ความรู้สึกของการมองตัวเองในกระจกแล้วไม่พอใจอะไรเลยในสิ่งที่ตัวเองเห็นเป็นเรื่องที่ไม่ว่าเพศไหนก็ต้องเคยเจอ
ผิวหน้าที่ไม่เรียบเนียนเท่าใครเขา รอยสิวที่ทำยังไงก็ดูจะไม่หาย ผมที่ไม่เงางามหรือเป็นทรงตลอดเวลาหากไม่พยายาม ร่างกายที่โดนบอกว่าบางเกินไป หนาเกินไป หนักเกินไป เบาเกินไป กล้ามไม่ชัดพอ กล้ามใหญ่ไป ฯลฯ บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราทุกคนมองร่างกายของตัวเองเป็นเช็คลิสต์ที่เราต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐานสังคมกำหนดเอาไว้ ผ่านสื่อ ผ่านวัฒนธรรม ผ่านคุณผู้หวังดีข้างบ้าน ฯลฯ
เมื่อเราคุยถึงเรื่องความรู้สึกของเราต่อร่างกายตัวเองและของเพศตัวเอง เกี่ยวกับมาตรฐานความงาม คำตอบของคำถามว่าแล้วใครเป็นคนกำหนดมาตรฐานเหล่านี้ นิ้วของเรามักชี้ไปในทิศทางของระบอบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) และด้วยวิธีที่เราในฐานะมนุษย์คุยและคิดเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ เรามักยุบรวาม ‘ชายเป็นใหญ่’ ให้เหลือเป็น ‘ไอ้พวกผู้ชาย’ ไปได้โดยไม่ได้ตั้งใจ
ซึ่งเมื่อเราพูดถึงปัญหาความรู้สึกไม่พอใจต่อร่างกายตัวเอง ผู้ชายเองก็มี และในหลายๆ แง่มุมมันกำลังเป็นวิกฤตที่ไม่มีใครพูดถึงอยู่อีกด้วย แม้แต่ผู้ชายผู้กำลังประสบปัญหานั้นๆ อยู่ ฉะนั้นเราเลยขอชวนลองฉายแสงเพื่อมองไปยังปัญหามราเกิดขึ้นนี้กันดูไหม?
ผู้ชายเกินครึ่งไม่พอใจร่างกายตัวเอง แต่พวกเขาไม่พูดออกมา
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างราวๆ 2,000 ราย โดยองค์กรเพื่อการกุศล Better ในประเด็นความไม่มั่นใจในร่างกายตัวเอง พบว่าในขณะที่มีผู้หญิงไม่พอใจในตัวเอง 49% มีผู้ชายไม่พอใจในร่างกายตัวเองนั้นสูงถึงร้อยละ 54 ซึ่งเมื่อเราลองนึกภาพสถิติดังกล่าวเทียบกับการพูดคุยเรื่องประเด็นร่างกายและมาตรฐานความงาม บ่อยครั้งมากที่เราจะคุยกันในมุมมองของผู้หญิงเสียมากกว่า
แล้วทำไมเราถึงไม่ได้ยินเกี่ยวกับมุมมองต่อปัญหานี้เท่าไรนัก แม้ว่าในความเป็นจริงผู้ชายก็มีความเจ็บปวดในแง่นี้พอๆ กัน?
ผู้ชายน่าจะเป็นเพศที่ซุกปัญหาส่วนตัวไว้ใต้พรมเก่งที่สุดกว่าใคร เมื่อมองสถิติเกี่ยวกับสุขภาพใจคนโดยองค์กรให้บริการการดูแลพฤติกรรม Priory พบว่าในขณะที่ผู้ชาย 77% มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต 40% ของพวกเขาไม่เคยพูดเกี่ยวกับมันเลย โดยเหตุผลที่เป็นอย่างนั้นมาจากความรู้สึกว่าการพูดถึงเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องน่าอาย และหากพูดออกไปก็อาจกลัวอคติทางสังคมที่มาพร้อมกับการพูดคุยเรื่องดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น 40% ของพวกเขายังเชื่อว่าจะพูดคุยและปรึกษาเรื่องนี้ก็ต่อเมื่อปัญหาทางใจของพวกเขากลายเป็นการกระทำทำร้ายตัวเองหรือการพยายามจบชีวิตตัวเองแล้วเท่านั้น
ภาพที่สถิติดังกล่าวาดไว้ชัดเจน ว่าเหตุผลที่ผู้ชายไม่พูดเกี่ยวกับปัญหาความไม่พึงใจในร่างกายตัวเองไม่ใช่ปัญหาที่มีอยู่อย่างเดี่ยวๆ แต่เป็นปัญหาที่ใหญ่ประเด็นเรื่องการเลี้ยงดูและค่านิยมทั่วโลกเกี่ยวกับความเป็นชายที่ทำให้ผู้ชายจำนวนมากไม่กล้าออกมาพูดเกี่ยวกับปัญหาภายในใจของตัวเองจนกว่ามันจะไปถึงขั้นที่สายเกินแก้ไปแล้ว
เช่นเดียวกันกับกรณีการพูดถึงปัญหาสุขภาพใจโดยรวม ผู้ชายจำนวนมากก็เก็บงำความไม่พอใจในร่างกายตัวเองจนกว่ามันจะเป็นปัญหาที่แก้ได้ลำบากเช่นกัน เพราะนอกจากการตั้งใจจะเก็บงำแล้วก็มีโอกาสสูงมาที่พวกเขาจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขามีปัญหาดังกล่าวอยู่ และบ่อยครั้งมันนำไปสู่โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง หรือ body dysmorphia ที่จัดเป็นหนึ่งสายของโรคย้ำคิดย้ำทำที่อาจส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวันได้
โดยอาการของโรคดังกล่าวอาจแสดงออกในรูปแบบการส่องกระจกบ่อยราวๆ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน ความต้องการคำยอมรับจากผู้อื่นเกี่ยวกับร่างกายตัวเองบ่อยๆ ไปจนการต้องผ่าตัดศัลยกรรมซ้ำหลายๆ ครั้งเพราะไม่พึงใจในหน้าตาตัวเองเสียที โดยในขณะที่หากคนคนหนึ่งมีพฤติกรรมรูปแบบดังกล่าวนั้นจะไม่ได้แปลกแยกจากคนปกติ แต่ความแตกต่างคือเมื่อการกระทำเหล่านั้นมีแก่นจาก body dysmorphia ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาจากความรู้สึกแง่ลบและความรู้สึกขาด มากกว่าความต้องการที่จะเสริมเติมความงามของตัวเอง
และนอกจากผลกระทบทางใจ มุมมองต่อ ‘ร่างกายในอุดมคติ’ ของเรายังสามารถส่งผลกับร่างกายเราได้ด้วย
‘ร่างกายในอุดมคติ’ ไม่เท่ากับสุขภาพดี
ร่างกายในอุดมคติของผู้ชายหน้าตาเป็นยังไง? คำตอบมีหลากหลายรูปแบบมาก หุ่นกล้ามเป็นมัดแบบแชนนิ่ง เททัม (Channing Tatum) หรือหุ่นลีนๆ แบบคริสต์ เฮมสเวิร์ธ (Chris Hemsworth) ที่เราเห็นทุกครั้งเมื่อพี่ธอร์ถอดเสื้อในหนัง MCU ในขณะที่ร่างกายในอุดมคติของผู้ชายดูหลากหลายกว่าของผู้หญิง จุดร่วมกันของมันคือบ่อยครั้งมันแลกมาด้วยการเสียสุขภาพทั้งใจและกายของพวกเขา
แต่จะเป็นไปได้ยังไง? การ ‘หุ่นดี’ นั้นดีไม่ได้แปลว่าสุขภาพดีหรอกหรือ? การออกกำลังกายสามารถช่วยทำให้เราพัฒนาสภาพกายและใจไปในแง่บวกไม่ใช่หรือ?
นั่นคืออย่างแรกที่มายาคติของวัฒนธรรมฟิตเนสหลอกให้เราเชื่อ เพราะร่างกายที่เราสามารถมีได้จากการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และร่างกายเป็นอุดมคติที่เราโดนบอกให้ไปให้ถึงนั้นมีช่องว่างที่ห่างไกลกันอยู่มาก และทางเดียวที่จะลดช่องว่างนั้นอาจทำได้จากการทรมานตัวเอง ผ่านอาหารการกินสุดโหด หรือไปถึงขั้นการใช้สเตียรอยด์
กลับไปคุยเกี่ยวกับเจ้าของร่างกายในอุดมคติแชนนิ่ง เททัมเองก็เคยพูดเกี่ยวกับการปั้นหุ่นของเพื่อเล่นหนังเรื่อง Magic Mike ในรายการทอล์กโชว์ The Kelly Clarkson Show ว่ามันเป็นการสร้างหุ่นที่เกินจริงและเป็นภัยเนื่องจากมันอาศัยการอดอาหารเพื่อให้ได้มันมา “ผมไม่อยากจะเล่นภาค 3 เพราะผมต้องกลับไปดูเป็นอย่างนั้นอีกรอบ” เขากล่าวเกี่ยวกับรูปของเขาที่เขาเรียกว่าเป็นรูปทรงที่ไม่เป็นธรรมชาติสำหรับมนุษย์
โดยเขายังเล่าอีกว่าเขาใช้เวลาในการปั้นหุ่นแบบนั้นอยู่ 2 เดือน และหากเขากลับไปใช้ชีวิตปกติเพียงไม่กี่วันมันจะหายไป และในขณะที่การทำเช่นนั้นคืองานของเขาที่เขาต้องทำเป็นครั้งคราว หนังที่เขาเล่นจะอยู่ตลอดไป และบ่อยครั้งที่เราในฐานะผู้ชมจะเผลอมองว่าร่างนั้นคือร่างของเขาที่แท้จริงและเป็นอย่างนั้นตลอดเวลาโดยบังเอิญ
และหลายๆ ครั้งเมื่อภาพยนตร์สักเรื่องมีความจำเป็นที่นักแสดงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหุ่นของพวกเขา เส้นทางการเปลี่ยนหุ่นหฤโหดของพวกเขามักโดนใช้เป็นการโปรโมตหนังเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น Old Boy เวอร์ชั่นรีเมค จอช โบรลิน (Josh Brolin) ต้องเปลี่ยนหุ่นของตัวเองโดยต้องเพิ่มน้ำหนักราวๆ 12 กิโลกรัมในเวลา 10 วัน และลดน้ำหนักนั้นๆ ลงไป 10 กิโลกรัมในเวลา 2 วันครึ่ง ทั้งหมดผ่านการทำให้บวมน้ำและการใช้โซเดียมควบคุมน้ำหนัก โดยทั้งหมดแม้จอชจะมองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด ภาพที่สื่อและผู้สร้างจับออกมาคือ “ดูความพยายามของทีมงานเราสิ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้การออกกำลังและการควบคุมอาหารเหล่านี้ดูเป็นเรื่องปกติ อาจจะเป็นการกระทำให้ต้องไปให้ถึงเสียด้วยซ้ำ
แล้วใครกันเป็นผู้วาดกรอบร่างกายในอุดมคติ?
เพราะหากมันแลกมาซึ่งความเจ็บปวดและผลเสียต่อสุขภาพ พวกเราจำนวนมากอาจไม่ได้ต้องการร่างกายเช่นนั้น และหากมองไปในมุมของการสร้างความสัมพันธ์ คนจำนวนมากก็ไม่ได้ต้องการร่างกายรูปแบบนั้นให้คู่รักของพวกเขาเช่นกัน
ในงานวิจัย Functional inferences of mating orientations through body fat and sex-typical body features โดยมิตช์ บราวน์ (Mitch Brown) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ พบว่าเมื่อถามเกี่ยวกับมุมมองของกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับร่างกาย เขาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมองทั้งชายและหญิงที่มีเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายเยอะว่ามีโอกาสที่จะคงความสัมพันธ์ระยะยาวได้มากกว่าคนที่ ‘หุ่นดี’ และแม้ว่าจะเป็นการมองโดยผิวเผินและเหมารวมโดยมนุษย์ คำตอบชัดเจนว่าร่างในอุดมคติเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการในทุกกรณี
เช่นนั้นแล้วใครกันที่ทำให้ดูเหมือนว่ามันเป็นร่างกายแบบเดียวเท่านั้นที่เป็นที่ยอมรับโดยสังคม?
การพูดถึงระบอบชายเป็นใหญ่ในพ.ศ.ปัจจุบันดูเป็นเรื่องที่ชวนง่วง แต่ ‘ร่างกายในอุดมคติ’ เป็นเพียงอาการหนึ่งอย่างในหลักคิดที่ใหญ่กว่า
เมื่อเราพูดว่าระบอบชายเป็นใหญ่ แม้ว่าจะเถียงไม่ได้ว่าผู้ชายจะเป็นเพศที่ได้รับผลประโยชน์จากระบอบดังกล่าวมากกว่าใครเพื่อนก็ตาม ผู้ชายโดยทั่วไปไม่ได้เป็นใหญ่อย่างแท้จริงทุกคน เนื่องจากมันคือระบอบที่เชื่อว่ามีผู้ชายเพียงแบบเดียวเท่านั้นที่จะเป็นใหญ่ได้ พวกเขาต้องไม่ตัวใหญ่ไป ไม่ตัวเล็กไป ต้องไม่ยอมใคร ต้องเป็นผู้นำ เป็นช้างเท้าหน้า ไม่เป็นคนข้ามเพศ ฯลฯ ซึ่งที่กล่าวมาบ่อยครั้งการมีครบทั้งหมดแทบจะเป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญคือไม่ใช่อะไรที่โลกปัจจุบันต้องการอีกต่อไป และจะไม่มีอะไรเปลี่ยนหากเราไม่พูดคุยกันกับผลเสียที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชายวิ่งไล่ตามความเป็นชายรูปแบบนั้นเพื่อเสาะหาความเติมเต็ม
เพราะเมื่อมันเป็นไปไม่ได้มันก็ย่อมไม่เติมเต็ม หรือเมื่อเราไปยังจุดที่พอไปถึงได้แต่ไม่ได้รับความเติมเต็มเท่าที่หวัง เราจะเอาความผิดหวังเหล่านั้นไปลงที่ใดได้?
เดินออกมาจากการไล่ตามร่างและลักษณะเหล่านั้น? หรือร้องเรียกว่าโลกทั้งใบต้องกลับไปต้องการภาพผู้ชายในอุดมคติของระบอบที่ไม่เห็นใจเรา?
อ้างอิงข้อมูล