นี่ๆ แกร ชั้ลจะบอกให้ว่าเราจะดูว่าผู้ชายที่เดทกะเรา ‘เวิร์ก’ ไหม แกรก็ทำงี้ พาไปร้านแพงๆ พาเพื่อนเราไปเยอะๆ แล้วดูว่าฮีจะเปย์ไหม ถ้าผู้ชายให้หารในเดทแรก หรือทำงกๆ เงิ่นๆ แบบนี้ก็ไม่โอเนอะ ว่าไหมแกร
ข้างต้นเป็นพี่สอนน้องเวอร์ชั่นออนไลน์ ที่แพร่หลายและถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปหลายๆ แง่ เอาเป็นว่า ถ้าจะสุดโต่งขนาดไปล้มทับแล้วดูว่าหนุ่มที่เราเดทด้วยจะยอมไหม ก็ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ กลายเป็นว่าเงินกลายเป็นปัจจัยหลักในการประเมินความสัมพันธ์ที่เรากำลังมองหาอยู่ ความรักฟังดูถูกจำกัดด้วยมูลค่ายังไงชอบกล
แต่ ถ้าไม่ได้พูดถึงมุมที่สุดโต่งขนาดคำสอนข้างบนนั้น ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่อง ‘เงิน’ ที่มันฟังดู ‘ไม่โรแมนติก’ เล้ย จริงๆ แล้ว ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์หรือความรักของเราเหมือนกันเนอะ
ใครล่ะจะจ่ายในการเดท บอกว่าใครจะเป็นผู้นำหรือผู้ตาม?
ดั้งเดิม เราอยู่ในโลกที่ผู้ชายและผู้หญิงมีสถานะที่ต่างกัน สังคมมองว่าเวลาที่จะสร้างความสัมพันธ์ใดๆ ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เป็นฝ่ายชวนไปเดท เป็นฝ่ายเลือกร้าน เลือกเมนูอาหาร แล้วก็จบลงด้วยการเป็นคนจ่ายเงินไปตามระเบียบ
ฟังดูเป็นมารยาทที่โอเค ก็เป็นผู้ชายนี่นา ก็ต้องเริ่มก่อนสิ แต่นักจิตวิทยาก็บอกว่า ไอ้การที่เรายอมรับความคิดแบบนี้มันก็เป็นการรับเอาความเชื่อเรื่องบทบาทของแต่ละเพศไปโดยปริยาย ที่ให้ผู้ชายเป็นผู้นำ เป็นผู้ตัดสินใจแล้วฝ่ายหญิงก็เป็นผู้ตาม คือถ้าเป็นสมัยก่อนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในแนวนั้น เป็นยุคที่ผู้หญิงยังทำงานหาเงินเองไม่ได้ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้หญิงก็เกิดจากการแต่งงานมีครอบครัวที่มั่นคง แต่ปัจจุบันผู้หญิงเองก็สามารถสร้างความมั่นคงได้ด้วยตัวเอง
อนึ่ง ผู้หญิงก็มีไพ่เหนือกว่า
ถึงจะบอกว่าโลกสมัยใหม่ผู้ชายและผู้หญิงจะเท่าเทียมกันแล้ว แต่ในแง่ของความสัมพันธ์ โดยทางชีววิทยาฝ่ายหญิงก็มีแนวโน้มที่จะมีภาษีเหนือกว่าเพศชาย
ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยความที่เพศหญิงมีข้อได้เปรียบในการสืบทอดลูกหลาน ดังนั้นเพศหญิงจึงถือไพ่เหนือกว่าเพศชาย เราจึงเจอพฤติกรรรมการ ‘เปย์’ ที่สิ่งมีชีวิตเพศชาย ใช้ทรัพยากร ของขวัญและพวกอาหารมาดึงดูดและเอาชนะใจเพศเมียได้ในหลายๆ สายพันธุ์ เป็นกระบวนการที่เพศชายดึงดูดเพศหญิงผ่านการแสดงออกถึง ‘ฐานะ’ และ ‘สถานะ’ ของตัวเอง ว่านี่ เรานี่เป็นเพศผู้ที่มีศักยภาพนะ อยู่ในส่วนยอดๆ ของพีระมิดนะ สนใจมาจับคู่กันมั้ยจ๊ะ
ฐานะ/สถานะ เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเป็นไปได้ของความรัก
เราอาจรู้สึกว่า ความรักเป็นเรื่องอุดมคติของคนสองคน แต่นักสังคมวิทยาบอกว่า จริงๆ แล้วความรักของเราถูกปัจจัยเรื่องสถานะและความเหมาะสมต่างๆ มากำหนดความเป็นไปได้ต่างๆ มากกว่าจะเป็นแค่เรื่องความรู้สึกล้วนๆ
