You always hurt the one you love
The one you shouldn’t hurt at all
You always take the sweetest rose
And crush it till the petals fall
มีเพลงของวง The Mills Brothers ชื่อเพลงว่า You Always Hurt The One You Love เนื้อเพลงก็ตามชื่อ คือเรามักจะทำร้ายคนที่เรารัก ทั้งๆ ที่เป็นคนที่เราไม่ควรทำร้ายเลยซักนิด เรามักทำลายหัวใจที่แสนดีต่อเราด้วยคำพูดร้ายๆ ที่เราไม่อาจกู้คืนมาได้ ดังนั้นถ้าคืนนี้เราเผลอไปทำร้ายหัวใจเธอเข้าล่ะก็ แปลว่าเรารักเธอมากกว่าใคร
ฟังดูเป็นกระบวนการที่เราพอจะมีประสบการณ์ร่วมกัน ที่รักใครแล้ว ในกระบวนการของความรักก็มักมีการทำร้ายหรือสร้างบาดแผลให้แก่กันไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง อย่างเบาๆ ก็ด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ ด้วยการประชด ถ้าร้ายๆ (และต้องเฝ้าระวัง) ก็ถึงขั้นลงไม้ลงมือ สาดน้ำใส่หน้า ขว้างปาข้าวของ ใช้คำพูดเสียดแทงกันแรงๆ
Deborah South Richardson ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่ง Georgia Regents University ก็รู้สึกว่า และสงสัยว่าทำไมเราถึงทำร้ายคนที่เรารักกันนักนะ เลยจัดการลงมือศึกษา ‘พฤติกรรมก้าวร้าวในชีวิตประจำวัน’ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นพฤติกรรมที่คนที่ใกล้ชิดกัน รักกันนี่แหละที่ลงมือทำร้ายกันในรูปแบบต่างๆ ผู้วิจัยบอกว่า “คนที่มีแนวโน้มจะทำให้เราเจ็บ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่เรารู้จักนี่แหละ ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน”
เพราะความใกล้ จึงเจ็บปวด
คำตอบที่พื้นฐานที่สุดคือ ก็เพราะว่าอยู่ใกล้ชิดกันไง คือมันมีการใช้เวลาด้วยกันเยอะๆ เลยมีทั้งดีและไม่ดี เลยเปิดโอกาสที่จะทิ่มแทงกันได้บ่อยๆ ไม่ได้ตั้งใจซะหน่อย
จากการศึกษาของ Richardson ที่เธอเรียกว่ามันคือ ‘การรุกรานในชีวิตประจำวัน (everyday aggression)’ พบว่าคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยที่สุด เช่น คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก เป็นคนที่มีแนวโน้มจะทำให้เราโมโหมากที่สุด การทำร้ายกันก็มีทั้งทางตรงไม่ว่าจะทางกายหรือทางคำพูด ไปจนถึงทางอ้อมเช่นการปล่อยข่าวลือหรือการเงียบใส่ ซึ่งในที่สุดแล้วการสร้างความร้าวรานเหล่านี้ก็ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์นั้นๆ (แหงล่ะ!)
ไม่ได้ทำร้ายจริงๆ ก็อันตรายนะ
ความก้าวร้าวรุนแรงเป็นเรื่องที่ต้องระวังอยู่แล้วเนอะ บางคนอาจจะบอกว่าก็มันอยู่ใกล้กัน กระทบกระทั่งมันก็ต้องมีบ้าง ไม่ได้ตั้งใจจะลงมือให้เจ็บปวดจริงๆ ซะหน่อย
คุณพี่ Richardson ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำร้ายกันของเราเนี่ย ก็บอกว่าก็ไม่เชิง เพราะสิ่งที่สำคัญคือ ‘เจตนา’ ประมาณว่าโอเค เรารู้แหละว่า หืม โมโหเหลือเกิน อยากจะเอาเครื่องซักผ้าทุ่มใส่หน้า แต่นี่ก็ไม่ทำไง เลยแค่ตั้งใจปั้นแต่งคำขึ้นมาแทนมีดเพื่อเสียดแทงความรู้สึกแทน ไม่ได้เลือดตกยางออกใดๆ ซึ่งผู้วิจัยบอกว่า ไอ้เจตนาและการตระหนักรู้ว่าพอทำไปแล้วเขาจะเจ็บ หรือทำไปเพื่อให้เจ็บนี่แหละที่ต้องระวัง
เธอบอกว่าคนเราเวลาจะทำร้าย (ความรู้สึก/ร่างกาย) ใคร มันตระหนักและเจตนาเสมอแหละ
รักเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ
เอาจริง เราเองก็ไม่ได้ร้ายขนาดนั้น คือเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายคนที่เรารักตลอดเวลาหรอก แค่อย่างที่บอกคือด้วยความที่อยู่ใกล้กัน โอกาสเลยมีมาก และที่สำคัญคือ กระบวนการของความรัก ด้วยตัวมันเองมันเป็นกระบวนการที่เข้มข้นรุนแรงอยู่แล้ว
ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ที่ใกล้ชิดและความรู้สึกที่คนทั้งสองมอบให้กันก็เต็มไปด้วยความเข้มข้นรุนแรง ความรักเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งสองให้แก่กันและแน่นอนว่าคาดหวังที่จะได้รับจากอีกฝ่ายด้วย ทีนี้ไอ้ความรักมันก็โคตรจะเป็นนามธรรม แต่ละคนก็มีวิธีปฏิบัติที่ต่างกันออกไป ปัญหาคือ ด้วยความใกล้ชิดและเข้มข้นทางความรู้สึกนั้น มันก็มักจะเกิดการสะดุดๆ กันบ้าง ฝ่ายนึงอาจจะรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ตอบสนองกับความรักที่เราให้ไป หรือตอบสนองไม่พอ ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจ
ซึ่งพอเกิดความไม่สมมาตรทางความรู้สึกปุ้บ ประมาณเรารู้สึกว่าเรารักเขาจะตาย แต่เขาไม่รักเราตอบ เราก็จะรู้สึกเจ็บปวดและทำให้ตัวตน (self esteem) ของเราสั่นคลอน
ผลคือพอเราเจ็บ เราก็มีแนวโน้มที่จะทำให้อีกฝ่ายเจ็บไปด้วย
ความรักความสัมพันธ์เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน และก็รู้อยู่ว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่เราพึงรักษาไว้
ดูเหมือนว่าในกระบวนการของการรักและความรักมักมีความเจ็บปวดปนเปอยู่ด้วยเสมอๆ
ดังนั้นการรักษาในกระบวนการรัก ดูเหมือนว่ามันคือการที่เรารักษาบาดแผลที่เกิดจากความสัมพันธ์ของคนสองคนในระดับที่ทั้งสองฝ่ายยังรับบาดแผลและเยียวยาซึ่งกันและกันได้
ตรงนี้ละมั้งที่เป็นใจความของการที่เราจะรักษาคนที่เรารักเอาไว้ได้