ช่วงเดือนที่ผ่านมา ในวงการบันเทิงคงไม่มีข่าวไหนร้อนแรงกว่าการมาเปิดโปงเบื้องหลังการล่วงละเมิดทางเพศของ Harvey Weinstein โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ผู้ทรงอิทธิพลของฮอลลีวู้ด แม้ Weinstein จะยังรอดพ้นจากคดีอยู่ แต่กระแสต่อต้านเขารุนแรงมากจนน่าจะกลับมาได้ยากแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญมากคือ การเปิดโปงครั้งนี้ก่อให้เกิดแรงกระเพิ่มอย่างใหญ่หลวงทำให้ผู้หญิงหลายต่อหลายรายออกมาเปิดตัวว่า ตนเองก็เคยเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศด้วยแฮชแท็ก #MeToo แล้วการเปิดโปงก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
มีบุคคลทรงอิทธิพลในวงการบันเทิงหลายต่อหลายรายถูกเปิดโปงทำให้อนาคตของเขาเหล่านั้นต้องสั่นคลอนไป ไม่ว่าจะเป็นกรณี Lars von Trier กับ Bjork นักร้องสาว หรือ Alice Glass อดีตนักร้องของ Crystal Castles ที่ออกมาแฉ Ethan Kath อดีตเพื่อนร่วมวงว่าทำกับเธอราวกับเป็นนักโทษของเขา และล่าสุดก็ลามไปถึง Terry Richardson ที่ถูก Conde Nast บริษัทเจ้าของหัวหนังสือแฟชั่นหลายเล่มตัดหางปล่อยวัดเพราะเรื่องอื้อฉาวต่างๆ นาๆ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าทำไมเพิ่งมาออกแอกชั่นตอนนี้ ต้องรอให้มีคนเป่านกหวีดก่อนหรือ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ระหว่างที่มีข่าวสารพัดสารพัน ผมก็ได้รับข้อความทางเฟซบุ๊กจากน้องนักเขียนของ Fungjai ถามมาว่า ที่ญี่ปุ่นมีกรณีคล้ายกันอย่างนี้ไหม กลายเป็นว่า ผมนึกไม่ออกเลยว่าในวงการบันเทิงญี่ปุ่นมีใครออกมาแฉผู้มีอำนาจว่าเคยล่วงละเมิดทางเพศไหม พอลองเสิร์ชข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดว่า ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ และ ‘วงการบันเทิง’ ก็พบแค่ข่าวของ Bjork และคดีอื่นๆ ในโลกตะวันตก แต่ของญี่ปุ่นนั้นเองแทบไม่มีเลย
ทำให้ผมนึกถึงคำว่า ‘Makura Eigyou’ หรือถ้าให้แปลแบบเอามันก็คงได้ว่า ‘เซลบนเตียง’ (จริงๆ Makura แปลว่า หมอน) ซึ่งเป็นคำที่หมายถึงการที่คนในวงการบันเทิงต้องร่วมเตียงกับผู้มีอิทธิพลในวงการเพื่อให้ได้งานเด่น
ถึงแม้จะไม่มีการเปิดเผยชัดๆ ว่าใครเคยทำอะไรแบบนี้มาบ้าง แต่ในข่าวซุบซิบหรือในเว็บบอร์ดก็มักจะมีคำนี้ให้เห็นอยู่บ่อยๆ โดยประมาณว่า “คนนี้เซลบนเตียงมาแหงๆ ถึงได้บทเด่นแบบนี้” “นังนี่คงเซลไปทั่วสินะ ไม่งั้นไม่มีทางได้ออกอัลบั้มหรอก” ซึ่งลักษณะการใช้คำเหล่านี้ทำให้รู้สึกได้อย่างหนึ่งว่า เป็นการมองตัวฝ่ายหญิงว่า ใช้เรือนร่างตัวเองแลกมาเพื่อผลประโยชน์ (หรือ ‘เต้าไต่’ ในภาษาไทยนั่นเอง) แต่กลับไม่เคยเห็นใครตั้งคำถามกับการใช้อำนาจในการหาความสุขของผู้บริหารเหล่านั้นเลย ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ดูเหมือนว่าสตรีจะกลายเป็นผู้ผิดเสมอ ทำให้อยากยก 3 กรณีที่ต่างกรรมต่างวาระ แต่มีความเกี่ยวข้องกันไม่น้อยมาเสนอ เพื่อให้เห็นว่ามุมมองของสังคมญี่ปุ่นเป็นเช่นไร
กรณีแรกคือ กรณีของ Shiori นักข่าวอิสระสาว ผู้ออกมาเปิดเผยตัวว่าตกเป็นเหยื่อข่มขืนโดยนาย Yamaguchi Noriyuki นักข่าวใหญ่ของสถานี TBS ซึ่งในขณะนั้นเขาประจำการอยู่ที่กรุงวอชิงตัน โดยเธอได้อ้างว่าเขาติดต่อเธอนัดดื่มกันเพื่อคุยเรื่องงาน และหลังจากไปต่อกันยังร้านที่สอง เธอก็ไม่ได้สติ และตื่นมาพบว่าตัวเองถูกข่มขืน เหตุเกิดในปี 2015 แต่ทุกวันนี้ นาย Yamaguchi ก็ยังไม่ถูกดำเนินคดีอะไร แม้จะถูกทางสถานีตัดตอนโดยบอกว่าตอนที่เกิดเหตุ เขาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของสถานีแล้ว แต่อิทธิพลของนาย Yamaguchi ก็ไม่ใช่น้อยๆ เพราะเขาคือนักข่าวที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับนายกรัฐมนตรี Abe Shinzo ถึงขนาดที่เป็นคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับนาย Abe ออกมาถึงสองเล่ม และมุมมองแบบขวาจัดของเขายังเป็นที่นิยมของกลุ่มอนุรักษนิยมในญี่ปุ่น ในทีแรก ตำรวจจะดำเนินคดีกับเขาในตอนที่กลับประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่กลับมีคำสั่งจากเบื้องบน ให้ปล่อยให้เขาเข้าประเทศได้ จนยังอยู่ได้สบายๆ ถึงทุกวันนี้ กลายเป็นคำถามว่า เบื้องบนที่ว่า หมายถึงใครในคณะรัฐบาลกำลังพยายามปกป้องเขาอยู่หรือไม่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ Shiori ตัดสินใจเปิดเผยชื่อของเธอ (โดยไม่เปิดเผยนามสกุลในทีแรก เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัว) ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับคดี ทำให้กลายเป็นเรื่องร้อนในสังคมญี่ปุ่น เพราะเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างมากที่เหยื่อจะออกมาเปิดเผยตัวตน แต่เธอต้องการให้โลกรู้ว่าเธอไม่ได้เป็นแค่เหยื่อที่ชื่อนางสาว A แต่เธอก็เป็นคนๆ หนึ่ง มีชื่อเรียกมีตัวตน เพื่อสู้กับความอยุติธรรม แม้จะทำให้คดีของเธอกลายเป็นที่จับตามองของสังคมและกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตถึงกับส่งอิทธิพลต่อสภาญี่ปุ่นด้วยประเด็นว่าเธอ ‘รับงาน’ มาโจมตีหรือไม่ และถึงเธอจะได้รับเสียงเห็นอกเห็นใจบ้าง แต่สิ่งที่ตามมาอย่างหนักหน่วงกว่าก็คือการโจมตีเธออย่างหนักว่าเธอเป็นฝ่ายล่อผู้ชายเอง เธอไม่มีท่าทางเศร้าสร้อยสมกับเป็นผู้เสียหาย เธอผิดที่ไปต่อร้านที่สองกับเขา (ในมุมมองคนญี่ปุ่นคือ ‘ติดลม ‘นั่นเอง) เธอใช้รูปโฉมเข้าล่อเพื่อกะหาเงิน กระทั่งว่าเธอเปิดเผยตัวเพียงเพื่อปั้นยอดขายหนังสือของเธอ ซึ่งความเห็นเหล่านี้ก็ถาโถมใส่เธออย่างหนักจนเรียกได้ว่าถ้าไม่แกร่งพอคงสลบไปแล้ว
คิดดูแล้วก็น่าเศร้าที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเปิดเผยตัวตนเพื่อสู้กับความอยุติธรรมแล้วยังโดนรุมประณามอีก ในขณะที่ฝ่ายชายกลับรอดจากการดำเนินคดี แถมหาดูสื่อของญี่ปุ่น จะสังเกตได้ว่า ชื่อของเขาถูกละไว้ และมักจะเรียกเขาว่าอดีตนักข่าวของ TBS เท่านั้น ถ้าอยากได้ชื่อต้องไปดูสื่อของต่างประเทศนั่นล่ะครับ เรียกได้ว่าเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวที
อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีอื้อฉาวในสภากรุงโตเกียว ในการประชุมสภาในปี 2014 ที่สมาชิกสภาหญิง Shiomura Ayaka จากพรรค Minna no Tou หรือ Your Party (พรรดของทุกคน) กำลังอภิปรายเรื่องปัญหาเด็กเกิดน้อยลง กลับมีเสียงโห่ฮาจากสมาชิกสภาชายว่า “เธอก็รีบๆ ไปแต่งงานสิ” ทำให้หลังจากนั้นสมาชิกชายรายอื่นก็ผสมโรงตามมา เช่น “รีบๆ ไปมีลูกซะไป” ซึ่งที่มาของเสียงโห่ฮาเหล่านี่ก็มาจากบริเวณที่นั่งของพรรค LDP พรรคเดียวกับพรรครัฐบาลของ Abe Shinzo นั่นล่ะครับ ไม่แน่ใจว่าที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เป็นเพราะว่า Shiomura เป็นสมาชิกหญิงที่ยังอายุน้อยแค่กลาง 30 และยังเคยเป็นนางแบบชุดว่ายน้ำที่พอมีชื่อเสียงระดับหนึ่งในวงการบันเทิงมาก่อนหรือไม่ แต่การที่เธอออกมาประกาศปัญหาในสภากรุงโตเกียวครั้งนี้ ก็ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนได้ชื่อผู้ที่โห่ฮาใส่เธอคนแรกว่าเป็นใคร และทำให้มีการเปิดเผยว่าสมาชิกสภาหญิงมักจะถูกล่วงละเมิดทางเพศจากสมาชิกสภาชายอยู่เสมอ ทั้งการจับต้องร่างกาย หรือพยายามจูบขณะไปอบรมกลุ่ม รวมไปถึงการพูดจาเหยียดเพศถากถาง แต่กว่าเรื่องนี้จะเป็นที่สนใจได้ ก็ต้องแลกกับการเปิดหน้าสู้ของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ทำให้เธอต้องถูกขุดคุ้ยอดีตมาโจมตีใส่เธออีกด้วย เทียบกับฝ่ายชายแล้วที่ผสมโรงโห่ฮาใส่กลับเนียนๆ อยู่ต่อไปได้
กรณีสุดท้าย คือกรณีที่ผมเคยเขียนลงในเพจแล้ว แต่ขอหยิบยกมาเสริมลงตรงนี้หน่อย คือเรี่องของ Becky ดาราลูกครึ่งชื่อดัง ที่เป็นตัวท็อปของวงการบันเทิงมายาวนานด้วยอิมเมจแบบสาวข้างบ้าน เฮฮา น่ารัก ใสซื่อ และแหย่เล่นได้ ทำให้เธอมักจะถูกเรียกไปเป็นแขกรับเชิญในรายการต่างๆ ด้วยทักษะการพูดคุยและอิมเมจที่ดีของเธอจนใครๆ ก็รัก แต่เมื่อนิตยสาร Shuukan Bunshun ออกมาแฉว่า เธอคบชู้กับ Kawatani Enon นักร้องนำวง Gesu no Kiwami Otome ที่มีภรรยาอยู่แล้ว แรกเริ่มทั้งสองคนก็ปฏิเสธข่าว แต่ Bunshun จอมแสบก็ลงดาบสองด้วยการงัดหลักฐานแคปจอแชตที่พวกเขาได้จากภรรยาของฝ่ายชาย กลายเป็นทีเด็ดที่เล่นเอาคนช็อกทั้งวงการ เพราะใครก็ไม่คิดว่าเด็กสาวใสซื่อคนนั้น จะเป็นชู้กับสามีคนอื่นได้
แน่อนครับว่าตรงนี้ผมก็ไม่ได้จะบอกว่าเธอไม่ผิดอะไร การเป็นมือที่สามในขณะที่อีกฝ่ายยังมีคู่สมรสอยู่ เป็นความผิดอยู่แล้ว และในกรณีที่หย่าร้างกัน ฝ่ายภรรยาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ด้วย แต่ที่ผมสงสัยในกรณีนี้มากๆ คือ ผลกระทบต่อทั้งสองคน เนื่องจากทั้งคู่ก็อยู่ในวงการบันเทิงเหมือนกัน เมื่อข่าวออกมา กลายเป็นว่า จากที่ Becky เคยเป็นเจ้าแม่โฆษณาทีวี และมีรายการประจำมากมาย ในพริบตาเดียว เธอถูกถอดออกจากโฆษณาทั้งหมด รายการที่ถูกอัดแล้วหลายรายการก็ถูกตัดออกไม่ได้ออกอากาศ เรียกได้ว่า จากที่เราเห็นเธอบนหน้าจอทุกวัน จู่ๆ ก็หายไปในทันที จนเธอเลือกพักกิจกรรมในวงการบันเทิง เป็นเวลาประมาณปีหนึ่งกว่าจะเห็นเธอกลับมาในวงการบันเทิง แต่ก็แน่นอนว่า เธอก็ไม่สามารถเป็นดาราประจำหน้าจอได้ดังเดิม เพราะภาพลักษณ์สาวข้างบ้านของเธอนั้นเสียไปแล้ว
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับไปยังฝ่ายชายที่ก็อยู่ในวงการบันเทิงเช่นกัน แน่นอนว่าการคบชู้ ตบมือข้างเดียวคงไม่ดัง แต่สิ่งที่เขาเจอนั้นเรียกได้ว่าเป็นหนังคนละม้วนเลยทีเดียว แม้จะมีเสียงติติงพฤติกรรมของเขา แต่เทียบไม่ได้กับเสียงก่นด่าที่มีต่อ Becky แถมในช่วงที่มีข่าว เขาและสมาชิกวงก็ยังเดินสายออกโปรโมตเพลงดังเดิม จะมีก็แค่การก้มหัวนิ่งประมาณสิบกว่าวินาทีเมื่อไปออกรายการเพลงเท่านั้น แต่ไม่มีการพักกิจกรรม ไม่มีใครไปจี้อะไรให้เขาแสดงความรับผิดชอบ วงก็ทำงานเพลงเดินสายแสดงต่อไป ลองอ่านความเห็นของคนดู ก็พบว่า ในขณะที่ Becky เป็นดาราที่ขายภาพลักษณ์ ตัว Kawatani เป็นศิลปินเพลง ที่ผลงานไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว อ่านแล้วก็ได้แต่เกาหัวแกรกๆ คิดว่าถ้าสลับกันว่าฝ่ายหญิงเป็นศิลปินแล้วฝ่ายชายเป็นดาราหนุ่มหน้าใสบ้างล่ะ คนจะมองอย่างไร
ยกตัวอย่างมาแค่สามประเด็น ต่างกรรม ต่างวาระ แต่ก็คงจะเห็นได้ว่า การลุกขึ้นมาสู้ของผู้หญิงในสังคมที่ชายเป็นใหญ่นั้นมีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายสูงเหลือเกิน แม้จะเป็นผู้เสียหายแต่กลับถูกกล่าวหาราวกับเป็นผู้กระทำผิด ในขณะเดียวกัน กลับไม่มีใครไปตามจี้อะไรฝ่ายชายนัก หรือแม้จะผิดเหมือนกัน แต่ผลกระทบที่ได้รับก็ต่างกันเหลือเกิน ราวกับว่ามันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ทำให้ #MeToo แทบไม่เกิดในญี่ปุ่น และประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงมีอัตรการเข้าแจ้งความคดีข่มขืนเพียงแค่ไม่ถึง 10% ของการข่มขืนที่เกิดขึ้นจริง เพราะการออกมาเปิดเผยตัวว่าเป็นเหยื่อ กลับกลายเป็นดาบที่เข้ามาแทงซ้ำเพื่อหมายจะฆ่าพวกเธอให้ตายอีกครั้งไปเสีย
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.theguardian.com/world/2014/jun/20/tokyo-assemblywoman-sexist-abuse
www.theguardian.com/commentisfree/2017/oct/25/terry-richardson-vogue-conde-nast-international
Illustration by Waragorn Keeranan
อ่านเพิ่มเติม
- #metoo ที่ญี่ปุ่น การละเมิดทางเพศกับกับกรณีนักข่าวสาว ชิโอริ อิโต ถูกข่มขืน gmlive.com/Shiori-Ito-rape-culture-metoo
- ไม่ล่าแต่ท้าชน ‘ชิโอริ’ หญิงญี่ปุ่นผู้ยืนหยัดต่อสู้คดีข่มขืนจนสะเทือนถึงรัฐสภา prachatai.com/journal/2017/07/72426
- เมื่อศิลปินล่วงละเมิดทางเพศ เราควรสนับสนุนผลงานของเขาต่อไปไหม? www.fungjaizine.com/article/story/sexualharassment
- สื่อศาล thematter.co/thinkers/japanese-gossip-magazine/14551
- จากดาวสู่ดิน www.facebook.com/NutKunBook/posts/648168808654289:0