ถ้าเราไม่ได้เป็นประเภทนักไต่เต้าทางสังคม ลึกๆ เวลาที่เราพิจารณาคนที่เราจะเดทด้วย เราก็ต้องมีการคิดถึงความเหมาะสมในแง่ของฐานะหรือสถานะทางสังคมด้วยแหละ จริงไหม
กระบวนการทางสังคมก็มีวิธีการคัดเลือกที่สำคัญ คือการหล่อหลอมรสนิยมต่างๆ ให้กับเรา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการคัดเลือกหรือกำหนดความเป็นไปได้ในการสร้างครอบครัวต่อไปในอนาคต
คนที่มีฐานะกลางๆ ก็จะมีฐานะในระดับนึง ซึ่งฐานะนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน กินข้าวร้านไหน เดินห้างอะไร ไปเที่ยวที่ไหน ซึ่งคนที่มีฐานะใกล้ๆ กัน ก็จะมีรสนิยมใกล้เคียงกัน สุดท้ายมันก็จะมากำหนดความเป็นไปได้ ทั้งความเป็นไปได้ที่จะเจอกัน ได้ใช้เวลาร่วมกัน มีจริตคล้ายๆ กัน ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีโอกาสพัฒนาไปข้างหน้าได้ต่อ
ยิ่งใกล้ อัตราความรักที่ประสบความสำเร็จยิ่งสูงขึ้น
มีงานศึกษาที่พยายามทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์บอกว่า ปัจจัยของความรักที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยหนึ่งคือ ‘เราอยู่ใกล้กันแค่ไหน’
คำว่าอยู่ใกล้กันแค่ไหนที่ว่าไม่ได้เน้นสวยงาม แบบอยู่ในใจเธอ แต่หมายถึงว่าบ้านเราอยู่ใกล้กันแค่ไหน งานสำรวจพบว่าอัตราความรักที่สำเร็จไปจนถึงการแต่งงานนั้นผกผันกับระยะห่างของที่พักระหว่างคนทั้งคู่ คือ 54% ของคู่แต่งงานที่ตอนเดทกันอยู่ห่างกันแค่ 16 ช่วงตึกหรือน้อยกว่านั้น ตัวเลขของการแต่งงานจะยิ่งลดลงเรื่อยๆ ตามระยะห่างของบ้านของแต่คน
เหตุผลก็สอดคล้องกับด้านบนคือ ยิ่งบ้านอยู่ใกล้กันเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ทั้งคู่จะได้ใช้เวลาร่วมกัน และยิ่งมีโอกาสเจอกันมากและนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะรักกันมากขึ้นมันจะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม และถ้าเรามองว่าการที่คนจะอยู่ย่านเดียวกันได้ ก็มักจะมีพื้นเพ มีฐานะ มีสถานะทางสังคมใกล้เคียงกัน ตรงนี้เองคือปัจจัยที่ไม่โรแมนติกนัก
เราอยู่ในยุคที่ซับซ้อนขึ้น เราเจอผู้คนในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น บางครั้งความรักก็เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้อยู่ตามกรอบหรือเกณฑ์ใดๆ อย่างที่เคยคาดหวังหรือคาดหมายเอาไว้
การให้เกียรติกันระหว่างคนสองคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และยังคงทำให้ความสัมพันธ์โรแมนติกได้อยู่ แต่ปัจจัยไม่โรแมนติกทั้งหลาย เช่น จะกินข้าวร้านไหน ใครจ่าย โดยนัยแล้วแสดงและเน้นย้ำถึงสถานะ รวมไปถึงความตั้งใจที่จะดูแลกันและกัน ซึ่งความรักเป็นเรื่องของการดูแลและให้เกียรติกันและกัน ตรงนี้เองที่คนสองคนจะจัดการกับประเด็นไม่โรแมนติกยังไงให้รับได้ มีความพอดี และเพื่อให้ความสัมพันธ์สามารถงอกเงยต่อไปได้
สุดท้าย เงิน ฐานะและสถานะก็เป็นเรื่องที่มีผลกระทบแหละ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกเอามาคิดเป็นอันดับแรกเนอะ ให้มันเป็นเรื่องรองที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะดีกว่า