23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิดนักเขียนและนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยมีอายุครบ 80 ปี การกล่าวถึงเขาในช่วงนี้จึงน่าจะเป็นเวลาเหมาะเจาะพอดี
ชื่อเสียงเรียงนามของนิธิย่อมมิแคล้วผูกกับบทบาทการสร้างงานเขียนที่วิเคราะห์และฉายภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์และความเป็นไปของสังคมไทยเสมอๆ หากให้เอ่ยขานผลงานชิ้นหลักๆ ของนิธิ นักอ่านจำนวนไม่น้อยคงจะนึกถึง การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์,ปากไก่และใบเรือ และการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ทั้งๆ ที่จริงแล้ว นิธิได้เขียนหนังสือและบทความต่างๆ นานาเสนอประเด็นชวนขบคิดไว้มากมายเรื่อยมา ใช่เพียงแค่งานเขียนถ่ายทอดสภาพสังคมไทยเท่านั้น ยังปรากฏงานเขียนหลายชิ้นที่แสดงเรื่องราวของสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะงานช่วงแรกเริ่มในทศวรรษ 2510 เฉกเช่นนิธิเคยเขียนเรื่อง อิสลามสมัยแรก, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก และเคยแปลเรื่อง ประวัติศาสตร์เยอรมัน ของฮูแบร์ตุส ฟรีดริช ซู ลอเวนสไตน์
งานชิ้นหนึ่งของนิธิที่น่าสนใจยิ่ง แต่กลับไม่ค่อยถูกพาดพิงเท่าไหร่นักในเมืองไทย นั่นคือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Fiction as History: A Study of Pre-war Indonesian Novels and Novelists (1920-1942) ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) เมื่อปีค.ศ. 1976 นิธิเลือกศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมอินโดนีเซียยุคปลายอาณานิคมช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และการได้รับเอกราช
ความปรารถนาใคร่อ่านงานชิ้นนี้ของผมสำเร็จได้ก็เพราะการแนะนำและแบ่งปันของศุภเกียรติ ศุภศักดิ์ศึกษากร ราว 7 ปีก่อน นับว่าช่วยเปิดโลกและมุมมองใหม่ผ่านวรรณกรรมอินโดนีเซียซึ่งผมหมั่นคอยติดตามค้นคว้าอยู่เป็นทุนเดิม
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสะดุดตาในวิทยานิพนธ์นี้
คือการเปิดเผยบทบาทของ ‘บาไล ปุสตากา’ (Balai Poestaka)
และนิธิได้วิเคราะห์สำนักพิมพ์นี้ด้วยชั้นเชิงวิธีการทางประวัติศาสตร์ พร้อมบ่งชี้ให้เห็นว่า ‘เรื่องแต่ง’ (fiction) หรือวรรณกรรมมีความเชื่อมโยงแนบแน่นกับโฉมหน้าประวัติศาสตร์อินโดนีเซียเช่นไร
ผมเองเคยทำความรู้จักบาไล ปุสตากาครั้งแรกจากการอ่านบทนำของหนังสือรวมเรื่องสั้นอินโดนีเซียที่ เรืองยศ จันทรคีรี เป็นบรรณาธิการ เช่น เสียงของประชาชน และรวมเรื่องสั้นชุดที่ 2 ที่ผมจำหน้าปกสีดำได้แม่น แต่เผลอหลงลืมชื่อเล่มในขณะนี้
บาไล ปุสตากา ดำเนินกิจการภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลดัชต์ผู้เป็นเจ้าอาณานิคม ภารกิจหลักของสำนักพิมพ์นี้คือการผลิตและเผยแพร่หนังสือวรรณกรรมในภาษาพื้นถิ่นของนักเขียนพื้นเมือง ทว่าส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นจัดพิมพ์ผลงานของนักเขียนผู้มีรกรากมาจากสังคมและวัฒนธรรมมินังกะเบา (Minangkabau) บนเกาะสุมาตราซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร อาจมีบ้างที่จัดพิมพ์งานเขียนที่ใช้ภาษาชวาและภาษาซุนดา นั่นเพราะรัฐบาลดัชต์ได้กำหนดให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางใช้กันในดินแดนอาณานิคมแห่งหมู่เกาะอินดีส ยุคสมัยที่วรรณกรรมถูกเขียนขึ้นด้วยภาษามลายูเป็นหลักจึงถูกเรียกว่า ‘ยุคบาไล ปุสตากา’ อันสืบเนื่องมาจากชื่อสำนักพิมพ์
บาไล ปุสตากาสามารถยึดครองตลาดการพิมพ์ได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะตลาดของงานเขียนประเภทนวนิยายผจญภัยรักโรแมนติก นอกเหนือจากนำงานเขียนพื้นเมืองมาจัดพิมพ์ บาไล ปุสตากายังสนับสนุนการแปลวรรณกรรมยุโรปมาเป็นภาษามลายู ซึ่งงานแปลดูจะได้รับความนิยมมากกว่างานเขียนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลงานของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespesre), เรื่องสัตว์ต่างๆ ของรัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling), ชาร์ล ดิกเคนส์ (Charles Dickens), 80วันรอบโลก (Around the World in Eighty Days) ของจูลส์ แวร์น (Jules Verne) และสามทหารเสือ (The Three Musketeers) ของอเล็กซองด์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) เป็นต้น ภายหลังปี ค.ศ. 1910 ยังมีการแปลวรรณกรรมแนวนักสืบและแนวผจญภัยจากโลกตะวันตก เช่น ชุดนิยายนักสืบเรื่องเชอร์ล็อก โฮมส์ (Sherlock Holmes) ผลงานของนักประพันธ์อังกฤษนามเซอร์ อาเธอร์ โคนันดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะมีเสียงตอบรับที่ดีในอินโดนีเซียคือนิยายชุด Rocambole ผลงานของนักประพันธ์ฝรั่งเศสนาม Pierre Alexis Ponson du Terrail
ลองหันไปพิจารณาแวดวงวรรณกรรมไทย ผมไม่แน่ใจว่าในยุคแรกเริ่มมีการแปลนิยายชุด Rocambole สู่สายตานักอ่านชาวสยามหรือไม่ เท่าที่ผมเคยค้นมายังไม่พบ (หรืออาจจะมีแต่ผมมิทันสังเกต) แต่ในทศวรรษ 2450 ปรากฏการแปลนิยายนักสืบเชอร์ล็อก โฮมส์แล้ว พอว่าถึงการแปลเรื่องนี้ คนมักจะนึกไปถึงนักแปลอย่างหลวงสารานุประพันธ์และ อ.สายสุวรรณ ทว่าอันที่จริง ‘ครูเหลี่ยม’ หรือหลวงวิลาศปริวัตรได้บุกเบิกแปลมาก่อนโดยอาศัยนามแฝง ‘ช.ก.พ.’ คำว่า ‘จัตวาลักษณ์’ ก็เหมือนว่าครูเหลี่ยมจะใช้เป็นคนแรกทีเดียว
วกกลับมายังบาไล ปุสตากา มองเผินๆ เสมือนว่าหน่วยงานนี้ช่างมีคุณูปการในฐานะช่วยส่งเสริมแวดวงวรรณกรรมของนักเขียนพื้นเมือง หากเบื้องหลังลึกๆ แล้วนี่คือความพยายามควบคุมความคิดของชาวพื้นเมืองผ่านหนังสือและการอ่านการเขียน พวกดัชต์มองว่าวิธีที่จะจัดการกับแนวความคิดต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องหรือต่อต้านเจ้าอาณานิคมซึ่งชาวพื้นเมืองได้เผยแพร่ผ่านหนังสือของพวกเขาเอง
ก็คือการสร้างระบบหนังสือที่เจ้าอาณานิคมควบคุมได้
ครั้นต้นฉบับงานเขียนของชาวพื้นเมืองถูกส่งมายังบาไล ปุสตากา กองบรรณาธิการก็จะขะมักเขม้นอ่าน แก้ไข และเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดเพื่อมิให้แนวคิดและน้ำเสียงกระด้างกระเดื่องเจ้าอาณานิคมเล็ดรอดไปได้ รวมถึงจะปฏิเสธงานเขียนที่นำเสนอเนื้อหาที่เจ้าอาณานิคมไม่พึงประสงค์หรือไม่พึงพอใจ เช่น เรื่องเพศที่โจ่งแจ้งและเรื่องชาวยุโรปถูกสังหาร ดังกรณีนวนิยายเรื่อง Salah Asoehan ของนักเขียนนาม Abdoel Moeis ที่กองบรรณาธิการให้แก้ไขฉากที่ตัวละครผู้หญิงชาวยุโรปถูกชู้รักชาวพื้นเมืองคนหนึ่งของเธอฆ่าโดยเปลี่ยนให้เธอตายด้วยอหิวาตกโรคแทน เป็นต้น
เจ้าอาณานิคมดัชต์ตระหนักดีว่า ลำพังแค่จัดพิมพ์หนังสือจำหน่ายในราคาถูกๆ ต่ำกว่าราคาตลาดจนก่อกระแสนิยมอย่างเดียวคงมิอาจป้องกันแนวคิดต่อต้านพวกตนจากชาวพื้นเมืองได้ทั้งหมด จึงสร้างห้องอ่านหนังสือหรือห้องสมุดประชาชนที่เรียกว่า ‘Volksbibliotheken’ หรือในภาษาอินโดนีเซียเรียก ‘Taman Pustaka’ เจ้าอาณานิคมเลยควบคุมความคิดความอ่านของคนท้องถิ่นได้เนืองๆ ทว่าการส่งเสียงต่อต้านของชาวพื้นเมืองโดยอาศัยวรรณกรรมเป็นเครื่องมือใช่ว่าจะจางหาย
