“ไม่ใช่สโลว์ไลฟ์ ไม่ใช่ทางสายกลาง” คงต้องขอเตือนกันตั้งแต่ต้นบทความว่า ‘ลากอม’ (Lagom) หรือคอนเซ็ปต์ที่ส่งผลไปถึงวิธีคิดของชาวสวีดิชและนโยบายสาธารณะต่างๆ ของสวีเดนนั้นไม่ได้ใกล้เคียงกับ ‘ฮุกกะ’ (Hygge หรือ coziness แบบเรียบง่ายไม่หรูหรา) ของเดนมาร์กแม้แต่นิด และไม่ได้เข้าใกล้ปรัชญาทางสายกลางแบบพุทธๆ แม้แต่น้อย
‘ลากอม’ เทรนด์แรงที่ Vogue บอกว่ามาแทนฮุกกะในปี 2017 นี้ มักถูกให้ความจำกัดความผ่านโควตที่ถูกทำเป็นอาร์ตเวิร์คที่แชร์กันเกลื่อน Pinterest ว่า “Not too little, not too much. Just right.” แต่เมื่อลองมองผ่านแง่มุมทางสังคมการเมืองของสวีเดนแล้ว ลากอมคงห่างจาก “Just right.” อยู่ไกลโข ถึงบทความนี้จะไม่ได้เล่าประวัติศาสตร์สวีเดนยุคไกลและไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของสวีเดนแบบเจาะลึก แต่เชื่อเหลือเกินว่าตัวอย่างที่ยกมานี้จะทำให้ลากอมไม่ถูกจำกัดความว่า ‘เก๋หนัก’ อย่างที่สังคมออนไลน์อังกฤษและที่อื่นๆ กำลังคลั่งไคล้ และไม่ถูกนำไปเทียบกับฮุกกะบ่อยไปนัก ถึงฮุกกะเองก็มีแง่ลบและรากที่หยั่งลึกกว่าที่เราคิดไม่ต่างกัน
ไม่ว่าจะเป็นลากอมในฐานะคำศัพท์หรือ mentality ความหมายของมันต่างก็ต่างออกไปตามการรับรู้ของแต่ละคน ขนาดชาวสวีดิชเองยังให้คำจำกัดความที่ไม่เหมือนกัน ในฐานะคำศัพท์ เราไม่สามารถแปลลากอมเป็นภาษาไทยหรือแม้กระทั่งภาษาอังกฤษได้ ลากอมจึงเป็นได้ทั้ง ‘ความพอดี’ ‘ความไม่ฟุ่มเฟือย’ ‘ความไม่สิ้นเปลือง’ ‘ความพอเหมาะ’ ‘ความพอประมาณ’ ‘ความเป็นเหตุเป็นผล’ ‘ความเหมาะสม’ ‘ความยั่งยืน’ ไปจนถึงคำว่า ‘คอมมอนเซนส์’ ที่ก็คลุมเครือเหลือเกิน—แต่เหล่านี้คงเป็นแค่คำอธิบายพื้นๆ เพราะเราสามารถตีความลากอมได้หลายแบบและเอาไปใช้ได้กับหลากสถานการณ์ โดยตัวอย่างที่เห็นบ่อยที่สุดคือวัฒนธรรมการจับจ่ายทั้งสินค้าแฟชั่นและของกินของใช้
พูดถึงสินค้าแฟชั่นก็อย่างที่รู้กันว่าแบรนด์เสื้อผ้าจากสวีเดนและสแกนดิเนเวียมักจะโดดเด่นที่ความเรียบง่ายแต่ดูดี โทนสีขาวสว่างหรือเอิร์ธโทน ผลิตจากวัตถุดิบออร์แกนิค ใช้งานได้จริง และราคาจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น H&M ที่ถึงโทนสีจะไม่เรียบเท่าไหร่ แต่ราคาเอื้อมถึงและเคลมว่าใช้วัตถุดิบออร์แกนิค (แต่ก็ยังต้องสืบกันต่อไปว่าจริงหรือไม่), COS แบรนด์ในเครือ H&M ที่ไฮฯ กว่า แพงกว่า แต่ไม่แพงจนเกินไป มี modern touch ไม่ตามกระแสมาก, & Other Stories แบรนด์ในเครือ H&M เช่นกัน ราคาประมาณเดียวกับ COS แต่เฟมินีนกว่า และพรีเมียมแบรนด์อย่าง Acne Studios ขวัญใจหนุ่มสาวสายอาร์ตที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิคทนทานและเป็นสมาชิก Fair Wear Foundation เป็นต้น [1]
ส่วนอีกด้านก็เช่นการที่ทุกร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตในสวีเดนจะมีของกินของใช้แบบ ecologist ขายในทุกหมวด เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เมล็ดกาแฟ ไข่ไก่ นมชนิดต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ข้อนี้อาจจะไม่น่าแปลกใจเพราะหลายประเทศในยุโรปก็มีกัน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศ) ลามไปถึงกระแสการทำฟาร์มอย่างยั่งยืนหรือเรียกง่ายๆ อย่างคุ้นหูชาวไทยว่าฟาร์มออร์แกนิค แต่มีรายละเอียดมากกว่านั้น เช่น เจ้าของฟาร์มมีความตั้งใจส่งต่อผืนแผ่นดินนี้ดังกล่าวให้กับคนรุ่นหลัง