จากคนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมกว่าร้อยปี กลายเป็นคนที่ถูกไล่ที่ รื้อบ้าน ปิดกั้นการเข้าถึงทะเลที่เป็นเสมือนส่วนหนึ่งชีวิตของพวกเขา
นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รีสอร์ตแห่งหนึ่งได้ทำประตูปิดกั้นถนนที่เชื่อมสู่โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และชายหาดซึ่งใช้จอดเรือของชาวเลกว่า 250 ลำ ทำให้ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะรวมตัวเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ตรวจสอบเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินใหม่ทั้งเกาะ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน และไม่ใช่แค่พวกเขาเท่านั้น เพราะชาวเลในเกาะอื่นทางภาคใต้ของไทยก็เผชิญปัญหาเกี่ยวกับที่ดินมาหลายครั้งเหมือนกัน เราได้สรุปและอธิบายที่มาที่ไปของปัญหาชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะในประเด็นเรื่องที่ดิน มันมีสาเหตุจากอะไร นำไปสู่ข้อพิพาทใดแล้วบ้าง และที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนได้พยายามช่วยแก้กันอย่างไรบ้าง
ต้นตอของปัญหาชาวเลอูรักลาโว๊ย เกาะหลีเป๊ะ
ภายหลังประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ได้เกิดข้อพิพาทเรื่องชายแดนขึ้นในปี 2452 อย่างไรก็ดี เอกสารชั้นต้นยืนยันว่าชาวเลอูรักลาโว้ยที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะต่างๆ ได้ยืนยันว่าตัวเองเป็นคนไทย ทำให้ข้อพิพาทดังกล่าวยุติและหมู่เกาะต่างๆ กลายเป็นเขตแดนของไทยมาถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ.2497 รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อจัดระเบียบการถือครองที่ดินและมีผลให้เจ้าของที่ดินต้องออกโฉนดเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตาม ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะหลายรายไม่ได้ไปร่วมออกโฉนด ซึ่งสาเหตุดังกล่าว นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคมได้กล่าวไว้ในงามเสวนา “สารคดี Talk#5 โครงการพัฒนาอันดามันกับชาติพันธุ์ชาวเล” ถึงสาเหตุ 3 ประการที่เป็นรากของปัญหาที่ดินชาวเลไว้ว่า
- ชาวเลไม่มีระบบคิดเรื่องการติดอยู่กับที่และความเป็นเจ้าของ ชาวเลดั้งเดิมมองว่าผืนดิน ท้องฟ้า และทะเลเป็นของทุกคนไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรได้เท่าเทียม
- ชาวเลไม่รู้หนังสือ ชาวเลดั้งเดิมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาไทย จึงไม่ทันกฎหมาย บางครั้งเมื่อมีกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ขายต่อเพราะความจำเป็นด้านเงินทอง รวมถึงบางทีถูกหลอกหรือข่มขู่
- อคติทางชาติพันธุ์ อคติตัวนี้เกิดขึ้นในทั้ง 2 ฝั่งกล่าวคือ คนนอกก็มักมีอคติกับชาวเลและฝั่งชาวเลเองก็กลัวเจ้าหน้าที่รัฐ อคติจึงกลายเป็นเป็นกำแพงกั้นชาวเลกับคนภายนอก
เมื่อชาวเลหลายคนไม่ได้ขอโฉนดที่ดินเป็นของตัวเองทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เกิดการจดโฉนดที่ดินทับที่อยู่อาศัยของชาวเล ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป็นชาวเลด้วยกันและคนนอกที่เข้ามาอยู่อาศัยภายหลัง
ประกอบกับความเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะเพิ่มขึ้น จนเวลาต่อมาเกิดข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- พ.ศ.2557 เจ้าของที่ดินอ้างกรรมสิทธิ์สร้างกำแพงและประตูกั้นหาดบนพื้นที่ 1 ไร่ ปิดทางเข้าออกหาดดั้งเดิม และทำให้ชาวเลออกเรือได้ลำบากขึ้น
- พ.ศ.2561 โรงแรมได้อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินฟ้องชาวเลให้รื้อกระท่อมซ่อมเรือขนาด 5 ตร.ม. ท้ายที่สุด ศาลมีคำตัดสินให้ชาวเลแพ้คดีเพราะไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง
- พ.ศ.2565 รวมถึงกรณีล่าสุดที่เจ้าของที่ดินสร้างรั้วกั้นบนที่ดิน ปิดกั้นทางสัญจรดั้งเดิมที่ชาวเลมักใช้เดินทางไปโรงเรียน กรมอนามัย และจุดจอดเรือ จนมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสิทธิบนที่ดินใหม่ทั้งเกาะ และล่าสุด เลขาฯ รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ไปรับหนังสือด้วยตัวเอง
นอกจากข้อพิพาทระหว่างชาวเลกับภาคเอกชน ในปี พ.ศ.2517 ได้มีการออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่บนเกาะหลีเป๊ะ (และเกาะอื่นที่ชาวเลอาศัยอยู่) จนมีการย้ายชาวเลออกจากพื้นที่อุทยานหลายแห่ง และนำไปฝากไว้ที่เกาะหลีเป๊ะจนเกิดความแออัดมากขึ้นในชุมชน
ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2562 มีรายงานว่าชาวเลและเจ้าของที่ดินในเกาะหลีเป๊ะได้เข้าร้องเรียนกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาหลังถูกอุทยานกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติ โดยระบุว่าภาพถ่ายทางอากาศที่อุทยานใช้อ้างไม่ใช่หลักฐานจริง
จากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำให้รัฐไทยขยายดินแดน แต่ความไม่รู้และปัญหาที่ทับถมทำให้ทุกวันนี้พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่เผชิญปัญหาที่ดินทำกินรุนแรงที่สุด
การแก้ไขปัญหาของภาครัฐ
อันที่จริงภาครัฐไทยพยายามแก้ไขปัญหาของชาวเลอยู่เป็นระยะ แต่ที่เห็นว่าเป็นหลักที่สำคัญมีทั้งสิ้น 2 ครั้ง
- มติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเห็นชอบแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
มาตรการระยะสั้น 6-12 เดือน
- การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย จัดทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับชาวเล และให้ตั้งอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน
- อนุญาตให้ชาวเลที่ใช้อุปกรณ์หาปลาดั้งเดิมประกอบอาชีพประมงและหาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ ได้
- การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข
- การแก้ปัญหาบุคคลไร้สัญชาติในกลุ่มชาวเล
- ส่งเสริมการศึกษาและทุนการศึกษา พร้อมจัดตั้งหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
- แก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์
- ส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล เช่น โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมชาวเลในชุมชน ส่งเสริมชมรมท้องถิ่นในโรงเรียน
- สำหรับชุมชนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ให้ภาครัฐสนับสนุนต่อเนื่อง
- จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของเครือข่ายชาวเล และให้งบส่งเสริม “วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล”
มาตรการระยะยาว 1-3 ปี
- พิจารณากำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ในงาน ‘10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูลได้กล่าวไว้ในงานว่า
“ผ่านมา 10 ปี ปัญหาของชาวเลยังไม่ได้รับการแก้ไข แถมยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เสียงเรียกร้องหายไปกับสายลม พวกเรายังถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกละเมิดสิทธิมาอย่างต่อเนื่อง” แสงโสมขยายความว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาชาวเลยังคงเผชิญปัญหาต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นที่ดิน ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งกับเจ้าของที่ดินและภาครัฐเอง
- คสช. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญาณชาวเล โดยมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทองเป็นประธานกรรมการ
