ถึงตัวฉันในวัย 7 ขวบ ตอนนี้กำลังตั้งใจเรียนวิชาประวัติศาสตร์อยู่แน่เลย จำได้ว่าอยากเป็นนักโบราณคดี อยากเห็นมัมมี่ของจริงนี่นะ แม้วันนี้ตัวฉันในวัย 30 ปีจะไม่ได้เป็นนักโบราณคดีอย่างที่เธอฝันไว้ แต่อย่างน้อยตอนนี้ฉันก็เที่ยวต่างประเทศได้สนุกมากเลยนะ เพราะความรู้ที่เธอเคยตั้งใจเรียนในตอนนั้นไง
นานเท่าไหร่แล้วที่เราไม่ได้รับจดหมายจากใครสักคน มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการเขียนจดหมายถึงคนที่เรารักหรือคนใกล้ชิดเพื่อส่งความรู้สึกดีให้แก่กันจะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขมากขึ้นได้จริง ลองมาเขียนจดหมายถึงคนที่เรารักที่สุดกันเถอะ ซึ่งคนคนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘ตัวเราเอง’
จดหมายสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง
การเขียนจดหมายเป็นวิธีหนึ่งที่ถูกใช้ในการบำบัดอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเราใช้ปลายปากกาจรดลงบนกระดาษ ใส่ความรู้สึกลงในทุกตัวอักษรที่เขียน ดำดิ่งลึกลงไปในใจของตัวเองว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ ในตอนนั้นเราจะรู้สึกว่าใจสงบลงอย่างน่าประหลาด
เมื่อเราเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ การเก็บกดอารมณ์เอาไว้จะก่อให้เกิดความเครียดในระยะยาว การเขียนจึงเหมือนกับเปิดใจตัวเอง เปิดโอกาสให้ตัวเองแสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นออกมา
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Behavioral Medicine ในปี 2002 ว่าด้วยการให้กลุ่มคน 3 กลุ่ม มาเขียนบันทึกต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 เดือน ผลปรากฏว่ากลุ่มที่นักวิจัยให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจหรือความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่นั้น มีมุมมองต่อเรื่องราวเหล่านั้นในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากที่ได้เขียนบันทึก
อีกหนึ่งเหตุผลของการเขียนจดหมายเป็นเพราะการได้อ่านจดหมายจากใครสักคนจะสร้างความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ให้กับใจเราได้เสมอ ในวันที่ผู้คนไม่ส่งจดหมายหากันอีกต่อไป การได้รับจดหมายสักฉบับนั้นเป็นเรื่องแสนพิเศษ แม้ว่าเราจะเป็นคนเขียนเองและส่งให้ตัวเองก็ตาม
เผชิญหน้ากับความเสียดายที่เคยพยายามลืมมันไป
ความเสียดายเป็นความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางใจได้เสมอเมื่อเรานึกถึงมันขึ้นมา เราจะเริ่มคิดว่า ทำไมตอนนั้นเราถึงทำแบบนี้ ทำไมตอนนั้นเราถึงไม่ทำแบบนั้น และเริ่มเดินวนอยู่กับที่ด้วยการหาคำตอบ ให้กับคำถามที่เราหาคำตอบไม่ได้
เราหลบเลี่ยงความเสียดายไม่ได้ ไม่แปลกที่หลายคนพยายามจะลืมความเสียดาย กล้ำกลืนมันลงคอไป และไม่เอากลับมาคิดอีก แต่การเก็บมันไว้โดยไม่ได้จัดการกับมันมีแต่จะย้อนมาทำให้เราเจ็บปวดได้อีกครั้ง (และอีกหลายครั้ง) ในวันที่เราเหนื่อยล้าจนก้าวต่อไม่ไหว คำถามที่หาคำตอบไม่ได้ก็จะวนกลับมาหาเราอีก ทำไมตอนนั้นเราไม่เลือกอีกทางกันนะ ไม่งั้นคงไม่ต้องมานั่งเครียดอยู่แบบนี้หรอก
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความเสียดายนี่แหละ ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ ถ้าเราค่อยๆ คลี่มันออกมา การเขียนจดหมายถึงตัวเองในวัยเด็กเป็นเหมือนกับการสำรวจใจตัวเองว่ายังมี ‘ความเสียดาย’ ที่ติดค้างอยู่ในใจหรือเปล่า แม้เราจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่เราสามารถเผชิญหน้ากับมัน ยอมรับให้มันเป็นส่วนหนึ่งของเรา และเรียนรู้จากมันได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นในอนาคตด้วย
เริ่มเขียนยังไงดี เรามีไอเดียมาให้
ที่จริงแล้วการเขียนจดหมายไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าจะต้องเขียนอะไร แต่เราเข้าใจว่าจะต้องมีหลายคนที่ไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหนอย่างแน่นอน เราเลยทำตัวอย่างจดหมายมาให้เป็นไอเดียในการเขียน จะพิมพ์ในโทรศัพท์หรือจะเขียนลงกระดาษก็ได้เหมือนกันนะ แต่เราแนะนำว่าถ้ามีเวลา เขียนลงในกระดาษจะดีกว่า เพราะจะช่วยเรื่องสมาธิด้วย
เริ่มจากเล่าเรื่องตัวเราเองในปัจจุบันก่อนว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ เรามาไกลแค่ไหนแล้วจากจุดที่ตัวเองฝัน หรือถ้าเดินไม่ถึงฝันก็ไม่เป็นไร แค่เล่าเพื่อให้ตัวเองได้รู้ว่าตอนนี้เราฝ่าฟันมาอยู่จุดไหนของชีวิตแล้วก็พอ เราเชื่อว่าไม่ว่าตอนนี้จะทำอะไรอยู่ ตัวเราในวัยเด็กจะไม่ผิดหวังหรอกนะ ถึงจะไม่ใช่แบบที่เคยคิดไว้ มันก็น่าตื่นเต้นดีนี่ ที่เราได้ทำอะไรที่มันแตกต่างออกไป
เล่าเสร็จแล้ว เรามาเผชิญหน้ากับความเสียดายกัน ถ้าย้อนเวลากลับไปในวัยเด็กได้ อยากจะแก้ไขเรื่องอะไร สำรวจลึกเข้าไปในใจของตัวเองว่ามีความเสียดาย ความเสียใจอะไรที่นึกขึ้นมาทีไรก็ไม่สบายใจทุกทีไหม เขียนระบายเท่าที่ตัวเองอยากระบายเลย แม้ว่ามันจะไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรในอดีตได้ แต่อย่างน้อยการเขียนก็จะช่วยคลายปมที่ผูกแน่นไว้นานหลายปีได้
ไม่ว่าความเสียดายที่เล่านั้นจะเป็นอะไร เราได้เรียนรู้อะไรจากมัน เราให้คำแนะนำอะไรกับตัวเราในวัยเด็กได้บ้าง เขียนลงไปให้เต็มที่เลย เพราะที่จริงแล้วคำแนะนำเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ให้ตัวเราในตอนเด็กหรอก แต่เป็นตัวเราที่จะมาเปิดอ่านจดหมายนี้อีกครั้งต่างหาก
ช่วงท้ายของจดหมาย ลองให้กำลังใจตัวเองหน่อย ตอนนั้นเรากำลังทำอะไรอยู่นะ ตั้งใจเรียนคณิตศาสตร์เพื่อเป็นนักบินอวกาศใช่ไหม โอเค ตั้งใจเรียนให้เต็มที่เลยนะ เจ้าเด็กน้อย เธอทำได้อยู่แล้ว ส่งพลังบวกให้เต็มที่เลย ตัวเราในวัยเด็กที่ได้รับจดหมายฉบับนี้จะต้องใจพองฟูอย่างแน่นอน
เก็บจดหมายฉบับนี้เอาไว้ แล้วค่อยกลับมาเปิดอ่านอีกทีในวันที่เหนื่อยล้านะ
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk