1.
“วันหน้าตายไป ก็ฝากลูกฝากหลานไว้ที่นี่แล้ว ประเทศไทย…” พ่อพรม พรชัย อายุ 77 ปี บอกกับเราไว้อย่างนั้น
พ่อพรมคือหนึ่งในชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ทางตอนใต้ของจีน จากนั้นย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่ขาว ในจังหวัดเชียงตุงของเมียนมา ก่อนจะหนีสงคราม ข้ามมาประเทศไทยเมื่อปี 2530 ผ่านอำเภอแม่สาย สุดท้ายปักหลักและสร้างบ้านอยู่ที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
ชาวไทลื้อ หรือที่เรียกตนเองว่า ‘ลื้อ’ คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลไท ฐานข้อมูลศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่า ไทลื้อมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน จากนั้นจึงอพยพเข้ามาไทยในช่วงล้านนายุคต้น แต่ถ้านับกรณีพ่อพรม หรือคนอื่นๆ ที่ยังมีปัญหาเรื่องสัญชาติ ก็แสดงว่า มีชาวไทลื้ออพยพเข้ามาแม้กระทั่งในยุคสมัยใหม่ด้วย
พูดไม่ช้าไม่เร็ว คล้ายคลึงกับคนเมืองล้านนา ชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในอย่างน้อย 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย และเฉพาะในเชียงรายเอง ก็มีชุมชนไทลื้อที่อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนในอย่างน้อย 12 อำเภอจากทั้งหมด 19 อำเภอ
ที่สำคัญ ไทลื้อยังจัดเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม ซึ่งมีโอกาสขอแปลงสัญชาติเป็นไทยด้วย หากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์
“ตามสบายเน่อ” พ่อพรมเอ่ยต้อนรับเรา
บ้านของพ่อพรม ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย พอมีบริเวณกว้าง มีที่สวนให้ทำกิน และสร้างมาจากการเก็บเงินออม ซื้อที่ดินด้วยตัวเอง “ทำสวนกินกัน อยู่แบบนี้ อยู่แบบพอเพียง ไม่ค่อยฟุ่มเฟือย ประหยัดไปอยู่ไปกินไป
“พ่อนี่สู้ชีวิต สู้เต็มตีนแล้วนะ” พ่อพรมเล่า “ขยัน 2 เท่า สมัยก่อน ทำสวนทำนา พ่อไป 5 โมงทำสวน นี่ก็ตั้งตัวได้”
เมื่อวัย 30 ปี พ่อพรมอพยพเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมกับภรรยา และลูก 2 คน จนถึงวันนี้ เขาใช้ชีวิตในประเทศไทยมา 37 ปี
“ผูกพันจริงๆ ล่ะ อยู่เมืองไทยผูกพันจริงๆ” เขาว่า “ประเทศอื่น พ่อไม่คิดเลย เข้ามาเมืองไทยอย่างเดียว ไม่คิดจะไปเมืองไหน เมืองไทยมีเจ้านายของประชาชน ในพม่าเจ้านายบังคับประชาชน ถ้าเฮาตายไป ก็บังคับลูกเขาต่อ บังคับหลานเขาต่อ พ่อก็คิดว่า อยู่ที่นี่ แบบนี้ไปเลย”
เมื่อล่วงเลยมาถึงวัย 60 ปี พ่อพรมจึงเข้าเกณฑ์เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีสิทธิขอแปลงสัญชาติไทย โดยได้รับการยกเว้นเกณฑ์รายได้ และการเสียภาษี ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พ่อพรมได้ดำเนินเรื่องขอแปลงสัญชาติ นับตั้งแต่ระดับอำเภอ เมื่อปี 2560 จนเข้าสู่ระดับจังหวัด แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย
“ไม่ค่อยเจ็บปวดเท่าไหร่ คือเฮาก็เป็นคนต่างด้าวอยู่แล้ว หนีเข้ามา เข้ามาที่นี่ แต่เฮาก็อยากเป็นคนที่นี่ อยากพัฒนาที่นี่ อยากช่วยบ้านช่วยเมือง วันหน้าตายไป ก็ฝากลูกฝากหลานไว้ที่นี่”
2.
