“คุณได้เงินเดือนเท่าไร?” เชื่อว่าคำถามนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ ขณะที่บางคนสามารถตอบออกไปได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด
ก่อนหน้านี้ ‘เงินเดือน’ คงเป็นเหมือนตัวเลขแห่งความลับที่ไม่ค่อยปรากฏในบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบตัวเรา แต่การสำรวจของ Bankrate เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2022 กลับพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเจเนอเรชั่น Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ พูดเรื่องเงินเดือนของตัวเองกับเพื่อนร่วมงานหรือคนในสายงานเดียวกัน ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามรุ่นเบบี้บูมเมอร์เปิดเผยเรื่องนี้เพียง 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ LinkedIn ที่เจเนอเรชั่น Z ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการแบ่งปันข้อมูลเรื่องนี้กับคนอื่นๆ จะนำไปสู่ความเท่าเทียมเรื่องค่าตอบแทน มากกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์
มุมมองที่แตกต่างกันสุดขั้วนี้ อาจมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างในสหรัฐฯ คนเจเนอเรชั่น Z เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีพอดิบพอดี ดังนั้นเงินเดือนในอัตราที่เคย ‘พอใช้’ ในยุคสมัยก่อนหน้า อาจกลายเป็นเงินเดือนที่ ‘ไม่พอใช้’ ในยุคสมัยนี้ ทั้งยังมีการสำรวจที่พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียล 57 เปอร์เซนต์ และคนเจเนอเรชัน Z 45 เปอร์เซนต์ รู้สึกว่าได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์และคุณสมบัติเดียวกัน เลยไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะเริ่มเกิดคำถามว่าค่าตอบแทนที่ได้รับนั้นยุติธรรมสำหรับตัวเองไหม และถ้าพวกเขาพบว่าองค์กรไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม หลายคนพร้อมจะต่อรองกับบริษัท หรือไม่ก็ยื่นใบลาออกเพื่อหางานใหม่
“ฉันจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ถ้าฉันไม่ถาม”
เคียร์สเตน โพสต์ (Kiersten Post) พนักงานออฟฟิศ วัย 29 ปี ให้สัมภาษณ์กับ bankrate แน่นอนว่าเหตุผลสำคัญของการเปิดเผยเรื่องเงินเดือน คือเราจะได้ประเมินตัวเองว่าเงินเดือนของเราอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานสายเดียวกัน และตัวเลขนี้สอดคล้องกับศักยภาพของเราหรือไม่ ทั้งยังทำให้รู้ว่าบริษัทไม่ได้ให้ค่าตอบแทนโดยแบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ สีผิว แม้แต่การให้เงินเดือนที่มากกว่าโดยไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์หรือคุณสมบัติของพนักงาน
“หลายครั้งที่ผมจ่ายเงินเดือนให้คนสองคนที่มีคุณสมบัติเหมือนกันมาก แต่เงินเดือนต่างกันเพียงเพราะผมต่อรองกับอีกคนได้ง่ายกว่า” เดน แอตกินสัน (Dane Atkinson) ซีอีโอบริษัท SumAll กล่าว
นอกจากความเป็นธรรมในองค์กรแล้ว การเปิดเผยเรื่องเงินเดือนอย่างโปร่งใสยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย เห็นได้จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารธุรกิจและจิตวิทยาที่พบว่า หากพนักงานเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนได้อย่างเปิดเผย สมาชิกในทีมจะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอความช่วยเหลือได้ถูกคนเมื่อจำเป็น ซึ่งนักวิจัยคาดว่าข้อมูลเงินเดือนที่เปิดเผยต่อสาธารณะทำให้พนักงานประเมินทักษะของเพื่อนร่วมงานได้แม่นยำมากขึ้นว่าใครทำเรื่องไหนได้ดี และควรขอความช่วยเหลือจากใครเมื่อเกิดปัญหาบางอย่าง
ส่วนในมุมขององค์กร การบิดบังเรื่องเงินเดือน อาจตัดโอกาสรับคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานได้เช่นกัน เพราะเคยมีแบบสำรวจที่พบว่า 11 เปอร์เซนต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เคยสมัครหรือสัมภาษณ์งานกับบริษัทที่ไม่แจ้งเรื่องค่าตอบแทนก่อน
อย่างไรก็ตาม ในความโปร่งใสนั้นก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างซ่อนอยู่ เพราะบางทีเราอาจจะรู้แค่ ‘ตัวเลข’ เงินเดือนของคนที่ทำงานตำแหน่งเดียวกัน แต่ไม่รู้รายละเอียดยิบย่อยอื่นๆ อย่างประสบการณ์การทำงานก่อนหน้า อายุงาน หรือเกณฑ์อื่นๆ เช่น บางคนอาจจะมีฐานเงินเดือนต่ำกว่าแต่ได้รับค่าคอมมิชชั่นเสริม ดังนั้นนอกจากตัวเลขเงินเดือน สิ่งที่ควรจะพิจารณาควบคู่กันไปด้วยคือข้อมูลเรื่อง ‘เกณฑ์การให้เงินเดือน’ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าต้องบอกรายละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาหรือเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรในองค์กร ก็คงจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน นอกจากนี้ ถ้าเราไปเปิดบทสนทนากับคนที่ยังไม่พร้อมคุยหรือคุยผิดเวลา ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่อยากรู้เรื่องเงินเดือน เพราะการสำรวจในบทความของ Fast Company พบว่าพนักงานระดับล่างมักจะรู้สึกพึงพอใจและรู้สึกว่าบริษัทมีความโปร่งใส ‘น้อยกว่า’ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำหรือระดับผู้บริหาร และผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 79 เปอร์เซนต์กล่าวว่าพวกเขาต้องการความโปร่งใสในการจ่ายค่าตอบแทน โดย 32 เปอร์เซนต์ อยากให้ออกมาในรูปแบบของการเผยแพร่ข้อมูลเงินเดือนพนักงานทั้งหมด ดังนั้น ความโปร่งใสและความยุติธรรมในองค์กรเลยเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็คงต้องการให้เกิดขึ้น เพียงแต่คนรุ่นใหม่อาจจะพูดถึงประเด็นนี้อย่างเปิดเผยมากกว่า
และแม้ว่าเรื่องนี้จะค่อนข้างละเอียดอ่อน รวมทั้งมองได้หลายมุม แต่คำถามที่สำคัญกว่า ควรเปิดเผยเรื่องเงินเดือนไหม ? คงจะเป็นคำถามที่ว่า… ทำอย่างไรให้เกิดความยุติธรรมในองค์กร และคนรับรู้ว่าพวกเขาได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานอย่างเป็นธรรม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong