วันศุกร์ที่มากับสายฝน อากาศแบบนี้ชวนให้ใจของเราร้าวรานยิ่ง โดยเฉพาะเหล่าคนโสดและคนอกหักทั้งหลาย เอ้า พรุ่งนี้ก็วันหยุดเสาร์อาทิตย์แล้ว เตรียมตัวออกล่าหาความรัก ไปเดทไปอะไรกันได้แล้ว
แต่ว่านั่นแหละเนอะ ความรักเป็นเรื่องสวยงามก็จริง แต่โลกแห่งความจริงมักไม่ค่อยสวย โดยเฉพาะโลกของคนไม่ค่อยสวย การอกหัก ความนก โดนเท (คือคุยๆ อยู่ก็กลายเป็นบุคคลสูญหาย) การได้พี่น้องเพิ่มทั้งๆ ที่ไม่อยากได้ และอีกสารพัดเหตุผลที่ไม่ค่อยดีต่อใจมนุษย์แบบเราๆ เท่าไหร่
การอกหัก จึงมีลักษณะเป็นอกาลิโก (คือสมัยไหนๆ คนเราก็รักร้าวกันทั้งนั้น) และมีลักษณะเป็นสากล แถมอาการทางใจที่ป่วยก็มักนำมาซึ่งอาการทางกายที่ไม่ธรรมดาด้วย เหล่านี้ นักปราชญ์ นักคิด นักเขียน กวีและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายพยายามไขความลับของความรัก การอาการป่วยไข้ทางใจมาโดยตลอด
ความรู้เรื่องรักร้าวและทางรักษาใจที่เจ็บป่วยในศตวรรษที่ 17
ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เริ่มเฟื่องฟูขึ้น แน่นอนว่าความรักและการอกหักก็เป็นอารมณ์ที่ก่อปัญหาให้กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ในปี 1610 นายแพทย์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Jacques Ferrand ผู้ซึ่งพยายามหาเหตุผลและหาทางรักษา ‘โรครัก’ ได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ A Treatise on Lovesickness ประมาณว่าวิธีการรักษาโรคอกหัก แต่ด้วยความที่ยุคนั้นวิทยาศาสตร์มันเฟื่องฟูมาก การทำความเข้าใจความรักที่มันเป็นเรื่องของ ‘อารมณ์’ เลยถูกมองเหมือนเป็น ‘อาการของโรค’ คำอธิบายเลยดูเป็นการแพทย์มากๆ ซึ่งมันจะไม่ใช่ทำนองของจิตวิทยาความรักหรือให้คำปรึกษาแบบพี่อ้อยพี่ฉอด แต่จะมองเหมือนเป็นโรคทางกายและอารมณ์ที่ควรระงับ รวมๆ แล้วคือพี่เขาพยายามที่จะวินิจฉัยอาการป่วยทางใจ ที่รวมๆ เรียกว่า ‘โรคภัยแห่งการมโน (disease of the fantasy)’
ข้อสรุปอาการของโรคก็เป็นลักษณะที่เวรี่ศตวรรษที่ 17 คือมองว่าอาการจิตใจที่เจ็บป่วยคืออาการของคนที่มีความปรารถนาที่แรงกล้า คืออยากได้มากจนขาดสติ คำว่าขาดสติก็คือขาดการใช้เหตุผล หรือการถูกอารมณ์เข้าครอบงำ พี่แกบอกว่าไอ้อาการรักอย่างโงหัวไม่ขึ้นนี้มักเป็นในเด็กๆ หรือในเด็กผู้หญิงวัยต่ำกว่า 12 ปี รวมทั้งคนแก่หรือคนพิการ เป็นความเชื่อในยุคนั้นอะนะว่าผู้ชายวัยแข็งแรงจะตั้งอยู่ในเหตุผล มีความเฮวตี้ทั้งกายและใจ (ไม่ถูกอารมณ์เข้าครอบงำ)
