เมื่อกล่าวถึง ‘ย่านคลองสาน’ บน ‘ถนนเจริญนคร’ ในสายตาของผู้สัญจรผ่านไปมาอาจไม่มีสถานที่หรือว่าจุดดึงดูดใจมากเท่าที่ควร
แต่หากศึกษาย้อนประวัติศาสตร์ไปแล้วจะพบว่า พื้นที่นี้มีความสำคัญในด้านการค้าขายทางน้ำอย่างมากด้วยทำเลที่ใกล้ปากแม่น้ำ จนในยุคหนึ่งถือเป็นย่านธุรกิจ เป็นจุดจอดสินค้าเพื่อตรวจสอบและจัดเก็บภาษีจากเรือสำเภาลำเลียงสินค้า รวมถึงเป็นที่ตั้งโกดังสินค้าก่อนจะส่งออกไปยังต่างประเทศ
ทว่าทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา รูปแบบของการค้าขายที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย การสร้างถนนและสะพานขยับขยายวิธีการคมนาคมและการขนส่ง คลองสานและเจริญนครก็กลายเป็นเพียงแหล่งที่อยู่อาศัยที่เงียบสงบไปในที่สุด
กระทั่งโครงการการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า ICONSIAM บนถนนเจริญนครปรากฎต่อสายตาสาธารณชนในช่วงปี พ.ศ.2557 ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี พ.ศ.2561
ท่ามกลางเสียงตอบรับที่หลากหลายในการก่อสร้างอาคารขนาดมหึมาติดกับถนน 4 เลนไป-กลับ รวมถึงโครงการการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่มีทั้งฟากที่สนับสนุนว่านี่คือการนำความเจริญเข้ามาสู่พื้นที่ และฟากที่มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
จากพื้นที่แสนเงียบเหงา ในวันที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ความเจริญแห่งใหม่ ผ่านการที่เอกชนเข้ามาเปลี่ยนแปลงที่ที่เคยเงียบสงบให้กลายเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าขนาดยักษ์พร้อมกับการมาถึงของรถไฟฟ้า กำลังทำให้ถนนเส้นเจริญนครก้าวสู่นครที่เจริญหรือไม่?
คงไม่มีใครตอบได้ดีเท่าผู้อยู่อาศัยและใช้ชีวิตจริงในพื้นที่
บิว (สงวนชื่อจริง) ทายาทรุ่นที่สามของร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร ผู้อาศัยอยู่บนถนนเส้นนี้ตั้งแต่เกิดให้ความเห็นว่า การเข้ามาของ ICONSIAM และรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นการนำความเจริญเข้ามาสู่พื้นที่ฝั่งธนบุรีในระดับหนึ่ง จากพื้นที่ที่ไม่มีอะไรมากก็มีธุรกิจหลากหลายเปิดให้บริการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ โฮสเทล และความสะดวกในการใช้บริการห้างสรรพสินค้าที่ไม่ต้องเดินทางข้ามไปฝั่งพระนคร อย่างเช่นห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนอีกแล้ว
“อย่างเรื่องรถไฟฟ้าสายสีทอง มันก็เปรียบเหมือนเป็นมังกรทองเลยก็ว่าได้ ที่นำพาคนทุกทิศมาฝั่งธน เพราะว่าฝั่งธนฯก็จะพัฒนาขึ้น จากเป็นแค่ริมแม่น้ำธรรมดา โกดังบ้านเรือนธรรมดา แต่ทุกวันนี้ก็คือมีค่า แหล่งธุรกิจพัฒนา ทางน้ำทางเรือพัฒนา”
อีกทั้งอำนวยความสะดวกให้กับการเดินทาง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
“จากเมื่อก่อนผมต้องนั่งแท็กซี่ไปต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีกรุงธนบุรี ต้องเสีย 35 บาท ผมขึ้นตรงนี้ 15 บาท จบ รถไฟฟ้าที่เข้ามาก็มีส่วนดี แล้วแต่คนชอบ จะบอกว่านั่งวิน นั่งวินก็ยี่สิบ ไปรถไฟฟ้ากรุงธนฯ ไม่อย่างนั้นก่อนที่รถไฟฟ้ามา ผมก็ต้องเปลี่ยนไปนั่งเรือที่ใต้สะพานสาธร 5 บาท เพื่อไปขึ้นสะพานตากสิน อันนี้ผมก็ต้องยอมรับว่ามันเอื้อกับฝั่งคนเจริญนครจริงๆ”
หากถามว่าในเวลานี้ถนนเส้นนี้กำลังพัฒนาไปสู่ความเจริญอย่างเต็มรูปแบบแล้วหรือไม่ บิวยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากปัญหาเรื่องถนนที่ยังคงมีการปรับแก้เรื่องท่อประปาและโครงการนำสายไฟลงดินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นถนนบริเวณนั้นทรุดโทรมเป็นหลุมขรุขระ สร้างความลำบากในการเดินทางเป็นอย่างมาก ในเมื่อองค์ประกอบโดยรวมยังไม่ดี แล้วจะเรียกว่า ‘พื้นที่เจริญแล้ว’ คงยังไม่ได้
สำหรับเรื่องของถนนที่ทรุดโทรมอยู่ทุกวันนี้ บิวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นผลจากการทำงานของการประปานครหลวง (กปน.)