ไม่ใช่แค่อยากทำเพราะอยากทำ และเชื่อในความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) เป็นต้น นอกจากนั้นบางฟาร์มยังยึดความคราฟท์นี้เป็นจุดขายเพื่อเรียกความสนใจคณะทัวร์ที่ต้องการซึมซับบรรยากาศดังกล่าวของสแกนดิเนเวีย [2] ที่ซึ่งในบางมุมโลกได้กลายเป็นตัวแทนของความฮิป เท่ เก๋ ชิค ในแบบที่ไม่ตื้นเขินไปแล้ว และก็แปลกดีเหมือนกันที่ในที่สุดวิถีชีวิตของชาวนาสวีดิชในอดีตซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของวิธีคิดแบบลากอมได้หวนกลับมามีบทบาทในรูปแบบของธุรกิจที่อิงกับเทรนด์ไลฟ์สไตล์
ยิ่งเมื่อขอให้อธิบายลากอมในฐานะ mentality ตัวอย่างที่ชาวสวีดิชยกมานั้นก็ยิ่งหลากหลาย ตั้งแต่การเทนมลงในกาแฟดำอย่างพอประมาณ (ซึ่งความพอประมาณของคนชอบดื่มนมกับไม่ชอบก็คงไม่เท่ากัน) หรือการที่คนสวีดิชส่วนมากมักหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้า พยายามเอาตัวออกห่างจากความขัดแย้ง และไม่แสดงออกมากจนเกินไป
Michael Booth เคยเขียนบทความเชิงจิกกัดโต้กลับกระแสเครซี่ความสุขแบบสแกนดิเนเวียของชาวอังกฤษลงใน The Guardian แบบไล่เป็นประเทศ [3] ตั้งแต่เดนมาร์ค นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และปิดท้ายด้วยสวีเดน โดยบูธอ้างถึง Åke Daun นักวิชาการรุ่นเดอะอดีตหัวหน้า Institute of Ethnology มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มและผู้เขียนหนังสือ Swedish Mentality (1989) ที่กล่าวว่า “คนสวีดิชไม่ค่อยมี ‘ความรู้สึกรุนแรง’ อย่างคนประเทศอื่นเขา” เพื่อบอกว่าจริงๆ แล้วสวีเดนเป็นประเทศ totalitarian modernism ที่เก็บกักความรู้สึกคนไว้ในนามของฉันทามติ (consensus) แต่ไม่นานนัก Lars Trägårdh ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จาก Ersta Sköndal University College Stockholm ก็ออกมาโจมตีบูธที่กล่าวหาว่าสวีเดนแบบนั้น เพราะอันที่จริงแล้ว “…modern Sweden is infused by a moral logic that seeks to balance the deep existential desire for individual freedom and social cohesion” ต่างหาก [4] ซึ่งก็ฟังดูเป็นอะไรที่มีความลากอมอยู่มากทีเดียว
นอกจากนั้นลากอมยังรวมไปถึงการไม่ทำตัวโดดเด่นกว่าคนในกลุ่มทั้งในด้านการเงินและการงาน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหลายฝ่ายมักพูดว่าคนสวีดิชค่อนข้างขี้เกียจและไม่นิยมไต่เต้าในเส้นทางสายอาชีพ และยังเป็นเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์สาย neo-liberalism หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า ชาวสวีดิชมีรายได้ต่ำลงเพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องกระโจนเข้าสู่ตลาดการแข่งขัน (กรณีนี้เชื่อมโยงกับ Law of Jante ระเบียบวิธีคิดแบบสแกนดิเนเวียน หนึ่งในรากของลากอม ที่บอกว่า ปัจเจกบุคคลไม่ได้ ‘พิเศษ’ ไปกว่าส่วนรวม เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องโดดเด่นหรือเก่งกาจกว่าคนอื่นในสังคม) รัฐบาลและนักการเมืองสวีเดนก็ถูกวิจารณ์ว่าเดินตามวิถีลากอมอยู่เรื่อยๆ เพราะมีนโยบายที่ ‘กลาง’ เกินไป ไม่ชัดเจน และไม่กล้าแตกหัก เมื่อนักการเมืองทำอะไรผิดก็ไม่ลาออกและไม่มีคนเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ เว้นแต่จะเป็นความผิดที่รุนแรงจริงๆ แถมงานเขียนหลายชิ้นยังอธิบายว่า วิธีการจัดการปัญหาที่เป็นเอกลักษณ์ของนักการเมืองสวีดิชคือ “การไม่จัดการปัญหาและไม่เผชิญหน้ากับฝ่ายที่เห็นค้านเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม”
หนึ่งในบทความที่น่าสนใจคือ ‘The Crisis of Consensus in Postwar Sweden’ [5] ของ Göran Rosenberg ในหนังสือ Culture and Crisis: The Case of Germany and Sweden (2002) โรเซนเบิร์กเสนอว่า หากแบ่งฉันทามติออกเป็นสองแบบ ได้แก่ แบบ political (value-laden) ที่จะนำไปสู่การประนีประนอม และแบบ institutional (value-free) ที่จะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การเมืองสวีเดนยุคใหม่จะวางอยู่บนฐานของฉันทามติแบบหลัง และมีแนวโน้มที่จะมองประเทศเป็น ‘หนึ่งครอบครัวใหญ่’ โดยหลายฝ่ายบอกว่าคอนเซปต์เรื่องครอบครัวใหญ่นี้มีมาตั้งแต่สมัย Social Democrats ขึ้นเป็นรัฐบาลในยุค 1930s อย่างไรก็ดีนักประวัติศาสตร์ Nina Witoszek กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า ที่มาของวัฒนธรรมสวีดิชแบบนี้มาจากแก่นแกนของศาสนาคริสต์นิกาย Lutherans ส่วนนักสังคมวิทยา Hans Zetterberg เสนอว่าน่าจะเป็นเพราะปรัชญาลากอมซะมากกว่า เพราะไม่ว่าจะดูทีวี ฟังวิทยุ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ ก็จะพบแต่บทสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดแบบไม่ใส่อารมณ์ เป็นเหตุเป็นผล และเอ่อล้นไปด้วยเนื้อหาเชิงเทคนิคราวกับจะเป็น technocrats กันเสียให้หมด
หนึ่งในตัวอย่างที่อาจจะพอจะสะท้อน ‘ความลากอม’ ในบริบทนี้ได้บ้างอาจจะเป็นวิกฤติที่อยู่อาศัยของสวีเดนที่สะกิดใจผู้เขียนมาตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่แล้วเจอแต่คำถามยอดฮิตอย่าง “หาที่อยู่ยากไหม” หรือ “มีที่อยู่หรือยัง” (แทนที่จะถูกถามว่า “ชอบอะไรที่นี่บ้าง” “ทำไมถึงเลือกมาที่นี่” “ปรับตัวได้หรือยัง” อย่างตอนย้ายไปอยู่ประเทศอื่นในยุโรป) สะท้อนว่าชาวสวีเดนหลายคนรู้สึกจริงๆ ว่า “นี่คือปัญหาระดับชาติ” สื่อแทบทุกฝ่ายชี้เป้าไปยังความขัดแย้งที่เข้มข้นขึ้นทุกวันระหว่างการทำตาม Nordic Model ที่เก็บภาษีสูงแต่สวัสดิการดีเยี่ยมกับการเอนเอียงไปในทางทุนนิยมเสรี (หรือในกรณีนี้คือระหว่างการเอนเอียงไปหานโยบายเพิ่มอัตราการสร้างที่อยู่อาศัยกับการออกนโยบายลดการกำกับดูแล) แต่ดูเหมือน Stefan Löfven นายกฯ สวีเดนจากฝ่ายกลางซ้ายจะไม่อยากเผชิญหน้าทั้งกับฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่นิยมใน institutional consensus อย่างที่เขาเคยปล่อยหมัดเด็ดไว้ว่า “Together we’ll build a stronger Sweden.” และยังคงทำตัวลากอมต่อไป ไม่ตัดสินใจอะไรใหญ่ๆ ในเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหานี้
อย่างไรก็ดีปัญหานี้รวมถึงปัญหาอื่นๆ ในสวีเดนคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ปัจจัยเรื่องการเมืองภายในและการเลือกตั้งในเดือนกันยายนปีหน้า อย่างที่ The Independent และ The Economist เคยเสนอไว้ว่าวิกฤติผู้ลี้ภัยและความ xenophobia ของชาวสวีดิชก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลิฟเวนไม่กล้าฟันธงอะไรลงไป
ปัญหาที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ของสวีเดนนั้นอยู่ในขั้นวิกฤติ และฝังรากมานานตั้งแต่ยุค 1960s ผ่านนโยบาย The Million Programme ที่รัฐบาลสมัยนั้นสัญญาว่าจะสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ปีละ 100,000 หลังต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 ปี แต่ก็ไม่สำเร็จ ก่อนถูกกระชากลงเหวอีกครั้งโดยวิกฤติเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในยุค 1990s ที่มาพร้อมกับนโยบายสนับสนุนการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่เอื้อให้ผู้รับเหมาสร้างบ้านประเภทวิลล่าและประเภทที่ผู้เช่าเป็นเจ้าของร่วม (ซึ่งก็มีแต่ครัวเรือนที่มีกำลังจ่ายสามารถเป็นเจ้าของได้ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ) สถานการณ์ในตอนนี้คือการหาอพาร์ตเมนท์หรือแฟลตในสตอกโฮล์มทั้งในเขตเมืองและเขตรอบนอกนั้นยากเย็นเอามากๆ ถึงระดับที่คาดการณ์กันว่าหากลงทะเบียนกับทางเขตจะต้องรอกันประมาณ 9-20 ปีถึงจะได้คิวเช่าระยะยาว และต้องใช้เวลาถึง 50 ปีกว่าทุกคนในคิวนับจนถึงตอนนี้จะได้รับสิทธินั้น ดังที่มีรายงานว่าในปี 2017 นี้ 255 ใน 290 เขตมีที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ และยังคงมีคนต่อคิวรอเช่าอพาร์ตเมนท์ในสตอกโฮล์มเฉียดหกแสนคนจากการสำรวจเมื่อต้นปี [6] หากรอไม่ไหวก็ต้องยอมจ่ายแพงเพื่อทำสัญญาเช่าระยะสั้นกับ landlord ที่เช่าจากเขตอีกต่อหนึ่ง แล้วก็ต้องย้ายที่เมื่อหมดสัญญา
คนที่มีอุปสรรคในการหาที่อยู่มากที่สุดคือหนุ่มสาว first jobbers และ immigrants ที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าเช่าที่พุ่งเอาพุ่งเอา ในกรณีของสองกลุ่มนี้ก็พอจะมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือไปเช่าพักแบบ co-living space แชร์พื้นที่ส่วนกลางกับหนุ่มสาวจากหลากหลายประเทศ เช่น Hus 24 ของบริษัทสตาร์ทอัพชิคเก๋ในสตอกโฮล์มชื่อ Tech Farm ที่ก็น่าพูดถึงอยู่ไม่น้อย แต่นั่นก็ยังไม่แพร่หลายมากนักและเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ได้เข้าไปสั่นสะเทือนกันถึงระดับนโยบายจนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และนับจากเดือนมกราคมปี 2016 ที่นายกฯ เลิฟเวนได้ลั่นวาจาไว้ว่า “สวีเดนต้องการการลงทุน เราต้องการความร่วมมือ” ตามมาด้วยการลงนามในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันว่าจะสร้างที่อยู่อาศัย 700,000 หลังให้ได้ภายใน 10 ปี ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไรหรือเลิฟเวนควรแก้ปัญหาแบบไหน หากแต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าตั้งคำถามกันต่อไปก็คือ ลากอมหมายถึง ‘ความพอเพียง’ ‘การสมานฉันท์’ หรือ ‘การปรองดอง’ อย่างที่หลายฝ่ายพยายามเชื่อมโยงจริงหรือไม่ ความสุขแบบสแกนดิเนเวียนคืออะไร คนสวีดิชโดยเฉพาะคนอายุน้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มีความสุขจริงไหม [7] และแน่ใจหรือว่าแค่เชื่อในปรัชญา ‘ลากอม’ แล้วมนุษย์จะมีความสุขได้จริง?
อ้างอิงข้อมูลจาก
[5] Rosenberg, Göran. “The Crisis of Consensus in Postwar Sweden.” In Culture and Crisis: The Case of Germany and Sweden, edited by Nina Witoszek and Lars Trägårdh, 170-197. New York: Berghahn Books, 2002.
[7] The Economist เคยรายงานผลสำรวจที่น่าสนใจว่าชาวยุโรปยิ่งอายุน้อยจะยิ่งมีความสุข แต่กับประเทศในยุโรปที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า คนที่มีความสุขคือคนอายุมาก โดยเฉพาะในอังกฤษ สวีเดน และเดนมาร์ก อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.economist.com