ดอกไม้ร่วงโรยไปตามเวลา
เช่นเดียวกันกับทุกสิ่งที่มีชีวิต ดอกไม้เปลี่ยนสภาพไปเมื่อเวลาผ่านไป บางครั้งฟกช้ำ บางครั้งเน่าเปื่อย แม้แต่การถนอมที่เรารู้จักกันมากที่สุด คือการห้อยหัวมันไว้ในแสงแดดอ่อน ปล่อยมันแห้งเหี่ยว กลายสภาพเป็นดอกไม้แห้ง ดอกไม้คือความสวยงามที่บอบบาง มีอายุอยู่เพียงชั่วครู่คราว ด้วยเหตุนั้นเราหลายๆ คนอาจมองว่าการให้ดอกไม้เป็นสิ่งตกสมัยไปแล้ว โดยเฉพาะในโลกที่ความยั่งยืนสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรา
ทว่าหากเราลองนึกถึงภาพแต่ละครั้งที่เราได้รับดอกไม้ บางสิ่งในใจของเราแบ่งบานแบบเดียวกับมันหรือไม่? มวลความรู้สึกก้อนใหญ่พอที่อาจถมทับความรู้สึกว่า ในอีกไม่กี่วันดอกไม้เหล่านี้จะกลายเป็นขยะ แต่บางครั้งมันก็ทำให้ความทรงจำของเราต่อห้วงเวลานั้นๆ สวยงามขึ้นมากกว่าปกติหลายเท่าตัวโดยอธิบายได้ยาก เพราะงั้นแล้ววิธีที่สิ่งของเปราะบางชิ้นนี้ทำงานกับใจของเราจึงน่าไปสำรวจอย่างยิ่ง
ความรู้สึกที่ดอกไม้ให้
ดอกไม้ทำงานกับความรู้สึกของเราอย่างรวดเร็วเสมอ เมื่อคนสำคัญของเรามอบดอกไม้ให้เรา บ่อยครั้งสิ่งที่เราตอบแทนพวกเขาโดยทันทีคือรอยยิ้ม นั่นไม่ใช่เพียงการทึกทักเอาเอง แต่มาจากผลการวิจัย An Environmental Approach to Positive Emotion: Flowers โดยเจนเน็ตต์ ฮาวิแลนด์ (Jeannette Haviland) ศาสตราจารย์จากสาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส
ฮาวิแลนด์ทำการทดลอง เพื่อค้นหาผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อคนคนหนึ่งได้รับดอกไม้ และผลกระทบระยะยาวของดอกไม้ต่อใจคน โดยเขาแบ่งออกเป็น 3 การทดลอง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- การทดลองเพื่อหาผลกระทบด้านอารมณ์ของดอกไม้ – ในการเทียบของขวัญหลายๆ รูปแบบ กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงที่ได้รับดอกไม้จะมีการยิ้มที่จริงใจ (Duchenne Smile) สูงที่สุดอยู่ที่ 100% มากไปกว่านั้นมีเพียงกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับดอกไม้รายงานว่า พวกเขาอารมณ์ดีขึ้นภายในเวลา 3 วันหลังจากได้รับดอกไม้
- การทดลองเพื่อหาผลกระทบด้านพฤติกรรมการเข้าสังคมของดอกไม้ – กลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงที่ได้รับดอกไม้จะตอบแทนมันด้วยรอยยิ้ม และการมีอยู่ของดอกไม้จะมีโอกาสให้คน 2 คนสร้างบทสนทนาต่อกันมากกว่าไม่มี
- การทดลองเพื่อหาผลกระทบด้านความทรงจำของผู้รับวัยเกษียณ – ผลการทดลองเป็นเหมือนกันกับการทดลองแรก แต่เพิ่มเติมคือกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับดอกไม้นั้น มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ได้รับดอกไม้ดีกว่าคนที่ไม่ได้รับ
จากการอธิบายของงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เห็นว่าดอกไม้ไม่ได้เป็นสิ่งของที่ถูกนำไปใช้สอยได้ตามแบบที่เราจะใช้อย่างอื่น แต่จะบอกว่าไร้ประโยชน์เลยก็ไม่เชิง เนื่องจากมันสามารถส่งผลให้ผู้รับมีอารมณ์ในแง่บวกได้โดยทันทีในทุกเพศทุกวัย ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อสนับสนุนการเข้าสังคม และที่สำคัญดอกไม้ยังทำหน้าที่เป็นหมุดหมายแห่งความทรงจำให้เราหลายๆ คนได้อีกด้วย
ดอกไม้ในฐานะหมุดหมายแห่งความทรงจำ
ช่อดอกไม้ในวันรับปริญญา ดอกกุหลาบหนึ่งดอกในวันวาเลนไทน์ ดอกไม้สุดโปรดของเราในวันครบรอบ ฯลฯ ดอกไม้และวันสำคัญเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ มองไปยังในวัฒนธรรมต่างๆ ของโลก ดอกไม้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์สำคัญ หรือตัวแทนบุคคลสักรูปแบบอยู่เสมอ เช่น ดอกป๊อปปี้ที่ขึ้นในสนามรบหลังศึก ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของวันทหารผ่านศึกอเมริกา