นักเขียนนวนิยายคนหนึ่งที่นิธิเอ่ยถึงไว้ในวิทยานิพนธ์ ได้แก่เจ้าของนามปากาว่า ‘ฮัมกา’ (Hamka) ซึ่งเติบโตท่ามกลางสังคมมินังกะเบาอันเคร่งครัดขนบธรรมเนียมประเพณี ‘ฮัมกา’ ถือเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1936-1942 เขาผลิตทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นตีพิมพ์ออกมาหลายชิ้น ผลงานของเขาครองตลาดและส่งผลให้ตลาดวรรณกรรมตื่นตัว
‘ฮัมกา’เกิดริมชายฝั่งทะเลทางตะวันตกบนเกาะสุมาตราในปีค.ศ. 1908 เขาเป็นทั้งนักเขียน นักปาฐกถา และนักศาสนา ‘ฮัมกา’ ยังเป็นนักเขียนชาวพื้นเมืองยอดนิยมที่ดำรงได้ด้วยตนเองโดยมิพักจำเป็นต้องพึ่งพาบาไล ปุสตากา (แต่ก็มีหนังสือบางเล่มของเขาตีพิมพ์กับบาไล ปุสตากา) ผลงานนวนิยายอันเลื่องลือคือ Tenggelamnja Kapal Van der Wijck หรือจะแปลเป็นชื่อไทยว่า การอับปางของเรือฟอนเดอร์วีก พิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1938 นักอ่านพื้นเมืองคลั่งไคล้มากๆ จนถึงขั้นเสียน้ำตากับชะตากรรมของตัวละคร อย่างไรก็ดี นวนิยายเรื่องนี้ถูกโจมตีว่าไปขโมยพล็อตมาจากนวนิยายเรื่อง Sous Les Tilleuls ของนักเขียนฝรั่งเศสนามอัลฟงส์ การ์ (Alphonse Karr) คนหนึ่งที่ร่วมวิพากษ์ก็คือนักเขียนที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมาเยี่ยงปราโมทยา อนันตา ตูร์ (Pramordya Ananta Toer)
ภายหลังอินโดนีเซียประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1945 ได้มีจุดเปลี่ยนทำให้เกิดงานเขียนที่เน้นเรื่องราวอุดมการณ์การต่อสู้และความเป็นชาติเสียมากกว่านวนิยายรักหรือนวนิยายผจญภัย อีกทั้งนักเขียนที่มีบทบาทในแวดวงวรรณกรรมก็มิใช่กลุ่มที่มาจากเกาะสุมาตราเป็นหลักเช่นเคย แต่เป็นนักเขียนจากเกาะชวาและเกาะซุนดาเข้ามาทดแทน ยุคสมัยแห่งบาไล ปุสตากาจึงค่อยๆ สร่างซาลงไป
ที่สาธยายมา จะว่าไปเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของอิทธิพลสำนักพิมพ์บาไล ปุสตากาอันส่งผลต่อประวัติศาสตร์อินโดนีเซียในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนได้รับเอกราช ซึ่งพอจะมองเห็นประเด็นคร่าวๆ จากการทดลองอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนิธิ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ควรศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
ลึกๆ ผมค่อนข้างเชื่อว่า บางที Fiction as History: A Study of Pre-war Indonesian Novels and Novelists (1920-1942) อาจจะเป็นฐานทางแนวความคิดที่นำไปสู่การวิเคราะห์วรรณกรรมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมกระฎุมพีในผลงานอันลือเลื่องและเป็นที่คุ้นเคยของนิธิ เอียวศรีวงศ์อย่าง ปากไก่และใบเรือ หรือ Pen and Sail: Literature and history in Early Bangkok ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างวรรณคดีราชสำนัก วรรณกรรมชาวบ้าน และบริบทประวัติศาสตร์สังคมไทย ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2538.
เรืองยศ จันทรคีรี (บรรณาธิการ). เสียงของประชาชน. กรุงเทพฯ:พาสิโก, 2523
อัจจิมา แสงรัตน์. ภาษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย. ดูที่ http://www.genedu.msu.ac.th/course/1-2557/1-57-0023030.pdf
Aeusrivongse, Nidhi. Fiction as History: A Study of Pre-war Indonesian Novels and Novelists (1920-1942). PhD dissertation., University of Miichigan, 1976
Yamamoto, Nobuto. Censorship in colonial Indonesia, 1901-1942. Leiden: Brill, 2019