ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระหว่างการจัดงาน ‘ไทยช้อป SMEs ไทย’ ที่ดูลักษะของชื่องานแล้ว น่าจะเป็นการนำเอาสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยมารวมตัวกันจัดแสดงและจัดจำหน่ายเท่านั้น แต่ภายในงานเดียวกันนั้นเอง ได้มีการประกาศเปิดตัว ‘สมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย’ (TCIA – Thailand Cosplay Industry Association) อย่างเป็นทางการภายในงานดังกล่าวขึ้นมา และมีการแสดงจากนักคอสเพลย์เยอร์ชื่อดังของประเทศไทยบนเวทีภายในงานดังกล่าวอีกด้วย
จริงอยู่ว่าการคอสเพลย์กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้แปลกตาอีกต่อไปสำหรับประเทศไทย แต่การที่คอสเพลย์มาไกลจนเกิดการก่อตั้งสมาคมที่มีคำว่า ‘อุตสาหกรรม’ อยู่ในชื่อด้วย ทำให้เราเกิดความใคร่รู้ถึงที่มาที่ไป ด้วยเหตุนี้ The MATTER จึงไปพูดคุย คม กุญชร ณ อยุธยา เจ้าของเว็บไซต์ Propsops.com สื่อทางด้านคอสเพลย์ และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย ที่จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับสมาคมดังกล่าวให้ทุกท่านได้เห็นภาพกันมากขึ้น
สมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทยมีที่มาที่ไปอย่างไร ?
คม : ต้องบอกก่อนว่า ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือ THTI (Thailand Textile Institute) มีโครงการที่เรียกว่า ‘คลัสเตอร์’ หรือการรวมกลุ่ม ซึ่งก็มีกลุ่มหลายๆ อย่าง เช่น คลัสเตอร์ของผู้ประกอบการกัญชง, คลัสเตอร์ของกลุ่มชุดกีฬาสปอร์ตเทค แล้วก็มีเรื่องของ คอสเพลย์ เป็นหนึ่งในนั้นครับ ทีนี้ทาง THTI ก็ไปเสนอเรื่องกับทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ถือว่าเป็นหัวหน้าโปรเจกต์ของฝั่งคลัสเตอร์ เขาก็อนุมัติให้ทำคลัสเตอร์คอสเพลย์ขึ้นมา เขาก็ติดต่อทางผมในฐานะเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ Propsops.com ซึ่งเขาอาจจะเห็นว่ามีความสามารถ ก็เลยขอให้เป็นที่ปรึกษาของโครงการคลัสเตอรคอสเพลย์
พอโครงการเริ่มมีการอบรมและจัดกิจกรรมตามยุทธศาสตร์แล้วก็เริ่มมีการแต่งตั้ง ประธานกลุ่ม และ ผู้ประสานงานคลัสเตอร์ หรือ CDA (Cluster Development Agent) โดยมี อัมรินทร์ ศรีสุภรวาณิชย์ ที่เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย มารับตำแหน่งมาเป็นประธานของคลัสเตอร์คอสเพลย์
แบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงเอาคนนอกที่ไม่รู้จักคอสเพลย์มาเป็นประธาน แต่อยากให้นึกถึงภาพว่าคลัสเตอร์นั้นเป็นวงกลมก้อนนึงที่ประสานผลงานกับวงกลมวงอื่นๆ อย่าง หน่วยงานรัฐ สถาบันต่างๆ หรือคลัสเตอร์อื่นๆ จึงจำเป็นที่ต้องหาคนที่มีประสบการณ์ในการประสานงานติดต่อหน่วยงานต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน CDA นั้นจะเป็นคนที่มาจากฝั่งคนคอสเพลย์ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ก่อนจะส่งต่อให้ประธานของกลุ่มอีกทีหนึ่ง
คลัสเตอร์ต่างๆ ก็เป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ ต้นน้ำ – เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบทั้งผ้าต่างๆ, หนังเทียม, กาวยาง เป็นต้น กลางน้ำ – ก็จะเป็นกลุ่มแปรรูป เช่นร้านที่รับทำพรอพ (อุปกรณ์สำหรับคอสเพลย์) ต่างๆ และปลายน้ำ – ก็จะเป็นกลุ่มที่เอาของทั้งหมดมานำเสนอ จะรวมถึงคนที่ทำการคอสเพลย์, คนจัดงานอีเวนต์, ตากล้องสายคอสเพลย์
ประเด็นก็คือถ้าเทียบกับคลัสเตอร์อื่นๆ ที่เป็นการรวมตัวของฝั่งนิติบุคคลหรือวิสาหกิจมาเข้าร่วมตั้งแต่ต้น คลัสเตอร์คอสเพลย์ไม่มีนิติบุคคลหรือวิสาหกิจเข้ามาร่วมอยู่เลย การรวมตัวเลยอาจจะยังมีพลังไม่มากพอ ทางประธานของคลัสเตอร์กับทาง CDA ก็คุยกันว่า ทางออกที่จะทำให้คอสเพลย์มีตัวตนชัดเจน คือการจัดตั้งสมาคมขึ้นมา เพื่อให้กลายสภาพเป็นนิติบุคคลที่เข้าไปถึงภาครัฐต่างๆ ได้ ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย ก็จะเป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ สสว. ครับ
จากมุมมองของคนที่ไม่รู้จักคอสเพลย์อาจจะสงสัยว่าคอสเพลย์จะไปเป็นธุรกิจได้อย่างไร ในเมื่อคอสเพลย์ยังดูเหมือนแค่งานอดิเรกหรือการละเล่นเท่านั้น
คม : ความจริงแล้วตั้งแต่ต้น งานอดิเรกที่ชื่อว่า คอสเพลย์ มันเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมายอยู่แล้ว อย่างตัวละครต้นแบบในการคอสเพลย์ ก็มาจาก อุตสาหกรรมเกม อุตสาหกรรมการ์ตูน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ แล้วถ้าพูดการทำชุดคอสเพลย์ ก็จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอาจจะรวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าหนัง โฟมยาง แล้วก็ยังมีกลุ่มอุตสากรรมอีเวนต์ที่จัดงานคอสเพลย์ต่างๆ และยังสามารถมองรวมไปถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ด้วยซ้ำ ถ้าเราสามารถจัดงานคอสเพลย์อีเวนต์เป็นระดับนานาชาติ ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้
ดังนั้นคอสเพลย์มีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมหลากหลายมาโดยตลอด
แต่คนคอสเพลย์ไม่ได้ตระหนักว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม
ถ้าถามว่าคอสเพลย์จะต่อยอดทางธุรกิจอย่างไรได้ อยากจะให้เปรียบเทียบกับนักกีฬาครับ ทุกคนสามารถที่จะเตะฟุตบอลได้ แต่เมื่อใดที่อยากจะก้าวไปเป็นมืออาชีพ ทุกคนก็ควรเริ่มเข้ามาสังกัดสโมสร ควรจะเข้าแข่งขันภายใต้การจัดการของสมาคมฟุตบอลเป็นต้น
ซึ่งทางสมาคมฯ ตอนนี้มองในโปรเจกต์ว่า ‘คอสเพลย์’ สามารถไปเชื่อมโยงกับอะไรต่างๆ แล้วทำให้เกิดสิ่งใหม่ได้ ตัวอย่างไอเดียที่พวกเราเสนอกัน เช่น คอสเพลย์ไปร่วมกับทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา แล้วเราสามารถนำเสนอการท่องเที่ยวในมุมที่แตกต่าง อย่างเช่น บางแหล่งท่องเที่ยวที่คนอาจจะไปน้อย เราอาจจะนำเสนอให้คอสเพลย์ถ่ายทำรูปหรือรายการ กลายเป็นว่าสถานที่เหล่านั้นอาจจะเหมาะกับการคอสเพลย์ หรือมีความสวยงามในตัวเอง ก็กลายเป็นว่าสามารถส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ได้ และเราอาจจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจการคอสเพลย์หรือการถ่ายรูปที่แตกต่างจากปกติจากต่างประเทศได้เช่นกัน และถ้าสามารถร่วมมือกับทางสมาคมโรงแรมได้ ก็สามารถกระตุ้นธุรกิจด้วยการขอจัดส่วนลดให้กับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ได้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ทางอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทยกำลังมองถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ในการเชื่อมโยงหลายๆ สิ่งเพื่อให้ฟันเฟืองทุกอย่างเดินไปด้วยกันได้
เมื่อการคอสเพลย์เป็นการแต่งกายตามตัวละครจากสื่อบันเทิง ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องลิขสิทธิ์อยู่ดี แล้วทางสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย จะส่งเสริมผลงานลิขสิทธิ์อย่างไร และจะเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างไร
คม : จริงๆ ตรงนี้เป็นโจทย์แรกเลยที่ทางสมาคมฯ ได้ตั้งคำถามกับตัวเองก่อน แล้วเราก็พุ่งตรงไปหาคนที่น่าจะให้ความรู้ที่ดีที่สุดให้กับเราเลยก็คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทางเราก็ต้องขอขอบคุณทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้วยทีให้เกียรติเราเข้าไปร่วมสนทนากับรองอธิบดีของกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้วย จึงทำให้เรามีความรู้ด้านลิขสิทธิ์ที่ละเอียดมากขึ้น ในมุมมองต่างๆ มากขึ้น และทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเองก็ได้เสนอไอเดียกลับมาเช่นกัน และมีบางไอเดียที่เราคิดว่าล้ำหน้ากว่าที่ทางสมาคมฯ คิดถึง และมีแนวทางที่เป็นไปได้
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะตอบให้เป็นหัวใจหลักก่อนเลยว่า การคอสเพลย์ในไทยนี่เฟื่องฟูมาได้ราว 20 ปีแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้สังเกตก็คือ ทำไมทั้งๆ ที่การคอสเพลย์อยู่ในพื้นที่ ‘สีเทา’ ของเรื่องลิขสิทธิ์ชัดเจนแบบนี้ กลับกลายเป็นกลุ่มสังคมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ยังไม่รวมถึงว่าในงานอีเวนต์ทั้งในไทยและต่างประเทศก็ยังมีกลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องคอสเพลย์ด้วย
เพราะฉะนั้นจุดนี้ได้แฝงถึงหัวใจหลักที่เราควรให้ความสำคัญนั่นก็คือ คอสเพลย์ควรให้ประโยชน์กับเจ้าของลิขสิทธิ์ และสร้างผลประโยชน์ให้กับคอสเพลย์เองได้ด้วย สิ่งสำคัญของเรื่องลิขสิทธิ์คือ หากคุณทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ประโยชน์ กลุ่มคอสเพลย์เองก็สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ตรงนี้มีอยู่ตัวอย่างหนึ่งที่อยากยกให้เห็นภาพ เป็นเรื่องของแฟนกีฬาฟุตบอลอันหนึ่งที่ทำคลิปเกี่ยวกับนักฟุตบอลที่เขาชอบ เวลาผ่านไปนักฟุตบอลคนนั้นเอาวิดีโอดังกล่าวไปเป็นการรวบรวมผลงานของเขา ซึ่งถ้าพูดกันตามกฎหมายแล้วมันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนมาก แต่เจ้าของคลิปดังกล่าวกลับรู้สึกยินดีที่นักฟุตบอลเอาคลิปไปใช้ นี่คือหัวใจหลักที่ว่า เรื่องของลิขสิทธิ์ แม้จะถูกเอาไปใช้งานแต่มันกลับสร้างประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่าย ถ้าเราหาคำตอบให้กับจุดนี้ได้เมื่อไหร่ ก็จะเป็นการเดินทางร่วมกันได้อย่างชัดเจนระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับคอสเพลย์ครับ
กลุ่มผู้ใหญ่ บริษัท หรือหน่วยงานรัฐ สนใจคอสเพลย์มากขึ้นหรือเปล่า
คม : จริงๆ แล้วผู้ใหญ่สนใจคอสเพลย์มาโดยตลอด แต่เขาไม่รู้ว่าควรจะติดต่อใคร เพราะผู้ใหญ่หลายท่านก็รู้สึกว่า คอสเพลย์มีความแปลกตา มีความน่าสนใจ และเยาวชนรุ่นใหม่ดูมีความคิดสร้างสรรค์ดี แต่พวกเขาก็ยังไม่รู้ละเอียดว่าคอสเพลย์คืออะไร เขาจึงสนใจและอยากจะลองดูว่าคอสเพลย์มีโอกาสทางธุรกิจได้มากขนาดนี้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่พวกเราถึงพัฒนามาเป็นสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย เพื่อที่จะตอบโจทย์ด้านธุรกิจให้ได้
ถ้าแบบนี้ก็คือ สมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย จะมีแผนงานธุรกิจใกล้เคียงกับที่จังหวัดซากะของญี่ปุ่น ที่มักจะร่วมมือกับการ์ตูนเรื่องต่างๆ หรือเปล่า
คม : อาจจะเทียบได้ครับ แต่สเกลของเราอาจจะชัดเจนกว่าที่เราเข้าหาภาครัฐได้ค่อนข้างชัด หนึ่งคือเราอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้น สองคือเรากำลังประสานงานกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ และกระทรวงวัฒนธรรม และยังมีแผนประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนประสานงาน
คือมิติของทางสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทยมองว่า คอสเพลย์ มีเอกลักษณ์ที่สามารถไปร่วมกับสิ่งอื่นได้ง่าย เพราะฉะนั้นเราจะเอาเอกลักษณ์นี้ไปร่วมกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้กับสิ่งใหม่ ตัวอย่างไอเดียหนึ่งก็คือ การคอสเพลย์เป็นงานแฟชั่นที่มีความ Supreme ในการใช้งานสูงกว่าปกติมาก ทั้งชุดที่หนัก มีเหงื่อ ต้องตากแดดทั้งวัน คนคอสฯ เองก็ต้องใส่ชุดทั้งวัน ซึ่งถ้าเป็นแฟชั่นอื่นๆ จะไม่ได้ใช้ชุดกันหนักขนาดนี้ ดังนั้นทางกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งถอก็เลยมองว่า คอสเพลย์ เป็นเหมือนห้องแล็บสำหรับการพัฒนาชุดผ้าใหม่ๆ ได้เช่นกัน
ดังนั้น คอสเพลย์สามารถตอบโจทย์ได้ในแต่ล่ะอุตสาหกรรม
เพียงแค่ว่าเราจะสามารถนำเสนอให้ได้อย่างไรว่า
คอสเพลย์สามารถผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อย่างไรครับ
ในเมื่อมีเป้าหมายในเชิงอุตสาหกรรมที่ชัดเจนขนาดนี้แล้ว คิดว่าฝั่งคนคอสเพลย์ที่มีภาพลักษณ์เป็นวัยรุ่นมากกว่า จะโอเคกับแนวทางของสมาคมไหมครับ
คม : ส่วนนี้เป็นคำถามที่หลายคนเคยถามว่า ‘แค่ใจรักนั่นยังไม่พออีกเหรอ สำหรับคอสเพลย์เป็นแค่งานอดิเรก’ ตรงนี้ต้องบอกว่า ทางสมาคมตั้งแต่ต้นไม่ได้จะไปตัดสินคนที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรกเลย ท่านที่อยากคอสเพลย์เป็นงานอดิเรกก็ยังทำได้ตามปกติ แต่สำหรับกลุ่มคนเหล่านั้นเมื่อถึงวันหนึ่งก็จะต้องเจอกับคำถามที่รุ่นพี่ในวงการคอสเพลย์เจอก็คือ ‘แล้วงานอดิเรกจะเลี้ยงชีพได้ไหม’ แล้วหลายคนก็มีคำตอบให้กับตัวเองคือการที่ต้องหยุดคอสเพลย์ไป เพื่อไปทำงานอื่น
แต่ก็มีหลายคนที่ตั้งคำถามว่า ‘แล้วทำไมคอสเพลย์ถึงไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้’ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่สมาคมฯ อยากตอบให้ได้มากที่สุด เราอยากให้คุณได้ใช้ชีวิตกับสิ่งที่คุณรัก ไม่ว่าจะทั้งในเชิงธุรกิจ หรือในเชิงใจรัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อฟันเฟืองของสมาคมฯ เดินหน้าผ่านไปเนี่ย ประโยชน์ที่ได้รับ ย่อมตกไปถึงกลุ่มที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรกด้วย คุณจะมีงานอีเวนต์ที่ดีขึ้น คุณจะมีงานอีเวนต์ที่อยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น คุณอาจจะมีเครื่องแต่งกาย หรือ อุปกรณ์ที่ดีขึ้น คุณจะเข้าถึงการประกวดที่มีมิติการประกวดที่ดีขึ้น อย่างงานประกวดระดับประเทศ
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ตัวสมาคมจะขับเคลื่อนทั้งในด้านธุรกิจและด้านสังคมพร้อมๆ กันครับ
นอกจากฝั่งอุตสาหกรรมแล้ว ได้มีการพูดคุยกับคนทำงานในวงการคอสเพลย์คนอื่นๆ บ้างไหม
คม : ยังมีคนอื่นด้วยครับ อย่างตอนนี้ ในสมาคมก็จะมีคุณกรัณย์ นิติธรรม จาก บริษัท Extend Event ผู้จัดงานอีเวนต์คอสเพลย์ แล้วก็จะมีเลเยอร์หลายคน ที่เข้าร่วมมาตั้งแต่คลัสเตอร์คอสเพลย์ อย่างกลุ่มทำร้านพรอพ แล้วก็จะมีกลุ่มไอดอลคอสเพลย์ อย่างคุณ Jasper Z & Katto ที่เคยไปได้รางวัลที 3 จากเวที World Cosplay Summit, คุณ Thames Malerose, คุณ Bolero & Bellamy สองพี่น้องฝาแฝดสายคอสเพลย์ แล้วก็กลุ่มความหวังของหมู่บ้าน ที่ถือว่าเป็นตัวท็อปของฝั่งคอสเพลย์ที่ประกาศตัวชัดเจนว่า พร้อมที่จะเข้าร่วมและสนับสนุนกับทางสมาคมฯ ครับ
แต่เราเองก็ไม่ได้คิดว่ามีจำนวนคนเท่านี้แล้วเพียงพอ เรายังอยู่ในช่วงที่ประสานงานกับบุคคลต่างๆ กลุ่มคนต่างๆ รวมถึงหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ที่เราหวังให้เขาเข้าร่วมหรืออย่างน้อยที่สุดก็มาเป็นพันธมิตรเพื่อผลักดันสังคมคอสเพลย์ต่อไปครับ
แล้วอยากได้อะไรจากคนที่สนใจในตัวสมาคมอุตสาหกรรมคอสเพลย์ไทย และคิดว่าทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป
คม : อย่างแรกสุดที่ต้องการในตอนนี้ เราก็ต้องการทั้งโอกาส และ เวลา ในการที่เราจะวางรากฐานของสมาคมให้มั่นคง และเรายินดีมากๆ ที่จะได้รับแรงสนับสนุน และกำลังใจในการดำเนินการ แล้วก็อีกไม่นานนี้ทางสมาคมก็จะเปิดรับสมาชิกที่เราคาดว่าจะมีหลายๆ คนได้เข้าร่วมสมัครสมาชิกกับทาง