บ่อยครั้งที่เมื่อเกิดเสียงปืนดังขึ้นในที่ชุมชน คำว่า ‘กราดยิง’ กลายเป็นข้อสันนิษฐานที่จับจองพื้นที่สื่อ ทั้งในการรายงานข่าวไปจนถึงการสื่อสารของคนทั่วไป คำถามคือการหมายรวมเช่นนั้น เพิ่มความตระหนักหรือก่อให้เกิดความตระหนกและความกลัวให้กับประชาชนกันแน่?
กว่า 24 ชั่วโมง ของการดำเนินการปิดล้อมตำรวจสันติบาลนายหนึ่ง วัย 51 ปี ที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงออกมาจากบ้านพักย่านสายไหม สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนโดยรอบ จนเกิดแรงกดดันที่อยากให้เจ้าหน้าที่ปิดปฏิบัติการไม่ทางใดของทางหนึ่ง
แม้ท้ายที่สุดจะสามารถควบคุมเหตุได้ แต่ความตั้งใจยื้อเวลาในการจับกุม เพื่อเป้าหมายในการรักษาชีวิตผู้ก่อเหตุก็ไม่เป็นผล เมื่อตำรวจนายนั้นเสียชีวิตลงจากอาการบาดเจ็บ
เช่นเดียวกับข้อสงสัยของต้นตอการก่อเหตุไว้รอการสรุปคดี คำถามถึงขอบเขตการรายงานเหตุ ‘ยิง’ ในพื้นที่ชุมชนแบบเรียลไทม์ก็น่าสนใจ The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ และ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นนี้
นับเป็น ‘กราดยิง’ ได้หรือไม่
นับแต่วินาทีแรกที่เสียงปืนดัง #กราดยิง ก็ปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการเกาะติดสถานการณ์ของสื่อมวลชน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลหนึ่งมาจากประสบการณ์ร่วมของสังคม ที่ยังคงจดจำและวิตกว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นมาอีก
อย่างไรก็ดี สองนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ยืนยันตรงกันว่า นี่ยังไม่เข้าข่ายการเป็นเหตุกราดยิง การเข้าใจอย่างถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงแนวทางการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนถึงผลกระทบทางสังคมด้วย
อ.วิไลวรรณ ระบุว่า สื่อบางสำนักรายงานเกินกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยใช้คำที่เกินกว่าเหตุ ทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน แต่เร่งนำเสนอข่าวในลักษณะคลิกเบต ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคม แต่สิ่งที่มากกว่าการตื่นตระหนก คือก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องจากการสะสมความเครียดให้กับคนในสังคม ซึ่งการสะสมความเครียดจากการเสพข่าวโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดความหวั่นวิตกได้ง่าย ในความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตตนเองและครอบครัว
โดยยกตัวอย่าง คำว่า ‘กราดยิง’ หรือ ‘ยิงกราด’ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า sweeping fire ว่าเป็นคำที่ใช้รายงานข่าวที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่หวังผลแบบไม่เจาะจงหรือไม่เลือกหน้าเพื่อก่อให้เกิดความรุนแรงแบบสูญเสียจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์ที่โคราชในปี 2563 และเหตุการณ์หนองบัวลำภูเมื่อปี 2565
สอดคล้องกับคำอธิบายของ อ.พิจิตรา ที่อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI ซึ่งระบุเอาไว้ว่า mass shooting หรือการสังหารหมู่ จะเข้าข่ายต่อเมื่อมีองค์ประกอบผู้กระทำผิดตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ใช้อาวุธปืนเพื่อวัตถุประสงค์ให้ถึงแก่ความตาย ในพื้นที่สาธารณะ โดยในกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมยังชี้ว่า ต้องมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 3 คน
เมื่อมองย้อนไปที่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ในข้อเท็จจริงคือ ผู้ก่อเหตุยิงปืนออกมาไม่ได้มีองค์ประกอบที่จะรายงานว่ากราดยิงได้ แม้เป็นภัยต่อสาธารณะก็ตาม
“ตามจรรยาบรรณสื่อ ถ้ากรณีนี้เข้าข่ายกราดยิง นักข่าวต้องเคร่งครัดกว่านี้มากในการทำงาน เพราะในเชิงจิตวิทยา หากรายงานข่าวแล้วทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ มีการเปิดเผยหน้าตา ชื่อ จนเขาเป็นที่รู้จักของสังคม นั่นเท่ากับว่าเรากำลังทำให้เป้าหมายของคนร้ายสำเร็จ ทั้งข้อมูลทางจิตวิทยาระบุชัดว่า ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้”
ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนสามารถรวบรวมผลวิจัย พบว่าผู้ก่อเหตุได้รับอิทธิพลและแรงจูงใจจากการรายงานข่าวของสื่อ ที่นำเสนอคนร้ายจากเหตุการณ์ก่อนหน้า คล้ายกับพวกเขาเป็นไอดอลที่เคยบรรลุเป้าหมายแล้ว
นอกจากนี้ การ ‘ไลฟ์สด’ ทั้งจากประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชนในกรณีที่ยังคงมีตัวประกันนั้น นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราถึงได้เห็นการขอความร่วมมือจากตำรวจให้ระงับการแชร์ภาพ หรือไลฟ์สดรายงานสถานการณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเคยปรากฏเป็นข่าวทั้งในไทยครั้งเกิดเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา และอีกหลายเหตุการณ์ในต่างประเทศ ทั้งแคนาดาและสหรัฐฯ
ย้อนไปครั้งที่เกิดเหตุกราดยิงภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ที่นำมาซึ่งความสะเทือนใจของคนในสังคม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เคยขอความร่วมมือให้นำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง เนื่องจากครั้งนั้นมีทั้งภาพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ไปจนถึงการตั้งคำถามในลักษณะซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงญาติผู้ก่อเหตุ
เช่นเดียวกับศูนย์ฝึกอบรมให้แก่เจ้าพนักงานในหน่วยงานต่างๆของสหรัฐฯ (Advanced Law Enforcement Rapid Response Training) ที่เคยเปิดข้อแนะนำของการลดเหตุกราดยิง ว่าต้องจำกัดการนำเสนอแบบไลฟ์สดทันทีที่เกิดเรื่อง เพราะอาจจะเพิ่มความตึงเครียดให้กับเหตุการณ์ การรายงานต้องชี้ว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ทั้งลดระยะเวลาการนำเสนอข่าวหลังจากมีการกราดยิงเกิดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกเข้าใจผิดว่านั่นเป็นรางวัลของการก่อเหตุ
เช่นเดียวกับการปฏิการที่สายไหมเมื่อวันก่อน แม้จะไม่ใช่เหตุกราดยิงแต่ในช่วงของการเข้าควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการข้อความร่วมมือนักข่าวภาคสนามในการหยุดรายงานข่าว และถ่ายทอดสดเช่นกัน
“ต่อให้แนวทางทำงานไม่ชัดเจน แต่ทำยังไงก็ได้ที่เจ้าหน้าที่ต้องไม่ทำงานลำบาก”
เป้าหมายของการทำข่าวอาชญากรรม
‘รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น’ นับเป็นหน้าที่พื้นฐานของวิชาชีพสื่อซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ซึ่งตรงกับความต้องการรับรู้ของผู้คน อย่างไรก็ดีการทำหน้าที่ย่อมต้องเป็นไปตามจรรยาบรรณสื่อมวลชน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ทำงานได้ง่าย อีกทั้งปกป้องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา
สำหรับข่าวอาชญากรรมนั้น ตามบทความวิชาการเรื่องการรายงานข่าวอาชญากรรม พล็อตละครชีวิต อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า ข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงเกี่ยวข้องกับคนถึง 4 ฝ่าย คือ
- ผู้สืบหาความจริง คือ ตำรวจ ศาล ผู้พิพากษา ทนายความ
- ผู้กระทำความผิด คือ ผู้ต้องหา หรือคนที่ถูกกล่าวหา
- ผู้เห็นเหตุการณ์ คือ พยาน
- ผู้เสียหาย
ด้วยองค์ประกอบเช่นนี้ ข่าวอาชญากรรมจึงมีคุณค่าในแง่ของการดึงดูดความสนใจคน เพราะรายละเอียดที่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากพอ และเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เมื่อถ่ายทอดออกมากลับมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับการติดตามเรื่องราวในละคร ดังนั้นการรายงานจึงยิ่งต้องเป็นไปอย่างรัดกุมที่สุด
