ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง
นิสัย ความชอบ เคมี สังคม ครอบครัว และอีกมากมาย และจะมากขึ้นไปอีกเมื่อความสัมพันธ์พัฒนาจากการคบหาไปสู่การอยู่ร่วมกันในครัวเรือนเดียวกันในการแต่งงาน หนึ่งในปัจจัยที่สามารถเพิ่มและลดความพึงพอใจในชีวิตคู่ได้คือช่องว่างระหว่างรายรับของคู่สามีภรรยาหรือคู่รักที่อยู่ด้วยกัน และมันซับซ้อนเหนือกว่าเพียงเรื่องการเงินและความเป็นอยู่ แต่เกี่ยวกับความคาดหวังจากบทบาททางเพศด้วย โดยเฉพาะบทบาททางเพศของ ‘ผู้ชาย’
จากงานวิจัยโดยโจแอนนา ไซร์ดา (Joana Syrda) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาธ สหราชอาณาจักร เรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการเปรียบเทียบรายรับคู่สามีภรรยาหรือคู่รักที่อยู่ด้วยกันและความเครียดในตัวผู้ชายพบว่า ในความสัมพันธ์ของคู่รักชายหญิงเกี่ยวกับประเด็นรายรับ ผู้ชายจะมีความสุขอยู่ในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงมากๆ นั่นคือเมื่อเขาไม่ได้เป็นคนเดียวในความสัมพันธ์ที่หาเงินเข้าบ้าน แต่ในขณะเดียวกันเขาต้องเป็นคนที่หาเงินเข้าบ้านมากที่สุด
งานวิจัยดังกล่าวสำรวจคู่สมรสหรือคู่รักที่อยู่ร่วมกันจำนวนราวๆ 6,000 คู่ที่อยู่ร่วมกันมากกว่า 15 ปี โดยมีการค้นพบว่า ในขณะที่ความเครียดของผู้ชายที่หาเงินเข้าบ้านคนเดียวนั้นสูงแล้ว แต่ความเครียดของผู้ชายที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงหาเงินได้มากกว่านั้นสูงกว่า นอกเสียจากว่าเป็นที่รู้กันดีแต่แรกว่าฝ่ายหญิงหาเงินได้สูงกว่าตั้งแต่ก่อนการคบหาหรือแต่งงานกัน โดยเส้นแบ่งที่แบ่งเขตว่าเท่าไหนคือมากจนก่อความเครียดจากกลุ่มตัวอย่างคือเมื่อผู้หญิงหาเงินเข้าครัวเรือนได้อยู่ที่ไม่เกิน 40% ของรายรับทั้งหมด
แต่เรื่องนี้อาจจะลึกกว่าแค่บอกว่า ‘ผู้ชายมันเหยียดเพศเหมือนกันหมด’ เพราะการเข้าใจเหตุผลของมิตินี้ในความสัมพันธ์อาจจะนำไปสู่คำตอบที่นำไปถึงความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า ฉะนั้นที่มาของความเครียดนี้คืออะไร? ทำไมการมีคนหาเงินให้ได้มากกว่าถึงตึงเครียดยิ่งกว่าการแบกรับภาระนั้นคนเดียว?
คงได้ยินจนเบื่อว่า ‘ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า’ แต่มุมมองลำเอียงทางเพศนี้มีที่มาที่ไปรึเปล่า? ในมุมของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ความเป็นชายมักถูกเชื่อมโยงกับการเป็น ‘ผู้มอบ’ (Provider) ในเวลาก่อนประวัติศาสตร์อาจเป็นนักล่าในเผ่า หรือจากมุมมองคำสอนของศาสนา เช่น ศาสนาอิสลามบอกอย่างชัดเจนว่าสามีเป็นผู้นำ ทั้ง 2 มาจากเหตุผลเดียวกันคือความแตกต่างระหว่างร่างกายของผู้ชายและผู้หญิง
โดยไม่ต้องมีข้อกังขา มาตรฐานและบทบาททางเพศดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ในยุคปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องล่าสัตว์ เราไม่มีสงครามระหว่างชนเผ่า ความต้องการที่โลกและสังคมในปัจจุบันละทิ้งการแบ่งเพศอันคับแคบนั้นไปนานแล้ว ในปัจจุบันไม่ว่าเพศอะไรก็สามารถเติมเต็มหน้าที่หน้าที่หนึ่งในสังคมได้ หรืออย่างน้อยการเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็พยายามผลักดันให้โลกไปอยู่ ณ จุดนั้นอยู่
ในหลายๆ ประเทศ ช่องว่างระหว่างค่าแรงค่อยๆ แคบลง เพราะในความเป็นจริงแล้วมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีช่องว่างนี้อยู่แต่แรก ฉะนั้นการยกเลิกมาตรฐานของการเป็น ‘ช้างเท้าหน้า’ นั้นเป็นผลดีกว่าต่อผู้ชายในระยะยาว แต่การพูดนั้นย่อมง่ายกว่าทำจริงไหม?
