“There are three things that must not be mentioned in Liverpool: Manchester United, The Sun and Margaret Thatcher.”
คือคำพูดของหนุ่มชาวลิเวอร์พูลคนหนึ่งที่กล่าวกับเรา ขณะที่เรียนปริญญาโทอยู่ที่เมืองลิเวอร์พูล เมื่อสองปีก่อน เพื่อเตือนสาวเนิร์ดอย่างเราว่า ถ้าเธออยากใช้ชีวิตในเมืองนี้อย่างสงบ ก็อย่าได้เอ่ยถึงสามสิ่งนี้กับสเกาเซอร์ (ชาวลิเวอร์พูล) โดยเด็ดขาด ไม่งั้นเธอจะต้องมีปัญหาแน่ๆ!
แน่นอนว่าสิ่งแรก คือ ‘ทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ ทีมฟุตบอลคู่ปรับตลอดกาลของลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อให้คนที่ไม่ชอบดูฟุตบอลก็รู้ เนื่องจากภาพจำของ ‘ศึกวันแดงเดือด’ ที่จะต้องได้เห็นภาพแฟนบอลทั้งสองทีมปะทะคารมใส่กันอย่างดุเดือดผ่านหน้าเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์อยู่เป็นประจำ แต่ว่ากันว่าความไม่ลงรอยระหว่างแฟนบอลของทั้งสองทีม ไม่ได้มีสาเหตุมาจากฟุตบอลเพียงเท่านั้น แต่สามารถย้อนไปไกลได้ถึงช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเลยทีเดียว เนื่องจากแมนคูเนียน (ชาวเมืองแมนเชสเตอร์) และสเกาเซอร์ มีความ ‘ไม่ชอบหน้า’ กันและกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมยังเคยขัดแย้งกันในเรื่องเศรษฐกิจอีกด้วย จึงทำสเกาเซอร์ ‘ไม่ปลื้ม’ ทีมจากแมนเชสเตอร์ไปด้วยนั้นเอง
ส่วนสิ่งที่สอง คือ ‘หนังสือพิมพ์ เดอะ ซัน’ หนังสือพิมพ์ประเภทแท็บลอยด์ (tabloid) ที่เคยมีประเด็นกับแฟนบอลลิเวอร์พูล หลังออกข่าวพาดหัวกล่าวหาแฟนบอลลิเวอร์พูลว่าต้นเหตุของโศกนาฎกรรมที่ฮิลส์โบโร (Hillsborough) ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 96 ราย ในปี ค.ศ.1989 และรายงานข่าวเท็จว่ามีแฟนบอลบางส่วนขโมยของศพและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนทำให้ภาพลักษณ์ของสเกาเซอร์เสียหายและก่อให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่เพื่อนและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก เดอะ ซัน จึงไม่เคยเป็นที่ต้อนรับของสเกาเซอร์เลยนั้บตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่อาการไม่ปลื้ม มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ของสเกาเซอร์กลับมีความซับซ้อนและเรื่องราวที่น่าสนใจมากกว่านั้น มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักร เจ้าของฉายา ‘สตรีเหล็ก’ (The Iron Lady) อันโด่งดัง ช่วงเวลากว่า 11 ปีที่มาร์กาเร็ตดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เธอสามารถนำสหราชอาณาจักรผงาดกลับมาเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้ง และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดช่วงสงครามเย็น
ทว่าในสายตาของสเกาเซอร์และชนชั้นแรงงานในอังกฤษ เธอกลับเป็น ‘ยัยแม่มด’ (The Witch) ที่ปล้นความหวังในชีวิตและพรากโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาไปหมดสิ้น ซึ่งต่อไปเราจะนำพาทุกคนไปย้อนดูความเจ็บปวดและความโกรธแค้นของสเกาเซอร์ที่มีต่อแทตเชอร์ และเหตุผลว่าทำไมชนชั้นแรงงานทั่วอังกฤษถึงเฉลิมฉลองกับการตายของผู้หญิงคนนี้กัน
ก่อนที่แทตเชอร์จะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เธอเติบโตในครอบครัวที่พ่อเป็นเจ้าของร้านขายของชำในเมืองแกรนแทม (Grantham) นอกจากนี้พ่อของเธอยังเป็นนักเทศน์นิกายเมโทดิสต์และนายกเทศมนตรีเมือง จึงทำให้เธอเคร่งศาสนาและซึมซับชีวิตนักการเมืองจากพ่อของเธอมา จนกระทั่งเมื่อเธอมีโอกาสได้เลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เธอกลับตัดสินใจเลือกเรียนวิชาเคมี แต่ก็เริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองควบคู่ไปด้วย แทตเชอร์กลายเป็นหนึ่งในสตรีคนแรกๆ ที่ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมอนุรักษ์นิยมแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