อ.พิจิตรา กล่าวว่า ในการทำข่าวประเภทอาชญากรรมต่อให้ผู้กระทำผิดลงมือจนสำเร็จแล้ว แต่หากการตัดสินในชั้นศาลยังไม่สิ้นสุด การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวก็ยังเป็นข้อต้องห้ามอยู่ แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการรู้มากที่สุด แต่ไม่ใช่หัวใจสำคัญของการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
“สิ่งที่นักข่าวต้องทำ คือประณามการกระทำว่าเหตุการณ์แบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก โดยไม่มุ่งเน้นไปที่บุคคล”
ประเด็นสำคัญที่สุดตามความเห็นของ อ.พิจิตรา คือ เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุรุนแรงในสังคม ทิศทางของการสื่อสารต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอบในอนาคต เช่นกรณีที่เกิดขึ้นการมุ่งเป้าโจมตีที่รูปแบบการก่อเหตุจึงถือเป็นเส้นชัยของการทำงาน
ขณะที่ อ.วิไลวรรณ แสดงความเห็นว่า สื่อไทยผ่านบทเรียนมาพอสมควรแล้วกับการรายงานข่าวที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้อาวุธ ว่าสร้างผลกระทบเฉพาะหน้า และผลกระทบระยะยาวตามมาอย่างไร โดยเฉพาะหากเข้าข่ายกราดยิงจริงๆ “เราไม่ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ทุกข้อเท็จจริงควรตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนการนำเสนอ และไม่สร้างความตื่นกลัว ไม่ใช่แค่ตื่นตระหนก นักข่าวควรจะสร้างการตื่นรู้มากกว่า”
ความท้าทายของแอร์ไทม์
ในอดีตการรายงานข่าวนอกจากจะต้องแข่งกับเวลาแล้ว ข้อจำกัดของกำหนดเวลาออกอากาศก็มีผลต่อเนื้อหาที่ถูกนำเสนอเช่นกัน หลายครั้งนักข่าวไม่สามารถรายงานได้ครบถ้วนด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ การเข้ามาของโซเชียลมีเดียจึงเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างมาก ผู้คนสามารถเกาะติดเรื่องราวนั้นๆ รายวินาทีได้เลย
“พอคนมาเฝ้ารอหน้าจออยู่ตรงนั้น ทั้งที่เรื่องยังไม่มีความคืบหน้า แต่สื่อยังจำเป็นต้องรายงานอยู่ จึงต้องขุดคุ้ยรายละเอียด ที่อาจไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสื่อ คล้ายสอบสวน หรือทำหน้าที่แทนตำรวจ”
นั่นถึงเป็นความท้าทายใหม่ของสื่อมวลชน ตามความเห็นของ อ.วิไลวรรณ ว่าใครจะสามารถหาแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมานำเสนอ ในระหว่างที่เหตุการณ์ยังไม่มีความคืบหน้าได้ก่อนกัน เช่น วิธีการรับมือเหตุคนคลุ้มคลั่ง กรณีศึกษาในต่างประเทศ มุมมองเชิงจิตวิทยา เป็นต้น
“สังคมไทย คนเสพข่าวไทยวันนี้ ยังพึ่งพิงคนทำสื่อมืออาชีพ เพื่อได้ข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการตัดสินใจในการดำรงชีวิตที่ทุกวันนี้มีความเสี่ยงต่อชีวิตเพิ่มมากขึ้น ถ้าสื่อวิชาชีพไม่ธำรงความน่าเชื่อถือ ยังนำเสนอข่าวเกินความเป็นจริง ท้ายสุดสังคมเชื่อถือสื่อวิชาชีพน้อยลง” อ.วิไลวรรณกล่าว
ขณะที่ เหตุผลหนึ่งที่อาจต้องเลี่ยงการจดจ่อที่เหตุการณ์เป็นเวลานาน คือ ลดผลกระทบที่อาจเกิดจากความเครียดของคน ตามความเห็นของ อ.พิจิตรา “เครื่องมือออนไลน์ทำให้สื่อมวลชนทำงานง่ายขึ้นจริง แต่ถ้าการใช้เครื่องมือไปรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือกระตุ้นเร้าผู้กระทำผิดก็นับว่าไม่ถูกต้อง”
ดูเหมือนว่าการรายงานข่าวอาชญากรรมนั้นเต็มไปด้วยข้อควรระวัง จากองค์ประกอบที่แอบซ่อน ทั้งผลกระทบ เงื่อนงำ ตลอดจนความขัดแย้ง แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลที่จะเลี่ยงนำเสนอ เพราะผลลัพธ์ของอาชญากรรมจะพาเราย้อนไปทบทวนความไม่ปกติทางสังคม ที่ต้องอาศัยความร่วมใจของทุกคนในการหาทางออกไปด้วยกัน