คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า กระท่อมกำลังจะกลับมาเป็นสมุนไพรสำหรับคนไทยเช่นเดิม หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์โหวตให้ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ .. ผ่าน และจะมีการประกาศใช้ใน 90 วัน หลังราชกิจจานุเบกษา โดยจะถอดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 และให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกและใช้ได้ เพียงแต่ยังห้ามนำไปผสมกับสารเสพติดชนิดอื่น
พืชกระท่อมถูกควบคุมครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2486 โดยระบุว่าห้ามปลูกและห้ามจำหน่าย ก่อนที่จะถูกขึ้นเป็นบัญชียาเสพติดอย่างจริงจังตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 พร้อมกันกับกัญชาและกัญชง
คงไม่เกินเลยไปนักที่จะพูดว่า ภูมิปัญญาเกี่ยวกับกระท่อมห่างหายไปจากสังคมไทยมากกว่า 80 ปี หรือถ้าถูกใช้ก็เป็นเพียงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบางกลุ่มก็นำมาใช้ผิดวิธีคือ นำไปผสมทำยา 4×100 หรือน้ำกระท่อม โค๊ก และยาแก้ไอ
อย่างไรก็ดี ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ป.ป.ส. ได้มีมติให้มีการนำร่องปลูกกระท่อมแล้วใน 135 หมู่บ้านทั่วไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หมู่ 12 ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ The MATTER เพิ่งได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยกับพวกเขา
(1)
และอย่างที่เล่าไปตอนต้นว่า ต้นกระท่อมห่างหายจากความรับรู้ของสังคมมานาน จึงอยากเล่าถึงลักษณะของต้มกระท่อมสักเล็กน้อย
ต้นกระท่อมเป็นไม้ยืนต้นที่เลี้ยงง่าย ขึ้นง่าย ทนแดด ชอบฝน เกลียดหนาว (ซึ่งเมืองไทยไม่มี) ไม่งอแงขอปุ๋ย โดยสามารถสูงได้ถึง 16 เมตรเป็นอย่างน้อย แต่ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงควบคุมเช่นกัน ดอกของกระท่อมสามารถออกได้ในทุกฤดู ก่อนที่จะบานมีลักษณะเป็นวงกลมสีเขียว และเมื่อบานดอกที่หุบจะค่อยๆ คลี่เผนให้เห็นเกสรภายในสีเหลือง ซึ่งมีกลิ่นหอมและมีขนาดเท่าหัวแม่มือ
ต้นกระท่อมนั้นมีอยู่หลายพันธุ์ เช่น ก้านขาว, ก้านแดง, แมงดา, แตงกวา แต่ที่นิยมปลูกกันมากในทางตอนใต้คือ แมงดา เพราะมีใบใหญ่ โดยนิยมเด็ดใบมากินเมื่อใบเริ่มเข้าสู่เบอร์ 4,5 กล่าวคือ ใบแตกหน่อหนึ่งครั้ง นับเป็นใบ 1
การสังเกตุอายุของใบกระท่อมให้จับบริเวณก้านของมัน หากแข็งถือว่าแก่แล้ว โดยผู้ที่กินใบสดมักนิยมกินใบแก่ เพราะไม่แข็งและไม่ยึยติดฟัน แต่ถ้านำไปต้มนิยมใบอ่อน อย่างไรก็ดี ทั้งใบแก่และใบอ่อนมีฤทธิ์ทำให้สู้แดดและทำงานขันแข็งเหมือนกัน
(2)
“เด็กกินท่อมก็มีหัวใจ อยากมีใครสักคนรักจริง เด็กกินท่อมไม่อยากให้เธอทิ้ง ทั้งที่จริงไม่เคยทิ้งใคร..”
ข้อความด้านบนเป็นบทเพลง เด็กกินท่อมก็มีหัวใจ – เณรเชษฐ์ ซึ่งมีผู้เข้าฟังในยูทูปแล้วกว่า 1.3 ล้านครั้ง (คลิปดังกล่าวลงเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2020 คาดว่าน่าจะเคยถูกลบไปก่อนหน้านี้แล้ว) นอกจากนี้ยังมีเพลง เลิกกินท่อมค่อยมารักกัน – น้องเจนนี่ (ได้หมดถ้าสดชื่น) ซึ่งมียอดเข้าชมมากกว่า 24 ล้านครั้งในยูทูป และยังมีอีกหลายบทเพลงที่สะท้อนความใกล้ชิดระหว่างชีวิตของคนไทยกับต้นกระท่อม
โดยตามภูมิปัญญาชาวบ้านนิยมนำใบของต้นกระท่อมเด็ดก้านออกและเคี้ยวใบสด หรือนำใบลงไปต้มชงกับน้ำร้อน ก่อนออกไปทำงานกลางแดด เพราะกระท่อมมีฤทธิ์ทำให้ผู้กินสู้แดด สู้งาน ทนทานแสงแดด แต่ถ้าฝนมาเมื่อไรก็เป็นอันแยกย้าย
ในบทความ ‘ใบกระท่อม สรรพคุณทางยา ประโยชน์และโทษ’ ของ ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ก็ระบุคล้ายกันว่าในใบของกระท่อมมีสารแอลคะลอยด์ Mitragynine ทำให้ลดอาการปวดตามข้อ และมีฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีน เพียงแต่มีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการ อาทิ ไม่กระทบระบบทางเดินหายใจ, ไม่ทำให้คลื้นไส้ อาเจียน
ขณะที่เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเขียนถึง อีกสรรพคุณของใบกระท่อมไว้ว่า สามารถช่วยแก้โรคท้องผูก อาการขับถ่ายไม่ออก โดยให้นำมาชงกินกับน้ำร้อนและดื่ม
ในงานวิจัย ‘บทสรุปพืชกระท่อม’ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการอ้างงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้กระท่อมของหมอพื้นบ้านใน 14 จังหวัดภาคใต้ (2548) ไว้ว่า โรคห้าอันดับแรกที่หมอพื้นบ้านเลือกใช้พืชกระท่อมมาเป็นยารักษาโรค ได้แก่ ท้องร่วง, เบาหวาน, ปวดเมื่อย, แก้ไอ, และขับพยาธิ แก้ปวดท้อง นอนไม่หลับ
นอกจากนี้ ในคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ โดยขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) มีการระบุถึงการนำกระท่อมมาผสมเป็นยารักษาโรคไว้หลายชนิด อาทิ ยาเหลืองกระท่อมใช้แก้บิดปวดมวนๆ ยาหนุมานจองถนนปิดสมุทรแก้ท้องร่วงอย่างแรง รวมถึงยังมีการใช้กระท่อมเป็นส่วนผสมในยาสำหรับผู้ต้องการเลิกฝิ่นอีกด้วย
และไม่ใช่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่สนใจนำพืชกระท่อมมาทำยา เพราะหากใครจำได้เมื่อปี 2559 ได้มีข่าวคึกโคมว่าญี่ปุ่นกำลังจดสิทธิบัตรใบกระท่อมสำหรับทำยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าต้นกระท่อมกำลังเป็นที่สนใจในระดับนานาประเทศ และไทยเองต้องเร่งรื้อฟื้นและเพิ่มเติมความรู้ในเรื่องใบกระท่อมเสียใหม่
(3)
“เคี้ยวทุกวันก่อนออกไปทำงาน” ลุงอ้วนหยุดพูดครู่หนึ่งก่อนตอบคำถามเราต่อว่า “วันละ 10-15 ใบ เคี้ยวแล้วมันมีแรง สู้แดด”
ลุงอ้วน (นามสมมุติ) หนุ่มใหญ่วัยต้นห้าสิบ ผิวกร้านแดด อาชีพเกษตรกร หลังบ้านเขามีต้นกระท่อมพันธุ์แมงดาสูงสองเมตร และพันธุ์ก้านแดงสูงสามเมตร ซึ่งเขาเล่าว่าเด็ดมากินทุกวันก่อนออกไปทำสวน และถ้าเพื่อนบ้านคนไหนที่ไม่มีต้นกระท่อมท่อมที่บ้าน และนึกคึกอยากกระฉับกระเฉง เขาก็ยินดีให้เด็ดไปเช่นกัน
เขายอมรับว่าตัวเองปลูกและเคี้ยวใบกระท่อมตั้งแต่ก่อนชุมชมกลายเป็นพื้นที่นำร่องปลูก เขาให้เหุตผลสองข้อว่า หนึ่ง เคี้ยวกระท่อมทำให้สู้แดดและทำงานได้เยอะ สอง “กระท่อมเป็นยา ไม่มีอะไรหรอก”
เขาเล่าว่า คนในชุมชนแถบนี้กินกระท่อมมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ-แม่ของเขา บางคนกินเพราะต้องทำงานกลางแจ้ง แต่บางคนก็กินเพราะเชื่อว่าสามารถลดอาการของโรคเบาหวานได้ รวมถึงพระสงฆ์และองค์เจ้า เขาเล่าว่า “มีญาติโยมไปทำบุญ แล้วไปเปิดกระติกที่วางอยู่ข้างๆ หลวงพ่อ ท่านก็บอกว่า โยม นั่นมันน้ำกระท่อม” เขาพูดแล้วก็หัวเราะ ก่อนเสริมต่อว่า หลวงพ่อท่านกินเพราะเชื่อว่ากระท่อมมีฤทธิ์ในการลดโรคเบาหวาน
ก่อนกล่าวถึงสรรพคุณแก้โรคท้องผูกว่า “ถ้าถ่ายไม่ออก ให้ห่อเกลือหนึ่งหยิบมือใส่ใบกระท่อม ม้วน แล้วเคี้ยว”
“ใครเมา (ใบกระท่อม) จะรู้สึกดุ่ย คลื่นไส้ แต่ถ้าเมาแล้วรู้สึกอึนให้บีบมะนาวเข้าปาก” ถึงแม้ยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ แต่ทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศวรที่ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ก็พูดถึงวิธีแก้อาการเมาจากกัญชาด้วยมะนาวเช่นกัน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าวิธีนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คนสมัยก่อนนิยมใช้กันเพื่อแก้เมา
ไม่ต่างกับของหวานที่ทานมากไปย่อมไม่ดีต่อร่างกาย ลุงอ้วนเล่าว่าใครที่ใช้กระท่อมต่อเนื่องเป็นเวลานานจะมีอาการปวดหรือกระตุกตามข้อเข่า เขาพูดพลางทำท่าจับเข่าให้ดู
(4)
ยายเกศรี (นามสมมุติ) วัย 71 ปี คนเก่าคนแก่ที่อาศัยตั้งแต่ก่อนถนนลาดยางจะตัดถึงหมู่บ้านแห่งนี้ เธอผ่านร้อนหนาวและงานมาทุกประเภทตั้งแต่ก่อสร้าง ตัดไม้ทำฟืน หรือเกี่ยวข้าว ตาปลาแนวยาวบนมือของเธอยืนยันได้ชัดเจนถึงสิ่งที่เธอพูด
ความเป็นคนเก่าแก่ทำให้เธอเห็นต้นกระท่อมมาตั้งแต่สมัยยังเกลื่อนสวน จนถูกทางการตัดเหี้ยนหมด และกลับมาปลูกได้อีกครั้งบ้านละ 3 ต้นเหมือนในปัจจุบัน “ก็ดี มันเป็นยา” เธอตอบสั้นๆ ถึงความรู้สึกที่มีการปลดล็อคใบกระท่อมจากบัญชียาเสพติด
ยายเกศรีเห็นพ่อ-แม่ของเธอใช้ใบกระท่อมตั้งแต่ยังจำความไม่ชัด และเล่าว่าตัวเธอเองครั้งยังทำงานหนักในสวนก็ใช้อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน และมาถึงทุกวันนี้ ก็มีบางวันที่เธอยังไปที่สวนหลังบ้าน และเด็ดใบกระท่อมมาใช้บ้าง เพราะเชื่อว่ามันช่วยบรรเทาโรคประจำตัวความดันสูงของเธอ ซึ่งทุกครั้งที่ไปหาหมอก็เห็นผลเป็นบวกทุกครั้ง
โดยยายเกศรีจะมีวิธีการใช้กระท่อมสองแบบคือ นำใบแก่มาเคี้ยว กับอีกวิธีคล้ายกับการกินยาลมคือ หักก้านใบกระท่อมทิ้ง นำใบไปตากจนแห้ง ก่อนเอาไปตำกับครกให้ละเอียด และนำกระชอนมาร่อนกากกระท่อมออก เสร็จแล้วนำมาใส่ถ้วย หยิบช้อนตักใบกระท่อมในถ้วย ใส่ปาก กินน้ำตาม เป็นอันจบขั้นตอน
เธอเล่าว่า ต้นกระท่อมอาจอายุยืนได้ถึง 100 ปี และอาจสูงชะลูดได้เท่าต้นมะพร้าวเลยทีเดียว ถ้าหากไม่มีการตัดแต่ง “ตอนน้ำท่วมปี 2554 กระท่อมยังไม่ตายเลย” ยายเกศรีเล่าถึงความแข็งแกร่งของต้นกระท่อม ก่อนเดินไปเด็ดใบท้ายสวน ใส่ถุงและยื่นให้กับเรา
(5)
วรรนวิสา ทับทิมโต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ตำบลคลองสาม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องปลูกกระท่อมเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ในหมู่บ้านมีผู้ปลูกกระท่อม 142 หลังคาเรือนจากทั้งหมด 200 หลังคาเรือน รวมเป็น 409 ต้น
แรกเริ่มเธอยอมรับว่า มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านเช่นกันที่หมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่นำร่องปลูกกระท่อม แต่ไม่ใช่เพราะเหตุผลทางด้านยาเสพติด แต่เป็นเพราะบางบ้านปลูกกันอยู่แล้วเป็นไร่ จึงให้เหตุผลว่า “ใครอยากปลูกก็ควรรับผิดชอบเอง” แต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ ‘ธรรมนูญชุมชน’ ที่ชาวบ้านร่วมกันร่างขึ้น ซึ่งกำหนดให้ทุกบ้านสามารถปลูกกระท่อมได้บ้านละไม่เกิน 3 ต้น หากปลูกและตายก็ห้ามปลูกใหม่ และที่สำคัญห้ามซื้อขาย หรือนำใบกระท่อมออกนอกพื้นที่
วรรณวิสา กล่าวว่าตามธรรมนูญชุมชนไม่อนุญาตให้หมู่บ้านข้างเคียงอย่างหมู่ 11 หรือหมู่ 13 ปลูกต้นกระท่อม และคนในชุมชนของเธอเองก็ห้ามนำกระท่อมออกไปกินนอกชุมชนเช่นกัน เพราะถึงแม้จะได้รับอนุญาตจากภาครัฐก็อาจเกิดปัญหาได้
พอมาถึงตรงนี้ก็เป็นว่าร่วม 3 เดือนแล้วที่หมู่บ้านนี้กลายเป็นที่ปลูกกระท่อม ซึ่งทางแกนนำหมู่บ้านก็ใส่ใจในเรื่องนี้เสมอ โดยเมื่อไรที่มีการจัดประชุมหรือเสวนาเกี่ยวกับกระท่อม แกนนำหมู่บ้านจะพาลูกบ้านเดินทางไปฟังสลับเวียนกันไปทุกครัง้ ซึ่งล่าสุดที่ไปเยือนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เธอเล่าว่า ที่นั่นเขามีการนำน้ำกระท่อมไปผสมกับน้ำบ๊วยจนกินง่าย ซึ่งเธอมองว่าน่าจะสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตและอาจ “ทำให้รวย” เลยทีเดียว
และในขณะนี้ ก็มีบางบริษัทพยายามเข้ามาติดต่อซื้อส่วนของต้นกระท่อมจากชุมชนบ้างแล้ว แต่วรรณวิสาและชาวบ้านยังชั่งใจในเรื่องนี้อยู่ เพรายังไม่อยากให้เรื่องธุรกิจและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
“ยังไม่มีข่าวว่าเด็กในชุมชนนำไปต้ม 4×100 นะ เพราะเด็กเขาเห็นมาตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่ มันคงเป็นเรื่องปกติ และดูไม่ตื่นเต้น เขาเลยไม่สนใจกัน” เธอตอบทิ้งท้ายถึงเรื่องปัญหายาเสพติดในชุมชนของเธอ
Photographed By Sutthipath Kanittakul
illustration By Kodchakorn Thammachart