หากคุณมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับกลุ่มคนที่มีช่วงวัยอยู่ในยุคปลาย Generation X ต้น Generation Y หรือคนวัยราวๆ 30-40 ปี ที่ชื่นชอบการ์ตูน แล้วไปถามว่า มีเหตุการณ์อะไรเกี่ยวกับการ์ตูนที่ชวนปวดใจอยู่บ้างไหม? คำตอบที่ได้มาอาจจะมีหลากหลายเรื่องราว แต่เราเชื่อว่าแทบทุกคนจะต้องกล่าวถึงคำว่า ‘หลุมดำ’ ขึ้นมาสักครั้ง และบางท่านอาจจะแสดงความเดือดดาลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัดเจน
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้กลุ่มคนปลาย Generation X ต้น Generation Y กลับเอาเรื่องราว ‘หลุมดำ’ มาพูดถึงอีกครั้ง จนทำให้หลายๆ ท่านที่อาจจะไม่ได้ติดตามเรื่องราว ไม่ได้รับผลกระทบในยุคนั้น หรืออาจจะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ดังกล่าวกันไปเลย
เนื่องจากผู้เขียนเองก็ถือว่าเป็น ‘คนการ์ตูน’ ที่อยู่ในยุคสมัย ‘หลุมดำ’ ทั้งยังได้มีโอกาสได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่คนการ์ตูนกลุ่มหนึ่งได้ไปออกรายการโทรทัศน์ชื่อดังของยุคนั้น เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านกันอีกด้วย จึงขอใช้โอกาสนี้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่หลายท่านมองว่าเป็น ‘หมุดหมายที่คนการ์ตูนต้องจดจำ’
และมองกลับยังยุคปัจจุบันว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง และพอจะมีโอกาสที่จะเกิด ‘หลุมดำ 2’ ขึ้นหรือไม่
นับถอยหลังก่อนถึงวันเกิดเหตุการณ์
ก่อนอื่นใดเลยเราคงต้องย้อนเวลาไปเมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ในปีดังกล่าวก็มีเหตุการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์คลื่นสึนามิหลังเกิดแผ่นดินไหว ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปีจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก, พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง, สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 สิ้นพระชนม์ หรือทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก จากการยิงลูกโทษ
ณ ยุคนั้นประชาชนโดยทั่วไปยังเชื่อมั่นว่า สื่อมวลชนบนพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์นำเสนอข้อเท็จจริงที่ดีและมั่นใจได้มากที่สุดอยู่เสมอ สื่อออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ยังถือว่า Social Network Serivce เป็นสิ่งแปลกใหม่และแปลกปลอมในสายตาของบางคนเสียด้วย
และเรื่องราวของโลกออนไลน์นี้ก็กลายเป็นที่สนใจของผู้คนมากขึ้น เมื่อบริษัท ทีวีบูรพา ที่ชำนาญการทำงานด้านสารคดีความรู้ เปิดตัวรายการใหม่ของพวกเขาที่เป็นรายการสารคดีเชิงข่าวสะท้อนแง่มุมที่อยู่ในด้านมืดของสังคม และใช้ชื่อรายการดังกล่าวว่า ‘หลุมดำ’ ก่อนจะเปิดตัวเทปแรกของรายการ ‘ห้องแชท ห้องโชว์ จ้ำบ๊ะออนไลน์ ในชุมชนไซเบอร์ซเปส’ ในช่วงเดือนมิถุนายนของปี ค.ศ.2005
ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น น้ำเสียงที่จริงจัง และเจตนาที่ต้องการจะบอกเล่าให้เห็นถึงมุมอันตราย หลุมดำกลายเป็นรายการที่ได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือนับแต่เทปแรกที่ออกอากาศ โดยชื่นชมผ่านแทบทุกพื้นที่ไม่เว้นแม้แต่ เว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง Pantip.com
จนเวลาผ่านไปถึงเดือนสิงหาคมของปี ค.ศ.2005 ทางเว็บไซต์ของทีวีบูรพาก็ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเทปรายการที่กำลังจะฉายในอนาคต และเทปดังกล่าวก็คือเทปที่ชื่อว่า ‘การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่ ใครคือเหยื่อ’ ด้วยหัวข้อที่ใกล้ตัวแทบจะทุกครอบครัวที่มีลูกๆ อยู่ในวัยเรียน จึงทำให้ทั้งคนดูทีวี และ คนการ์ตูน ต่างหยิบรีโมตขึ้นมารอรับชมกันว่า เรื่องราวที่จะถูกเล่าในรายการนั้นเป็นอย่างไร
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากรายการจบลง – ในระยะสั้น
อย่างที่เกริ่นไปในช่วงต้นครับว่า เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2005 ช่วงเวลาดังกล่าวเว็บไซต์อย่าง ยูทูบเพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นแบบหมาดๆ และเป็นที่น่าเสียดายที่เทปรายการหลุมดำ ตอน การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่ ใครคือเหยื่อ ไม่มีใครทำการอัพโหลดเนื้อหาแบบเต็มๆ ตอนเอาไว้ จะมีก็เพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งที่รายการ ถึงลูกถึงคน นำมาเปิดไว้เท่านั้น
โดยเนื้อหาที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็ยังเป็นส่วนที่บอกเล่าค่อนข้างชัดเจนว่า การ์ตูนยุคนั้นมีฉากร่วมเพศชัดเจน แม้จะใช้อักษรบังแล้วก็ยังเห็นชัดว่ามีฉากร่วมเพศ และมีการระบุว่า ถ้าหากไปซื้อหนังสือการ์ตูนในร้านหนังสือ แล้วซื้อการ์ตูนมา 3 เล่ม จะมี 2 เล่มที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์ประกอบอย่างแน่นอน
อีกส่วนที่จะเห็นได้ในคลิปรายการที่ถูกใช้ประกอบในรายการถึงลูกถึงคนก็คือ การถ่ายทำภาพของคนคอสเพลย์ที่มีโพสต์ท่าและสัมภาษณ์เกี่ยวกับการกระทำกิจกรรมเหล่านั้น รวมถึงการถ่ายทำหน้าร้านการ์ตูนหลายแห่ง
กระแสของรายการเทปดังกล่าว ต้องถือว่าร้อนแรงอย่างมากสำหรับคนการ์ตูน อย่างที่เห็นได้ว่า หลังจากรายการออกอากาศจบในช่วงเวลาไม่นานนัก ก็มีการโพสต์ในเว็บบอร์ดดังอย่าง Pantip ห้องเฉลิมไทย (ตอนนั้นยังไม่มีห้องการ์ตูนแยกออกมา) กันอย่างดุเดือดในช่วงเวลาแทบจะทันทีทันใดหลังรายการจบ ยังไม่นับถึงกลุ่มคนหัวร้อนจากเทปรายการดังกล่าวอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ทำการบุกเข้าไปยังเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ผู้ผลิตรายการ เพื่อถามหาว่าได้มีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงมาอย่างไรบ้าง
