมือนจะมีปัจจัยที่คนไทยเรียกว่า ‘ดราม่า’ ที่คนทั่วไปสามารถกระโจนเข้าไปร่วมแสดงความเห็นได้ง่าย
ในขณะที่ข่าวใหญ่ทางการเมือง ประเด็นที่เกิดขึ้นดูจะเฉพาะทาง ที่อาจจำกัดคนสนใจเฉพาะคอการเมืองเท่านั้น
นี่คือการตีความในมุมมองของเรา
อายุของข่าวใหญ่
ข่าวใหญ่ จะใหญ่ได้นานแค่ไหน?
คือคำถามตั้งต้นในการทำโปรเจ็กต์นี้เลย ซึ่งหากดูจากกราฟแล้ว ถ้าเป็นข่าวใหญ่ที่มีความพีกเพียงครั้งเดียวจะมีอายุเพียง 2-3 วันเท่านั้น เมื่อผู้คนได้รับรู้ถึงเรื่องรวาที่เกิดขึ้นแล้วก็จะลดระดับความน่าสนใจหรือการถูกพูดถึงลงไปจนกลายเป้นข่าวธรรมดาหรือกระทั่งไม่เป็นข่าวเลย
แต่ข่าวใหญ่ที่มีความพีกหลายครั้ง ก็อาจจะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เช่น ‘หณิงปณิตา’ ทว่าการพีกรอบหลังจะไม่เท่ากับรอบแรก และเช่นกันคือไม่นานก็จะหายไปจากความสนใจของสังคม
อย่างไรก็ตาม มีข่าวใหญ่ประเภทพิเศษ นั่นคือ ‘ข่าวใหญ่’ ที่มีการให้หนังตัวอย่างบนเฟซบุ๊กของนักข่าวสายทหารคนดังไว้ล่วงหน้า ทำให้ความสนค่อยๆ ไล่ระดับสูงขึ้นก่อนจะถึงจุดพีก ไม่ใช่มาปุ๊บก็พีกเลย เช่นข่าวใหญ่อื่นๆ
ข่าวใหญ่ของทุกคนไม่เหมือนกัน?
เราคงไม่สามารถระบุชี้ชัดไปได้ว่า คนกลุ่มไหน เพศใด ช่วงวัยใด มีรสนิยมแบบใด สนใจข่าวใหญ่แบบไหนมากกว่ากัน
แต่ก็พอจะอนุมานได้คร่าวๆ จากตัวแพล็ตฟอร์ม (ซึ่งมักพูดกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องว่า คนใช้แพล็ตฟอร์มนี้ๆ น่าจะมีอายุเท่าไร มีความสนใจอะไร) ว่าคนกลุ่มไหนสนใจข่าวใหญ่อะไรเป็นพิเศษ
นับจากจำนวนโพสต์ ข่าวใหญ่ที่มีคนพูดถึงมากที่สุด แยกตามแพล็ตฟอร์ม (ยอดรวม ‘ข่าวใหญ่’ มีจำนวนโพสต์มากที่สุด)
- เฟซบุ๊ก – ‘อภิรักษ์บรรยาย’
- ทวิตเตอร์ – ‘ข่าวใหญ่’
- อินสตาแกรม – ‘ข่าวใหญ่’
- ยูทูบ – ‘เสี่ยท็อป’
- พันทิป – ‘อภิรักษ์บรรยาย’
- เว็บข่าว – ‘อภิรักษ์บรรยาย’
- บล็อก – ‘อภิรักษ์บรรยาย’
ย้ำอีกทีว่า นี่คือการนับจากจำนวนโพสต์ ไม่ใช่นับจากปฏิกิริยา ที่หลายคนอาจสงสัยว่า ‘หนุ่มแว่นหัวร้อน’ หายไปไหน แปลว่าข่าวหนุ่มแว่นแม้มีจำนวนโพสต์น้อย แต่สร้างปฏิกิริยาได้มากกว่า
ทั้งหมดนี้ คือพยายามในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้คนในสังคมไทยเกี่ยวกับ ‘ข่าวใหญ่’ที่มีมาให้ตกใจไปจนถึงหัวร้อนอยู่เรื่อยๆ แทบจะทุกสัปดาห์