ซึ่งจากการดูคลับฟลายเดย์เป็นประจำหรือจากการสังเกตคนใกล้ตัว ก็จะเห็นว่าความรักเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างไม่เลือกเพศและวัยเท่าไหร่
อาการของคนเป็นโรครักสลาย
แม้ว่าคำอธิบายเรื่องโรครักจะไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ แต่ว่าอาการของคนที่เป็นไข้ใจที่คุณหมอฌ้าคพูดถึงก็ชวนให้เราคิดถึงสภาพของเราเอง (และผู้อื่น) หมอแกบอกว่าคนที่เป็นโรคอกหักมักมีอาการคือ
‘ค่อยๆ มีไข้ ที่เรียกว่าพิษไข้ของความรัก / มีอาการหัวใจเต้นแรง / หน้าก็บวมขึ้น / เบื่ออาหาร / คร่ำครวญสะอึกสะอื้น/ น้ำตาไหลไม่มีสาเหตุ / หิวกระหายและกินอย่างบ้าคลั่ง/ ซีดเซียวคล้ายจะเป็นลม / เครียดง่ายหายใจไม่ค่อยออก / นอนไม่หลับกระสับกระส่าย ปวดหัว มากๆ เข้าก็ถึงขนาดเป็นลมชัก’
สุดท้ายคุณหมอแกก็สรุปว่า เนี่ยการที่คนอกหักมักจะดูป่วยๆ ก็เพราะความรักที่มันเป็นพิษที่ก่อตัวขึ้นร่างกาย ไอ้พิษรักนี่แหละที่ทำลายเหตุผล แล้วก็ทำให้เลือดในตัวของเราเป็นพิษ ด้วยประการฉะนี้ คนที่ป่วยเป็นไข้ใจเลยดูซีดเซียวไงแกร
คือกินไม่ได้นอนไม่หลับ จิตใจหม่นเศร้า มันก็ต้องซีดป่ะวะ
ไอ้ความรู้แบบกึ่งวิทย์กึ่งโบราณอันนี้ มันเลยไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ เช่น ทางแก้ที่คุณหมอแกแนะนำเลยฟังดูเป็นความรู้แบบที่ชอบแจกกันในไลน์ เช่น ให้งดเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อห่าน หรือให้บริโภคถั่วบางชนิดเป็นยา หรือด้วยเป็นเรื่องเลือดก็เลยให้ระวังเส้นเลือดที่วิ่งไปที่ตับตรงแถวๆ แขนข้างขวา
อะไรของคุณหมอเนี่ย การรักษาโรคทางใจให้รักษาด้วยการโภชนาการและกายบริหารเนี่ยนะ
อาการของหัวใจที่แท้จริง
จากความรู้ที่ดูแหม่งๆ จากวิทยาศาสตร์ในยุคต้น มาจนถึงวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ร่วมสมัย สรุปว่าไอ้โรคที่เราเรียกว่าโรคทางใจ มันมีผลกับ ‘หัวใจ’ ของเราจริงๆ ด้วยนะ เรียกว่าโรคใจสลาย (Heart-Broken Syndrome) หรือในภาษาวิทย์ๆ ว่า Takotsubo cardiomyopathy
ไอ้อาการโรคหัวใจชำรุด เป็นอาการความผิดปกติของหัวใจ (จริงๆ ที่เป็นอวัยวะ) ที่เกิดผลจากความรู้สึกใจสลาย เช่น ความเสียใจจากการสูญเสียคนที่รักไป ไม่ว่าจะเป็นความตาย การเลิกร้าง หรือความวิตกกังวลต่างๆ ที่เป็นความรู้สึกสูญเสีย อาการที่มาออกที่หัวใจคือกล้ามเนื้อหัวใจจะเกิดอาการอ่อนแอลงจริงๆ แบบชั่วคราว สภาพของหัวใจจะมีสภาพเหมือนกับไหที่ชาวญี่ปุ่นใช้ดักหมึก เลยได้ชื่อว่า Tako (ปลาหมึก) tsubo (ไห)