“คนลัวะไม่ว่าจะอยู่บนดอยหรือในเมือง พวกเราไม่กินหวาน”
ข้าวฟืน คือ เส้นที่ทำมาจากข้าวเจ้า รสชาติจืดชืดต่างจากก๋วยเตี๋ยวที่คนไทยคุ้นเคย ข้าวฟืนจานนี้เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวลัวะ พวกเขากล่าวว่า คนที่เคยอาศัยอยู่บนดอยอย่างพวกเขาจะไม่ใส่น้ำตาลแม้แต่น้อยในการทำอาหาร แต่เน้นกินอาหารรสเผ็ดและเปรี้ยว แม้กระทั่งวันนี้ วันที่ชาวลัวะกลุ่มหนึ่งอพยพมาอยู่ที่เมืองกรุงฯ นานกว่า 30 ปี
ในพื้นที่ชุมชนคลองเนินทราย เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร แปลงที่ดินเปล่าผืนหนึ่งถูกเช่าต่อระยะยาวในนามของศูนย์ประสานงานสมาคมลัวะเเห่งประเทศไทย และถูกแบ่งที่ดินให้ชาวลัวะอาศัยอยู่มากกว่า 69 หลังคาเรือนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ชาวลัวะสูงอายุหลายคนในชุมชนแห่งนี้เกิดที่สิบสองปันนา เมืองที่อยู่ในมณฑลยูนานทางตอนใต้ของประเทศจีน และอพยพย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ในช่วงปี 2516-2523 ก่อนที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจจะผลักให้พวกเขาต้องเข้ามาเป็นกรรมกรขายแรงงานในกรุงเทพฯ
เมื่อมีความเป็นอื่นในเมืองกรุง พวกเขาจึงเลือกที่จะรวมกลุ่มตั้งชุมชนของตนเองเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชาวลัวะกลุ่มหนึ่งจำนวน 500 คนในเขตทวีวัฒนา ได้ค่อยๆ พัฒนาสร้างชุมชนของตัวเอง จนมีทะเบียนบ้านและระบบสาธารณูปโภคเป็นของตนเอง
แม้พวกเขาจะมีชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ความท้าทายที่ชาวลัวะกลุ่มนี้ต้องเผชิญนั้นแตกต่างกันออกไป เพราะกว่า 60% ของพวกเขากำลังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติไทย บางคนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จนสามารถสร้างฐานะให้ตนเองและครอบครัวได้ ในขณะที่หลายคนยังคงต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่พวกเขาก็ไม่ได้หลงลืมชาติพันธุ์กำเนิดของตนเอง รวมทั้งยังคงเป็นส่วนหนึ่งร่วมขับเคลื่อนผลักดันสิทธิของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

กลุ่มเด็กชาวลัวะในชุมชนคลองเนินทราย
ลัวะคือใคร ทำไมต้องเข้ามาอยู่ในเมือง
กลุ่มชาติพันธุ์ ‘ละว้า’ หรือคำที่พวกเขามักใช้เรียกแทนตัวเองว่า ‘ลัวะ’ มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณพื้นที่ชายแดนจีน-เมียนมา ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า ลัวะถือเป็นชนกลุ่มดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ อาณาจักรลัวะล่มสลายประมาณปี 1200 ในสมัยของขุนหลวงวิรังคะผู้นำคนสุดท้ายของชาวลัวะ ปัจจุบันพบชาวลัวะได้ในจังหวัดลำปาง อุทัยธานี สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน และแม่ฮ่องสอน ซึ่งหมู่บ้านลัวะที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ดี ยังมีชาวลัวะจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาประเทศไทยในช่วงปี 2516-2523 โดยปัจจุบันชาวลัวะกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
“ผมเกิดที่สิบสองปันนา บวชเณรย้ายเข้ามาอยู่ที่จังหวัดเชียงราย และมาอยู่ที่กทม.ในเวลาต่อมา”
ใส แซ่ลี หนึ่งในสมาชิกชุมชนลัวะ เขตทวีวัฒนา เริ่มต้นเล่าประวัติความเป็นมาของตนเอง โดยย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วในวันที่เขาตัดสินใจสึกและออกมาหางานทำในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย แต่ก็ไม่มีงานและรายได้ที่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ ใสจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุเทพฯ ตามคำชักชวนของคนรู้จัก
“ช่วงนั้นรายได้น้อย ไม่พอกิน ได้ค่าแรงวันละ 30 บาท จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่กทม. ได้ค่าจ้างวันละ 50 บาทและมีงานทุกวัน” ใสกล่าว
สำหรับจุดเริ่มต้นที่ชาวลัวะกลุ่มนี้เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ นั้น เริ่มต้นจากการมีเจ้าของสวนกล้วยไม้ซึ่งมีเชื้อสายจีนจากสิบสองปันนา ต้องการหาแรงงานที่มีความคุ้นชินและสื่อสารกันได้มาทำงานภายในสวนกล้วยไม้ ชาวลัวะกลุ่มหนึ่งจึงถูกชักชวน จากนั้นก็เกิดการชักชวนกันมากขึ้น และเริ่มลงหลักปักฐานอยู่อาศัยในเขตทวีวัฒนา
“ผมทำงานเก็บเงินมาเรื่อยๆ จากตอนแรกเป็นลูกน้องในสวน นายจ้างเก่าบอกว่าทำต่อไม่ไหวแล้ว ผมจึงขอเช่าที่ดินต่อจากเขาทำสวนดอกรัก”
ปัจจุบันใสเช่าที่ดินบริเวณ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม จำนวน 30 ไร่ เพื่อทำสวนดอกรัก เขามีลูกจ้างชาวลัวะ 2 คน เป็นคอยดูแลสวน ปัจจุบันเดือนหนึ่งใสกล่าวว่า เขามีรายได้ซึ่งหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท แม้ใสจะนับว่าเป็นหนึ่งในชาวลัวะที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเขา

หนึ่งในอาชีพของชาวลัวะในชุมชนคลองเนินทราย คือการรับจ้างคัดแยกดอกกล้วยไม้ ก่อนนำไปส่งขายที่ปากคลองตลาด
การโยกย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์เข้าเมืองกำลังบอกอะไรสังคมไทย
ไม่ต่างจากเรื่องราวของใส แดง นัยสาม เกิดที่สิบสองปันนาเช่นเดียวกัน จากนั้นเมื่อแดงอายุได้ 11 ปี เขาก็บวชเณรและย้ายเข้ามาอยู่ที่จังหวัดเชียงราย จนกระทั่งอายุ 21 ปี เขาสึกและลงมาหางานทำที่กรุงเทพฯ จากการทำงานในปั๊มน้ำมัน ทำงานก่อสร้าง งานเข็นผักและผลไม้ที่ตลาดสี่มุมเมือง จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่เขตทวีวัฒนา และทำงานรับจ้างทั่วไปจนถึงปัจจุบัน
“เหตุผลที่ผมต้องอพยพมา เพราะอยู่เชียงรายไม่มีที่ดินทำกิน”
แดงเล่าว่าเพราะชาวลัวะบางส่วนอพยพมาจากประเทศจีน เมื่อกลุ่มเหล่านี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยจึงไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว การหางานทำในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้ชาวลัวะกลุ่มนี้เดินทางมาเป็นกรรมกรใช้แรงงานในกรุงเทพฯ และเพื่อความอยู่รอด พวกเขาจึงเลือกที่จะรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
แดงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุมชนมาตั้งแต่ปี 2553 เขาเล่าว่าการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน เริ่มต้นจากการทำฌาปนกิจของชาวลัวะที่เสียชีวิตและไม่มีญาติพี่น้อง จนเกิดการรวมเงินกันให้การช่วยเหลือ และกลายเป็นคณะกรรมการชุมชนที่คอยดูแลความเรียบร้อยภายในชุมชน โดยในวันที่ 4-5 เมษายน 2568 ที่จะถึงนี้ จะมีการจัดกิจกรรมบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งแดงเป็นหนึ่งในคนที่คอยจัดงานดังกล่าวร่วมกับชุมชน
“ถ้ามีใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้าไปช่วยเหลือกัน การพึ่งพากันและกันของพวกเรายังคงมีมากกว่าคนเมือง พวกเรามีความเป็นเพื่อนบ้านรู้จักทั่วถึงกันทั้งชุมชน” แดงกล่าว
ทางด้าน อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่ได้ชักชวนตัวแทนกลุ่มลัวะในพื้นที่เขตทวีวัฒนาเข้าร่วมเวิร์กช็อปการสร้างความเข้าใจร่างพระราชบัญญัติฯ ชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 ระบุว่า การเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในที่ดิน เป็นเงื่อนไขสำคัญในการอพยพ และทำให้หลายๆ กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอิ้วเมี่ยนที่อพยพจากเชียงรายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดระนอง หรือกลุ่มอาข่าที่ต้องเข้าเมืองหรือนั่งรถไฟไปขายของถึงอำเภอหาดใหญ่เพื่อหารายได้
“ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างจำกัด ทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่ในที่ดินทำกินดั้งเดิมของตนเองได้”
ทั้งนี้ อภินันท์ยังกล่าวต่ออีกว่า การที่กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการเข้าถึงการศึกษาเทียบเท่าคนเมือง ทำให้เมื่อพวกเขาเข้าสู่ระบบการหางานทำในเมือง จึงไม่ได้มีตัวเลือกในการทำงานมากนัก นอกจากการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และกลายเป็นคนจนเมืองในที่สุด ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้มีต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง
“เป็นการตอกย้ำวาทกรรมที่บอกว่า ชาติพันธุ์เป็นพวกด้อยโอกาส เมื่อพวกเขาเข้ามาในเมืองและความจนของพวกเขาหรือความเป็นชาติพันธุ์ทำให้คนสงสาร เขาจะมีความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า เป็นการย้ำวัฒนธรรมเหล่านี้ต่อไป”