ขณะที่เรียนอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ดนี้เอง แทตเชอร์ได้พบปะกับนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมจำนวนมากและได้อ่านงานเขียนของ ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค (Friedrich von Hayek) นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมที่เชื่อมั่นในกลไกตลาดเสรี การแปรรูปรัฐวิสหากิจ และเน้นไปที่ความสำเร็จของปัจเจกบุคคล ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นแนวคิดหลักที่แทตเชอร์ใช้จัดการเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรตลอดช่วงการเป็นนายกรัฐมนตรี
แทตเชอร์ก้าวเข้าสู่โลกการเมืองเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1959 ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมืองฟินช์เลย์และสมาชิกคณะรัฐมนตรีเงา คอยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จนกระทั่งในปี ค.ศ.1970 พรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง แทตเชอร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ โดยนโยบายแรกที่เธอเลือกทำคือ นโยบายเลิกแจกนมให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากเธอต้องการตัดงบที่ไม่จำเป็นออกไป จนเธอได้รับฉายาจากฝ่ายค้านและสื่อว่า ‘ยัยแทตเชอร์จอมฉกนม’ (Thatcher the milk snatcher)
แม้ว่าเธอจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนโยบายที่แข็งกร้าวและท่าทีที่ ‘ไม่แคร์’ ชนชั้นแรงงานและประชาชนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐ แทตเชอร์กลับได้รับความนิยมอย่างสูงจากกลุ่มนายทุนและสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ในที่สุดในปี ค.ศ.1979 เธอสามารถชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อังกฤษ ซึ่งจุดนี้เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจและชะตาชีวิตของคนนับล้านในอังกฤษไปตลอดกาล
แทตเชอร์เริ่มดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเศรษฐกิจทันที เนื่องจากในยุค 70s เกิดวิกฤตราคาน้ำมันและเงินเฟ้อสูง สหภาพแรงงานนัดหยุดงานเรียกร้องสวัสดิการตลอดเวลา รัฐบาลก่อนหน้าก็เข้ามาอัดฉีดเงินหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่วิกฤตเศรษฐกิจก็ไม่มีท่าจะดีขึ้น แทตเชอร์เลยหวังใช้ ‘ยาแรง’ ในการแก้ปัญหา คือการประกาศรัดเข็มขัด ตัดโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ไม่ทำกำไรให้เป็นของเอกชนเสีย หยุดอัดฉีดเงินในระบบ ออกกฎหมายลดอำนาจสหภาพแรงงาน และประกาศลดภาษีเพื่อหวังให้เอาใจนายทุน
ผลคือ ธุรกิจที่ไม่ทำกำไรเจ๊งระเนระนาด คนตกงานเป็นจำนวนมาก ครอบครัวของคนงานก็ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ผู้คนเริ่มอดอยาก เนื่องจากสวัสดิการรัฐถูกตัดงบประมาณไปเสียหมด ความสิ้นหวังและความโกรธแค้นของคนเริ่มก่อตัวขึ้นทั่วประเทศ เริ่มมีการประท้วงของชาวเมืองโดยเฉพาะในหัวเมืองทางเหนือ เนื่องจากเมืองเหล่านี้มีชนชั้นแรงงานอาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองแมนเชสเตอร์และลิเวอร์พูล ที่อุตสาหกรรมทอผ้าและการท่าเรือคืออุตสาหกรรมหลักที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองมานานหลายร้อยปี
จนกระทั่งในปี ค.ศ.1981 ความสิ้นหวังและความไม่พอใจของชนชั้นแรงงานที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลแทตเชอร์ก็ระเบิดออกมาในที่สุด หลังจำนวนคนว่างงานพุ่งทะยานเกิน 3 ล้านคนเป็นครั้งแรกในรอบห้าสิบปี เกิดจลาจลตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ โดยหนึ่งในจลาจลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกิดขึ้นที่เขตท็อกซ์เตธ (Toxteth) ลิเวอร์พูล อันเป็นเขตที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดแห่งหนึ่งจากนโยบายรัดเข็มขัดของแทตเชอร์ ด้วยอัตราว่างงานสูงถึง 60%
จลาจลที่ท็อกซ์เตธกินเวลานานกว่า 9 คืน และจบลงด้วยการจับกุมชาวเมืองกว่า 500 ราย ตำรวจบาดเจ็บ 470 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยที่แทตเชอร์ออกคำสั่ง ‘ลอยแพ’ เมืองลิเวอร์พูลทันที แม้ว่ารัฐมนตรีบางส่วนจะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ก็ตาม แต่ด้วยอิทธิพลของนโยบายรัดเข็มขัดที่เข้มงวดและกระแสการพึ่งพาตัวเองที่เข้มข้น การช่วยเหลือและเยียวยาชาวเมืองลิเวอร์พูลที่บอบช้ำจากพิษเศรษฐกิจจึงกลายเป็นการ ‘ละลายเงินในแม่น้ำ’ ให้เมืองที่เหลือแต่ซากเท่านั้น ส่งผลให้เมืองที่อดีตเคยรุ่งเรืองด้วยอุตสาหกรรมการท่าเรือและเคยเป็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญที่สุดในสหราชอาณาจักรต้องตกต่ำลงถึงขีดสุด หลายคนถึงต้องอพยพออกจากเมืองไป
แม้ว่าภายหลังรัฐบาลจะส่งนักการเมืองมือดีเข้ามาเยียวยาและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในตัวเมืองก็ตาม แต่ความรู้สึกสิ้นหวังในการมีชีวิตที่ดีกว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบแทตเชอร์ (Thatcherism) และความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกมองข้ามจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยมก็ได้ฝังเข้าไปในจิตวิญญาณของสเกาเซอร์ทุกคนและชนชั้นแรงงานอีกนับล้านชีวิตที่ต้องเผชิญชะตากรรมที่ใกล้เคียงกันนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากเหตุการณ์จลาจลทั่วอังกฤษในปี ค.ศ.1981
พรรคอนุรักษ์นิยมแทบจะไม่เคยชนะเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกเลย
ในหัวเมืองที่เป็นอดีตเมืองอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ
โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ เช่น แมนเชสเตอร์ เบอร์มิงแฮม ลีดส์ และ นิวคาสเซิล นำไปสู่ปัญหา ‘North-South Divide’ หรือ ความรู้สึกของชาวเมืองทางเหนือที่คิดว่ารัฐบาลมัก ‘ลำเอียง’ และ ‘ไม่เหลียวแล’ พัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชากรทางเหนือเท่าทางใต้ ซึ่งต่อมาเมืองเหล่านี้ก็กลายเป็นฐานเสียงสำคัญของการรณรงค์โหวต Remain ในการทำประชามติ Brexit เมื่อปี ค.ศ.2016 เนื่องจากเมืองเหล่านี้ต่างลุกขึ้นมาได้อีกครั้งด้วยความช่วยเหลือและงบประมาณจากสหภาพยุโรปทั้งนั้น (european fund)
โดยเฉพาะเมืองลิเวอร์พูล สหภาพยุโรปได้ลงทุนงบประมาณมากกว่าหนึ่งพันล้านปอนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 เพื่อวางระบบขนส่งสาธารณะ ก่อสร้างสนามบิน ปรับปรุงตึกรามบ้านช่อง และสร้างโอกาสและงานคืนสู่ชาวเมืองอีกครั้ง จึงไม่แปลกที่สเกาเซอร์มักจะพูดอยู่เสมอว่า “We’re Scouse, we’re not English” (พวกเราคือสเกาซ์ ไม่ใช่คนอังกฤษซะหน่อย!)
นอกจากนี้ โศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโร ในปี ค.ศ.1989 ยังยิ่งตอกย้ำความ “ไม่แคร์” ของแทตเชอร์ที่มีต่อเมืองลิเวอร์พูลอีกครั้ง เมื่อแทตเชอร์ให้สัมภาษณ์เอ่ยโทษต่อแฟนบอลลิเวอร์พูลว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรม แถมยังจงใจไม่ “กระตือรือร้น” ในการสืบสวนความเป็นมาของเหตุการณ์ด้วย ส่งผลให้ญาติผู้เสียชีวิตต้องรอความยุติธรรมนานกว่าหลายสิบปี เมื่อรัฐบาลของกอร์ดอน บราวน์ ตัดสินใจรื้อฟื้นคดีขึ้นมาสอบสวนอีกครั้งอย่างจริงจังในปี ค.ศ.2009
จนกระทั่งในปี ค.ศ.2012 รัฐบาลเดวิด คาเมรอน ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมความยาวกว่า 400 หน้าโดยเปิดเผยให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายบกพร่องในหน้าที่ และมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เลยร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ โดยคาเมรอนก็ได้ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ และยอมรับความผิดพลาดของรัฐบาลที่ปล่อยให้ญาติผู้เสียชีวิตต้องรอความยุติธรรมนานกว่า 30 ปี
ด้วยเหตุนี้ วันที่แทตเชอร์เสียชีวิตลง สเกาเซอร์และคนอังกฤษจำนวนมากถึงออกไปเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมส่งเสียงตะโกน “แม่มดชั่วนั้นตายแล้ว” ดังกึกก้อง
ที่มา: