การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้กับทุกคน
มันไม่แบ่งเพศ มันไม่แบ่งอายุ ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคม เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องบอกก็รู้ แต่ถ้าลองถอยหลังออกมาเพื่อมองในมุมมองที่กว้างขึ้นยากจะปฏิเสธว่าโลกเรามองการล่วงละเมิดของทุกคนเหมือนกันหมด โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศในผู้ชาย
ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาแทะโลม การล่วงละเมิดทางกายหลากหลายรูปแบบ บางครั้งในพื้นที่แจ้ง เช่น ในรายการโทรทัศน์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ และเมื่อมันเกิดขึ้นการพูดถึงของมันมักเล็กน้อย จบที่บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ได้มีเจตนา แค่เล่นๆ กัน ฯลฯ และสุดท้ายก็จบไปอย่างเงียบๆ
แม้แต่กรณีที่เกิดกับคนที่อยู่ในสปอตไลต์ เช่น เมื่อเบรนแดน เฟรเซอร์ (Brendan Fraser) พระเอกหนังบล็อกบัสเตอร์ The Mummy ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยรุ่นใหญ่ในฮอลลีวูด สิ่งที่เกิดขึ้นจากเรื่องนั้นกลับกลายเป็นหายไปของพระเอกในดวงใจของคนทั่วโลก โดยไม่มีข่าวคราวจนเขากลับเข้าสู่วงการสิบกว่าปีหลังจากนั้น
ทำไมเสียงตอบรับกับสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งได้นี้ถึงแตกต่างออกไปสำหรับแต่ละคน? บทความนี้ไม่ได้ต้องการด้อยค่าการเคลื่อนไหวการล่วงละเมิดทางเพศของเพศใดๆ โดยการเปรียบเทียบความเจ็บปวดของพวกเขาเข้ากับผู้ผ่านประสบการณ์การโดนล่วงละเมิดทางเพศชาย แต่เป็นการหาว่าความเงียบทั้งจากสังคมและจากผู้ประสบการณ์โดนล่วงละเมิดเองนี้มาจากไหน
ใน ค.ศ.2021 การสำรวจคนที่นับตัวเองเป็นชายชาวอังกฤษโดยองค์กร Mankind พบว่า 9% ถูกข่มขืนผ่านการสอดใส่ 14% ถูกบังคับหรือกดดันให้มีกิจกรรมทางเพศ และ 21% มีเพศสัมพันธ์กับผู้ใหญ่เมื่อพวกเขายังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยเมื่อถามว่าเคยมีส่วนในการมีเพศสัมพันธ์ที่ตัวเองไม่ต้องการหรือไม่ คำตอบเกินครึ่งตอบว่าอย่างน้อย 1 ครั้ง
ในการสำรวจโดย American Sociological Association เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ในขณะที่มีการรายงานว่า 58% ของผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน เปอร์เซ็นต์ฝั่งผู้ชายแม้จะน้อยกว่าที่ 37% ก็เป็นตัวเลขที่มากเช่นเดียวกัน หรือจากอีกงานวิจัยโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยฟลอริดาเหนือก็พบว่า ชายและหญิงถูกล่วงละเมิดในมหาวิทยาลัยห่างกันเพียง 1% นั่นคือ 62% ของกลุ่มตัวอย่างหญิง และ 61% ของกลุ่มตัวอย่างชาย
อีกครั้ง การเปรียบเทียบนี้ไม่ได้ทำหน้าในการด้อยค่าผู้ถูกกระทำเพศใดก็ตาม เราสามารถแปลสถิติดังกล่าวว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของทุกเพศนั้นอยู่ในระดับเดียวๆ กัน แต่ถึงอย่างนั้นแล้วทำไมเสียงตอบรับของมันมักไม่เหมือนกัน?
เวลามีบทสนทนากันเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ละเพศจะมีคำถามน่ากวนใจต่างกันออกไป สำหรับผู้หญิงคงเป็น ‘แต่งตัวโป๊รึเปล่า?’ หรือ ‘ไปอ่อยรึเปล่า?’ ทั้งคู่เป็นเรื่องไม่จริงและเป็นการเบลมเหยื่ออย่างไม่ต้องน่ากังขา แต่บ่อยครั้งสำหรับผู้ชายคำถามแบบนั้นมีที่มาต่างออกไป ‘แต่จู๋อยู่กับแกนะ ใครจะบังคับคนมีจู๋ให้สอดใส่ได้’ ‘แล้วไม่ชอบหรอ แมนปะเนี่ย’ ฯลฯ
ความหมายที่ต่างออกไปนั้น คือมันไม่ได้เป็นการโทษเหยื่อ แต่มันเป็นการตั้งคำถามถึงว่า ‘ผู้ชายเป็นเหยื่อ’ ได้หรือเปล่าตั้งแต่ต้น
และนั่นไม่ได้เป็นคำถามที่สมมติขึ้นมา หากเรามองย้อนกลับไปยังมูฟเมนต์ #MeToo และคำให้การของนักแสดงชายชาวอเมริกันเทอร์รี่ ครูว์ (Terry Crew) เกี่ยวกับการเป็นผู้ถูกกระทำในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในฮอลลีวูด ผลตอบรับจากสาธารณะชนนั้นออกไปในทางสนับสนุน แต่บางเสียง เช่น จากนักแสดงตลกชาย ดีแอล ฮิวลี (D.L. Hughley) พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ‘ตอนนี้ทุกคนบอกว่า ‘เราก็โดน’ ผมอยากจะบอกพวกเขาว่า พระเจ้าให้กล้ามเนื้อคุณมาเพื่อจะปฏิเสธเรื่องแบบนี้’
จากสถิติโดยมาก เราจะสังเกตเห็นว่า จำนวนผู้ชายที่รายงานว่าโดนล่วงละเมิดทางเพศนั้นน้อยกว่าผู้หญิงอย่างสม่ำเสมอ เราอาจมองได้ว่าผู้ชายโดนน้อยกว่าจริงๆ ก็ได้ แต่ถ้ามองอีกมุมจะเป็นไปได้หรือเปล่าว่า ผู้ชายเลือกที่จะไม่พูดถึงประสบการณ์การโดนล่วงละเมิดทางเพศของตัวเอง และคำตอบรับรูปแบบข้างต้นนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลให้พวกเขาเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้กับตัวเอง?
งานวิจัยโดยนักวิจัยเกี่ยวกับอคติเบื้องหลังการบอกเล่าเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เหตุผลที่ผู้ชายจำนวนมากเลือกไม่พูดเกี่ยวกับประเด็นนี้คือมุมมองแง่ลบที่อาจมาจากความเป็นชาย เช่น การถูกมองว่าไม่แมน การที่การล่วงละเมิดทางเพศถูกวางกรอบมาให้เป็น ‘ปัญหาของผู้หญิง’ มาตั้งแต่ต้น หรือบางครั้งอาจจะมาจากความกลัวความอับอายและการถากถางที่อาจมาพร้อมกับการเล่าเรื่องดังกล่าว
อีกเหตุผลหนึ่งจากการวิจัยโดยเบรนดา รัสเซล (Brenda Russell) และเดบรา ออสวอล์ด (Debra Oswald) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์กส์ เพนซิลเวเนียและมหาวิทยาลัยมาเก็ตต์ มิลวอกี้ บอกว่าความมหมายของการกระทำที่ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศของชายและหญิงไม่เหมือนกัน โดยผู้ชายมักจะมีระดับความทนต่อเรื่องเหล่านั้น (ที่ไม่ควรต้องทน) สูงกว่าผู้หญิง และบางครั้งผู้ถูกกระทำอาจโทษตัวเองที่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นแต่แรกเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นการเก็บงำเหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตังแต่วัยเด็ก ‘มักมีความสองมาตรฐานในกรณีล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก หากผู้หญิงอายุมากกว่าล่วงละเมิดทางเพศเด็กชาย มุมมองต่อสถานการณ์นั้นมักบอกว่ามันสร้างแผลใจน้อยกว่าเด็กผู้หญิงโดนแบบเดียวกันโดยชายอายุมากกว่า และบ่อยครั้งนับมันเป็น ‘การศึกษา (ทางเพศ) ในรูปแบบหนึ่ง ส่วนในกรณีที่ชายอายุมากกว่าเป็นผู้กระทำนั้นมักมีวัฒนธรรมของการที่ครอบครัวเก็บเงียบเรื่องนี้ด้วยเหตุผลจากความกลัวว่าความเป็นชายของเด็กจะถูกตั้งคำถามหากเรื่องเป็นที่รู้กันโดยกว้างขวาง’ โรมิโอ วิเทลลี (Romeo Vitelli) บล็อกเกอร์ผู้ได้รับปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอร์ค โทรอนโต เขียนในบทความของเขา
เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นมีจุดร่วมอยู่ที่มันเชื่อมโยงไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งเข้ากับความเป็นชายตามขนบ ความคาดหวังให้ต้องการทางเพศ ความต้องอดทนอดกลั้นเมื่อพบปัญหา การต้องเป็นผู้นำและผู้ยึดครอง ความแข็งแกร่ง การกลัวความอับอาย ฯลฯ แทบจะดูเหมือนว่าความเป็นชายตามขนบยอมรับการเป็นผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ มากเสียยิ่งกว่าการเป็นผู้ถูกกระทำด้วยซ้ำ
ฉะนั้นแล้วเราจะมีทางออกยังไงที่จะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่ผู้ชายที่ถูกกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ? ในระยะยาวคือการปรับความหมายของความเป็นชายให้ยืดหยุ่นและไม่คับแคบเท่าที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถสร้างตัวตนความเป็นชายที่ดีต่อสุขภาพจิตตัวเองมากขึ้น
แต่อีกสิ่งที่ทำได้และอาจต้องทำร่วมกันทั้งสังคมคือการแจกจ่ายมุมมองต่อการล่วงละเมิดทางเพศใหม่ที่ไม่ใช่เพียง ‘ปัญหาของผู้หญิง’ เท่านั้น แต่เป็นปัญหาสำหรับทุกเพศที่มีมาตรฐานเท่าๆ กัน การแทะโลมด้วยคำพูดนับว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่มีเพศไหนมีความต้องการทางเพศมากกว่าเพศไหน การพูดว่าไม่คือไม่จริงๆ ไม่ใช่ปากแข็ง ปฏิกิริยาทางร่างกายไม่เกี่ยวกับการยินยอม การยินยอมบางครั้งอาจไม่ได้แปลว่ายินยอมเนื่องจากลำดับของอำนาจที่แตกต่าง ฯลฯ
อ้างอิงข้อมูลจาก