เรามองกาลเวลาผ่านการตีความเสมอ มนุษย์มองโลกผ่านการทึกทักทุกสิ่งจากประสบการณ์ของตัวเอง เช่นนั้นแล้วภาพอดีตจะคืออะไร นอกจากการตีความความทรงจำ? และดอกไม้ไม่ได้เป็นเพียงดอกไม้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่เสริมเติมแต่งความทรงจำเหล่านั้นให้เต็มมากขึ้น ซึ่งผลกระทบของดอกไม้ต่อความทรงจำพบได้ในงานวิจัย The emotional influence of flowers on social perception and memory: An exploratory study โดยจอส โมเยต (Jos Mojet) นักวิจัยจาก Wageningen University
การทดลองในงานวิจัยนี้พาให้กลุ่มตัวอย่างตัดสินผู้คนผ่านการมอง โดยจะวัดว่าผู้คนตัดสินคนอย่างไรเมื่อมีหรือไม่มีดอกไม้ รวมถึงกลิ่นของดอกไม้ที่อยู่ในห้อง ผลปรากฏว่ามุมมองของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในห้องซึ่งประดับด้วยดอกไม้ต่อผู้คนนั้นมักเป็นบวก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีดอกไม้ นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างที่มีดอกไม้ในห้องยังรายงานว่า พวกเขาจำห้องที่ตัวเองปฏิบัติการทดลองได้มากกว่าอีกด้วย ผลการทดลองดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยสรุปว่า ด้วยการใช้สัมผัสการมองเห็น ดอกไม้จึงมีผลในแง่บวกต่อความทรงจำของเรา เราตีความผู้อื่นด้วยแง่มุมที่ใจดีขึ้น นั่นแปลว่าในแง่หนึ่ง นอกจากจะทำให้เราจำได้ดีขึ้นแล้ว ดอกไม้ยังมีโอกาสยกระดับความทรงจำของเราอีกด้วย
มากไปกว่านั้นผู้วิจัยยังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลิ่น โดยผลการทดลองน่าสนใจมากๆ เนื่องจากเขาพบว่าในขณะที่การมองดอกไม้มักให้ผลกระทบต่อเราในแง่บวก แต่กลิ่นของดอกไม้อาจมีรายละเอียดมากกว่านั้น คือดอกไม้ที่มีกลิ่นฉุนเกินไปอาจนำไปสู่การตัดสินในแง่ลบมากขึ้น นั่นคือการตัดสินว่าคนเหล่านั้นไม่เป็นมิตร หยิ่งยโส และดูเศร้าซึม
อย่างไรก็ตาม หากเราเลือกกลิ่นที่เหมาะสมให้กับผู้ดม มันสามารถทำหน้าที่คล้ายกันกับการให้ดอกไม้ได้ เพราะว่ากลิ่นผูกติดโดยตรงกับชิ้นส่วนในสมองที่ควบคุมพฤติกรรม ความรู้สึก และความทรงจำของเรา เชื่อมโยงจนมันสามารถนำความทรงจำที่เราไม่ได้ตั้งใจจะนึกถึงกลับมาให้เราได้โดยทันที ดังนั้นแล้วเราอาจเรียกได้ว่า ดอกไม้เปรียบเหมือนเครื่องย้อนเวลาเล็กๆ ไปสู่อดีตที่หน้าตาดีกว่าที่มันเป็นนั่นเอง
หน้าที่ที่ต่างกันไปของของขวัญ
การให้ของขวัญไม่ใช่ศาสตร์ที่ตายตัว เราแต่ละคนมีความต้องการคนละแบบ ส่วนหนึ่งเราอาจจะเลือกของขวัญผ่านการทำความรู้จักกับผู้รับว่าเขาชอบอะไร อีกส่วนหนึ่งอาจคือเราต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่างผ่านของขวัญชิ้นนั้น หรือแม้แต่การคำนึงว่าของขวัญแบบไหนเหมาะควรกับโอกาสพิเศษที่เรากำลังจะให้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย และเราอาจไม่ได้ต้องการของขวัญแบบใดแบบหนึ่งตลอดไปในทุกบริบท
ในกรณีของดอกไม้เองก็มีหลายแง่มุมที่เราต้องคำนึงถึง สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม การซื้อครั้งหนึ่งอาจเท่ากับการสร้างขยะอย่างน้อยอีกหนึ่งชิ้น ขยะที่ไม่ได้มากับตัวดอกไม้ แต่มาพร้อมกับกระดาษห่อและพลาสติกเสมอ และนั่นยังไม่นับรวมกับความนิยมของดอกไม้ที่ไม่ตรงตามฤดูกาล หรือกระทั่งในวันวาเลนไทน์กับความต้องการในดอกกุหลาบที่สูง ก็นำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ปลูกสูงยิ่งขึ้น จึงเห็นได้ว่าสิ่งที่มันเรียกร้องจากโลกนั้นมีมาก
แน่นอนว่าหากวัดจากการใช้งานและผลกระทบของมัน คงไม่อาจไปต่อสู้กับของเครื่องใช้อื่นๆ ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีค่า เพียงแต่การเลือกซื้อแต่ละครั้ง เราก็ต้องถามตัวเองเสมอว่าใช่โอกาสที่เหมาะสมหรือเปล่า? ดอกไม้อาจเป็นเครื่องเตือนใจเราเกี่ยวกับวินาทีที่สำคัญนั้น เราอาจให้มันเพราะความหมายของดอกไม้ดอกนั้นเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของเราและเขา หรือเราอาจให้มันเมื่อคำพูดไม่อาจอธิบายความรู้สึกที่เราอยากสื่อสารไปสู่ใครสักคนได้ ฯลฯ หากใช้ในกรณีที่เหมาะสม ดอกไม้ก็ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากๆ ได้เช่นกัน
เพราะแม้มันจะเปราะบางและร่วงโรย แต่ในบางกรณีดอกไม้ดอกเดียวก็สามารถทำให้บางความทรงจำเป็นอมตะได้
อ้างอิงจาก