เมื่อเกิดสงครามหรือการบุกรุกดินแดนใด การทำลายสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในพื้นที่ ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่เรามักจะได้เห็นบ่อยๆ ในประวัติศาสตร์ เพื่อข่มขวัญผู้คน แสดงถึงอำนาจที่เหนือกว่า เพื่อทำลายอำนาจเก่า อย่าง ‘พาร์เธนอน’ เป็นอีกสถานที่ที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ดี
ผ่านมาทุกยุคตั้งแต่วันที่เป็นวิหารบูชาเทพเจ้า จนการมาถึงของศาสนาที่จำต้องลบล้างเทพเจ้าเก่าออกไป ทำให้ ‘วิหารพาร์เธนอน’ ไม่ได้เป็นวิหารดังเดิม ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มาดูกันว่า ‘พาร์เธนอน’ ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรมาแล้วบ้าง
หลังจากประทานมะกอกให้ชาวกรีกจนเป็นที่พอใจ ชื่อของเทพีอะธีนา (Athena) จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเมืองอย่าง ‘กรุงเอเธนส์ (Athens)’ เทพีแห่งปัญญาผู้นี้จึงได้รับความนิยมสูงสุดในเมือง ถึงขนาดที่ชาวเมืองสร้างวิหารหนึ่งขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่บูชาเทพีอะธีนาโดยเฉพาะ ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช ขอเสริมนิดนึงว่า คอนเซ็ปต์การบูชาเทพเจ้าสมัยนั้น แต่ละเมืองจะบูชาเทพเจ้าเป็นองค์ไป เพื่อให้เทพเจ้าองค์นั้นคอยคุ้มครองเมืองเมื่อเกิดศึกสงคราม หรือคอยปกปักรักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข โดยจ่ายเป็นศรัทธานั่นเอง
วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เนินอะโครโพลิส (Acropolis) ในเมืองเอเธนส์ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่และงดงาม หินอ่อนจากแหล่งวัสดุที่ไกลออกไปนับสิบกิโลเมตร ถูกนำมาใช้แทบทุกตารางนิ้วในวิหาร ตั้งแต่พื้นไปจนหลังคา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความสวยงามให้กับสถานที่นี้
นอกจากบันไดรอบด้านแล้ว ยังมีเสาวิหารที่โดดเด่นและสะดุดตากับเสาเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 2 เมตร สูง 10 เมตร ด้านหน้า 8 ต้น ด้านข้างด้านละ 17 ต้น โดยเชื่อว่าการออกแบบของวิหารอ้างอิงกับสัดส่วนทองคำ
มองตรงเข้ามาจากภายนอก แม้จะสัมผัสกับความยิ่งใหญ่เพียงใด ด้านในก็ยังซ่อนความโอ่อ่าเอาไว้ไม่แพ้กัน กับประติมากรรมเทพีอะธีน่า ในชื่อ ‘Athena Parthenos’ ที่แปลว่า เทพีผู้บริสุทธิ์ ในบันทึกกล่าวไว้ว่าประติมากรรมนี้ทำจากโครงไม้ ด้านนอกปกคลุมด้วยงาช้างและทองคำ มีความสูงกว่า 12 เมตร เป็นรูปเทพีอะธีน่าใส่ชุดเกราะพร้อมรบ เสื้อเกราะหนังแพะ อาวุธครบครัน โดยมีลูกมือเป็นกริฟฟิน ครึ่งอินทรีย์ครึ่งสิงโต สฟิงซ์ และงู นอกจากจะถูกสร้างมาด้วยศรัทธาแล้ว สถานที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ (นอกจากวิหารยังรวมถึงที่อื่นๆ ด้วย) ยังแสดงถึงวิทยาการที่ล้ำหน้า ความมั่งคั่งทั้งสินทรัพย์และอารยธรรมไปในตัว
แม้เสาหินอ่อนตั้งตระหง่านตระการตาจะมั่นคงเพียงใด เวลาผ่านไปไม่นาน (ยังคงอยู่ในช่วง ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช) จักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantines) ได้เข้ามาพิชิตกรุงเอเธนส์ นอกจากสงครามแล้ว พวกเขายังมาพร้อมศรัทธาในศาสนาคริตส์ แน่นอนว่าต้องเอามาเผยแพร่แก่เมืองที่ปราชัย แต่ไม่ได้แค่เผยแพร่เฉยๆ ยังทำลายความเชื่อเก่าอย่างการบูชาเทพเจ้าที่ขัดต่อศาสนาคริสต์อย่างร้ายแรง
วิหารที่ฟังก์ชั่นเดิมเอาไว้บูชาเทพเจ้าอย่างพาร์เธนอน เป็นอันต้องยุติไว้เพียงเท่านั้น ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโบสถ์นิกายกรีกออธอด็อกซ์ เพื่อสถายแต่พระแม่มารีแทน รวมทั้งมีการปิดทางเข้าด้านข้างฝั่งตะวันออก เปิดให้เข้าได้เพียงฝั่งตะวันตก เพื่อให้สถานที่แห่งนี้ใกล้ความเป็นโบสถ์มากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนการตกแต่งภายในในภายหลังที่ยึดเมืองได้อย่างสมบูรณ์ ในช่วงที่โลกยังทำสงครามกันเป็นงานอดิเรก แม้สถานที่แห่งนี้จะเป็นโบสถ์คริสต์อย่างเต็มตัวแล้ว ในช่วงสงครามครูเสด ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นนิกายโรมันคาธอลิกอีกด้วย
ความมั่นคงของศาสนาคริสต์ แผ่ปกคลุมวิหารที่กลายเป็นโบสถ์นี้ไปจนถึง ค.ศ.1456 เหมือนภาพยนตร์เรื่องเดิมกำลังจะฉายซ้ำ ประวัติศาสตร์กำลังจะเดินย่ำซ้ำรอย เมื่อกรุงเอเธนส์ตกเป็นของจักรวรรดิอ็อตโตมัน พาร์เธนอนก็ต้องเปลี่ยนไปอยู่ในมือของชาวเติร์กผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามแทน แน่นอน ฟังก์ชั่นของพาร์เธนอนถูกปรับเปลี่ยนอีกครั้ง
คราวนี้จากโบสถ์คริสต์ (ที่เป็นมาแล้วทั้งสองนิกาย) ค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนทีละเล็กละน้อยจนกลายเป็นมัสยิดในที่สุด เมื่อยังคงมีการยึดดินแดนกันอยู่เรื่อยๆ พาร์เธนอนก็ถูกเปลี่ยนฟังก์ชั่นไปตามศรัทธาของผู้มีชัยชนะเหนือดินแดน จนวิหาร โบสถ์และมัสยิดแห่งนี้ กลายเป็นเป้าโจมตีของฝั่งตรงข้ามเพื่อข่มขวัญและทำลายอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ จนพาร์เธนอนกลายเป็นซากปรักหักพังจากสงคราม เหลือทิ้งไว้เพียงโครงและเสาขนาดมหึมาบางส่วนเท่านั้น
แม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นมากเพียงใด สถานที่นี้ยังคงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ อารยธรรม ความรุ่งเรือง อีกด้วย จากความมั่งคั่งและศรัทธาต่อเทพเจ้า ดำเนินไปด้วยสงครามและความเป็นไปของโลก มองวันนี้เห็นวันวานผ่านซากปรักหักพัง
อ้างอิงข้อมูลจาก