เรื่องราวจากโลกอินเตอร์เน็ตร้อนแรงเพิ่มเติมอีกไม่น้อย เมื่อกลุ่มคนการ์ตูน, กลุ่มคนคอสเพลย์ และกลุ่มนักวาดโดจินชิ หรือการ์ตูนทำมือ เริ่มอัพเดตเรื่องราวของตัวเองผ่านเว็บบล็อกของตัวเองหลังจากรายการออกอากาศไป บางท่านกล่าวว่า ถูกพ่อแม่เอาการ์ตูนไปเผา ทั้งในแบบแอบเอาไปเผา หรือบางท่านก็เล่าว่าเจอพ่อแม่โยนขี้เถ้าใส่หน้ากันเลย ฝั่งคนคอสเพลย์ก็มีการบอกเล่าเรื่องที่โดนทำลายชุดคอสเพลย์ หรือ อาจจะโดนทำลายอุปกรณ์สำหรับคอสเพลย์เช่นกัน ทางฝั่งนักวาดการ์ตูนก็เจอถามไถ่จากคนที่ไม่คุ้นสังคมว่าแท้จริงแล้วพวกเขาผลิตสื่อลามกหรือไม่
ด้วยกระแสที่รุนแรง ก็เลยทำให้ รายการถึงลูกถึงคน ที่มีสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกร และเคยจับกระแสจากเว็บบอร์ด Pantip มาแล้วหลายครั้ง เชิญชวนให้คนที่อยู่ในเรื่องราวทั้งสองฟากฝั่งไปดีเบตกันในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.2005 หรือแค่ช่วงเวลา 4 วัน หลังเกิดเรื่องเท่านั้น
โดยในฝั่งผู้ผลิตรายการได้มาแสดงจุดยืนว่าพวกเขามีจุดยืนอะไรและต้องการนำเสนอรายการด้วยเป้าประสงค์ไหน ฝั่งคนชอบอ่านการ์ตูนได้ยอมรับว่ามีการ์ตูนจำนวนหนึ่งเป็นผลงานการ์ตูนที่มีปัญหาต่อสังคมจริงๆ แต่ด้วยวิธีการนำเสนอของรายการ ด้วยจังหวะการตัดต่อภาพและบทพูดที่รุนแรง จึงมีคนเข้าใจการ์ตูนเป็นเรื่องลบทั้งหมด แม้ในความเป็นจริงแล้วจะไม่ใช่แบบนั้นก็ตาม
ตามปกติแล้วรายการถึงลูกถึงคนจะมีเพียงพิธีกรกับคู่สนทนามาร่วมรายการเท่านั้น แต่ในรายการถึงลูกถึงคน เทปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.2005 นั้นมีกลุ่มผู้ชมเพิ่มเติมเป็นคนจากฝั่งบริษัททีวีบูรพาและคนรักการ์ตูนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ซึ่งกลุ่มผู้ชมนี้ก็ทำให้มีไฮไลต์ที่น่าสนใจอยู่ไม่แพ้คู่สนทนาบนโต๊ะแต่อย่างใด อย่างในช่วงหนึ่งทางทีมงานผู้ผลิตรายการได้ระบุว่า ได้ขออนุญาตกลุ่มผู้จัดงานที่มีการคอสเพลย์ในการถ่ายทำแล้ว แต่ฝั่งคนการ์ตูนที่มาเข้าชมในวันนั้นมีผู้จัดงานมารับชมด้วยและได้ตอบกลับในทันทีว่า ทีมงานผู้จัดทำรายการไม่ได้มาขออนุญาตถ่ายทำรายการแต่อย่างใด
แม้ว่าการพูดคุยกันนั้นก็ไม่ได้ทำให้เรื่องราวจบลงแบบ Happy End เสียทีเดียว แต่สุดท้ายทางผู้ผลิตรายการก็เลือกที่จะลดไฟที่ร้อนแรงลงด้วยการลบเทปรายการออกจากเว็บไซต์ของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่รายการออกอากาศไปเรียบร้อยแล้ว จึงมีผลกระทบระยะยาวตามไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากรายการจบลง – ในเวลาต่อมา
แม้ว่าจะมีกลุ่มคนการ์ตูนรวมตัวกันออกมาพูดคุยอีกแง่มุมหนึ่งในรายการถึงลูกถึงคนแล้วก็จริง แต่ในยุคสมัยที่สื่อโทรทัศน์ยังเป็นเสียงที่ดังที่สุดในสังคม ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มอื่นๆ ในยุคนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากพอ ที่จะเป็นพื้นที่ให้นำเสนอข้อมูลโตแย้งได้โดยง่ายแบบในปัจจุบัน
