เย็นวันศุกร์หลังเลิกงาน เราตั้งใจไปเดินหาอะไรกินแถวบรรทัดทองในรอบหลายเดือน ด้วยภาพจำในหัวว่า วันนี้ร้านที่ชอบต้องคนเยอะแน่ๆ
ขณะเดินออกจากรถไฟฟ้าก็คิดไปพลางๆ ว่าเราต้องโทรไปจองโต๊ะร้านโปรดหรือเปล่า? ถึงจะกลัวว่าร้านจะคนแน่นจนไม่มีที่นั่งเหมือนเดิม แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร ถือว่าไปเดินเล่นปล่อยใจแล้วกัน เผื่อเราจะได้ลองร้านใหม่ๆ
เมื่อไปถึง ภาพที่เห็นตรงหน้ากลับทำให้เราแปลกใจ ไม่ใช่เพราะบรรยากาศสีสันสะดุดตาของสองข้างถนน ไม่ใช่เพราะบรรดาร้านอาหารหลายชาติหลายรูปแบบ จนเราเลือกไม่ถูก

ย่านบรรทัดทองยามค่ำคืน
แต่กลับเป็น ‘ความเงียบเหงา’ ของย่านนี้ ที่แม้จะมีนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าลดลงจนแปลกตาเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ส่วนร้านเก่าๆ ที่เคยแวะมาอุดหนุนเป็นประจำ ก็พากันปิดกิจการไปตามๆ กัน
“เกิดอะไรขึ้นกับย่านนี้”
เราเกิดความสงสัยต่อถนนแห่งนี้ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอาหารยอดฮิตซึ่งเต็มไปด้วยคนไทยและต่างชาติ และเมื่อเดินตามแนวถนนบรรทัดทองไปเรื่อยๆ เราก็เจอกับอดีต ‘ร้านข้าวมันไก่เจ๊โบว์’ ที่ตอนนี้เหลือเพียงห้องแถวว่างเปล่า

ห้องแถวสีเขียวทางขวาคือ อดีตร้านข้าวมันไก่เจ๊โบว์
หลายคนคงได้ยินเรื่องราวของร้านข้าวมันไก่แห่งนี้มาบ้าง ว่าเพิ่งปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 หลังจากที่ขายมาแล้วกว่า 30 ปี โดยแม้เจ้าของร้านจะเขียนบนบนเฟซบุ๊ก ถึงสาเหตุที่ร้านปิดตัวลงว่า “จากหลายเหตุผลที่ทุกคนอาจจะทราบดี” แต่หลายคนก็สงสัยว่า คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่อง ‘ค่าเช่าที่แพง’ เพราะร้านอื่นๆ ก็เคยออกมาพูดในทำนองเดียวกัน
วันนี้เรามีนัดคุยกับเจ๊โบว์ เพื่อรับฟังถึงสิ่งที่เธอและกิจการร้านอาหารบนถนนบรรทัดทองต้องเผชิญ
“ปรับตัวให้สุด ๆ แล้ว”
เจ๊โบว์–กนกวรรณ ศรีกมลศิริศักดิ์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่เจ๊โบว์ เล่าว่าร้านของเธอเปิดมาเป็นเวลารวมๆ แล้ว 30 ปี โดยขายตั้งแต่รุ่นคุณป้า ซึ่งแรกเริ่มร้านอยู่ที่ตลาดสวนหลวง แต่ที่ดินตรงนั้นถูกเวนคืนเพื่อทำเป็นอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสวน 100 ปีที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน และจากนั้นร้านก็ย้ายมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2558 ที่ร้านข้าวมันไก่เจ๊โบว์มาตั้งอยู่บนถนนบรรทัดทอง
เมื่อนับรวมๆ แล้ว ร้านของเจ๊โบว์ได้เปิดขายบนถนนบรรทัดทองมากว่า 10 ปี จึงเป็นที่น่าสนใจว่า กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ร้านข้าวมันไก่แห่งนี้ผ่านอะไรมาบ้าง?

ร้านข้าวมันไก่เจ๊โบว์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566
“เมื่อก่อนนะ ลูกค้าหลักๆ ของเจ๊โบว์ ก็จะเป็นนิสิต แล้วก็บุคลากรของทางจุฬาฯ รวมถึง อาจารย์ นักเรียนสาธิตฯ แล้วก็คนในชุมชนค่ะ” เจ๊โบว์เล่าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า ถนนบรรทัดทองยังคงเต็มไปด้วยร้านสกรีนเสื้อกีฬา ซึ่งเธอเองก็ไม่ได้เห็นภาพว่า ถนนเส้นนี้จะกลายเป็นแหล่งสตรีทฟู๊ดแบบทุกวันนี้
แต่พอมาช่วงหลัง COVID-19 หรือประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ถนนบรรทัดทองก็กลายเป็นแหล่งร้านอาหาร ที่เต็มไปด้วยสีสันและตัวเลือกหลากหลาย ซึ่งเหมือนจะเป็นข้อดีต่อย่านนี้และต่อเหล่าผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่ตามมาคือ ‘การปรับตัวครั้งใหญ่’ ของร้านอาหาร
เจ๊โบว์บอกว่า เมื่อร้านอาหารมากมายจากทุกที่หลั่งไหลเข้ามา การแข่งขันก็สูงขึ้นเป็นปริยาย ซึ่งร้านของเธอเองก็ “ปรับตัวให้สุดๆ แล้ว” ทั้งเพิ่มเมนูอาหาร ทั้งเพิ่มบริการ food delivery แต่ต้นทุนทั้งวัตถุดิบและค่าเช่าที่ ก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เธอมองว่า “ข้าวมันไก่มันจะขายแพงไม่ได้” เพราะกลุ่มเป้าหมายของเจ๊โบว์คือ นิสิต และคนทำงานในย่านนั้น
“อาหารจานเดียวของพี่โบว์ ถ้าจะขึ้นราคามันต้องคิดแล้วคิดอีกนะ ว่าแค่ 5 บาท มันก็มีผล” เธอเล่าว่าแรกๆ ที่เริ่มทำร้าน เธอขายข้าวมันไก่ในราคาจานละ 35-40 บาท แต่ที่ผ่านมาจำเป็นต้องขึ้นราคาเป็น 40-60 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากใจ เพราะเธอมองว่า นิสิตหลายคนพ่อแม่ส่งมาเรียน บางคนก็อยู่หอใน หรือเป็นเด็กต่างจังหวัด อาจไม่ได้มีเงินอะไรมากมาย เธอจึงต้องการขายอาหารราคาย่อมเยา เพื่อให้คนส่วนใหญ่ยังเข้าถึงได้
“เหมือนมันไม่ใช่ที่สำหรับนิสิตแล้ว” เจ๊โบว์กล่าว
ราคาเช่าสูงขึ้น สัญญาเข้มงวดขึ้น ตัวเลือกน้อยลง
เมื่อถามถึงเรื่องค่าเช่าที่ เจ๊โบว์บอกว่าในช่วงแรกเริ่มของร้าน การทำสัญญาเช่าแต่ละครั้งก็จะมีตัวเลือกให้หลายแบบ โดยในตอนนั้นเธอทำสัญญาเช่า 3 ปี และในจำนวนนี้จ่ายเพียง 30 เดือน ตกเดือนละประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเธอบอกว่าการเว้นช่วง 6 เดือนนั้น ช่วยให้ร้านสามารถหมุนเงินได้ทัน และพออยู่ได้
แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา “ค่าเช่ากระโดดขึ้นแบบเห็นได้ชัด” โดยเจ๊โบว์เล่าว่าค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนราคาเช่าครั้งล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากราคาเมื่อ 10 ปีก่อน อีกทั้งสัญญาเช่าก็มีเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นอีก เช่น สัญญา 3 ปี ก็ต้องจ่ายทั้ง 36 เดือน (จากที่เคยจ่ายเพียง 30 เดือน) โดยเดือนที่ 1-12 และเดือนที่ 13-24 ก็จะมีราคาเช่าคนละเรตกัน
เจ๊โบว์บอกว่า ตอนที่ได้อ่านเอกสารต่อสัญญาในช่วงหลังๆ มา “เราก็มานั่งคิดว่า เอ๊ะ ถ้าค่าเช่าขนาดนี้เราจะไหวไหมนะ” ด้วยความที่ต้นทุนสูงขึ้นมาก บวกกับไม่ต้องการขายอาหารราคาสูง เธอจึงปรึกษากับที่บ้านว่า ขอทำอีกสักปีหรือไม่เกินปีครึ่ง ก็จะพอแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะตัวเองต้องการพักผ่อนและไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลังจากทำร้านข้าวมันไก่มา 25 ปี โดยเธอมองว่านี่เป็นจังหวะที่เหมาะสมหากจะปิดร้านลง