“เพิ่งมาเละ ประปาเพิ่งมาเข้าช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปีก่อน แล้วก็แย่ หนักเลย ทุกวันนี้ น้ำไม่เคยแห้งเลย ฝุ่นขึ้นไปหมด คือท่อประปาแตกตลอด ปั๊มที่บ้านพัง 2-3 รอบ น้ำเป็นขี้โคลนเลย ขี้โคลนจริงๆ ต้องมีตัวกรอง”
นอกจากเรื่องของฝุ่นและน้ำประปาแล้ว ยังรวมถึง ‘มลภาวะทางเสียง’ ที่เกิดจากการทำงานยามวิกาล บิวเล่าว่า เขาเคยสอบถามถึงเหตุผลของการทำงานช่วงกลางคืนที่รบกวนเวลาการพักผ่อนของคนทั้งบ้านหลายครั้ง และเป็นเหตุให้อากงที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ อาการทรุดลงกว่าเดิม
“ทางการประปาให้คำตอบว่าห้างสรรพสินค้าต้องการเคลียร์คนเข้าใช้บริการออกจากห้างก่อนจึงจะเริ่มทำงานได้ เป็นผลให้ต้องเริ่มงานในช่วงกลางคืน แต่พอไปสอบถามกับทาง ICONSIAM ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้คำตอบมาในเชิงปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น”
บิวเคยร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตคลองสานและกรุงเทพมหานคร แต่ปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ไข
เมื่อผู้เขียนสอบถามไปทางกองบริการงานข่าว ฝ่ายสื่อสารองค์กรของ กปน. ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรื้อย้ายและวางท่อประปาใหม่ว่า “การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองส่งผลให้ กฟน. ต้องก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งมีท่อประปาเดิมเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ทำให้ กปน. จำเป็นต้องรื้อย้ายท่อประปาดังกล่าว และเมื่อมีการรื้อย้ายท่อประปาเดิม กปน. ได้วางท่อประปาใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น (จากท่อประปาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 มิลลิเมตร เป็น 1,000 มิลลิเมตร) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการให้บริการน้ำประปา”
และที่ต้องดำเนินการในช่วงกลางคืนเพราะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการก่อสร้างของเจ้าของพื้นที่อย่าง สำนักการโยธา กทม. ซึ่งให้ดำเนินการเฉพาะเวลากลางคืน เพื่อลดความเดือดร้อนจากการเบี่ยงการจราจรในเวลากลางวัน
ในขณะที่บางส่วนในการก่อสร้างบนถนนเจริญนคร คนงานในพื้นที่ซึ่งสวมชุดของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตอบเพียงว่าเป็นการวางระบบสายไฟฟ้าใหม่เพื่อสนับสนุนการใช้งานรถไฟฟ้าสายสีทองร่วมกับ กปน. และจะมีการเร่งงานทั้งกลางวันและกลางคืน หมุนเวียนกะทำงาน
ซึ่งเมื่อตรวจสอบโครงการดังกล่าวจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) ในปี พ.ศ.2559 พบว่ามีรายละเอียดอธิบายถึงระบบประปาและไฟฟ้าระบุไว้ในหน้า 65 ใจความว่า ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคจะกำหนดให้วางแผน ‘ดำเนินการอย่างรัดกุม’ และ ‘ใช้เวลาเท่าที่จำเป็น’ เพื่อให้เกิด ‘ผลกระทบให้น้อยที่สุด’ ต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชน
เอกสารฉบับดังกล่าวยังระบุถึงมาตรการแก้ไข ป้องกัน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า “ทางโครงการต้องประสานให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนรับทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการเพื่อลดความวิตกกังวลดังกล่าว”
ในขณะที่รายงานการดำเนินการตาม EIA รอบเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ได้ระบุถึงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงดัง เช่น การเจาะ การตอกเสาเข็ม การขุดผิวดิน การกระแทก ฯลฯ ว่าจะดําเนินการในช่วงเวลากลางวัน (เวลา 07.00- 18.00 น.) เท่านั้น
โครงสร้างที่มาแบบล้นเกิน
ประชาชนในพื้นที่อีกราย ลภนปัฐน์ กิจพรยงพันธ์ ให้ความเห็นว่า การเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 3 สถานี (และในอนาคตอีก 1 สถานี) อาจจะไม่ได้ทำให้การเดินทางเปลี่ยนแปลงหรือว่าสะดวกกว่าเดิมเท่าไหร่ เพราะสำหรับคนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นประจำอยู่แล้วจะรู้ว่า ตรงนี้เป็นจุดที่สามารถข้ามท่าเรือคลองสานไปยังเส้นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้ หรือว่าจะโดยสารรถประจำทางไปสายใต้ (เก่า) ก็ได้เช่นกัน
“ไม่ได้แปลว่ารถไฟฟ้าสายสีทองมาแล้วมันทำให้คนเดินทางกันง่ายขึ้น ถามว่าได้ประโยชน์จากการมีสีทองไหม ก็คงไม่เท่าไหร่ อย่างตอนที่ขึ้นไป คนก็ไม่ได้เยอะ ไม่ถึง 20 คน แต่โอเคว่าตอนที่ไปมันอาจจะเป็นกลางวัน”
แล้วการเปิดบริการของห้างสรรพสินค้าเป็นการพาความเจริญเข้ามาสู่พื้นที่คลองสานและเจริญนครหรือไม่? ลภนปัฐน์ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไป
“ผมมองว่ามันไม่ได้มีผลอะไร เพราะว่าถ้ามองในแง่หนึ่ง การมีห้างขึ้นมามันหมายความว่าคนจะมาเยอะ แต่คนที่มาเยอะ ส่วนใหญ่เขามาที่ห้าง ลองคิดดูว่า เราขับรถมา เราจะมาจอดแวะตามจุดต่างๆ ได้ไหม มันก็ยากใช่ไหม การที่คนจะมาข้างๆ น่าจะเป็นแบบ เป็นพวก walk-in มากกว่า เป็นพวกเดินถนน มันไม่ใช่จุดที่ทุกคนเดินสัญจรได้แบบย่านสีลม ที่มีตึกนู้นตึกนี้เยอะ ซอยเยอะ คนมันก็เดินเยอะ ทะลุเยอะ”
แม้ผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้าและรถไฟฟ้าอาจมีมุมมองต่อความเจริญและความสะดวกของระบบขนส่งใหม่ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่หลายคนเห็นตรงกัน คือปัญหาเรื่องของการจราจรที่หนาแน่นมากขึ้น จากการปิดเลนถนนเพื่อก่อสร้างที่ไม่มีความแน่นอน คือวันนี้อาจจะปิดเลนซ้ายสุด อีกสัปดาห์เปลี่ยนไปปิดเลนขวา
ต้องมาลุ้นกันวันต่อวันว่า วันนี้เส้นการเดินรถบนท้องถนนจะเป็นอย่างไร
แล้วเพราะอะไร ปัญหาทั้งเรื่องฝุ่นและการจราจรจึงไม่ได้รับการแก้ไขที่ทันท่วงที? ลภนปัฐน์มองเกี่ยวว่าเป็นปัญหาเรื่องระบบการทำงานของภาครัฐที่รวมศูนย์และไม่กระจายอำนาจอย่างเพียงพอ
“ถ้ามองอย่างละเอียดต้องบอกว่าเขากระจายอำนาจส่วนย่อยไม่มากพอ การที่ทุกอย่างมันล่าช้าเกิดจากการที่ส่วนย่อยไม่มีโอกาสตัดสินใจ ไม่มีอำนาจตัดสินใจในการทำอะไรลงไปเลยทันที ก็ต้องรอไปรอมา”
รถไฟฟ้า ร้านค้า ค่าเช่าที่