จึงทำให้หลายคนยังเชื่อมั่นในข้อมูลของรายการหลุมดำอยู่มาก นำพามาสู่ผลกระทบระยะยาว ทั้งต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่เป็นผู้เสพสื่อการ์ตูนมากที่สุด ผู้ปกครองหลายครอบครัว เลือกใช้วิธีละมุมละม่อมในการพูดคุยกับลูกหลาน ให้เลี่ยงการเสพการ์ตูนที่ไม่เหมาะสม
แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่ใช้วิธีหักดิบ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาหนังสือการ์ตูนไปเผาทิ้งตามที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น ฝั่งคนคอสเพลย์ก็มีคนบอกกล่าวว่า โดนทำลายชุดคอสเพลย์ทิ้ง หรือถ้าไม่โดนทำลายทิ้ง ก็มีความจำเป็นต้องหลบซ่อนไม่ให้ใครรับรู้ว่าพวกเขาเป็นคนคอสเพลย์ และเมื่อเวลาดำเนินผ่านไปหลายปีก็มีคนมาแบ่งปันประสบการณ์ว่า จากเหตุการณ์หลุมดำนั้นทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนความฝันกันด้วย อย่างบางท่านที่เตรียมพร้อมจะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาด้านศิลปกรรม ก็ถูกครอบครัวบังคับให้เปลี่ยนแนวทางเพราะเชื่อว่า การทำงานดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องกับสื่อลามก
อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลังจากรายการออกอากาศไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือร้านหนังสือการ์ตูน อย่างตัวร้านหนังสือที่ปรากฏออยู่ในรายการก็ได้รับการเยี่ยมเยียนจากผู้รักษากฎหมายกันแทบจะทันที ส่วนร้านอื่นๆ แม้ว่าจะไม่โดนปิดร้านแต่ก็มีผู้รักษากฎหมายมาแวะเวียนกันบ่อยอย่างชัดเจน
ร้านหนังสืออีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปอย่างเต็มไม้เต็มมือคือ กลุ่มร้านหนังสือ Y ที่ ณ ยุคนั้นยังไม่ถูกนำขึ้นมาในตลาดหลัก และตกเป็นเป้าประเด็นของสังคมมาบ้างแล้ว ก็ต้องทำการปรับเปลี่ยนการขายที่ใช้ระบบสมาชิก ก่อนจะนำหนังสือใส่มาในซองกระดาษ หรือที่ผู้เสพหนังสือ Y มาเทียบเคียงกันภายหลังว่า ประหนึ่งซื้อยาเสพติด
นอกจากผู้บริโภคปลายน้ำกับผู้จำหน่ายสินค้ากลางน้ำแล้ว บริษัทที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่เป็นต้นน้ำก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ออกมาแสดงตัวคตนชัดเจนมาก แต่แทบทุกเจ้าก็ชะลอการออกสินค้าที่อาจจะเข้าข่ายแบบที่ปรากฏในรายการ ‘หลุมดำ’ มีการเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองมากยิ่งขึ้นผ่านวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวอักษรศีลธรรม การตัดหน้าที่สุ่มเสี่ยงออก หรือการซูมภาพให้ไม่เห็นฉากล่อแหลม
นอกจากนี้ทางผู้เขียนยังได้มีโอกาสพูดคุยกับคนทำงานในอุตสาหกรรมการ์ตูนผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ณ ช่วงเวลานั้น ก็ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นว่า ไม่ได้มีความลำบากในการทำงานแค่การเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ยังมีความวุ่นวายอื่นๆ อีกด้วย ทั้งการต้องเรียกหนังสือที่อาจจะสุ่มเสี่ยง หรือเคยปรากฏตัวในรายการหลุมดำกลับมาที่บริษัท เวลาจัดส่งสินค้าก็ต้องระวังไม่ให้มีสินค้าหน้าปกสุ่มเสี่ยง (ในมุมของคนอื่น) อยู่ในฝั่งที่เห็นได้ชัดด้วย หรือการต้องแยกโกดังเก็บกลุ่มสินค้าไว้
ฟากฝั่งของงานอนิเมชั่นอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงนัก แต่ก็มีการต้องข้อสังเกตกันว่า หลังจากรายการหลุมดำออกอากาศก็เหมือนบริษัทที่นำเข้าลิขสิทธิ์อนิเมะจากญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยช้าลง แต่ส่วนนั้นก็พอจะแย้งได้ว่าอาจจะเป็นแค่การตัดสินใจทางการตลาดในการตั้งใจเลือกเรื่องที่มีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น แต่พอดีเวลามาประจวบกับช่วงหลุมดำพอดิบพอดีเสียมากกว่า
อีกส่วนหนึ่งที่กลายเป็นผลกระทบที่อาจจะไม่เกิดจากความตั้งใจของใครเลยในเหตุการณ์นี้ ก็คือในช่วงปี ค.ศ.2005 – 2006 นั้นถูกฝั่งนักวิเคราะห์ข้อมูลด้านสื่อจากประเทศญี่ปุ่นระบุไว้ว่า เป็นช่วงเวลาเฟื่องฟูของการละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยเหตุที่เทคโนโลยี BitTorrent พัฒนาถึงจุดที่ใช้งานได้ไม่ยากเย็นนัก เหตุการณ์หลุมดำเลยกลายเป็นการผลักผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่อยากเสพผลงานการ์ตูนที่ผู้ผลิตชะลอการตีพิมพ์เข้าสู่วงจรละเมิดลิขสิทธิ์เร็วขึ้นโดยไม่ตั้งใจ
ส่วนฝั่งช่อง 9 การ์ตูนนั้น หลายคนอาจจะมองว่าได้รับผลกระทบไปมากจากการฉายหลุมดำ แต่ความจริงในช่วงเวลารายการดังกล่าวเอง ก็มีมาตรฐานการเซ็นเซอร์ตัวเองที่ทำให้คนดูหลายคนตั้งข้อสงสัยมาก่อนหน้าแล้ว มีเพียงข้อสังเกตว่า ช่วงรายการดังกล่าวอาจจะทำการตัดฉากสุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น จนทำให้มีการ์ตูนบางเรื่องดูแปลกๆ ไป
หรือถ้าบอกว่า ผลกระทบของหลุมดำ ทำให้เกิดภาวะชะงักงันและภาวะเสียโอกาสกันทั่วทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคสายการ์ตูนก็น่าจะไม่ผิดนัก
ผ่านไปหลักมากกว่า 10 ปี อุตสาหกรรมและคนการ์ตูน ขยับเขยื้อนไปขนาดไหนจากหลุมดำ
จากปี ค.ศ.2005 ผ่านมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว เวลาผ่านไปขนาดนี้ย่อมมีอะไรเปลี่ยนไปอย่างมากแน่นอน ตัวรายการหลุมดำที่หายไปตามกาลเวลาและการปรับผังของสถานีโทรทัศน์ หลังจากได้ทำหน้าที่นำเสนอในส่วนเท่าที่ทีมผู้ผลิตรายการทำได้
และเมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต 4.0 ที่ทุกคนสามารถพูดจากมุมของตัวเองได้พร้อมกับมีภาพหรือวิดีโอประกอบ การพูดคุยเกี่ยวกับด้านมืดของสังคมก็ทำได้มากกว่าที่เคยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งยังสามารถทำการเช็กข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น และการทำให้คนสนใจปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจมีด้านมุมซุกซ่อนอยู่แบบนี้ น่าจะสอดคล้องกับแนวทางของทีมผู้ผลิตรายการ ณ เวลานั้น
ฝั่งหนังสือการ์ตูนก็มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากการเซ็นเซอร์ตัวเองที่ทำไปก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์หลุมดำก็ทำให้ฟากฝั่งบริษัทผู้ผลิตการ์ตูนลิขสิทธิ์เริ่มปรับเอาระบบเรตติ้งมาใช้งาน แม้ว่าจะไม่มีการบังคับในเชิงกฎหมาย แต่ในปัจจุบันนี้การ์ตูนแทบทุกเล่มจะมีการระบุกลุ่มอายุที่เหมาะสมไว้แล้ว
นอกจากนั้นในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์โดนกระทบอย่างรุนแรงจนมีการปิดหัวนิตยสารไปจำนวนมาก หลายสำนักพิมพ์ก็มีการแยกย่อยกลุ่มสินค้ามากกว่าที่เคย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าแบบที่สนใจอยากจะซื้อหนังสือเล่มพิมพ์อย่างจริงจัง จนมีการแบ่งกลุ่มมังงะตามวัย และผลิตออกมาให้เป็นรูปแบบสำหรับนักสะสมยิ่งขึ้น ข้อดีในขั้นต้นก็คือ การทำแบบนี้ทำให้เป็นการแยกตัวเองออกจากสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แบบชัดแจ้ง
กระนั้นการแบ่งกลุ่มดังกล่าวก็ทำให้มีการจำหน่ายผลงานที่มีความสุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แม้ว่าผู้วางจำหน่ายสินค้ากลุ่มนั้นจะตั้งใจ ทำให้งานเหล่านั้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ยากกว่าสินค้าปกติ ไม่ว่าจะด้วยการตั้งกำแพงราคาที่สูงกว่าหนังสือทั่วไป หรือวางจำหน่ายผ่านช่องทางที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จนถึง ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือรัดกุมมากพอในการจะพิสูจน์ได้ว่า คนที่ซื้อสินค้าเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่สอดคล้องกับอายุที่ถูกแนะนำไว้
สำหรับฝั่งคอสเพลย์ ในช่วงเวลามากกว่า 10 ปี ก็มีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นับตั้งแต่กิจกรรมดังกล่าวเริ่มเข้าสู่พื้นที่กระแสหลักมากขึ้น ถูกมองผ่านสื่ออย่างรอบด้านมากขึ้น และเริ่มได้รับความสนใจในเชิงบวกมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2010 ที่มีเลเยอร์ชาวไทย สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากเวที World Cosplay Summit ที่เป็นการแข่งขันคอสเพลย์ระดับนานาชาติได้
จากจุดนั้นก็ทำให้กิจกรรมอย่างคอสเพลย์ เป็นได้ทั้งงานอดิเรก และเข้าสู่พื้นที่อุตสาหกรรมได้เล็กน้อยด้วยการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคอสเพลย์ ขายต่อให้ทั้งคนในประเทศและนอกประเทศได้ หรือการถ่ายแบบคอสเพลย์ เพื่อไปวางจำหน่ายเป็นหนังสือก็มีเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน
แต่อีกมุมหนึ่งในช่วงเวลาหลายปีก็ทำให้มีคนบางกลุ่มหยิบจับเอากิจกรรมคอสเพลย์ไปร่วมกับกิจกรรมสุ่มเสี่ยงอื่นๆ อีก อย่างเช่น กลุ่มคนที่เอาคอสเพลย์ไปผนวกรวมกับกิจกรรมทางเพศ หรือการที่มีนายทุนบางกลุ่มอยากลองทำตลาดขายผู้ใหญ่โดยตรงแล้วจัดกิจกรรมสุ่มเสี่ยงที่มีคอสเพลย์เป็นกิจกรรมหลัก แต่ส่วนนี้ก็อาจจะต้องมาถกกันอีกครั้งว่า กลุ่มคนที่เอาคอสเพลย์ไปเสริมพลังในการหารายได้ของตัวเองนั้น แท้จริงเป็นคนที่รักการคอสเพลย์ หรือแค่เกาะกระแสการตลาดด้วยการคอสเพลย์กันแน่
