คุณยังมีความหวังกับการศึกษาไทยอยู่ไหม?
ถ้าหยิบคำถามนี้ไปคุยกับ กุ๊กกั๊ก—ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูสอนคณิตศาสตร์แห่งโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เขาจะตอบกลับมาอย่างชัดถ้อยชัดคำว่ายังมีความหวังอยู่ รวมถึงเรี่ยวแรงที่อยากจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“ผมเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย มันเกิดขึ้นตอนที่คิดว่าเราทำเป้าหมายของตัวเองสำเร็จแล้ว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม แต่สุดท้ายก็มาคิดได้ว่า ชีวิตหลังจากนี้ ผมอยากจะทำเพื่อคนอื่น อยากจะแก้ปัญหาที่มันยังไม่ได้หมดไปง่ายๆ” กุ๊กกั๊ก เล่าให้เราฟังพร้อมกับคำยืนยันผ่านแววตาที่เป็นประกาย
ท่ามกลางปัญหาด้านการศึกษามากมาย ครูกุ๊กกั๊ก กลับเชื่อว่า มันยังมีโอกาสที่จะแก้ไขให้ได้ดีอยู่ เขาคือหนึ่งในครูที่ร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับการศึกษาไทย ทั้งผ่านกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ รวมถึงเป็นหนึ่งในครูที่มักจะโยนไอเดียการสอนใหม่ๆ เข้าไปในเว็บไซต์ ‘insKru’ เพื่อชวนครูคนอื่นๆ ให้มาเปลี่ยนแปลงห้องเรียนเพื่อเด็กๆ ไปด้วยกัน
ครูกุ๊กกั๊ก ได้พยายามทำหลายโปรเจ็กต์เพื่อเปลี่ยนการศึกษาให้ดีขึ้น เช่น ความพยายามที่จะทำแผนการสอน (SAR) แบบหน้าเดียว เพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็นของครูให้ลดลงไป รวมถึงโปรเจ็กต์ใหม่ที่เขากำลังคิดริเริ่มในตอนนี้ อย่างการผลักดันแผนการสอนแบบข้ามสายวิทย์-ศิลป์
เพราะอะไรที่ทำให้ครูคนนี้อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง? แล้วบทบาทครูในโลกยุคปัจจุบันควรเป็นอย่างไร การสอนแค่เนื้อหาตามหลักสูตรยังเพียงพออยู่ไหมในวันที่นักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว?
เราหยิบความสงสัยนี้ไปคุยกับครูกุ๊กกั๊ก ในเย็นวันหนึ่งก่อนที่วันครูแห่งชาติจะมาถึง
ทำไมถึงเลือกมาเป็นครูในระบบ
เหตุผลก็คือ อยากให้ชีวิตมีความหมาย ในงานไหนที่เราจะรู้สึกว่ามันคุณค่ากับเราได้ เราอยากเป็นครูในโรงเรียนรัฐที่มันไม่สบาย และต้องต่อสู้กับโครงสร้างบางอย่าง เลยตัดสินใจสอบบรรจุ
ตอนเรียนครุศาสตร์ คุณมีภาพจำของความเป็นครูยังไงบ้าง
คิดว่าเป็นครูที่สอนประจำวัน สบาย ไม่ได้คิดว่าต้องทำงานเอกสาร เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราคือเจอครูแค่หน้าชั้นเรียน
แล้วพอบรรจุเป็นครูจริงๆ ล่ะ มันต่างจากที่เคยคิดไว้ไหม
ต่างมาก งานเยอะมาก ผมจำได้ว่างานแรกๆ เขาให้ผมทำงานด้านการเงิน งานแรกที่ทำคือเงินเดือน ในยุคนั้นต้องปรินต์สลิปเงินเดือนของครูแต่ละคนออกมา หมายความว่า ถ้าโรงเรียนนั้นมีครูทั้งหมด 80 คน ผมก็ต้องเอารหัสของครูทั้ง 80 คนกรอกเข้าไปในเว็บหลังจากนั้นก็ต้องปรินต์ออกมาทีละคน ผมจะใช้เวลาอยู่กับงานนี้ประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อเดือน
ตอนนั้นผมก็คิดว่า ทุกคนก็มีรหัสของตัวเองนะ ทำไมไม่ปรินต์เอง การกรอกรหัสและปรินต์ใช้เวลาประมาณ 30 วินาที มันก็จะช่วยได้เยอะ และไม่ต้องให้ครูคนอื่นมาทำแทน แต่ตอนนั้นผมก็เข้าใจนะว่ามันคืองานบริการ
ผมพยายามต่อต้านด้วยนะ แต่ก็โดนด่า มีครูเขียนด่าเราเลยว่าทำไมไม่มีน้ำใจ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็ดีกันนะ
เพราะมันคืองานที่ต้องทำคู่ไปกับการสอน
ใช่ ก็สอนไปและทำงานนี้คู่กันไปด้วย มันทำให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่คณะไม่เคยสอน แต่ก็ถูกต้องแล้วแหละ เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่ครูต้องไปเจอในแต่ละโรงเรียนที่ไม่เหมือนกัน
ในฐานะนิสิตครุศาสตร์คนนึง คุณก็น่าจะเข้าใจปัญหาที่อยู่ในระบบอยู่แล้วรึเปล่า แต่ก็ยังเลือกที่จะมาต่อสู้กับระบบนี้อยู่ดี
ผมเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย มันเกิดขึ้นตอนที่คิดว่าเราทำเป้าหมายของตัวเองสำเร็จแล้ว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม แต่สุดท้ายก็มาคิดได้ว่า ชีวิตหลังจากนี้ ผมอยากจะทำเพื่อคนอื่น อยากจะแก้ปัญหาที่มันยังไม่ได้หมดไปง่ายๆ
ยังจำคาบแรกที่ฝึกสอนได้ไหม
กังวลมากครับ แพนิคหลายอย่าง กลัวว่าเด็กๆ จะยอมรับเราไหม ผมถึงขั้นโพสต์เฟซบุ๊กถามรุ่นพี่เลยว่า ต้องทำยังไงดี ก็มีคนมาแนะนำว่า ให้เด็กเขียนชื่อของตัวเองลงในกระดาษ รวมถึงสิ่งที่อยากบอกและอยากถามครู
ผมลองไปทำก็ปรากฏว่าสนุกมาก เพราะผมบอกเด็กๆ ว่า ถามอะไรครูมาก็ได้ ครูจะตอบให้ทั้งหมด เด็กก็เหมือนจะรู้ว่าเราเปิดรับเขานะ เขาเลยส่งคำถามาตั้งแต่ง่ายๆ จนถึงยากมากไปเลยก็มี มีถามด้วยว่าพ่อชื่ออะไร แม่ชื่ออะไร ผมก็ตอบไปหมด ทุกวันนี้เด็กล้อชื่อพ่อแม่ผม ผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว (หัวเราะ) กลายเป็นว่า เราสนุกกับการได้รู้จักกับผู้เรียนไปเลย
ฟังดูเหมือนว่าคุณเปิดประตูให้เด็กๆ เข้ามาในโลกของคุณ
ใช่ เป็นประตูบานใหญ่มากด้วย ผมเปิดให้ใครเข้ามาก็ได้ แต่ผมไม่กล้าบอกว่าให้ใครมาทำตาม เพราะว่าสิ่งที่ผมทำมันเลยกรอบของความเป็นครูแบบเดิมๆ ไปแล้ว
หมายความว่ายังไง
คือบางทีเราก็เล่นมุกกับเด็กๆ เด็กด่าหรือสบถอะไรมา เราก็เข้าใจ เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาไม่เคารพเรานะ แต่ผมมองว่าเขากำลังสร้างความสัมพันธ์บางอย่างผ่านคำพูดที่คนอื่นอาจจะคิดว่าหยาบคาย แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมมองว่า บางทีคำพูดดีๆ มันหยาบคายกว่านี้อีก
ผมแบ่งค่อนข้างชัดเจนว่า พาร์ทที่เล่นกันก็คือเล่น แต่ถ้าตอนที่ไหนเล่นกับเรามากเกินไป ผมก็จะบอกกับเขาไปเลยว่าอันนี้เล่นเกินไปนะ ครูไม่โอเค เด็กก็จะเฟดไปนิดหน่อยแล้วก็จะกลับมาคุยเล่นกันอีกที
ท่าทีระหว่างครูกับนักเรียนแบบนี้ มันสำคัญยังไงบ้าง
การที่เราสนิทกับนักเรียน มันทำให้พวกเขากล้าบอกว่าเขาเรียนไม่รู้เรื่อง มันดีกว่ากับการที่เรียนไม่รู้เรื่อง แล้วไปบ่นข้างนอกห้อง โอเคแหละ เวลาที่เขาบอกว่าเราสอนไม่รู้เรื่อง เราก็มีเฟลๆ บ้างกับตัวเอง แต่เราก็ดีใจที่เขาบอกและพร้อมจะสอนเขาอีก การเฟลในห้องเรียนมันเลยดีกว่า
ภาพลักษณ์แบบนี้มันค่อนข้างต่างกับภาพของการวางครูไว้ที่สูงมากๆ
ผมไม่กล้าไปตัดสินว่าครูในรูปแบบไหนมันดีกว่า แต่เชื่อว่าการมีครูที่หลากหลายมันคือสิ่งที่ดี ด้วยความที่ผมถูกสอนมาจากที่คณะ ตอนที่ผมเป็นหัวหน้านิสิตก็จะต้องรับทุกอย่าง ผมเลยวางตัวเองเป็นคนที่อยู่ข้างล่างสุดของฐานพีระมิด ไม่ใช่จุดสูงสุดของยอด ยิ่งอยู่ชมรมละคร ผมก็ถูกหล่อหลอมมาว่าคนทุกคนมันเท่ากัน ผมเลยได้ mindset นี้มาใช้กับการเป็นครูด้วย เวลาทำงานเป็นครู ผมจะทำงานแบบพีระมิดกลับด้าน แต่เวลาอยู่กับผู้เรียนและปล่อยให้ทุกคนในห้องเรียนตั้งคำถามได้ ตอนนั้นผมก็ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับพวกเขาเลย
อยากให้เล่าถึง pain point ของการเป็นครูที่คุณเคยเจอมาให้ฟังหน่อย
หนึ่งก็คือไม่ค่อยมีคนเอาด้วย เวลาที่ผมอยากจะทำอะไรใหม่ๆ ที่มันต่างไปจากเดิมก็จะกลายเป็นคนนอกกระแสในโรงเรียน เวลาพูดบางเรื่องออกไปก็สงสัยว่าทำไมครูคนอื่นๆ ถึงไม่เข้าใจเรา แต่พอพูดเรื่องเดียวกันกับสังคมภายนอก สังคมกลับยอมรับมากกว่า จริงๆ ครูบางคนก็เห็นด้วยกับแนวคิดของเรานะ แต่เขาขออยู่เงียบๆ เพราะกลัวว่าจะเจ็บตัว ในทางกลับกัน บางทีการทำบางเรื่องในโรงเรียน คนในโรงเรียนอาจยอมรับ แต่สังคมภายนอกก็อาจจะไม่ยอมรับก็ได้
ที่เป็นอย่างนี้เพราะระบบราชการรึเปล่า ที่มันทำให้คนไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ
ใช่ เพราะระบบราชการมันทำงานแบบ top-down สั่งการจากข้างบนลงข้างล่าง แต่สิ่งที่ผมอยากทำคือทำให้ทุกคนมันเท่าเทียม
ยังมี pain point อะไรนอกจากนี้อีกไหม
เรื่องเอกสาร มันมีหลายประเภทมากเลยนะครับ ผมรู้สึกว่า ระบบราชการพยายามป้องกันให้คนไม่โกงด้วยระบบเอกสาร เพื่อให้มันตรวจสอบได้ แต่มันไม่จริงแล้ว เพราะเราก็เห็นกันอยู่ว่าก็มีคนที่โกงได้ หลายกรณีก็โกงด้วยระบบเอกสารทั้งนั้นเลย ผมตั้งคำถามว่า เมื่อระบบเอกสารมันไม่สามารถการันตีการโกงหรือไม่โกงได้ ทำไมเรายังยึดถือระบบนี้อยู่ เพราะเราควรทำให้มันทำงานเร็วกว่านี้ก็ได้
ปัญหาเอกสารมันคือเรื่องใหญ่มากๆ สำหรับครูทุกคน ระบบราชการไม่เชื่อว่าครูทำงาน ระบบราชการไม่ไว้ใจว่าครูคนหนึ่งจะทำงานได้ดี คุณต้องมีหลักฐาน และหลักฐานที่ง่ายสุดก็คือเอกสาร ผมคิดว่าปัญหามันอยู่ที่ตัวระบบ ตอนที่ผู้ประเมินมาประเมิน เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรมากเลย เขาดูแค่เอกสารที่บ่งชี้ว่ามีการทำสิ่งนั้นไปแล้ว
ผมเข้าใจว่าระบบมันออกแบบมาให้ประเมินแบบนี้ ส่งผลให้ผู้ที่มาประเมินก็ต้องประเมินอย่างนี้แหละ แต่ผมกลับเชื่อว่า การประเมินที่ดีคือการมาดูความต่อเนื่องของครูอยู่เรื่อยๆ และคนที่ประเมินครูได้ดีที่สุดก็คือนักเรียน
คนที่อยู่กับครูตลอดก็คือนักเรียนนี่แหละ มันไม่เห็นต้องทำอะไรให้ยากเลย หรือถ้าคุณไม่เชื่อว่าครูทำงานจริงๆ ก็ต้องเข้ามาดูด้วยตัวเอง ไม่ใช่ดูแค่เอกสาร คือครูมีหน้าที่ที่ต้องคิดเรื่องการสอน ส่วนเรื่องการประเมินก็ต้องมีคนคิดรูปแบบการประเมิน ไม่ใช่ครูคิดเอง
กลายเป็นว่าครูในยุคนี้ต้องทำทุกอย่างเลย
ต้องมาคิดระบบให้ด้วยว่าต้องประเมินครูด้วยกันเองยังไง นี่มันเลยกลายเป็นที่มาทำให้เกิดกลุ่มที่ชื่อ ‘ครูขอสอน’ เพราะคนที่อยู่ข้างบนของระบบคิดเรื่องนี้ไม่ได้ เลยทำให้ครูต้องคิดกันเองจนทำให้เวลาสอนหายไป มันสะท้อนว่าโครงสร้างมีปัญหาอยู่
มันแปลกมากเลยนะครับที่มีกลุ่มครูที่ลุกขึ้นมาบอกว่า เราขอเวลาสอนหนังสือกลับมาได้ไหม ทั้งที่มันคือหน้าที่เบื้องต้นของครู แต่เราต้องมาขอสอนเพราะระบบมันดึงเวลาครูไปทำอย่างอื่นเยอะเลย
คุณยังมีความหวังกับการศึกษาอยู่ ทั้งที่หลายคนหมดหวังไปแล้ว
ถึงแม้ว่าตอนนี้ผมจะเป็นครู แต่ผมก็เรียนนอกระบบควบคู่ไปด้วยนะครับ มีครูคนหนึ่งพูดว่า การศึกษาที่ไม่เคยล้มเหลวคือการศึกษานอกระบบ มันไม่เคยล้มเหลวเลยนะ แสดงว่าจริงๆ แล้วตอนนี้การศึกษาไทยก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น
แล้วมันมีการศึกษาแบบตามอัธยาศัย ที่เราเห็นความรู้ได้ตามสถานที่ต่างๆ แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ดีๆ ของเราเยอะมาก
มันแปลว่าการศึกษาไทยมันก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่คือการศึกษาในระบบ
ทีนี้ก็มีครูอีกคนหนึ่งตั้งคำถามว่า แล้วการศึกษาในระบบมันล้มเหลวจริงๆ รึเปล่า เขาตั้งข้อสังเกตว่า หรือจริงๆ แล้วมันไม่ได้ล้มเหลว เพราะหน้าที่ของมันสามารถกล่อมให้คนเชื่องได้ เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อกล่อมให้ผู้คนหวาดกลัวรัฐ
แต่ถ้ามองในเซ้นส์ของความเป็นพลเมืองโลก มันก็คงไม่ได้ประสบความสำเร็จขนาดนั้น เพราะมันต้องชวนให้ผู้เรียนตั้งคำถามมากกว่า ส่วนตัวผมเองก็ยังเห็นโอกาสที่มันจะเปลี่ยนแปลงได้
อย่างที่คุณบอกว่า การศึกษาตามอัธยาศัยมันเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง มันก็ดูเหมือนจะสอดคล้องกับโลกยุคนี้เหมือนกัน ที่นักเรียนสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้เองผ่านอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เมื่อเป็นแบบนี้ คุณคิดว่าแล้วบทบาทของครูมันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
จริงๆ แล้วตอนที่ผมสอนในห้องเรียน เด็กชอบถามสิ่งที่อยู่นอกเหนือเนื้อหาด้วยเหมือนกัน สิ่งที่เด็กถามเช่นข่าวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
ผมเชื่อว่า หน้าที่ของครูจะต้องเป็นผู้ที่ไม่บอกว่าฉันเป็นแค่ครูวิชานั้นแล้ว ครูต้องเรียนรู้โลกไปพร้อมกับเด็กด้วย เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้น ครูจะตอบอะไรเด็กไม่ได้เลย ทุกวันนี้ผมเลยตื่นมาดูข่าวก่อนออกจากบ้าน เพื่อที่จะได้ชวนเด็กคุยว่าตอนนี้โลกของเรามันเป็นยังไงบ้าง
ครูจะต้องเอาข่าวจากข้างนอก มาตั้งคำถามในห้องเรียนว่า แล้วสิ่งที่พวกเขารู้มันเป็นความจริงแค่ไหน อย่างตอนที่มีกระแสเพลงประเทศกูมี ผมก็ถามเด็กว่ารู้ไหมฉากที่มีคนเก้าอี้มาฟาดคืออะไร เด็กครึ่งห้องไม่รู้ว่ามันสื่อถึงเหตุการณ์อะไร แต่ผมเองก็มั่นใจว่า ถ้าผมอยู่ในวัยเดียวกับเขา ณ ตอนนั้น ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมก็เลยชวนให้เด็กในห้องตั้งคำถามว่า ไหนใครที่รู้เรื่องนี้ลองเล่าให้เพื่อนฟังหน่อย ผมเองก็เล่าเสริมในบางเรื่อง สุดท้ายก็ถามพวกเขาว่า “เชื่อที่ครูเล่าไหม” เขาก็ตอบว่าเชื่อ ผมถามกลับว่าแล้วเชื่อได้ยังไง เพราะครูไม่มีหลักฐานอะไรมาอ้างกับพวกเธอเลยนะ
ผมก็ชวนเขาคิดต่อว่า แล้วพวกเธอเชื่อหนังสือเรียนจากกระทรวงแค่ไหน คิดว่ามันเล่าตรงกันไหม เด็กก็ตอบว่าไม่รู้ เพราะหนังสือเรียนมันเล่าถึงเหตุการณ์นี้แค่นิดเดียว ผมก็เลยบอกเขาว่า ตอนนี้มันมีความพยายามทำให้รู้และทำให้ไม่รู้ผ่านการศึกษาอยู่นะ
มันเลยกลายเป็นว่า พอเราเอาข่าวต่างๆ มาชวนให้เด็กตั้งคำถามในตอนที่เขาว่างจากการทำโจทย์ในห้องเรียน มันก็ทำให้เขารู้ความเป็นไปของโลกมากยิ่งขึ้น แล้วทำให้เด็กกลับไปค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองเพราะพวกเขาอยากรู้
คุณกำลังจะบอกว่า สิ่งที่เด็กอยากรู้มันก็สำคัญพอๆ กับสิ่งที่ครูอยากให้เด็กรู้
ผมเคยนั่งคุยกับครูท่านหนึ่งเรื่องนี้ว่า หลักสูตรการสอนของเรามันจำเป็นที่ต้องให้เด็กรู้เยอะมากขนาดนี้เลยเหรอ เขาก็ตอบว่า มันก็มีความจำป็นในบางเรื่องพื้นฐาน เช่น ถ้าคุณไม่เรียนคณิตศาสตร์ไว้เลย สุดท้ายก็จะโดนหลอกในเรื่องของจำนวน
สิ่งสำคัญคือ ครูในยุคปัจจุบันต้องเอาสิ่งที่ต้องเรียน กับสิ่งที่เด็กอยากรู้มาเจอกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เด็กได้รู้ว่า สิ่งที่เขาเรียนไปมันได้ใช้จริงนะ มันคือเทคนิคเรื่อง connect and combine ที่คนในสายครีเอทีฟใช้กัน
เข้าใจว่าการศึกษาที่ดีมันควรชวนให้คนตั้งคำถามกับความรู้ แต่วิชาคณิตศาสตร์มันดูตั้งคำถามยากมากเลยนะ เพราะความรู้มันแข็งตัวในระดับหนึ่ง
ผมว่ามันอยู่ที่บทด้วยนะ บางบทมันเฉพาะด้านมากๆ แต่มันก็จะมีบางบทที่เราชวนเขาคุยเรื่องสังคมต่อได้ เช่น ตอนที่ผมสอนเรื่องเซ็ต ซึ่งเนื้อหามากว้างมากพอที่เราจะเอาอะไรเป็นตัวอย่างก็ได้
วิธีที่ผมสอนคือ ชวนเด็กในห้องคุยว่า เซ็ตเรื่องเพศของโลกเรามันแบ่งไปได้กี่แบบ บางคนตอบว่า แบ่งได้เป็นชายกับหญิง ส่วนบางคนก็เสนอว่าเพศมันมีมากกว่านั้นมี LGBT ด้วย บทเรียนนี้ก็ช่วยให้เด็กตั้งคำถามได้ว่า ในเซ็ตเรื่องเพศของสังคมเรามันแบ่งได้กี่แบบ
หรือตอนที่ผมเล่นเกมกับเด็กในห้อง ผมให้คำกับเด็กไป 20 คำแล้วให้เขาจัดประเภทคำเหล่านั้นดู โดยที่ผมไม่ได้กำหนดเกณฑ์ให้ก่อนนะว่าต้องจัดกลุ่มคำตามประเภทไหนบ้าง
กลุ่มหนึ่งอาจจะจัดตามเกณฑ์คน สัตว์ สิ่งของ ส่วนอีกกลุ่มอาจจะจัดตามเกณฑ์คำที่มีสระอุ สระไอ หรือสระอิ เพราะฉะนั้นก็จะจัดกลุ่มคำได้ไม่เหมือนกัน พอเรามาถามเขาแต่ละกลุ่มจัดคำได้อะไรบ้าง แล้วก็ถามพวกเขาว่า แล้วกลุ่มที่จัดคำไม่เหมือนกับเราเขาผิดไหม เขาก็ตอบว่าไม่ผิด เพราะมันเกณฑ์ไม่เหมือนกัน สุดท้ายเด็กก็จะสรุปว่า คนเรามันคิดต่างกันได้
ผมถามต่อว่า แล้วเวลาที่นักเรียนทะเลาะกันเรื่องกีฬาสี เราบอกว่าทุกคนเห็นต่างกันได้ก็จริง แต่นักเรียนโกรธกันไหม พวกเขาก็ตอบว่าโกรธ ซึ่งมันก็ทำให้เขารู้อีกเรื่องหนึ่งก็คือความรู้ กับความรู้สึก มันต่างกันนะ มันก็ชวนเขาคุยต่อไปได้ถึงเรื่องพื้นฐานของสังคม
แปลว่าความรู้ในห้องเรียนมันไปต่อได้อีกมากกว่าแค่เนื้อหาในหนังสือ
ใช่ ถ้าบทไหนมันผลักดันให้ไปต่อในเรื่องอื่นได้ก็ไปเถอะ จริงๆ คณิตศาสตร์มันก็มีความเป็นปรัชญาอยู่เหมือนกันนะ
พอคุยกันมาถึงตรงนี้ คุณเป็นครูที่ไม่เหมือนกับครูในอดีตที่เราเคยเจอมาเลย
ตัวผมเองก็ไม่เคยเจอครูแบบนี้เหมือนกัน ผมคิดเองโดยไม่มีสมมติฐานหรือหลักฐานอะไรมารองรับว่า ครูที่เราเคยเจอมา เป็นครูที่อินกับวิชา แต่ตัวผมเป็นคนที่ไม่อินกับเลขมาก่อน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีอบรมอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเลข ผมจะเข้าร่วมเสมอๆ เช่น อบรมเรื่องเท่าทันสื่อ เรื่องพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย มันคืออีกโลกนึงที่เราไม่เคยเรียน มันทำให้เห็นโอกาสที่จะเอาวิชาเหล่านั้นดึงกลับเข้ามาอยู่ในวิชาของเรา
เวลามีคนถามว่ากั๊กชอบอบรมอะไร ผมจะตอบว่า ไปอบรมอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่วิชาตัวเอง เพราะเราจะสามารถดึงวิชาเหล่านั้นกลับมาในวิชาเราได้ แล้วมิติของวิชาเรามันจะไปไกลกว่าแค่เรื่องตัวเอง มันต้องเชื่อมต่อกับวิชาและความรู้อื่นๆ
ปีก่อนหน้านี้ ผมได้สอนสถิติ แล้วมันทำให้ผมมีความสุขที่สุด เพราะก่อนเริ่มสอน ผมจะเอาสถิติที่อยู่ในเว็บไซต์ต่างๆ มาให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง เช่น วิธีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ยอดนิยม ซึ่งแต่ละเจ้าก็จัดอันดับออกมาไม่เหมือนกัน ผมก็ชวนให้เด็กตั้งคำถามว่า แล้วทำไมมันไม่เหมือนกัน แต่ละเจ้าในเกณฑ์อะไรที่ต่างกันบ้าง มันก็พอจะทำให้เห็นได้ว่า การจัดอันดับสถิติมันต่างกันได้แม้ในเรื่องเดียวกัน เพราะใช้จุดขายในการนำเสนอสถิติไม่เหมือนกัน กลายเป็นว่า เราได้เอาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อกับสถิติมาสอนคู่กันแล้ว
คุณคิดว่าการศึกษามันมีส่วนกับการทำให้เด็กนักเรียนค้นหาตัวเองเจอและไม่เจอมากแค่ไหนบ้าง
มีครับ และน่าจะมีอย่างที่เป็นนัยสำคัญด้วย การศึกษาเราให้เวลากับตัวเด็กน้อยไป มันไม่มีเวลาให้เขาได้ไปทดลองทำสิ่งต่างๆ น้อยมากๆ ยกตัวอย่าง วันนึงเด็กเรียน 8 คาบ และมันก็เป็น 7-8 ชั่วโมงกับการเรียนในสิ่งที่เขาไม่ชอบจริงๆ
ผมไม่ได้บอกว่า การเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบมันไม่ดีนะ เพราะผมเองก็เคยไปเรียนเปียโนที่ผมไม่ชอบเลย แต่สุดท้ายแล้วผมก็หาเงินได้จากทักษะนี้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าเราลดเวลาเรียนในสิ่งที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง หรือเพิ่มเวลาให้เขาได้ลองทำสิ่งต่างๆ มากกว่านี้ มันก็จะทำให้เขาได้ค้นพบตัวเองได้มากกว่า
ในฐานะของครู คุณคิดว่าครูต้องมีบทบาทเพื่อให้เด็กค้นพบตัวเองได้ยังไงบ้าง
อย่างแรกเลยคือลดการบ้านครับ (หัวเราะ) เพราะจำนวนการบ้านในทุกวันนี้มันคือ pain point ของเด็กมาก
จำนวนการบ้านมันทำให้เด็กหาค้นตัวเองไม่เจอด้วยหรอ
เพราะการบ้านเยอะๆ มันทำให้เด็กต้องลอกการบ้านกัน ลอกการบ้านกันเป็นวันๆ เลย เด็กบางคนบอกผมว่า วันนี้มีการบ้าน 4-5 อย่างแล้ว มันไม่มีเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นเลย เพราะเวลามันหมดไปกับการทำการบ้าน
สิ่งที่ครูพอจะทำอะไรได้ เพื่อให้เด็กค้นพบตัวเองได้มากขึ้น คือลดจำนวนการบ้าน แล้วไปเพิ่มกระบวนการอะไรก็ได้ในห้องเรียน แค่ตั้งใจสอน หรือตั้งใจเตรียมการสอนก็ช่วยเด็กได้เยอะแล้ว
เวลาพูดถึงการออกแบบห้องเรียน มันก็เป็นเรื่องทั่วไปที่ในห้องจะมีทั้งเด็กที่เรียนรู้ได้ไวกว่าคนอื่น ส่วนบางคนก็ต้องใช้เวลามากกว่านั้น เลยอยากรู้ว่าคุณออกแบบห้องเรียนยังไง เพื่อให้ทุกคนได้ไปข้างหน้าได้พร้อมๆ กันโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
มันมีเด็กที่ไปได้ก่อนจริงๆ คือสอนแล้วมีคนที่รู้เรื่องในตอนนั้นเลย แต่ก็จะมีเด็กที่ค่อยๆ เดินซึ่งไม่เร็วมาก กับอีกกลุ่มคือขอไปเตะบอลก่อนแล้วค่อยมาเดิน
สิ่งที่ผมทำคือแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์เลยครับ ว่าใน 1 ชั่วโมงเราต้องยืนตรงไหนและกี่นาที อาจจะอยู่หน้าห้องสัก 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วไปอยู่กับเด็กที่ชอบเรียนเป็นกลุ่มสัก 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นคือก็ไปโฟกัสกับเด็กที่ชอบเรียนคนเดียว การแบ่งอะไรแบบนี้ก็ช่วยได้ เด็กอาจจะไปไม่ได้พร้อมกัน แต่อย่างน้อยๆ ทุกคนก็เข้าใกล้เส้นชัยกันมากขึ้น การออกแบบห้องเรียน มันเป็นเหมือนการสร้างระบบนิเวศ
อย่างวันนี้ มันมีเรื่องที่ผมดีใจมาก เพราะมีเด็กคนนึงที่สอบตกบ่อยมาก อาจจะเพราะเขาเรียนช้าและอาจชอบเล่นชอบคุยบ้าง แต่วันนี้เขาบอกว่า เขาไปดูคลิปที่ผมสอนทิ้งไว้ใน google classroom บ่อยมากเพราะตั้งใจว่าต้องสอบผ่านให้ได้ สุดท้ายแล้ว เขาก็สอบวิชานี้ได้คะแนนเต็ม
ผมก็ดีใจมากและรู้ว่านี่ไงเขาก็ทำได้ แล้วไม่ใช่เด็กเก่งด้วย ความพยายามมันได้ผลจริงๆ มันก็เป็นระบบนิเวศนึงที่ช่วยเก็บตกเด็กได้
เรามักได้ยินคำพูดทำนองว่า อาชีพครูก็เหมือนเรือจ้างที่ส่งเด็กไปให้ถึงฝั่ง อยากรู้ว่าคุณคิดกับเรื่องนี้ยังไง
ผมไม่เคยเชื่อเลย ถ้านิยามตัวเองว่าเป็นครูสอนพิเศษ ก็โอเค ผมเป็นเรือจ้าง เพราะมันนำเงินมาให้เรา แต่ในฐานะที่เป็นครูในระบบราชการ มันทำให้เรารู้สึกว่าเด็กไม่ได้จ่ายเงินเรา ถึงแม้รัฐจะเป็นคนจ่ายเงินเรา แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาจ้างเราขนาดนั้น แต่รัฐสนับสนุนให้เราทำหน้าที่นี้
มันเลยทำให้เรากล้าพูดกับเด็กได้มากกว่าตอนที่เราสอนพิเศษ เพราะตอนสอนพิเศษเราก็กลัวว่าถ้าดุมากๆ เขาก็จะไปเรียนกับคนอื่น แต่กับการสอนในโรงเรียน มันคือคำว่า ‘ลูกศิษย์’ จริงๆ ที่ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เราก็จะภูมิใจในสิ่งที่เขาทำจริงๆ ไม่ว่าเขาจะเต้นแปลกๆ เราก็ชอบ ตีกลองไม่เก่งเราก็ชอบ เราพยายามจะบอกเขาเสมอว่า ไอ้ความบ้าบอแบบนี้มันหาเงินได้ในอนาคตนะ
แล้วการเป็นครูเปรียบเหมือนกับอะไร
ถ้าผมเองคงเป็นไวรัสมั้ง ที่แทรกซึมและรื้อระบบทีละนิด แฮกทีละหน่อย จนมันค่อยๆ เปลี่ยน
แต่อีกอันนึงคือ ครูก็คือครู ไม่ต้องเปรียบกับอะไร เดี๋ยวความหมายมันจะเปลี่ยน เพราะหน้าที่ครูคือสอน ไม่ใช่เรือจ้างที่ต้องส่งใครถึงฝั่ง แต่ช่วยกัน ครูจะได้ไม่เหนื่อย ครูก็คือครู ไม่ต้องเหมาหรือนิยามว่าเป็นพนักงานโรงเรียน หรือข้าราชการเสียทั้งหมด พอนิยามเป็นแบบอื่นการสั่งงานครูมันก็เลยมีงานนอกเยอะ แทนที่จะได้เตรียมงานสำคัญที่สุดคือเตรียมสอน กับสอนให้ดี ประเทศเรามันก็เลยได้ผลออกมาเป็นแบบนี้
ถ้าอย่างนั้นแล้วหัวใจของความเป็นครูคืออะไร
ถ้าเอาจากความรู้สึกเลยนะ ก็คงเป็นนักแก้ปัญหา เรานิยามตัวเองไว้ตอนเข้ามาทำอาชีพนี้ว่าเราอยากแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง การเป็นครูต้องมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาของเด็กในความสามารถที่เราพอจะช่วยเขาได้
หน้าที่ของครูคือผลักดันเด็กผ่านปัญหา เพื่อให้เขาสามารถเดินต่อไปได้เรื่อยๆ ลุยไปกับเด็ก เวลาเด็กมาเล่าให้เขาฟังว่าเขามีปมในชีวิต ผมก็ตอบเขาว่าทุกคนก็มีปม นึกภาพชีวิตเป็นเชือกก็ได้ว่า ปมในเชือกมันคือที่ให้เราเหยียบไปข้างบนได้ ครูคือคนที่ช่วยผลักดันให้เด็กได้ไปต่อผ่านปมเหล่านั้น
ครูในอนาคตควรจะมีบทบาทในการช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองยังไงบ้าง
ครูต้องไม่ใช่คนที่ไปตัดกำลังใจเด็ก แต่ต้องคอยประคองชีวิตและความฝันของเขามากกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ สนับสนุนความชอบของเด็ก และช่วยแนะนำว่ามันเป็นเชื้อไปทำอะไรต่อได้บ้าง
ครูควรมีส่วนตรงนี้มากๆ เพราะความชอบมันคือเชื้อในการประกอบอาชีพ และหาเงินต่อไปในอนาคตได้
ครูต้องพัฒนา mindset ให้กว้างขึ้น รู้จักที่จะยอมรับในสิ่งที่เราไม่เชื่อบ้าง
ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญ คือครูต้องเป็นคนที่ใจกว้างมาก เพราะบางทีเราไปสอนให้เด็กต้องเชื่อตามครูอย่างเดียวมันก็ลำบาก