นอกจากความสะดวกสบายในการเดินทางที่มากขึ้นเมื่อรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ ผู้ประกอบกิจการอย่าง ดิฐ แจ้งศิริเจริญ เจ้าของร้าน Walden Home Café ที่เปิดบริการอยู่ไม่ไกลจากสถานีคลองสานของรถไฟฟ้าสายสีทอง ก็ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อการมาถึงของห้างสรรพสินค้าและรถไฟฟ้า
ดิฐเล่าว่า 2 สิ่งนั้นไม่ใด้เป็นประเด็นสำคัญตอนเริ่มต้นทำร้านกาแฟแห่งนี้ แต่เป็นเรื่องของ ‘อัตราค่าเช่าสถานที่’ ที่ถูกเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น บวกกับความร่มรื่นของพื้นที่โดยรอบ
ก่อนที่เขาจะเริ่มย้อนเล่าถึงความลำบากที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าที่ห่างจากตัวร้านไปประมาณ 100 เมตรว่า ส่งผลกระทบในเรื่องของการตั้งหรือพักวางอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนั่งร้านหรือกำแพงคอนกรีต
“รถไฟฟ้ามันสร้างอยู่ตรงนี้ใช่ไหม ตรงนี้มันถูกกั้นเหลือแค่ 2 เลน แล้วก็มีคอนกรีตยาว สรุปคือที่บอกว่าจอดรถได้ มันจอดไม่ได้แล้ว ที่บอกว่าเขียวๆ มันไม่เขียวแล้ว ต้นไม้หายหมด แล้วก็รถเครน รถก่อสร้าง ปิดถนน 2 เลนเลย รถติด กระทบ ไม่มีใครมา ฝุ่น โห เยอะฮะ ก็คือลำบากเลย ส่งผลต่อยอดขายมาก”
สำหรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีทองช่วงปลายปี พ.ศ.2563 ช่วยให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านมากขึ้นหรือเปล่า? ดิฐกล่าวว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับลูกค้า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าประจำที่ขับรถส่วนตัวมามากกว่า หรือว่าจะใช้ขนส่งมวลชนชนิดอื่นเช่นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนของคนใช้บริการที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีทองมักจะเป็นลูกค้าหน้าใหม่ที่มาเพียงครั้งเดียวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือว่าลูกค้าวัยรุ่นที่ยังไม่มีรถยนต์ส่วนตัว
อีกผลกระทบของการที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์และรถไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ ก็คือมูลค่าของที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อ ‘ค่าเช่าที่’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้ผู้เช่าบางรายอยู่ไม่ได้ ต้องออกจากพื้นที่ไปโดยปริยาย
“นี่เขาก็ขึ้นทีละนิดๆ อย่างบ้านข้างๆ เป็นอาม่า เขาก็อยู่ไม่ได้ คือการขึ้นจากเดือนละ 10,000 บาท เป็น 13,000 บาท สำหรับป้าเขาเนี่ย เขารู้สึกว่าไม่เอาแล้ว แต่สำหรับคนนอกแล้วเขาก็ยังมองว่าถูก มีแต่คนมาถาม เพราะว่าป้ากำลังจะเซ้ง แล้วก็ร้านกรอบรูป ร้านอาหารเจก็จะไปเหมือนกัน อยู่ไม่ได้ คือการมาของรถไฟฟ้าทำให้บางธุรกิจไป แต่บางธุรกิจก็มา” ดิฐเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงรอบๆ
เมื่อตรวจสอบราคาประเมินที่ดินในละแวกคลองสานจากทางเว็บไซต์กรมธนารักษ์ พบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลง ‘เกือบเท่าตัว’ จากราคาประเมินที่ดินปี พ.ศ. 2551-2554 อยู่ที่ 85,000-130,000 บาท/ตร.ว. ในปี พ.ศ. 2555-2558 ขยับขึ้นมาเป็น 100,000-165,000 บาท/ตร.ว. และในรอบราคาประเมินล่าสุดปี พ.ศ. 2559-2562 อยู่ที่ 135,000-250,000 บาท/ตร.ว.