หากชนกลุ่มน้อยต้องการมีสัญชาติไทย ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 จะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาคำร้องถึง 14 ขั้นตอน
โดยคร่าวๆ คือ เริ่มต้นจากการยื่นคำร้องในระดับอำเภอ จากนั้นเข้าสู่ระดับจังหวัด และส่วนกลางที่กรมการปกครอง ซึ่งต้องมีการพิจารณาจากหลายๆ ฝ่าย รวมไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตให้แปลงสัญชาติ
ใน 14 ขั้นตอนนี้ ยังจำเป็นต้องมีพิธีสาบานตนว่าจะเป็นพลเมืองดี ซึ่งต้องส่งหลักฐานการสาบายตนให้ส่วนราชการพิจารณาด้วย เมื่อครบทั้ง 14 ขั้นตอน ก็จะสิ้นสุดลงที่การจัดบัตรประจำตัวประชาชน กลายเป็นคนสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์
“การขอแปลงสัญชาติมี 14 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนยาวนานมาก เป็น 10 ปียังไม่ได้เลย” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่าง ครูแดง—เตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานะผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) บอกกับเรา
สิ่งที่เกิดขึ้นจากกระทรวงมหาดไทย ในสมัยภายใต้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือการออกหนังสือเวียน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ปรับปรุงแนวทางการพิจารณาให้สัญชาติไทยกับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ให้ลดเกณฑ์บางอย่าง เช่น เรื่องรายได้ และการเสียภาษี ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 มีผู้เฒ่ายื่นขอแปลงสัญชาติเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
การกำหนดขั้นตอนทั้งหมดดูเหมือนจะมีระบบระเบียบ และน่าจะดำเนินการได้อย่างราบรื่น แต่ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 โดย พชภ. ก็ระบุว่า แม้จะมีผู้เฒ่าได้รับอนุญาตแปลงสัญชาติแล้ว 229 ราย แต่ก็ยังมีอีกมากกว่า 1,200 ราย ที่เรื่องตกค้างในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะระดับจังหวัด หรือส่วนกลาง
“เหตุที่ต้องมีการผลักดันเรื่องแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีประชากรสูงวัยมากเกิน 20% ของประชากรทั้งหมดแล้ว” ครูแดงอธิบาย
“ซึ่งผู้เฒ่าที่ไร้สัญชาติถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด และขนาดสิทธิทางสวัสดิการสังคมหลายอย่าง เช่น สิทธิในเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุแห่งชาติ ผู้เฒ่าที่ไร้สัญชาติก็ไม่มีสิทธิที่จะได้ หรือการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายต่างๆ ของรัฐ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ผลผลิตการเกษตรไม่ดี ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น
“แต่ผู้เฒ่าเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย เข้ามามีภูมิลำเนามานาน ไม่น้อยกว่า 40 ปี บางคนถึง 60 ปีแล้ว และกลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานเป็นคนสัญชาติไไทย เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นข้าราชการก็มี คือทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม มากมายเลย ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน”
โดยส่วนตัว ครูแดงมองว่า “ในฐานะนักสังคมวิทยา ไม่ใช่นักกฎหมาย ก็มองว่า การเกิดที่ไหนมันสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ การเกิดที่ไหนมันไม่น่าจะสำคัญ แต่การกลมกลืนกับอาณาบริเวณนั้น ราชอาณาจักรนั้น หรืออำนาจอธิปไตยนั้น น่าจะสำคัญกว่า”
3.
ที่ผ่านมา มูลนิธิ พชภ. ร่วมกับสมาคมไทลื้อจังหวัดเชียงราย ได้ผลักดันการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติมาอย่างสม่ำเสมอ วิธีหนึ่งคือการเปิดเวทีให้ชาวบ้านมาบอกเล่าปัญหา นั่นจึงทำให้เราได้รับฟังอุปสรรคหรือข้อจำกัดจากทางฝั่งราชการด้วย
ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มาบอกเล่าอุปสรรคกับชาวไทลื้อจำนวนหนึ่งที่ยังมีปัญหาเรื่องการยื่นขอแปลงสัญชาติ
“ส่วนราชการเองก็เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ก็พยายามที่จะขับเคลื่อน แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ ที่อาจจะทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนมันอาจจะไม่รวดเร็วทันใจเท่าใดนัก หรือบางครั้งบางคราว อาจจะเข้าข่ายค่อนข้างล่าช้าเลยก็ว่าได้” รองผู้ว่าฯ ระบุ
ปัญหาหลักอย่างหนึ่งก็คือจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอของส่วนกลาง นั่นคือ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบเรื่องการแปลงสัญชาติ
รองผู้ว่าฯ ศราวุธ ซึ่งเปิดเผยว่า เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียนมาก่อน เล่าว่า “บุคลากรที่ส่วนสัญชาติมี ก็น่าจะ 50-60 คน แต่ปริมาณงานต้องบอกว่ามีเป็นหลักหมื่นเรื่อง เพราะฉะนั้น บุคลากรลำพังแค่ 50-60 คน กับเรื่องประมาณหลักหมื่นเรื่อง มันก็เทียบกันไม่ได้ และที่สำคัญ 50-60 คน ส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่ระดับตัดสินใจได้ ดังนั้น ถ้าจะเป็นระดับหัวหน้างานที่สามารถตัดสินใจได้ ก็ประมาณแค่ 10-20 ราย”
อุปสรรคอีกประการหนึ่งก็คือความซับซ้อนในขั้นตอนของกฎหมายและการปฏิบัติ ที่ทำให้บุคลากรจำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ
“ยิ่งในส่วนภูมิภาค จะมีปัญหาเรื่องของการสลับสับเปลี่ยน โยกย้ายงาน โยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ก็จะกลายเป็นว่า มีคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องมาศึกษากระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามแนวทางที่กำหนดไว้ บางครั้งบางคราว อาจจะนำมาซึ่งการที่ไม่กล้าที่จะดำเนินการ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง”
ในเรื่องของความซับซ้อนของกฎหมายเอง รองผู้ว่าฯ ก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาต่อส่วนราชการ ซึ่งในมุมมองของเขา ก็เสนอว่า ฝ่ายนิติบัญญัติควรมัดรวมกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัญชาติ ให้เป็นฉบับเดียว คือเป็นประมวลกฎหมายสัญชาติและสถานะบุคคล ในลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
อย่างไรก็ดี รองผู้ว่าฯ เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล ได้มีแนวนโยบายในลักษณะ ‘ให้ก่อน ถอนทีหลัง’ คือ เร่งให้สัญชาติไทยไปก่อนเลย หากตรวจสอบพบว่ามีประวัติต้องห้าม หรือคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ก็ค่อยถอนทีหลัง ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ยกเป็นร่างกฎกระทรวง ต้องจับตาดูความคืบหน้าต่อไปว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด
4.
“รักประเทศไทยไหม?” เราถาม อุ้ยคำ อินใจ อายุ 89 ปี อีกหนึ่งผู้เฒ่าไทลื้อ ที่ยังรอคอยวันถือสัญชาติไทย
“ฮัก” เธอตอบ “อยู่เมืองไทยสบายดี”
สามแปง อินใจ ลูกชายวัย 51 ปี ประกอบอาชีพข้าราชการครู เล่าแทนผู้เป็นแม่ว่า แต่เดิมมีพื้นเพมาจากเมืองวะ จังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมา หนีสงครามโดยการเดินเท้าเข้ามาประเทศไทย เมื่อปี 2510 ที่อำเภอแม่สาย ผ่านมาได้ 9 ปี จึงมาปักหลักสร้างบ้านที่อำเภอแม่สรวย
ที่ผ่านมาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเก็บผัก ปลูกฝ้าย ช่วยกันทำมาหากันกับ แสง อินใจ สามีผู้ล่วงลับ ซื้อที่ดินซึ่งสามแปงเล่าว่า ราคา 2,700 บาท เพื่อสร้างบ้าน รวมถึงเลี้ยงดูลูก 6 คน และส่งเสียให้ได้เรียนจบ 2 คน จนเข้ารับราชการได้
ผู้เป็นลูกเล่าต่อว่า อุ้ยคำยื่นเรื่องที่อำเภอ ขอแปลงสัญชาติไปตั้งแต่ปี 2560 แต่ก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน มีผู้เฒ่าที่รอได้สัญชาติในรุ่นเดียวกันเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 10 ราย
“ถ้าถามความรู้สึกที่สมัยก่อน ที่คุณแม่พูดให้ฟัง หลักๆ แม่ก็บอกว่า ก่อนตาย ขอถือบัตรไทย อยากได้เอาไปใช้สิทธิ ถามว่าเงินที่จะให้ [ผู้สูงอายุ] 600 บาท เอาไหม แกก็บอกว่า ลูกให้อยู่แล้ว ถ้าได้จริงๆ เขาก็จะสละสิทธิ์ คือไม่ขอรับ ถ้าได้บัตรไทยนะ ถ้าสมมติเงินผู้สูงอายุเข้า แกก็อยากเอาไปทำบุญ” สามแปงบอกกับเรา
“แม่จะพูดตลอดว่า อย่างน้อยเวลาเขาไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนอื่นเขาไป แล้วก็อยากทำเหมือนเขาบ้าง ไปหย่อนบัตร เวลาเขาเลือกตั้งแต่ละครั้ง หอประชุมอยู่ข้างๆ เขาก็จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งตรงนี้ แกก็จะไปยืนดู ก็อยากไปหย่อนกับเขาบ้าง ใช้สิทธิกับเขาบ้าง อันนี้ก็ไม่มีสิทธิจะไปใช้สิทธิ”
“ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง” และ “บุคคลใดจะถูกเพิกถอนสัญชาติ ของตนตามอำเภอใจ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของตนไม่ได้” คือข้อความในข้อที่ 15 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)
ประเทศไทยเองเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรกที่ร่วมรับรองปฏิญญาดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1948
“ดังนั้น จึงอยากฝากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาว่า สิทธิในการรับรองสัญชาติเป็นสิทธิมนุษยชน” ครูแดงกล่าว
“อย่าไปเอียงในเรื่องของความมั่นคงของชาติอย่างเดียว กลุ่มที่ควรจะเน้นที่สุดคือกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยมานาน มีภูมิลำเนามานาน มีจุดเกาะเกี่ยว และความกลมกลืนกับสังคมไทย ขอให้พิจารณาโดยเร่งด่วนที่สุด”