ทั้งนี้ ในเสวนาออนไลน์ 4 วัน 4 เรื่องราวความเดือดร้อนของชาวเล ตอนผลสำรวจเรื่องที่ดินบ่งชัดว่า … ชาวเลอยู่มาก่อน พล.อ.สุรินทร์ได้ระบุว่า ปัญหาเรื่องที่ดินของชาวเลเกิดเพราะความปล่อยปละละเลยของข้าราชการ ที่ให้มีการออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณะ เช่น ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ซึ่ง พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่า
“หัวใจคือการออกเอกสารสิทธิ์ทับเส้นทางน้ำ บนเกาะหลีเป๊ะมีทางน้ำอยู่ 3 ทาง สุดท้ายก็ไม่กล้าที่จะไปรื้อ เช่นเดียวกับในราไวย์ที่ไม่มีใครกล้ายกเลิก เพราะเป็นพวกเดียวกัน” พล.อ.สุรินทร์กล่าว
พล.อ.สุรินทร์เชื่อว่ากฎหมายที่ดินในปัจจุบันมีความละเอียดรอบคอบอยู่แล้ว ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันคือ ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาแก้ไขปัญหา โดยให้ทุกฝ่ายเอาข้อมูลมาวางรวมกัน แล้วให้คณะกรรมการตัดสิน
ข้อเสนอจากภาคประชาชนและฝ่ายค้าน
เมื่อชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ยังเผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ภาคประชาชนและฝ่ายค้านได้ยื่นกฎหมายจำนวน 3 ฉบับเข้าสู่สภา
- พรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
- ประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง (อ่านข้อมูลได้ใน The MATTER)
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ทั้งนี้ กฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่ยื่นเข้าสู่สภาได้สิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว และต้องติดตามดูว่าจะถูกนำขึ้นมาพิจารณาในสภาเมื่อไหร่
ปัญหาชาวเลในพื้นที่อื่นๆ
ไม่เพียงแต่ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหา ยังมีชาวเลในพื้นที่อื่นๆ ที่เผชิญปัญหาเรื่องที่ดินเช่นเดียวกัน อาทิ
- ชาวเลที่อาศัยบริเวณหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต
ชาวเลบริเวณหาดราไวย์เป็นอีกพื้นที่ที่มีข้อพิพาทอยู่บ่อยครั้ง ในปี พ.ศ.2559 มีรานงานว่าบริษัทเอกชนได้เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินขนาด 33 ไร่ ซึ่งชาวเลใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งซ่อมเรือประมง จอดเรือประมง รวมถึงเป็นสุสานฝังศพ โดยบริษัทได้นำแท่งปูนและก้อนหินขนาดใหญ่มาปิดกั้นทางเข้าออก จนเกิดเหตุกระทบกระทั่งกัน
- ชาวเลที่อาศัยบนเกาะพีพี จ.กระบี่ ข้อพิพาทเรื่องที่ดิน
ในปี พ.ศ.2564 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีคำสั่งให้ชาวเลรื้อถอนเพิงพัก ซึ่งชาวเลได้มาสร้างและอยู่อาศัยเพื่อทำการประมง เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีลักษณะอาศัยกึ่งถาวรไม่ใช่ที่หลบลม ต่อมาในปีเดียวกัน ทางอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีประกาศให้ชะลอการดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงจากไวรัส COVID-19
- ชาวเลที่อาศัยบนเกาะลันตา จ.กระบี่ ข้อพิพาทเรื่องที่ดิน
เมื่อเดือน มี.ค. ปี พ.ศ.2565 ชาวเลบนเกาะลันตา จ.กระบี่ ได้มีข้อพิพาทกับเจ้าของที่ดิน หลังจากเจ้าของที่ดินอ้างสิทธิ์เหนือพื้นดินบางส่วนของเหนือสุสานที่บรรพบุรุษชาวเลถูกฝังมากว่า 200 ปี ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่สำนักที่ดิน จ.กระบี่ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและใช้รังวัดวัดขนาดที่ดินใหม่
ปัญหาของชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนหลายชั้น ตั้งแต่ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์, ภาษาและการสื่อสาร ตลอดจนการปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ แต่ที่สำคัญอยู่ที่สังคมและหน่วยงานภาครัฐจะมองพวกเขาแบบไหน และออกแบบกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้เขารู้สึกมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกับมนุษย์คนหนึ่ง
อ้างอิงจาก