ในฟากฝั่งโดจินชิ หรือ การ์ตูนทำมือ อาจจะดูเงียบเหงาลงไปในเชิงหนึ่ง ด้วยเหตุที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มีตลาดที่เล็กลง แต่อีกมุมก็มีนักเขียนโดจินชิจำนวนมากเติบโตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีหลากหลาย ส่วนฝั่งหนังสือ Y ที่ย้อนไปราว 10-15 ปีก่อนโดนปฏิบัติประหนึ่งสินค้าผิดกฎหมาย มาถึงทุกวันนี้ กลุ่มสื่อบันเทิง Y ได้กลายเป็นสินค้ากระแสหลักระดับที่กลายเป็นสินค้าส่งออกไปประเทศอื่นๆ เสียแล้วด้วยซ้ำ
นอกจากอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแทบจะทันทีหลังจากรายการถึงลูกถึงคนจบลงก็คือ กลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมกับรายการในวันนั้นก็เดินทางจากจุดที่เป็นเพียงแค่ผู้บริโภค หรือ ผู้ผลิตตัวเล็กๆ หลายคนก็เข้าพยายามตามกำลังของตัวเองในการปรับปรุงสังคมที่คนเองอยู่ได้ดีขึ้น
อย่างกลุ่มคนการ์ตูนที่ไปออกรายการถึงลูกถึงคนอย่าง ประสพโชค จันทรมงคล ในปัจจุบันก็เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมฝั่ง eSports และวัฒนธรรมป๊อปอื่นๆ, พิเชษฐ์ วัฒนเวสกร หรือการันต์ ก็ยังส่งต่อความรู้และความสนุกในฐานะศิลปินและนักวาดมังงะอิสระที่เคยได้ตีพิมพ์ผลงานตัวเองในญี่ปุ่น, คม กุญชร ณ อยุธยา ปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย ที่ทำให้เห็นว่าคอสเพลย์ก็สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น หรือแม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ที่เป็นหนึ่งในผู้ชมในห้องส่งของรายการ ปัจจุบันก็กลายเป็นคนทำงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ไปเช่นกัน
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมั่นใจมากขึ้นหลังจากเวลาผ่านไปมากกว่าสิบปีก็คือ สุดท้ายแล้วเราจะต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมย่อยที่จะมีมาอีกในอนาคต และเลี่ยงไม่ได้ที่ช่วงหนึ่งของมาใหม่เหล่านั้นจะถูกมองเป็นของแปลกด้วยความไม่คุ้นชิน เฉกเช่นเดียวกับที่คนวงการการ์ตูน คอสเพลย์เคยผ่านปัญหาที่คล้ายๆ กันมาก่อน
ถ้าหากทุกคนเปิดกว้าง พูดคุยกันอย่างมีสติ และปราศจากอคติชี้นำ เหตุการณ์ ‘หลุมดำ 2’ คงยากที่จะเกิดขึ้น แต่จะมีเพียงการพูดคุยกันว่ าการกระทำใดที่ทำให้เกิดความน่าเป็นห่วง และสุดท้ายกระแสเวลาก็จะตัดสินให้เห็นกันต่อไปว่าวัฒนธรรมป๊อปที่เปิดตัวใหม่ๆ ขึ้นทุกวัน จะกลายเป็นของที่อยู่คู่สังคมต่อไปหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก
ถึงลูกถึงคน ตอน หลุมดำ – ถกเรื่องการ์ตูน
Podcast เจปัง เจแปน – ย้อนรอยหลุมดำวงการการ์ตูน แผลใจที่ไม่มีวันหายจนบัดนี้
ระลึกเหตุการณ์หลุมดำในวงการการ์ตูนไทย // เพื่อนบอกให้ลองทำ Podcast #55
Podcast ติ่ง Things Think – EP.18 เปิดตำนานสาววายยุคดึกดำบรรพ์ ก่อนคำว่า Y และยุคหลุมดำ
Facebook Fanpage – Zoids FC Thailand สารานุกรมในดาว Zi