“เหมือนเป็นแหล่งทดสอบคน”
แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจรายอื่นๆ เธอกล่าวว่าค่าเช่าของผู้เช่ารายใหม่ๆ ก็จะเป็นคนละเรตกับร้านเก่าๆ แต่ราคาก็ขยับขึ้นทุกปีเหมือนกัน โดยเธอทราบมาว่า ราคาเช่านี้คิดคำนวณมาจากราคาที่ดินบริเวณนี้ บวกกับอัตราเงินเฟ้อ และปัจจัยอื่นๆ
อย่างไรก็ตามเจ๊โบว์บอกว่า “ไม่มีที่สิ้นสุดว่าเรตนี้ มันจะไปจบที่ตรงไหน” จนทำให้ราคาอาหารในย่านนี้ก็สูงขึ้นไปตามๆ กัน กลายเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในย่าน ที่ต้องปรับตัวแล้วปรับตัวอีก เพื่อให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ในเงื่อนไขที่เข้มงวด ซึ่งเธอมองว่า
“สมมติว่าเรตค่าเช่ามันไม่ได้สูงมาก อาหารมันก็จะไม่ได้แพงเกินไป” แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
จากที่เจ๊โบว์เล่ามา ก็น่าชวนให้ทุกคนคิดต่อว่า ขนาดร้านดั้งเดิมที่มีฐานลูกค้าประจำ และขายมากว่า 30 ปี ยังอยู่ไม่ไหว “แล้วร้านใหม่ๆ บนถนนเส้นนี้ จะอยู่กันอย่างไร?”
เดินต่อไปอีกไม่ไกลก็เจอกับร้านอาหารอีกแห่ง เมื่อมองผ่านๆ แล้ว น่าจะยังเปิดได้ไม่นาน เพราะป้ายชื่อ เมนูหน้าร้าน หรือสีสันร้าน ก็ดูทันสมัยตามเทรนด์ อย่างนั้นเรามาลองให้เจ้าของร้านนี้ช่วยตอบคำถามกัน

ภาพบรรยากาศถนนบรรทัดทอง
ความท้าทายของผู้เช่ารายใหม่ๆ
“ต้องบอกว่าค่าเช่าที่ขึ้นมา เกินเท่าตัวนะครับ” พงษ์ (นามสมมุติ) อีกหนึ่งผู้ประกอบการในย่านบรรทัดทอง ที่เปิดร้านอาหารมาเข้าปีที่ 2 เล่าว่าตัวเอง ‘เช่าช่วง’ หรือเช่าร้านกับผู้ที่มีสัญญาเช่าโดยตรงกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) อีกทีหนึ่ง
“เป็นเช่าช่วงหมดเลย อย่างห้องเล็กๆ เนี่ย ก็มีครึ่งแสนนะ”
พงษ์ระบุว่านอกจากร้านเขาแล้ว ร้านอื่นๆ ในละแวกเดียวกันก็เช่าช่วงหมดเลย โดยอีกหนึ่งความไม่แน่นอนคือ ผู้ให้เช่าช่วงมีโอกาสที่จะปฏิเสธการต่อสัญญา ด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงการหาผู้เช่ารายใหม่ ที่ตกลงเช่าในราคาที่สูงกว่า ทั้งนี้พงษ์บอกว่า “ถ้าเขารักษาหน้าหน่อย เขาก็จะอ้างว่าเอา (ห้องเช่า) ไปทำอย่างอื่น”
สำหรับประสบการณ์ของพงษ์เอง เขาบอกว่า “ตอนอาทิตย์แรก สองอาทิตย์แรก เขา (ผู้ให้เช่าช่วง) ก็เข้ามาถาม ถามว่าขายได้ไหม พอจังหวะที่บอกว่าขายได้ เขาก็ดูแปลกใจนะ” ซึ่งพงษ์ตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์นี้ว่า “เขาก็คงคิดว่าจะได้กินเงินมัดจำ”
ทั้งนี้ตัวเขาเองก็พยายามหาที่ตั้งร้านใหม่ ที่เป็นสัญญาเช่าโดยตรงกับทางสำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ เพราะมองว่าทั้งราคาถูกกว่า และเสี่ยงน้อยกว่าที่จะถูกปฏิเสธการต่อสัญญา แต่ “ตอนนี้ไม่มีแล้วนะครับ เพราะว่าคนจับจองกันไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในซอยหรืออะไรแบบนี้”
จ่ายค่าเช่า แล้วต้องจ่ายอะไรอีก?