ผู้แทนที่เป็นทุกอย่าง
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 22 (เขตบางกอกใหญ่ คลองสาน และธนบุรี ยกเว้นแขวงดาวคะนอง บุคคโล และสำเหร่) ในฐานะของผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ และเป็น ‘คนกลาง’ ในการไกล่เกลี่ยระหว่างเอกชนที่มาลงทุน ผู้รับเหมาก่อสร้าง กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ให้ข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องของการร้องเรียนจากภาคประชาชนเกี่ยวกับการก่อสร้างว่า เป็นเรื่องของฝุ่น เสียงดัง การก่อสร้างในเวลากลางคืน เป็นต้น
หลังจากการลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน รวมถึงประสานงานกับทางบริษัทก่อสร้างตลอดเวลาที่เข้ารับตำแหน่ง หนึ่งในปัญหาที่ ส.ส.รายนี้พบ คือต่อให้พยายามทุกวิธีเพื่อบรรเทาความเสียหาย แต่การเยียวยาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เช่น เมื่อได้รับแจ้งจากทางตึกที่กำลังก่อสร้างว่าจะมีเสียงดังหรือว่ามีการขุดเจาะขนาดใหญ่ การแก้ไขที่อยู่ตรงกลางที่สุดคือการที่ ส.ส. ไปยื่นข้อเสนอให้ประชาชนในชุมชนนั้นย้ายไปพักอาศัยอยู่คอนโดหรือโรงแรมเป็นการชั่วคราวจนผู้อาศัยยินยอมแล้ว แต่กว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจในบริษัทที่มาลงทุนจะพิจารณาเพื่ออนุมัติการเยียวยา การก่อสร้างในส่วนนั้นก็เสร็จเรียบร้อย
“มันก็เป็นความรับผิดชอบของโครงการว่า การใช้ระยะเวลาเยียวยาที่นานเกินไป จะทำให้ประชาชนลำบากเกินควร มันไม่มี accountability”
อีกส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง คือความไม่ครอบคลุมของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องของการเขียนรายงานก่อนการก่อสร้างว่า ในการก่อสร้างนั้นจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบเหล่านั้นอย่างไรบ้าง เมื่อมีรายละเอียดครบเงื่อนไขตามที่กำหนดก็สามารถอนุมัติและเริ่มก่อสร้างได้ ซึ่งหากเจ้าของโครงการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ‘ภาระ’ จะไปตกที่ผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องไปเดินเรื่องร้องเรียนกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะมีการเปิดเข้ารับฟังเกี่ยวกับมาตรฐานในการประเมินผลกระทบ ผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้นที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการประเมิน EIA ก็อาจจะคิดว่าไม่มีผลกระทบอะไร แล้วต้องเผชิญกับเรื่องเดือดร้อนเมื่อมีการเริ่มก่อสร้างไปแล้ว อย่างเช่นตัวบ้านมีรอยร้าวเป็นต้น
ส.ส.กรุงเทพฯ รายนี้ ยังตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบธรรมในเชิงการเมืองของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองที่อนุมัติใต้รัฐบาล คสช. ซึ่งมาจากการรัฐประหาร การไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ความไม่เป็นประชาธิปไตย และความไม่โปร่งใสของรัฐบาลนั้นนำไปสู่สภาวะที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ในระบบการเมืองที่ผู้มีอำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความสนใจในภาคประชาชนจึงเป็นเรื่องรอง เช่นปัญหาที่เจอในขณะนี้คือการตามหาเอกสารที่ใช้ประกอบการอนุมัติโครงการการก่อสร้างที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ควรจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้านและถี่ถ้วน รวมถึงมีการแสดงเอกสารประกอบการก่อสร้างจำนวนมาก
