ควันหลงหลังวันแรงงานที่เรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงเป็นสองเท่าบอกถึงความไม่เท่าเทียมทางรายได้ แล้วถ้าเราพอเพียงไม่เอาเปรียบผู้มีรายได้น้อย และเข้าใจการจัดสรรทรัพยาการจะมีส่วนช่วยให้ช่องว่างตรงนี้ก็อาจแคบลงจนไม่จำเป็นต้องมีการข้อขึ้นค่าแรงทุกปีก็เป็นได้
มาร์กซิสต์กับชีวิตที่พอเพียง???
ถาม: ทำไมวันก่อน ป่าปี๋ เขียนคอมเมนต์ว่า การเรียนเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ แล้วจะเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงได้ลึกซึ้งขึ้น
ตอบ: เพราะโดยทั่วไป คนมักเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงในแง่มุมของการปฏิบัติตน แต่ลืมหลักการสำคัญข้อหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงคือ “การไม่เบียดเบียนผู้อื่น”
เราจึงต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นว่า เรากำลังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่หรือไม่?
เพราะการเบียดเบียนหรือการเอาเปรียบผู้อื่นอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะคือ การเบียดเบียนโดยจงใจ และการเบียดเบียนโดยไม่รู้ตัว (หรือไม่ตั้งใจจะรู้ตัว)
การเบียดเบียนผู้อื่นโดยจงใจ เราอาจใช้มิติคุณธรรมควบคุมพฤติกรรมของตัวเราเอง หรือสังคมก็สามารถออกกฎกติกาต่างๆ เพื่อป้องกัน/แก้ไขการเบียดเบียนเหล่านั้น
แต่การเบียดเบียนผู้อื่นอาจจะซ่อนอยู่ลึกกว่า (จนเราอาจไม่รู้ตัว) เราจึงต้องการกรอบคิดมาช่วยเราวิเคราะห์ว่า เรากำลังเอาเปรียบคนอื่นโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือไม่?
ถาม: เราเบียดเบียนคนอื่นโดยไม่รู้ตัวด้วยเหรอ?
ตอบ: เยอะเลยครับลูก เช่น ในช่วงหน้าแล้ง ชาวนาที่เมืองกาญจนบุรี ราชบุรี ต้องงดทำน้ำ เพื่อส่งน้ำมาให้คนนนทบุรีและคนกรุงเทพฯ อย่างเรา และบางครั้งเราก็ใช้น้ำเหล่านั้นมารดต้นไม้ ทำไมละลูก?
หรือชาวนาทำไมต้องขายข้าวหรือผลผลิตการเกษตรให้เราในราคาถูก ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่า ข้าวและผลผลิตเหล่านั้นมีคุณค่าและ (ควรมี) มูลค่ามากกว่านั้น ทำไมละลูก?
หรือทำไมพ่อไปสอนหนังสือภาคพิเศษได้ค่าตอบแทน 1,200-1,500. บาท/ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 4-5 วันเลยนะลูก ทำไมมูลค่าของงานของเรา (ระหว่างพ่อกับพี่น้องแรงงาน) มันแตกต่างกันขนาดนั้นละลูก?
ถาม: นั่นสิ เพราะอะไร? เพราะ “ความหายาก” แบบที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบอธิบายหรือเปล่า?
ตอบ: อืม มันก็มีส่วนใช่และไม่ใช่
ในกรณีเรื่องน้ำ คงไม่ใช่เพราะความหายากหรอก แต่คงเป็นเพราะอำนาจที่กำหนดว่า ความจำเป็นของคนเมือง (หลวง) นั้นสำคัญกว่าชาวนา
ส่วนกรณีของการขายข้าวราคาถูกนั้น เบื้องต้นก็คงเป็นเพราะข้าวไม่ใช่สินค้าที่หายาก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ชาวนามักไม่ค่อยมีทางเลือกในการออกจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (ซึ่งก็คือ การขายข้าวที่แม้จะได้ราคาถูก) หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ชาวนามี Barrier to exit นั่นเอง
เช่นเดียวกับเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ความหาง่าย (เป็นแรงงาน) หรือความหายาก (เป็นอาจารย์) อาจอธิบายได้ส่วนหนึ่ง แต่การกำหนดอัตราค่าจ้างอาจารย์และแรงงานอาจถูกกำหนดจากกลไกอื่นด้วย (เช่น กลไกรัฐ) และที่สำคัญที่สุดคือ พี่น้องแรงงานไม่มีทางเลือกในการออกจากความสัมพันธ์ (ซึ่งก็คือ การขายแรงงานในราคาถูก) นั่นเอง
ถาม: แล้วถ้าเช่นนั้น มันเป็นความผิดของเราด้วยเหรอ?
ตอบ: อืม ถามดีมาก ถ้ามองตรงๆ มันก็คงไม่ใช่ความผิดของเรา เราเพียง “ได้เปรียบ” ตามระบบที่เป็นอยู่ แต่ถ้ามองกลับกัน มันก็คงไม่ใช่ความผิดของ “ผู้ที่เสียเปรียบ” เช่นกัน ที่ต้องตกอยู่ภายใต้ความเสียเปรียบดังกล่าว
ถาม: แต่เราก็อาจเป็นผู้แสวงหาและพัฒนาความหายากนั้นขึ้นมาเอง เช่น ตั้งใจเล่าเรียน เราจึงเป็นผู้ที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า หรือเป็นผู้ได้เปรียบในสังคม
ตอบ: ก็อาจจะจริงครึ่งหนึ่ง เพราะอีกครึ่งหนึ่ง ความได้เปรียบ/เสียเปรียบของเราก็เกิดมาจากความได้เปรียบ/เสียเปรียบที่มีมาก่อนหน้าเรา ไม่ใช่ความสามารถของเราเองโดยตรง
เช่น หากพี่น้องแรงงานได้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะพอสมควรเหมือนป่าปี๋ เกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่ที่มีความรู้เหมือนป่าปี๋ เกิดในพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมเหมือนป่าปี๋ ได้เรียนในโรงเรียนที่รัฐฯ ลงทุนให้เต็มที่เหมือนป่าปี๋ เขาก็อาจเป็นทรัพยากรที่มี “ความหายาก” เหมือนหรือดีกว่าป่าปี๋ก็ได้
แต่เขาไม่ได้เกิดมาในปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ การเข้าถึงโอกาสที่ดีในชีวิตของเขากลับกลายเป็น “ความหายาก” สำหรับเขา แล้วเราจะบอกว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม มันเป็นธรรมสำหรับทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร?
ถาม: แต่มันก็เป็นเรื่องปกติมิใช่หรือ?
ตอบ: นั่นแหละตรงประเด็นเป๊ะเลย “การทำให้เรื่องทั้งหลายดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ คือเกราะกำบังที่ดีที่สุดในการรักษาความได้เปรียบและเสียเปรียบไว้ในสังคม” เพราะใครจะไม่ไปสงสัยหรือตั้งคำถามกับสิ่งนั้น
การจะทำให้คนในสังคมรู้สึกเรื่องทั้งหลาย หรือกลไกทั้งหลายเป็นเรื่องปกตินั่น ก็จะต้องมีกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม โดยสร้างและเผยแพร่ชุดความคิดหรือกรอบความคิดขึ้นมา ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการที่เป็นทางการ (เช่น การสร้างองค์ความรู้และการศึกษา) หรือไม่เป็นทางการ (เช่น ถ้อยคำเปรียบเปรยต่างๆ ที่สื่อสารกันในสังคม)
ยิ่งหากกระบวนการทั้งหลายนั้นสามารถทำให้ ผู้ถูกเอาเปรียบรู้สึกว่า การเสียเปรียบของตนนั้นเป็นเรื่องปกติ (เช่น เป็นเรื่องของบุญวาสนา) เกราะกำบังการเอาเปรียบนั้นยิ่งสมบูรณ์
ตรงนี้แหละที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง ช่วยให้เราขบคิดว่า เรากำลังสืบทอดหรือขยายผลเกราะกำบังของกลไกที่ใช้เอาเปรียบผู้คน (เพื่อความได้เปรียบของเราเอง) อยู่หรือไม่?
ถาม: น่าสนใจมาก แล้วเรารู้แล้วเราจะทำอย่างไร?
ตอบ: อืมม์ นั่นแหละยากที่สุด เพราะการเบียดเบียนมันซ่อนอยู่ในระบบ จนเราอาจแก้ไขโดยลำพังได้ยากทีเดียว แต่ป่าปี๋ขอเสนอสัก 4 แนวทางแล้วกัน
หนึ่ง เราก็ต้องใช้แนวคิดของมาร์กซ มาทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ว่าเรากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่เอาเปรียบคนอื่นอยู่หรือไม่? ซึ่งก็ไม่ง่ายถ้าเราเป็นผู้ได้เปรียบผู้อื่นอยู่
สอง ถ้าเรารู้ว่า เราน่าจะได้เปรียบคนอื่นอยู่ เช่นได้รับค่าตอบแทนมากกว่าพี่น้องแรงงานส่วนใหญ่ เช่น พ่อ เราก็ควรจะชดเชยด้วยการทำงานฟรีให้กับสังคม และผู้ที่ได้รับน้อยกว่าเราบ้าง
พูดง่ายๆ ก็คือ เราจะต้องทำประโยชน์ให้เขามากกว่าที่เราได้รับมา ซึ่งก็อาจทำไม่ง่าย เพราะในความจริงแล้ว คุณค่าที่เรามีอยู่ (ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม) อาจไม่มากเท่ากับมูลค่าผลตอบแทนที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนั่นแปลว่า เรายิ่งต้องทำงานชดเชยให้มากขึ้นไปอีก
สาม ในระหว่างทุกความสัมพันธ์ที่เรามีกับพี่น้องคนอื่นๆ ในสังคม เราควรสนับสนุนให้เกิด “ทางเลือกในการออกจากความสัมพันธ์กับเรา” ไว้เสมอ เพราะตราบใดที่เขามีทางเลือก ตราบนั้น โอกาสที่เราจะเบียดเบียนหรือเอาเปรียบเขาจะน้อยลงทันที
ดูตัวอย่างแม่ เวลาแม่ช่วยเกษตรกรขายสินค้า แม่จะไม่ให้ข้อมูลแก่เกษตรกรเฉพาะที่เรานำมาขายเองเท่านั้น แต่แม่จะแนะช่องทางอื่นๆ ให้เกษตรกรด้วย เพื่อให้มีทางเลือกอื่นๆ ที่อาจจะดีกว่าทางเลือกที่เรากำลังดีลด้วย
สี่ เราก็จำเป็นต้องช่วยให้สนับสนุนให้การจัดสรรทรัพยากรในสังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบสวัสดิการและคุณภาพทางการศึกษา การสนับสนุนระบบค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม การสนับสนุนการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าและการกระจายการถือครองที่ดิน เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ชีวิตที่พอเพียงจึงไม่ใช่ชีวิตที่ใสใสแบบปกติ แต่เป็นชีวิตที่ต้องใส่ใจในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตาม “ปกติ” ทั้งที่ ความปกตินั้นอาจมีความไม่เป็นธรรมซ่อนอยู่
เราจะต้องไม่เป็นผู้เอาเปรียบคนอื่นแบบ “ใสใส” (และไม่รู้ตัว) นะลูก