ส่วนร้านอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง พงษ์มองว่าหลายร้านอาจต้องทนอยู่ เพราะมีสัญญาที่กำหนดไว้แล้วว่าต้องเช่าขั้นต่ำกี่เดือน ซึ่งบางร้านยังมีการขอส่วนแบ่งกำไรจากการขาย (Gross Profit หรือ GP) อีกด้วย โดยพงษ์ยกตัวอย่างร้านที่เปิดข้างๆ ตัวเองว่า “เขาต้องจ่ายค่าเช่าด้วย แล้วก็จ่ายเงินค่า GP ด้วย […] คือขายได้ 1,000 บาท (ตกลงกันไว้) กี่เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องแบ่งให้เขาด้วย” เขาเล่าต่อว่า “ก็ได้ยินว่าเขาน่าจะขายอีกแค่ไม่กี่เดือน ก็จะไปแล้วเหมือนกัน ก็น่าจะไม่ถึง 6 เดือนเลยด้วยซ้ำ”
“มันไม่ได้ขายดีขนาดนั้น นึกภาพออกไหมครับ” พงษ์กล่าว

บรรยากาศร้านอาหาร บริเวณถนนบรรทัดทอง
ไม่เพียงเท่านั้น พงษ์เล่าว่าในย่านนี้ยังมี ‘การเซ้ง’ หรือการซื้อต่อกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าจากผู้ที่เช่าโดยตรงกับจุฬาฯ เพื่อเปลี่ยนสัญญาเช่าไปเป็นคนใหม่ ซึ่งเขาเล่าว่า หากเป็นบริเวณที่คนพลุกพล่าน ราคาเซ้งต่อ 1 คูหา อาจสูงถึง 3 ล้านบาท แต่ก็เป็นราคาที่นักธุรกิจหลายคนยอมจ่าย
กระแสบรรทัดทอง ที่อาจไม่อยู่ตลอดไป
อีกหนึ่งโจทย์ยากของถนนบรรทัดทอง พงษ์บอกว่าย่านนี้ “มากับกระแส” ในหมู่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ แต่กระแสที่ว่าอาจไม่ได้อยู่ตลอดไป เพราะเขาสังเกตว่า ในช่วงที่ผ่านมาความคึกคักของย่านนี้ลดลงมาก พร้อมกับมองว่า ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวลดลง บวกกับการเดินทางค่อนข้างลำบาก เพราะไม่ติดรถไฟฟ้าและไม่ค่อยมีที่จอดรถ อีกทั้งร้านเก่าๆ ที่คนในพื้นที่คอยอุดหนุนก็ทยอยหายไป
“หลายๆ คน เขาก็เริ่มมองว่าบรรทัดทอง มันไม่ได้มีของดีแล้ว” เขาระบุ
นี่จึงเป็นเหตุให้หลายร้านรวมถึงร้านของพงษ์ ต้องปรับตัวและหันมาทำ digital marketing มากขึ้น เพราะมองว่าย่านนี้พึ่งพากระแสจากโลกออนไลน์พอสมควร ทำให้ตัดสินใจจ้างอินฟลูเอนเซอร์หรือคนดังบนโลกออนไลน์ เพื่อมาโปรโมทร้าน กลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จำเป็นหากต้องการให้ร้านขายดี โดยพงษ์ระบุว่า “ถ้าไม่จ้างอินฟลูฯ มันก็จะไม่ได้มีคนเข้าเท่าไหร่”
สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบต่อยอดขาย ซึ่งในมุมร้านของพงษ์เอง เขาบอกว่ามีฐานลูกค้าประจำที่เพียงพอ เนื่องจากเขาไม่ได้ขายอาหารในราคาสูงเกินไป ทั้งยังมีหน้าร้านสาขาอื่นๆ ที่คอยพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้ ทำให้เขาบอกว่า “ผมไม่ได้กะมาเอารวยตรงนี้เลยด้วยซ้ำ” เพราะเขาตั้งเป้าหมายอื่นในการเปิดร้าน ณ ที่แห่งนี้
แต่สำหรับร้านอื่นๆ เมื่อต้นทุนการทำร้านสูงขึ้นจนพงษ์บอกว่า “พอคิดรวมค่าที่เข้าไป คือยังไงก็ขายถูกๆ ไม่ได้” และในขณะเดียวกัน ความคาดหวังของลูกค้าก็ย่อมสูงตามไปด้วย ทำให้เขามองว่า “ความคาดหวังของลูกค้าที่จ่ายราคาขนาดนี้ เขากินแค่ครั้งเดียว เขาก็ไม่กลับมา”
“สุดท้าย ร้านพวกนี้ก็ต้องล้มหายตายจากไป” พงษ์กล่าว

บรรยากาศถนนบรรทัดทอง
ที่ผ่านมารายได้บรรทัดทองหายไปถึง 40%
เมื่อหันมาดูเรื่องความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวบนถนนแห่งนี้ ไม่นานมานี้ก็มีคนออกมาพูดว่าจำนวนลดลงจริงๆ โดย สิทธิฉันท์ วุฒิพรกุล–ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการถนนบรรทัดทอง เคยให้ข้อมูลไว้ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่หายไปราว 80% โดยในภาพรวมทำให้รายได้ของบรรดาผู้ประกอบการลดลงกว่า 40%
เขาเล่ากับ AMARIN TV ว่าย่านนี้มีร้านค้าราว 300-400 แห่ง โดยในช่วงที่บรรทัดทองกำลังเป็นที่นิยมใหม่ๆ พื้นที่แห่งนี้สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาทต่อวัน โดยอาจมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 20,000-30,000 คน ซึ่งแบ่งเป็นคนไทยราว 70% และชาวต่างชาติ 30%
แต่เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง สิทธิฉันท์ระบุว่า เม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ก็ลดลง จนเหลือประมาณ 3-4 ล้านบาท ซึ่งก็มาจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเขาชี้ว่า มีทั้งสถานการณ์ในประเทศที่ไม่แน่นอน เช่น กรณีตึก สตง.ถล่ม หลังจากแผ่นดินไหว ข่าวการหายตัวไปของดาราจีนชื่อ ‘ซิงซิง’ ที่ทำให้ชาวจีนหลายคนกังวล จนถึงเศรษฐกิจซบเซาลง
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีกระแสว่าย่านแห่งนี้ขายอาหารในราคาที่ ‘สูงเกินจริง’ สวนทางกับคุณภาพที่คนคาดหวัง บวกกับปัญหาการจัดการความสะอาด ทั้งหนูวิ่งไปวิ่งมา ทั้งถุงขยะเกลื่อนกลาดเต็มถนน จนถึงคลองเน่าในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเราก็ได้ยินเสียงวิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง
ทุกปัจจัยเหล่านี้ล้วนอธิบายว่าทำไมนักท่องเที่ยวหายไปจากย่านนี้อย่างรวดเร็ว จนทำให้ร้านอาหารทยอยปิดไปตามๆ กัน ซึ่งสิทธิฉันท์กล่าวไว้ว่า “ร้านค้าตอนนี้ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ถ้าไม่มีใครเข้ามาช่วย ประมาณการว่าไม่เกิน 6 เดือน จะหายอีกกว่า 40%”
สอดคล้องกับคำพูดของพงษ์ที่บอกว่า “หลังจากนี้คนอื่นๆ ที่เข้ามา มันคือความท้าทายมากๆ” เขาเล่าว่าบรรยากาศของบรรทัดทองที่เปลี่ยนไป บวกกับปัจจัยมากมาย จะทำให้การทำธุรกิจในย่านนี้ยากมากขึ้น แต่ในอนาคต เขามองว่าทางรอดของเจ้าของร้านในบรรทัดทองคือ ต้องใส่ใจฐานลูกค้า ที่เป็น ‘คนในชุมชน’ ทั้งนิสิตอาจารย์จุฬาฯ หรือคนที่ใช้ชีวิตอยู่ละแวกใกล้เคียง
“ถ้าจะอยู่ที่นี่ให้ได้ มันจะต้องกลมกลืนกับชุมชนครับ” พงษ์ระบุ
เรื่อง ‘การกลมกลืนกับชุมชน’ ที่พงษ์พูดถึง ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะจากที่เดินๆ มาจนถึงตอนนี้ เราก็เห็นว่าแถวนี้มีคนในชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ด้วย ฉะนั้นพวกเขาจึงเป็นส่วนสำคัญ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า อะไรคือคำตอบของการทำให้ทั้งคนในชุมชน และร้านต่างๆ ในย่านนี้อยู่ต่อไป อย่างยั่งยืนมากขึ้น?