รถไฟฟ้ากับการพัฒนา (เฉพาะ) พื้นที่
แล้วการมาถึงของห้างสรรพสินค้าและรถไฟฟ้าที่นำพาธุรกิจหน้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองของ บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนเป็นอย่างไร
เขาให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “การก่อสร้างห้างสรรพสินค้าอาจจะไม่ใช่คำตอบของความเจริญ” สืบเนื่องมาตั้งแต่หลักเรื่องการพัฒนาที่ควรจะผ่านการวางแผนการผังเมืองมาตั้งแต่แรก มีการกำหนดเอาไว้ให้ชัดเจนว่าจุดไหนที่โซนอยู่อาศัย แล้วจุดไหนสำหรับการตั้งห้างสรรพสินค้า ไม่ใช่การสร้างในลักษณะที่ไร้การควบคุมอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
รวมทั้งการพัฒนาย่อมมาพร้อมกับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณของประชาชนที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว อีกหนึ่งประเด็นที่บารมีชี้คือการพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ใต้การวางโครงเรื่องแผนผังเมืองมาตั้งแต่แรกย่อมเจอกับปัญหาเรื่องการขยับขยายเรื่องสาธารณูปโภค เช่น การให้บริการการประปา ที่ต้องมีการขยายท่อประปาเพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นหลังการก่อสร้างตึกขนาดใหญ่เสร็จสิ้นและเปิดการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือว่าคอนโดมิเนียมก็ตาม
“คุณอาจจะมองเห็นทางกายภาพว่ารถติด แต่จริงๆ เนี่ย มันแย่งการใช้น้ำ เพราะคอนโดสูงมันก็ดูดขึ้นไปหมด ห้างใหญ่มันก็ดูดขึ้นไปหมด มันไม่พอ แล้วก็ต้องมาขยาย ขยายก็ต้องมาขุดถนนอีก อะไรกันอีก ไม่รู้จักจบจักสิ้น”
ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้า บารมีมองว่าการขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นแน่นอนอยู่แล้ว เพราะหนึ่งในการพัฒนาเมืองเมืองย่อมมีประเด็นเรื่องการบริการด้านคมนาคมเพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการเดินทาง เมื่อการคมนาคมดี ก็ย่อมดึงดูดให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยในละแวกนั้น
อย่างไรก็ตาม คำถามถึงลำดับความสำคัญและความจำเป็นในการก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนเส้นเจริญนครยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เมื่อเปรียบเทียบกับถนนเส้นพระรามสองที่มีผู้ใช้บริการบนท้องถนนหนาแน่น แต่แผนพัฒนาโครงการเรื่องรถไฟฟ้ายังไม่ขยับมากเท่าที่ควร รวมถึงคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง ทั้งที่ยังสร้างสถานีไม่ครบโครงการ
อีกทั้งเรื่องของการออกแบบที่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองสามารถเดินลงมาแล้วเจอจุดเชื่อมต่อเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าได้โดยตรง จะกลายเป็นสร้างความเจริญให้กระจุกอยู่เพียงจุดเดียว เพราะไม่เปิดโอกาสให้พื้นที่โดยรอบได้อานิสงส์ ไม่มีใครที่จะแวะลงมายังพื้นที่รอบข้างที่จะเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน
“การพัฒนามันต้องทำให้คนแถวนี้ได้ประโยชน์ ถามว่ามี ICONSIAM เนี่ย ร้านข้างๆ มีคนมาแวะเพิ่มเที่ยวกันมากขึ้นไหม ไม่มี เพราะอะไร มันจอดรถไม่ได้ ใช่ไหม มีรถไฟฟ้า ถึงจะมีรถไฟฟ้ามาช่วยเนี่ย มันทำทางที่ลงปุ๊บ เข้าห้างปั๊บ มันไม่ใช่ทางตรงเข้ามาร้านก๋วยเตี๋ยวข้างล่างที่ไหนเล่า”
ใครหายไปจากสมการ?
ไม่ว่าพื้นที่ใดย่อมต้องการการพัฒนา จากความคาดหวังว่าการเปิดให้บริการของห้างสรรพสินค้าและรถไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาพื้นที่ที่เคยเป็นเพียงแหล่งพักอาศัยให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น กลายเป็นว่าถึงแม้ว่าห้างสรรพสินค้าจะเปิดตัวมาได้ 2 ปีเศษ รถไฟฟ้าสายสีทองจะเปิดใช้มาในระยะเกือบครึ่งปีแล้ว
การเปลี่ยนผ่านให้ย่าน ‘เจริญนคร’ กลายเป็น ‘นครที่เจริญ’ ก็ยังไม่เห็นแม้แต่วี่แวว
ในทางกลับกัน อย่างที่ร่ายมาตั้งแต่ต้นบทความว่า ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการจราจร ฝุ่น เสียงดังจากการก่อสร้างในยามวิกาล
แล้วประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการเพื่อสร้างความเจริญนี้? รัฐที่ควรจะมีบทบาทพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนทำอะไรอยู่?
“รัฐคือตัวปัญหาในการสร้างความเจริญ รัฐมันคือรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ ถูกไหม พอคุณรวมศูนย์อำนาจแล้วการจัดการทุกอย่างโดยรัฐ รัฐมองเห็นแทนคนอื่นหมด ซึ่งรัฐก็ไม่เห็นหัวคนอื่น ไม่เห็นหัวคนยากคนจน” คือความเห็นของผู้ประสานงานสมัชชาคนจน
กล่าวคือนอกจากรัฐจะยึดอำนาจเอาไว้ในมือ บริหารงานและตัดสินใจแทนประชาชนตามใจชอบ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขัน รวมถึงตัวกฎหมายเองเหมือนว่าจะไม่ได้รับใช้ประชาชน จนคล้ายว่ารัฐกลายเป็น ‘ตัวปัญหา’ ในทุกขั้นตอน อีกส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่หายไปการปฏิบัติการสร้างความเจริญในพื้นที่อย่างชัดเจนคือการที่รัฐจัดการทุกอย่างแทน ‘โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน’
ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความคิดเห็นก่อนการก่อสร้าง การเร่งรัดเพื่อบรรเทาเรื่องร้องเรียนระหว่างการก่อสร้าง หรือว่าการแก้ไขปัญหาตามมาภายหลังเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ราวกับรัฐกำลังทิ้งให้ประชาชนต้องเผชิญปัญหาและต้องตามล่าวิธีการแก้ไขอยู่ตามลำพัง
เช่นนั้นรัฐควรทำอย่างไรเพื่อให้การพัฒนานั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง?
บารมีให้ความเห็นว่า วิธีการพัฒนาเมืองในแต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกันไป หากสิ่งหนึ่งที่ควรมีร่วมกันคือการ ‘กระจายอำนาจ’ ไปยังผู้บริหารในระดับท้องถิ่น ประกอบกับการ ‘มีส่วนร่วม’ ของคนในชุมชน
“กลับไปเรื่องกระจายอำนาจอีกแหละ คือถ้าเกิดเทศบาลหรือว่าองค์กรส่วนท้องถิ่น มันรู้สึกว่า เอ้ย มันต้องจำกัดตึกสูงเท่านั้น จัดการขยะได้ว่าในพื้นที่นี้ไม่ควรจะมีขยะขนาดนี้ ไม่ควรมีห้างสรรพสินค้าขนาดนั้นขนาดนี้ ซึ่งมาจากความเห็นชอบของประชาชนอะไรอย่างนี้ ผมคิดว่ามันจะหยุดการพัฒนา การเติบโตแบบไร้ทิศไร้ทางอย่างนั้นได้ คือต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแล แล้วก็กระจายอำนาจให้ตัวบุคคลสามารถเข้าไปมีอำนาจในการต่อรองกับท้องถิ่น”
เพราะนครที่เจริญไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน