ในชีวิตของทุกคน จะมีใครสักคนหนี่งที่รู้สึก ‘เหม็นขี้หน้า’ อาจจะเป็นคนรู้จัก เพื่อนเก่า น้องคนโน้น พี่คนนั้นในที่ทำงาน อดีตคนรัก ฯลฯ แต่เรากลับอดไม่ได้ที่ไปแอบส่องหน้าเฟซ ตามไอจี ดูทวีต ของพวกเขาอยู่เสมอ
ไม่ต้องห่วงครับ เราเป็นเหมือนกัน (ภาพคนคนนั้นเด้งขึ้นมาในหัวทันทีเลย)
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก โลกอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต่างอะไรจากโลกแห่งความจริง เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอื่นจะทำพูด คิด ทวีต ถูกใจเราไปซะหมด กลับกัน เราเองก็อาจจะถูกเกลียดจากคนไม่น้อยเช่นกัน แม้เราอาจจะไม่ได้เข้าไปแซะคอมเมนต์แบบเปิดหน้าปะทะ แต่แคปหน้าจอไปแชร์กับเพื่อนคนนั้นที่ไม่ชอบขี้หน้าใครคนนั้นเหมือนกัน…อุ๊ย ก็มันคันมือ
จนขนาดใน TikTok ยังมีแฮชแท็กเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยเฉพาะเลยชื่อว่า ‘Hater’s Anthem’ ที่คนหลายหมื่นคนออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่เกลียดคนอื่น (Hater) และรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย
เพราะฉะนั้นการส่องโซเชียลมีเดียของคนที่เราไม่ชอบแล้วรู้สึก ‘สนุก’ จึงเป็นเรื่องธรรมดาครับ นั่นเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไปที่ปลดปล่อยความเครียด ในระดับหนึ่งแบบนานๆ ที มันไม่ได้เลวร้าย ‘แต่ถ้า’ ส่องอยู่ตลอดเวลาแบบหมกมุ่น อันนี้เราอาจจะตกอยู่ในวังวนความรู้สึกลบที่ไม่โปรดักทีฟสักเท่าไหร่
มนุษย์เป็นแบบนี้มาเสมอไม่ว่ายุคสมัยไหน เราเอาตัวรอดด้วยการมองหาและรับรู้ข้อมูลรอบๆ ตัว โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ไม่ว่าจะรักหรือเกลียดก็ตาม อารมณ์เหล่านี้ทำงานกับสมองในรูปแบบคล้ายๆ กัน คือมอบความรู้สึกพึงพอใจตามมา
สังเกตไหม บ่อยครั้งเราจะรู้สึกไม่ชอบคนที่แหกกฎหรือดูแปลกแยกเป็นเป็นพิเศษ เหมือนน้องคนนั้นที่แชร์ความรู้สึกและปัญหาทุกอย่างในชีวิตแม้เรื่องเล็กเรื่องน้อย ดราม่ากับทุกเรื่อง มันน่ารำคาญจังเลย แต่ก็หยุดส่องไม่ได้ เพราะเราสนใจว่าทำไมถึงทำแบบนี้กันนะ และยิ่งเป็นคนที่เรารู้จักด้วยความรู้สึกจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
แต่ต้องแยกแยะให้ชัดเจนก่อนตรงนี้ ว่าการส่องโซเชียลมีเดียของคนอื่นแบบเงียบๆ ‘แตกต่าง’ กับการสะกดรอยตาม (Stalking) หรือการแสดงความเกลียดชัง บูลลี่และกลั่นแกล้งคนอื่นออนไลน์ที่ไม่ควรทำและไม่ควรมีใครถูกกระทำนะ เพราะพฤติกรรมที่เราคิดว่าสนุกๆ นั้น อาจส่งผลเสียได้
และถึงอย่างไรก็ตาม แม้พฤติกรรมตรงนี้จะดูไม่เป็นอันตรายนัก แต่ต้องระวังเป็นพิเศษ เมื่อเราสภาวะทางอารมณ์ของเรากำลังอยู่ในช่วงแย่ๆ ในจังหวะนั้นเราอาจจะลืมไปว่าสิ่งที่กำลังเห็นอยู่ เช่น ชีวิตที่สวยงาม หรูหรา ว่ายน้ำในสระโรงแรมกลางหุบเขาในสวิสฯ ของพี่คนนั้น เป็นเพียงข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้รับการ ‘ตบแต่ง’ มาแล้วอย่างดี และจะกลายเป็นการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว จากสนุกกลายเป็นทุกข์ซะงั้น
การส่องชีวิตคนอื่นที่เราไม่ชอบ เมื่อทำไม่มาก (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุไหนก็ตาม) ก็ถือว่าทำแล้วก็ผ่านไป แต่พอทำบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัยและทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ เช่น ดันไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แฟนเก่ามีแฟนใหม่ไปแล้ว น้องคนที่ไม่ชอบขี้หน้ากลับได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ยอดเยี่ยม เรื่องราวเหล่านี้จะทำให้ปัญหามันบานปลาย
เพราะสิ่งที่เราทำมันไม่มีคนเห็น ซ่อนได้ง่าย จอร์จิน่า สเตอร์เมอร์ (Georgina Sturmer) ผู้ให้คำปรึกษาด้านความสุข ความมั่นใจและความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด อธิบายว่า “มันแตกต่างจากพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือการเสพติดการซื้อของ สิ่งเหล่านี้มักจะมีคนเห็นหรือมีหลักฐานหลงเหลือทิ้งเอาไว้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อคนอื่น แต่พฤติกรรมแบบนี้ Hate-Stalking สามารถทำได้โดยไม่มีคนเห็น ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนจับได้หรือตั้งคำถาม ทำให้ง่ายที่จะหมกมุ่นกับมันเข้าไปเรื่อยๆ”
ผลลัพธ์คือเราจะขุดลึกลงไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดจะรู้สึกอับอายและละอายใจ สงสัยว่าทำไมเราถึงไปสนใจชีวิตของคนอื่นขนาดนี้ตั้งแต่แรก มันเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนที่นำมาซึ่งอารมณ์ที่ปะทะกันเต็มไปหมด
แล้วจะจัดการกับมันยังไงดี?
- สังเกตพฤติกรรมของตัวเอง และเข้าใจก่อนว่าอะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อน
สเตอร์เมอร์อธิบายว่า พฤติกรรมนี้คล้ายกับพฤติกรรมเสพติดอื่นๆ ที่ก่อตัวจากความต้องการที่ไม่ได้ถูกตอบสนอง “มันง่ายมากกับการใช้เวลาในโลกออนไลน์เพื่อจัดการกับความรู้สึกเหงาหรือเบื่อที่อยู่ข้างในลึกๆ โซเชียลมีเดียมีฟีเจอร์ที่พร้อมทำให้เราติดกับดักตรงนั้นอยู่แล้ว”
เมื่อเรารู้แล้วว่าพฤติกรรมนี้ทำให้เราไม่มีความสุข เราต้องหารากของปัญหาให้เจอ
บางคนคอยติดตามคนที่เกลียดขี้หน้าจากช่วงมัธยมหรือมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้ดูว่าชีวิตของพวกเขาแย่ขนาดไหน แต่กลายเป็นว่าถ้าคนกลุ่มนั้นประสบความสำเร็จไปได้ดี ชีวิตมีความสุข เรากลับเป็นฝ่ายทุกข์และขมขื่นเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำไมทำไม่ได้แบบนั้นบ้าง
หรือบางครั้งอาจจะเป็นกลุ่มคนที่นิสัยแย่ๆ ที่เคยทำร้ายจิตใจคุณ แล้วคุณก็รู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย ชีวิตของพวกเขายังอยู่ดีมีสุข บาปกรรมไม่ทำงานหรือยังไง
เจมี่ เครมส์ (Jamie Krems) นักจิตวิทยาสังคมและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส อธิบายว่า สิ่งที่เราควรทำคือการถามตัวเองและตอบตัวเองได้ว่า เราต้องการอะไร? ทำไมเราถึงทำร้ายตัวเอง? มันคือการแสดงออกถึงความเหงา โกรธ อิจฉาหรือเปล่า? หรือเรากำลังกังวลว่าคนอื่นๆ กำลังทำอะไรโดยไม่รวมเราเข้าไปด้วย?
เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราก็จะเริ่มเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยง
เมื่อเลิกกับคนรัก คำแนะนำที่มักได้ยินเสมอคือการบล็อกและเลิกติดตามโซเชียลมีเดียของคนนั้นไปเลย ปัญหาคือมันไม่ง่ายขนาดนั้น แต่มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ
ยิ่งเราติดตามแฟนเก่าแล้วเขามีแฟนใหม่ ยิ่งเหมือนเอาเกลือไปราดแผล แทนที่จะหายกลับยิ่งอักเสบซ้ำไปมากกว่าเดิม (ยิ่งอดีตเคยหวานเท่าไหร่ ปัจจุบันยิ่งแสบเท่านั้น)
ลองสังเกตว่าอะไรที่กระตุ้นให้เราไปส่องคนคนนั้น เหตุการณ์อะไรในชีวิตประจำวัน ร้านอาหารที่ไป กิจกรรมที่ทำ หรือกลุ่มเพื่อนที่แฮงก์เอาต์ด้วย ฯลฯ ถ้าเป็นไปได้อาจจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- วางแผนและลงมือทำ
ส่องเล็กๆ น้อยๆ อาจจะไม่เป็นไร แต่ทำบ่อยๆ กลายเป็นการตอบสนองเชิงลบในกิจวัตรประจำวันของเราได้
เครมส์บอกว่า “การรับรู้ถึงความต้องการที่กำลังเกิดขึ้น และให้เวลากับตัวเองสัก 2-3 นาที เพื่อจะหยุดก่อนจะเข้าไปส่องถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก”
ค่อยๆ บังคับตัวเองให้ออกห่างมาเรื่อยๆ อย่าปล่อยให้มันกลายเป็นนิสัยที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
หาอะไรทำ ลองดูงานอดิเรก สื่ออื่นๆ หรือใช้เวลากับคนอื่นบ้าง (แม้แต่การปัด TikTok ก็อาจจะช่วยได้) ถ้าจำเป็นที่จะต้อง Digital Detox ก็ต้องทำ แล้วหาวิธีรับข่าวสารที่จำเป็นกับชีวิตและการทำงานทางอื่นแทน
- ยอมรับว่ามันเป็นส่วนธรรมดาของชีวิต
พฤติกรรมนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณของจุดเริ่มต้นของการเสพติดที่เลวร้ายหรือความหมกมุ่นที่มากเกินไปเสมอไป เพราะโดยพื้นฐานมันคือการหาข้อมูลใหม่ๆ และถ้าเจอสิ่งที่เรากำลังตามหาก็ทำให้รู้สึกดีได้
บางทีการมีคนที่เราไม่ชอบขี้หน้าเหมือนกันกับเพื่อน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีก็ได้ เป็นสิ่งที่เรามีเหมือนกัน ไม่ชอบเหมือนกัน รู้สึกดีไปพร้อมๆ กัน
อย่าไปคิดว่าเราเป็นตัวมารตัวร้าย หรือคนไม่ดีอะไร มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากรู้อยากเห็นโดยสัญชาตญาณ วงสังคมของเราไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ล้วนเต็มไปด้วยข้อมูลที่ทำให้เราสงสัย ตราบใดที่ความสงสัยนี้ไม่ได้นำมาซึ่งความรู้สึกหมกมุ่น อยากไปทำลายชีวิตคนอื่น หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง ก็อย่าไปกังวลมาก
ถ้าเห็นแฟนเก่ามีแฟนใหม่แล้วอยากให้ทั้งคู่กินอาหารแล้วท้องเสีย นอนซมอยู่บ้านสักวันสองวัน หรืออยากเห็นคนที่เคยแกล้งเราตอนอยู่มหาวิทยาลัย ถูกหัวหน้างานก่นด่า ถามว่าเราเป็นคนที่แย่ขนาดนั้นไหม? คำตอบก็อาจจะแล้วแต่คนครับว่ามีศีลธรรมสูงส่งขนาดไหน แต่ถามว่าคนส่วนใหญ่ทำเหมือนกันไหม? คำตอบก็คงจะใช่แหละครับ
อ้างอิงจาก