เพื่อหาคำตอบ เราได้พูดคุยกับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล–นักกิจกรรมและอดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ผู้เคยผลักดันประเด็นทางสังคมต่างๆ รวมถึงการต่อสู้ให้กับคนค้าขายในย่านบรรทัดทอง และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนสามย่าน-สะพานเหลือง
มองความเป็นไปของบรรทัดทองตามกลไกตลาด
สำหรับจุดเริ่มต้นที่เนติวิทย์หันมาสนใจปัญหาในชุมชนนี้ เขาเล่าว่า ตัวเองได้ยินเรื่องร้องเรียนจากคนในชุมชนมาเรื่อยๆ ทำให้เห็นปัญหารอบๆ และสนใจการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว รวมถึงประเด็นเรื่องค่าเช่าที่ ซึ่งก็ปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้ของคนในชุมชน
เนติวิทย์ชี้ว่า หากอ้างอิงตามเรตมาตรฐานของจุฬาฯ ค่าเช่าที่จะปรับขึ้น 3-5% ต่อปี ตามอัตราเงินเฟ้อและมูลค่าพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในการเช่ากันจริงๆ ก็อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีก เช่น การเช่าช่วง
“การเช่าช่วง จริงๆ มันก็เป็นกลไกตลาดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งมันจะต้องเกิดขึ้น ผมก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องพิสดารอะไร”
เนติวิทย์กล่าวว่า ในหลายพื้นที่ที่เกิดความเจริญ ธุรกิจเช่าช่วงอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยยกตัวอย่างว่า “คนอยากจะทำมาค้าขายธุรกิจใช่ไหม เมื่อก่อนถ้ามาเช่าจุฬาฯ โดยตรง 20,000 บาทก็อาจจะเช่าได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะทุกคนเอาไปหมดแล้วและแพงด้วย ถ้าอยากจะทำมาหากินจะทำยังไง? ก็ต้องเช่าช่วงเอา”
นอกจากนี้ ยังมีกรณีแรงงานจำนวนมาก ที่ต้องการหาที่พักในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งงานของตัวเอง ทำให้ร้านอาหารในย่านให้เช่าชั้นบนๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน สำหรับพักอาศัยเพื่อความสะดวกสบายและประหยัดค่าเดินทาง
ส่วน ‘การเซ้ง’ เพื่อเก็งกำไร เนติวิทย์ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหม่เช่นกัน เพราะเขามองว่าล้วนเป็นกลไกที่เกิดจากรากฐานเดียวกันคือ “การที่มันแพงทุกอย่าง มันแพงเกิน value (มูลค่า)” จนคนต้องหาวิธีเอาตัวรอด
แต่สิ่งที่น่าให้ความสนใจจริงๆ คือ ‘เงื่อนไข’ ที่ทำให้การเก็งกำไรเหล่านั้นเกิดขึ้น

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
“มันคือ Gentrification”
“แต่ว่าสุดท้ายร้านค้าก็ถูกบีบออก เพราะว่าสิ่งที่บรรทัดทองกำลังเจอ เขาเรียกว่า Gentrification” เนติวิทย์อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในย่านนี้ว่า จากบรรยากาศย่านบรรทัดทอง ที่เคยเป็นเมืองของชนชั้นธรรมดาของคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ตอนหลังก็กลายเป็นเมืองสำหรับนักศึกษาหรือนักท่องเที่ยว จนตอนนี้ก็อาจพูดได้ว่า กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนจีนหรือคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น และสุดท้าย เราก็ได้เห็นภาพ “การเปลี่ยนเมือง” มาเรื่อยๆ
Gentrification อาจเป็นศัพท์คุ้นหูสำหรับหลายคน โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์ เคยนิยามความหมายสั้นๆ แต่เห็นภาพได้เป็นอย่างดีไว้ว่า “การทำให้เป็นย่านผู้ดี” โดยขยายความเพิ่มว่า “การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในเมือง จากพื้นที่ที่คนที่สถานะดีกว่าเข้าไปใช้พื้นที่ แทนชนชั้นล่างหรือคนชายขอบที่เคยใช้พื้นที่อยู่เดิม”
สอดคล้องกับคำอธิบายเรื่อง ‘ค่าเช่าที่’ ของเนติวิทย์ว่า ‘ราคา’ ของย่านนี้แพงขึ้นเรื่อยๆ
“มันเป็นการไล่คนเก่า แล้วเอาคนใหม่ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างเข้ามา แล้วคนเก่าบางทีเขาก็อาจจะอยู่ได้บ้างครับ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกบีบทางอ้อม เพราะเพื่อนบ้านเขาไม่อยู่แล้ว” เนติวิทย์อธิบาย
เขากล่าวต่อว่า “บ้านข้างๆ เขาก็ไม่มีเหลือ คนรู้จักไม่อยู่แล้ว เพราะค่าที่แพง แล้วก็เปลี่ยนให้มันเป็นเมืองบริโภคเยอะๆ เป็นพื้นที่ที่คนหน้าใหม่เข้ามาเยอะๆ” ซึ่งสะท้อนว่าบรรทัดทองในตอนนี้ กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว จากชุมชนที่มีคนอาศัย ค่อยๆ กลายเป็นย่านการค้าเรียกนักท่องเที่ยว หรือกลายเป็น ‘เมืองบริโภค’ ซึ่งอาจใช้ ‘ทุน’ เป็นที่ตั้งของการเปลี่ยนแปลง เหนือกว่าความเป็นชุมชน หรือมรดกทางวัฒนธรรม
แล้วย่านนี้จะยั่งยืนได้อย่างไร?
เนติวิทย์กล่าวว่า มีหลายทางที่จะทำให้ย่านนี้ยั่งยืนขึ้นได้ วิธีหนึ่งก็คือ ชาวบ้านในบรรทัดทอง “ต้องรวมตัวกัน” เพื่อส่งเสียงถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น เช่น การขึ้นค่าเช่าแพงๆ เพื่อให้เจ้าของที่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น นิสิตในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเอง ก็ไม่ควรจะนิ่งเฉยกับเรื่องนี้
เขาระบุว่า หากพบร้านไหนร้านเก่าแก่ หรือร้านไหนที่เริ่มอยู่ไม่ไหว ก็ต้องไปช่วยกัน อย่างการทำแคมเปญเพื่อให้ร้านเป็นที่รับรู้ โดยเขากล่าวว่า “เด็กๆ จะต้องให้ความสำคัญ กับชุมชนให้มากขึ้น”
หลายครั้งนิสิตบางคนอาจไม่เห็นว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับชุมชน แต่เนติวิทย์ย้ำว่าหลายคนก็ต้องกินข้าว ก็ต้องให้ชีวิตในย่านนี้กันทั้งสิ้น ดังนั้น “มันกระทบกับพวกเราทั้งหมด” อีกทั้งการเมินเฉยต่อปัญหา อาจเป็นการทำให้เมืองแพงขึ้นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
“ปัญหามันไม่ได้มีแค่เรื่องราคา แต่วัฒนธรรมน้ำใจไมตรีของผู้คน เป็นส่วนสำคัญที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ง่ายๆ”
ส่วนด้านมหาวิทยาลัยในฐานะผู้พัฒนาพื้นที่ เนติวิทย์มองว่าก็จำเป็นต้องรับฟังเรื่องนี้ ทั้งต้องลดค่าเช่าทันที และกำหนดให้พื้นที่รอบรั้วมหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ที่มีราคาเหมาะสม รวมถึงควบคุมค่าเช่าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขใดๆ ที่เอื้อให้เกิดการเกร็งกำไร จนทำให้คนทำมาค้าขายเดือดร้อน พร้อมกับไม่ผลักปัญหาที่เกิดขึ้น ให้เป็นเรื่องของปัจเจก
“แนวทางไม่เคยหมดนะครับ ดังนั้นผมไม่เชื่อหรอกว่าเราสู้ไม่ได้”