คุณกำลังนั่งมองภาพรวงข้าวในท้องทุ่งต้องแสงสีทอง เบื้องหลังเป็นสันเขาสวยโค้งมน คุณหลับตาจินตนาการถึงลมเบาๆ ที่พัดให้หมู่แมลงบินไหว เสียงนกป่าลอยมาแต่ไกล คุณคิดไปอีกว่าคงจะดี ถ้าได้ที่ดินแบบนี้สักผืน แล้วเปิดร้านกาแฟเล็กๆ เพื่อตอนเช้าจะได้นั่งดริปกาแฟ พลางดูพระอาทิตย์ไต่ขึ้นจากสันเขา
แต่จะเชื่อไหม ถ้าเราบอกว่าที่ดินแปลงนั้น ที่คุณกำลังฝันนั่นแหละ มีเจ้าของอยู่แล้ว ตั้งสติแล้วตัดใจเสียเถอะ …
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ว่าแย่แล้ว แต่ปัญหาที่ดินกระจุกตัวกลับซ้ำร้ายกว่า เพราะจากงานวิจัยของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือ Gini Coefficient ของการถือครองที่ดินในประเทศไทยสูงถึง 0.89 (สูงสุดคือ 1)
อาจเพราะสาเหตุเข้าใจได้ไม่ยากอย่าง ที่ดินมีเท่าเดิม แต่คนมีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น เศรษฐีย่อมพึงใจที่จะลงทุนกับสินทรัพย์ที่เก็บไว้ไม่มีบูดอย่างที่ดิน ซึ่งมีแต่จะให้ผลกำไรงอกงามมากขึ้นทุกวัน มากกว่าไปนำฝากธนาคารเสียด้วยซ้ำ
จึงไม่แปลกนัก ที่เราอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าทำนองว่า เจ้าสัวคนหนึ่งนั่งรถเดินทางไปคุยธุรกิจในต่างจังหวัด ก่อนเจอที่ดินแปลงหนึ่งที่ถูกอกถูกใจ เลยบอกให้เลขาฯ ของตัวเองไปติดต่อขอซื้อที่ดินจากเจ้าของ แต่เลขาฯ กลับพูดเสียงราบเรียบว่า “ท่านไม่ต้องติดต่อใครหรอกครับ เพราะเจ้าของก็คือท่านเองนั่นแหละ”
แต่พูดให้แฟร์ ในระบบทุนนิยม ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่เก็บที่ดินย่อมมีสิทธิ์เก็บ ฉะนั้น ไม่ใช่เหล่าเศรษฐี แต่เป็นกฎหมายหรือเปล่า ที่ควรทำหน้าที่ผดุงความเสมอภาค สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นมากที่สุด
สถานการณ์ที่ดินในไทย
ข้อมูลจากงานวิจัย ‘รวยกระจุก จนกระจาย: ความเหลื่อมล้ำกับการปฏิรูปภาษีที่ดิน’ ของ รศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ชี้ว่า คนเพียง 1 เปอร์เซนต์ของประเทศ ถือครองที่ดินมากถึง 22,522,047 ล้านไร่ หรือมากกว่าพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกรวมกัน ขณะที่ร้อยละ 20 ของกลุ่มที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด กลับถือครองที่ดินเพียงแค่ 232,790 ไร่
โดยบุคคลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดมีที่ดิน 631,263 ไร่ หรือเกือบใกล้เคียงพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตสองจังหวัดต่อกัน ขณะที่ผู้ถือครองเล็กที่สุดมีเพียงแค่ 1 ตารางวาเท่านั้น
และราคาที่ดินมีแต่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน จนล่าสุด กรมธนารักษ์ประเมินว่า ราคาที่ดินในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ไร่ละ 2.1 ล้านบาท ขณะที่ที่ดินในอำเภอเมืองเชียงใหม่ อาจไปไกลมากถึงไร่ละ 20 ล้านบาท
ทางด้าน แผ่นดินที่ราบสูบ ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไมย ราคาประเมินที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมือง สูงที่สุด (ถนนอุปราช) อยู่ที่ 105,000 – 110,000 บาทต่อตารางวา หรือถ้าใครหลงรักทิวทัศน์ของเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ราคาที่ดินถนนติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลขสอง สูงถึง 43,000 บาทต่อตารางวา
หรือถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนเมืองกรุง และไม่อยากไปไหนไกลจากครอบครัว ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างใกล้ตัว โดยราคาประเมินที่ดินรอบบริเวณแขวงเสนานิคม เขตจตุจักร สูงที่สูดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อตารางวา และต่ำสุดอยู้ที่ 35,000 บาทต่อตารางวา และจากการประเมินของ บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ที่ดินในกรุงเทพฯ โซนที่แพงที่สุดอยู่แถวย่าน สยาม-ชิดลม และเพลินจิต-สุขุมวิท ช่วงต้นซอย โดยราคาสูงถึงไร่ละ 1,200 ล้านบาท
ถอดถอนใจสักสิบที ข้าพเจ้าต้องเป็นนักข่าวกี่ศตวรรษ ถึงจะซื้อที่ดินบนถนนสยาม-ชิดลม ได้สักผืนนึง
พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562
แรกเริ่มเดิมที ประเทศไทยมีแผนที่จะบังคับใช้ใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2562 ในช่วงต้นปี (มกราคม) 2563 อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยอ้างว่าไม่สามารถจัดทำกฎหมายลูกได้ทัน จึงมีการเลื่อนบังคับใช้ออกไปจนถึงเดือนสิงหาคม และมีการเลื่อนออกไปอีกครั้ง เพราะพิษไวรัส Covid-19 ให้ไม่มีการจัดเก็บจนกว่าจะสิ้นเดือนตุลาคมปี 2564
กฎหมายภาษีที่ดินฉบับดังกล่าว แบ่งประเภทของที่ดินออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ สิ่งปลูกสร้าง, เกษตรกรรม, พื้นที่รกร้าง และอื่นๆ
สำหรับ ภาษีที่ดินเกษตรกรรมจะเก็บเฉพาะที่ดินที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะเก็บในอัตราปีละ 0.01 และสำหรับที่ดินเกษตรกรรมที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะเก็บในอัตราร้อยละ 0.1
สำหรับภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างจะเก็บเฉพาะคนที่มีบ้านหลังแรกในมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 0.02 แต่จะเก็บไม่เกินร้อยละ 0.3 และสำหรับใครที่มีบ้านหลังที่สองเป็นต้นไปจะเก็บในอัตราขั้นบันได แต่ไม่เกินร้อยละ 0.3
ขณะที่ภาษีที่ดินอื่นๆ อาทิ ปลูกห้องแถวให้เช่า หรือให้เช่าที่ดินทำเกษตรกรรมเอง จะต้องเสียภาษีร้อยละ 0.3 อย่างไม่มีข้อกำหนด
และทางด้านภาษีที่ดินรกร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านจะเก็บในอัตราร้อยละ 0.3 ต่อปี และเป็นร้อยละ 0.7 สำหรับที่ดินที่มีมูลค่ามากกว่านั้น ทั้งนี้ หากปล่อยที่ดินไว้รกร้างต่อไป อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ทุกๆ สามปี แต่เพดานสูงสุดคือไม่เกินร้อยละ 3
ฟังดูเหมือนดีใช่ไหมครับ แต่ในความเป็นจริง ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นราวปีละ 7-8 เปอร์เซนต์ หรือเรียกได้ว่า ตัวที่ดินเองมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าภาษีที่ต้องจ่าย นอกจากนี้ เราน่าจะเห็นข่าวที่ว่าที่ดินรกร้างหลายแปลง ขณะนี้กลายเป็นสวนกล้วย สวนมะนาว หรือสวนอะไรต่อมิอะไรเรียบร้อยแล้ว
เมื่อกฎหมายไม่ถูกออกแบบเพื่อแก้ปัญหา
เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า รากของปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินมาจาก 3 สาเหตุ
หนึ่ง ความยากจนในภาคเกษตรกร ที่บีบให้เกษตรกรต้องขายหรือจำนำที่ดินออกไป จนโดนยึดในที่สุด
สอง ที่ดินในเมืองมีการกระจุกตัวมาตั้งนานแล้ว (สมัยเจ้าขุนมูลนาย)
และสาม ตลาดที่ดิน ซึ่งอนุญาตให้มีการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร ทำให้คนที่ได้เปรียบสามารถกว้านซื้อที่ดินและเก็บเอาไว้ได้
โดยเขามีความเห็นคล้ายกับ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่กฎหมายภาษีที่ดินฉบับนี้ จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านที่ดิน และทำให้เกิดการกระจายที่ดินสู่วงกว้างจริง
โดย ดร.ดวงมณี มองว่า อัตราการเก็บภาษีที่ระบุในกฎหมายฉบับนี้ต่ำเกินไป เพราะขณะที่ที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 7-8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ภาครัฐกลับสามารถเก็บภาษีจากที่ดินได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 (มากสุด) จึงอาจไม่จูงใจพอให้เกิดการปล่อยขายที่ดิน
นอกจากนี้ กฎหมายยังมีช่องโหว่มากเกินไป อย่างภาษี่ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ยกเว้นภาษีสำหรับบ้านหลังแรกให้ถึงมูลค่า 50 ล้านบาทนั้น เธอตั้งคำถามว่าจะมีสักกี่คนที่มีมูลค่าบ้านขนาดนั้น เช่นเดียวกับที่ดินเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรเช่าต่อจากเจ้าของที่ดินมาอีกที
เธอเสนอว่า ควรมีการปรับรายละเอียดภาษีสิ่งปลูกสร้างให้เริ่มจัดเก็บที่บ้านมูลค่า 5 ล้านบาทก็เพียงพอ เช่นเดียวกับ ภาษีที่ดินเกษตรกรรมที่ควรปรับลดให้เหลือ 5 ล้านบาท และถ้าหากจะมีการยกเว้นควรพิจารณาเป็นรายๆ ไปมากกว่า
เธอกล่าวต่อว่า การจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องใหญ่หากทุกคนจะต้องจ่ายภาษีให้ภาครัฐนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่น
นโยบายภาครัฐคือกุญแจสำคัญ
เดชรัตน์มองว่า สำหรับภาคเกษตร ภาครัฐควรอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีหลังพิง ไม่ต้องไปวางจำนำที่ดินกับแหล่งเงินกู้อื่น จนทำให้ที่ดินหลุดมือในท้ายสุด
เขายังยกโมเดลของไต้หวันว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากลองกลับไปทำการเกษตร ภาครัฐควรเป็นตัวกลางในการเจรจาหาที่ดินจากเกษตรกรรุ่นเก่าที่ทำไม่ไหวแล้ว และปล่อยให้เกษตรกรรุ่นใหม่เช่าพื้นที่จากเกษตรกรรุ่นก่อน และถ้าหากเกิดชอบ หรือทำได้ดี อาจมีการเจรจาซื้อขายกันต่อไป
ทางด้าน ดร.ดวงมณี ยอมรับว่าประเทศไทยกลายเป็นทุนนิยมเต็มขั้น และยากเกินกว่าที่ออกกฎหมายเขิงสังคมนิยม อาทิ การจำกัดที่ดินในการครอบครอง ฉะนั้น เธอมองว่า กลไกตลาดและการตั้งภาษีที่ดินยังเป็นคำตอบที่จะทำให้เกิดการกระจายที่ดินสู่คนจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเธอมองว่าในบางกรณีชาวบ้านเหล่านั้น อยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนอยู่แล้ว ฉะนั้น รัฐไม่ควรขับไล่เขาออกไป เพราะจะนำไปสู่ปัญหาวนเวียนไม่รู้จบ แต่ควรออกโฉนดชุมชนให้แก่คนกลุ่มนี้ และสร้างข้อตกลงควบคู่กันไป อาทิ ให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาธรรมชาติ เป็นหูเป็นตาให้กับราชการเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าส่วนอื่นๆ
และข้อเสนออีกข้อที่อาจารย์ทั้งสองท่านเห็นร่วมกันคือ ธนาคารที่ดินควรทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาที่ดินกระจุกตัว โดยอาจเป็นคนกลางให้ภาคเอกชนเข้ามาฝากที่ดินให้เช่า หรือเข้าไปซื้อที่ดินรกร้างด้วยตัวเอง แล้วนำมาแต่งรูป จัดระบบ ก่อนขายหรือปล่อยเช่าให้แก่ประชาชนในราคาที่ยุติธรรม
อ้างอิง:
Illustration by Sutanya Phattanasitubon