จงเติมคำในช่องว่าง เงินเดือนที่คาดหวัง_________ บาท
ยิ่งเป็นเด็กจบใหม่ ยิ่งไม่รู้ว่าจะเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ ประสบการณ์เรามากพอหรือเปล่านะ อย่างเรานี่นับกว่าเก่งระดับไหน ควรได้เงินเดือนเท่าไหร่ เป็นคำถามที่ตอบยากมาก สุดท้ายเราเลยไปจบที่ฐานเงินเดือนเริ่มต้นแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดิน บางทีเราก็อยู่ในสถานการณ์ที่ถอยไม่ได้แล้ว ต้องได้งานนี้เท่านั้น เลยต้องลดแลกแจกแถม เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 ทำงาน 6 วัน แล้วก็หมดไฟตั้งแต่ 3 เดือนแรกของการทำงาน
เรียกน้อยแบบนี้ นายจ้างยิ้มเลย
การที่เราฐานเงินเดือนน้อย ก็หมายความว่าเวลาปรับเงินเดือนปลายปีที่มักจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จำนวนเงินที่ขึ้นมาก็จะน้อยตามไปด้วย จนอยากตะโกนถามว่าอันนี้ปรับขึ้นให้แล้วใช่มั้ย ยังไม่ได้พูดถึงอัตราเงินเฟ้อที่ต้องเอามาคิดด้วยเลยนะ การทำงานอยู่ที่เดิมเป็นเวลานานก็คงไม่ใช่คำตอบสำหรับคนยุคใหม่แล้ว
ดังนั้นจะเกิดเทรนด์การเปลี่ยนงานเพื่อเพิ่มเงินเดือนที่เรียกว่า ‘Job Hopping’ ก็ไม่แปลก ในเมื่อองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับเงินเดือนพนักงานเลย จากวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2021 ที่รวบรวมข้อมูลเงินเดือนจากพนักงานชาวอเมริกันกว่า 18 ล้านคนพบว่า คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนงานนั้นมีจำนวนเงินเดือนที่แซงหน้าคนที่ตัดสินใจทำงานอยู่ที่เดิม และยังมีการสำรวจไปเมื่อต้นปี 2023 นี้เองว่าชาวอเมริกันกว่า 96% กำลังอยู่ในระหว่างการมองหางานใหม่ และ 40% ของพวกเขาล้วนบอกตรงกันว่าเหตุผลในการมองหางานใหม่คือ ‘ต้องการเงินเดือนที่มากขึ้น’
ลอเรน โธมัส (Lauren Thomas) นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า พนักงานที่ตัดสินใจเปลี่ยนงานนั้นส่วนใหญ่เป็นเพราะการเติบโตอย่างเชื่องช้าในที่ทำงานเดิม และรู้สึกไม่เห็นความก้าวหน้าในด้านการเงินเลย การทำงานอยู่ที่เดิมเป็นเวลานานอาจทำให้เราได้รับเงินเดือนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแรงงาน ดังนั้นการตัดสินใจเปลี่ยนงานเลยกลายเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด สำหรับการเพิ่มเงินเดือนให้กับตัวเองอย่างก้าวกระโดด และได้รับเงินเดือนพอดีกับค่าเฉลี่ยของตลาดแรงงาน
แต่การเปลี่ยนงาน เราก็ยังต้องเจอกับการกรอก ‘เงินเดือนที่คาดหวัง’ อีกครั้ง ซึ่งการที่เราเรียกเงินเดือนตั้งต้นหรือเงินเดือนปัจจุบันเอาไว้น้อยก็อาจเป็นอุปสรรคในการเรียกเงินเดือนจากที่ใหม่ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องอ้างอิงจากเงินเดือนที่เดิมอยู่ดี หรือถ้าจะใจกล้าเรียกที่อยากได้ไปเลย ก็กลัวว่าเขาจะโทรคุยกัน กลายเป็นปัญหาที่ไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหน เราจะต้องเป็นแรงงานราคาถูกของวงการนี้ตลอดไปเลยหรือยังไง
แล้วเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ถึงได้ใจเธอ
ถึงจะมีคำพูดที่ว่า ‘เรื่องเงินเดือน ไม่บอกกันจะดีกว่า’ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเปิดใจคุยกันเรื่องเงินเดือนจะช่วยให้เราประเมินตัวเองได้ง่ายขึ้น การปรึกษาเพื่อนในสายงานเดียวกันก็อาจเป็นหนึ่งทางออกที่ดีในการเปรียบเทียบว่าความสามารถประมาณนี้ ประสบการณ์ประมาณนี้ ควรได้เงินเดือนเท่าไหร่
เมื่อได้คำตอบแล้วว่าตัวเราน่าจะมีค่าประมาณเท่าไหร่ โทรี่ ดันลัป (Tori Dunlap) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ แนะนำเอาไว้ว่าการเรียกเงินเดือนควรเรียกให้สูงกว่าที่ตีค่าตัวเองไว้ด้วยซ้ำ หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ‘ตั้งราคาเผื่อต่อ’ นั่นแหละ เพราะองค์กรส่วนใหญ่จะ ‘ต่อรอง’ เงินเดือนที่เราเรียกไปอยู่แล้ว
ถ้าเรียกสูงเกินไปเขาก็ปัดทิ้งหรือเปล่านะ ที่จริงปัญหานี้ก็เป็นปัญหาโลกแตกอยู่เหมือนกัน ถ้าเราคิดมาอย่างถี่ถ้วน หาข้อมูล หาเหตุผลมาสนับสนุนเงินเดือนที่เราควรได้ไว้พร้อมขนาดนี้แล้ว การที่เขาไม่แม้แต่จะเรียกเราเข้าไปคุยนั่นก็อาจเป็นสัญญาณว่าองค์กรนั้นอาจไม่ได้สนใจให้ค่าทรัพยากรบุคคลของพวกเขามากขนาดนั้น เพียงแค่เฟ้นหาแรงงานราคาถูกมาใช้งานเท่านั้นเอง
ฉันไม่ยอมเป็นแรงงานราคาถูกตลอดไปหรอกนะ
ข้อจำกัดของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนก็ก้าวเข้ามาอยู่ตรงนี้แล้ว รู้สึกสบายใจกับที่ทำงานทุกอย่าง แต่เรื่องเดียวที่ไม่อยากจะทำใจยอมรับคือเรื่องเงินเดือน ก็ยังพอมีทางออกอยู่บ้าง การเปิดใจคุยกับหัวหน้าเรื่องเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ รู้สึกว่ามันน้อยไปเมื่อเทียบกับหน้าที่รับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นทุกวัน รู้สึกว่าการทำงานเพิ่มเติมในวันหยุดก็ควรได้รับเงินเพิ่ม ถ้าเหตุผลของเรามีน้ำหนักมากพอ นายจ้างก็น่าจะหยิบไปพิจารณาบ้าง ยิ่งถ้ารวมตัวกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นได้จะยิ่งดูมีน้ำหนักมากขึ้น
หรือถ้าเรื่องเงินเขาไม่สามารถให้ได้เลยชนิดที่ว่าเหนียวมาก ลองต่อลองในสิ่งที่ ‘ไม่ใช่ตัวเงิน’ อย่างวันลาเพิ่ม สวัสดิการ ปรับหน้าที่รับผิดชอบ ชั่วโมงการทำงาน หรือแผนการปรับตำแหน่งในอนาคตก็ได้เช่นกัน ลองหาข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่าย รู้สึกว่านี่แหละตรงกลาง ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน
แต่ถ้าคุยกันยังไงก็หาตรงกลางระหว่างตัวเรากับนายจ้างไม่ได้ การจะเดินจากไปและหางานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแค่ทำให้เรากับเขาจบสวยที่สุดก็พอ และการใส่ ‘เงินเดือนที่คาดหวัง’ ครั้งนี้จะต้องเป็นเงินเดือนที่เราต้องการ เงินเดือนที่เราอยู่ได้ ไม่ลดแลกแจกแถมอีกแล้ว เพราะเรามักจะประเมินตัวเองต่ำกว่าที่เป็นจริงเสมอ
บางครั้งการผิดหวังในเงินเดือนที่ได้รับ ยังไม่เท่าผิดหวังกับการนายจ้างที่ไม่เห็นคุณค่าของคนทำงานเลย
อ้างอิงจาก