นี่จึงเป็นที่มาของการพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พ.ศ. …. ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในชั้นพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 นี้ จะมีการเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาเพื่อผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากที่ผ่านชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อภินันท์เชื่อมั่นว่า หากพ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ฯ บังคับเป็นกฎหมาย จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศที่มีมากกว่า 6,100,000 คน สามารถเข้าถึงสิทธิและโอกาสอย่างที่คนทั่วไปได้รับ

ชาวลัวะบางส่วนยังคงทำงานรับจ้าง โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่ให้รายได้สูงกว่างานรับจ้างอื่นๆ
ชาติพันธุ์ในเขตเมืองจะได้รับการคุ้มครองจากพ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร
อภินันท์อธิบายว่า หากร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านเป็นกฎหมาย จะมีกลไกที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยสามารถหยิบปัญหาต่างๆ เรื่องของชาติพันธุ์มาพูดคุย ออกเป็นนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานรัฐใดที่รับผิดชอบประเด็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง ดังนั้น ถ้ามีกลไกนี้ขึ้นมา ในเชิงปฏิบัติงานจะเป็นการบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ต้องวางแนวทางของตนเองตามพ.ร.บ.ฉบับนี้”
สิทธิที่กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับไม่ได้ถูกตีกรอบเพียงแค่กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่นอกเมือง หรืออยู่บนที่สูงตามป่าเท่านั้น แต่กลุ่มชาติพันธุ์ในเขตเมืองที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เช่น กระบวนการได้มาซึ่งสัญชาติและบัตรประชาชน กฎหมายฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะมีกระบวนการในการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุน และรับรองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าถึงการมีสัญชาติ และรัฐมีหน้าที่ต้องดูแลและให้สวัสดิการกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง
“ชุมชนชาติพันธุ์ในเมืองเปราะบางยิ่งกว่าชุมชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด เพราะเขากำลังอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่บ้านของตนเอง ดังนั้น จึงต้องดิ้นรนมากกว่า” อภินันท์กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนแดงเองก็กล่าวว่า ตอนนี้เขาอายุ 45 ปีแล้ว ลูกของเขาที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ มีบัตรประชาชนและใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไปคนหนึ่ง แต่สำหรับเขา การไม่มีบัตรประชาชนนั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแง่ของการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และการทำธุรกรรมเป็นเจ้าของบ้านหรือทรัพย์สินต่างๆ ที่เขาอยากสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว

สาม ตาโบ ผู้นำชุมชนชาวลัวะ ชุมชนคลองเนินทราย
สาม ตาโบ ผู้นำชุมชนชาวลัวะในเขตทวีวัฒนากล่าวว่า ตอนนี้คนในชุมชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของบัตรประชาชน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์การฉีดวัคซีนได้ รวมทั้งเขาในฐานะผู้นำชุมชนยังเข้าร่วมการผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมือง เพราะมองว่าร่างพ.ร.บ.นี้สำคัญกับพี่น้องชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดในประเทศไทย
ชุมชนชาวลัวะในช่วงเย็นวันอาทิตย์คึกคักไปด้วยกลุ่มเด็กน้อยที่ออกมาวิ่งเล่นบนพื้นคอนกรีต หากมองจากภายนอก ทั้งการแต่งตัวและภาษาที่ใช้ในการสื่อสารของพวกเขาไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเด็กในเมืองกรุงในชุมชนอื่นๆ
กลุ่มผู้นำชุมชนเองก็ตระหนักดีว่า ในอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้า ภาษาและวัฒนธรรมของชาวลัวะที่เติบโตมาในชุมชนจะถูกกลืนหายไปในสังคมเมือง