ก็ถ้ามันสามารถสร้างความเครียดและความกดดันในความสัมพันธ์ได้แล้วทำไมเราถึงไม่เลิกคิดแบบนั้น? คำตอบคือมาตรฐานการเป็นช้างเท้าหน้าของผู้ชายนั้นไม่ได้มาของมันแบบเดี่ยวๆ แต่มันมาเป็นแพคเกจกันกับตัวตนและบทบาททางเพศของผู้ชาย ความเป็นชายที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด ศาสนา สังคมโดยรอบ การศึกษา ภาพยนตร์ วรรณกรรม การ์ตูน ฯลฯ และตั้งแต่เราจำความได้เรารับ เราเรียนรู้ และปลูกฝังมันเข้าไปในตัวเองเพื่อสร้างตัวตนของเรามาตั้งแต่แรก
ตัวอย่างของบทบาทางเพศผู้ชายคือต้องแข็งแกร่ง อดทน กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ ก้าวร้าว ครอบครอง ฯลฯ และหากมองในฐานะเด็กชายคนหนึ่งที่ยังไม่มีเวลาเติบโตเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง การไม่โอบรับคุณค่าเหล่านั้นที่สังคมหยิบยื่นให้กับเราก็แปลว่า เราไม่สามารถเริ่มสร้างตัวตนของตัวเองได้ในระดับเพศด้วยซ้ำ และก่อนจะรู้ตัวบทบาทเหล่านั้นทั้งลบและบวกก็กลายเป็นพื้นฐานของตัวตนของเราไปแล้ว
กลับไปยังเรื่องความสัมพันธ์ การยึดติดกับมาตรฐานความเป็นชายมากเกินไปนั้นก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นสามีตัวอย่างเสียทีเดียว ตรงกันข้ามด้วยซ้ำเมื่ออ้างอิงจากงานวิจัยชื่อ Men’s Conformity to Traditional Masculinity and Relationship Satisfaction โดยชอว์น เบิร์น (Shawn Burn) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งแคลิฟอร์เนีย โดยเป็นงานวิจัยที่ให้กลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และแบบสอบถามเกี่ยวกับผู้ชายในความสัมพันธ์นั้นๆ ว่าเขาเป็นชายมากขนาดไหนเพื่อหาจุดเชื่อมโยงของทั้งสอง
ผลสรุปของการทดลองพบว่าในกลุ่มตัวอย่างโดยมาก ยิ่งผู้ชายในความสัมพันธ์ยึดถือความเป็นชายตามขนบมากเท่าไร ความรู้สึกใกล้ชิดและความพึงพอใจโดยรวมของชีวิตคู่จะยิ่งต่ำลง โดยเฉพาะความพึงพอใจในความสัมพันธ์จากฝ่ายหญิง และนอกจากนั้นยังยืนยันว่าความพยายามทำตามหลักความเป็นชายสากลสามารถนำไปสู่ความยากลำบากของผู้ชายต่อการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อีกด้วย
และบ่อยครั้งนอกจากความไม่พอใจในความสัมพันธ์แล้วการยึดมั่นความเป็นชายตามขนบมากเกินไปสามารถย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองได้ ทาเนีย คิง (Tania King) นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ศึกษาเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความเป็นชายและความคิดอยากจบชีวิตตัวเองแล้วค้นพบว่า ผู้ชายที่เชื่อฟังต่อแนวคิดความเป็นชายนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีความคิดอยากจบชีวิตตัวเอง นำไปข้อสรุปว่ากรอบความเป็นชายในปัจจุบันนั้นแคบและไม่ยืดหยุ่นพอ สร้างความกดดันให้แก่วัยรุ่นชายอย่างมากจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต
ถึงอย่างนั้นการบอกว่าโยนความเป็นชายทิ้งไปเลยก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้เพราะสำหรับหลายๆ คนในบางช่วงชีวิต บทบาททางเพศนั้นเป็นตัวก่อร่างตัวตนที่สำคัญ แต่การจะเก็บมันเอาไว้แปลว่าสังคมหมู่มากอาจต้องพัฒนาความเป็นชายเวอร์ชั่นใหม่ที่ไม่เป็นภัยต่อผู้อื่น และที่สำคัญคือต่อตัวเองด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
bmcpsychiatry.biomedcentral.com