เลียนแบบมาจากกราดยิงโคราชไหม? ทำไมเป็นตำรวจอีกแล้ว?
นับแต่กองเพลิงมอดดับ หลังได้แปรเปลี่ยนร่างทั้งน้อยใหญ่ให้เหลือไว้เพียงเถ้าอัฐิไว้ให้ครอบครัว เขม่าควันที่ปกคลุมไปทั่วย่อมจางหายไปตามเวลา ต่างกับคำถามของสังคมที่ยังคงพอกพูน จากกรณีกราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู ที่นำมาซึ่งการสูญเสียหลายสิบชีวิต
“แล้วมันก็เกิดขึ้นอีกจนได้” เป็นคำคาดการณ์ส่วนตัวที่อยากให้ผิดพลาดมาตลอดหลายปีของ นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์และนักวิชาการอิสระ ที่ติดตามเหตุกราดยิงในไทยมาตลอด ทั้งภายใต้แว่นของผู้สังเกตการณ์ และเพิ่มเลนส์ขยายจากความรู้ตามวิชาชีพ
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ และจิตวิทยารายนี้ ถึงความเสี่ยงของการลอกเลียนแบบ ที่คนอาจคุ้นหูกันว่า ‘copy cat’ วิพากษ์ ‘โครงสร้างราชการ’ หนึ่งในเหตุปัญหาที่ยังไม่เคยถอดบทเรียน รวมไปถึงสำรวจสภาวะทางใจของคนในสังคมหลังผ่านไปแล้วเกือบสัปดาห์
นอกจากครอบครัวเหยื่อแล้ว ตอนนี้สังคมมีบาดแผลทางใจ (trauma) มากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากว่าเราเป็นผู้สัมผัสกับความสะเทือนใจในระยะห่าง ไม่แม้กระทั่งเป็น second victim (เหยื่อรายที่ 2 ) แต่เป็น tertiary (ลำดับ 3) quarterly (ลำดับ 4) ซึ่งเป็นความสะเทือนใจผ่านการรับรู้จากสื่อมวลชน เพราะฉะนั้นโดยปกติสังคมจะปรับใจได้เร็ว ตัวอย่างในอดีต อย่างกรณีเหตุการณ์ 911 หรือกราดยิงที่โคราช ใช้เวลาราวสัปดาห์ คนในสังคมก็จะเริ่มตั้งหลักได้ แต่ความสะเทือนใจนั้นก็ยังมีคงค้างอยู่
พอสังคมตั้งหลักทางจิตใจได้แล้ว หลายคนถึงได้ย้อนกลับไปดูข่าวใหม่ จากที่เดิมอาจไม่กล้าติดตามในตอนต้น
แต่อย่างหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเลย คือที่เพิ่งมีการเผาศพรวม ซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นเหตุผลของชุมชน ตรงนี้อาจกระทบใจคน เหมือนราชการโน้มน้าวให้ผู้สูญเสียทำพิธีเผารวม โดยที่บางส่วนเขาอาจต้องการจัดการตามความเชื่อของตัวเอง ที่บ้างก็อาจอยากเผาเลย บ้างเชื่อธรรมเนียมว่าถ้าตายผิดธรรมชาติจะต้องเก็บศพไว้ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิของผู้สูญเสีย มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาครอบครัว
เมื่อราชการเข้าไปจัดการเรื่องนี้ เลยยิ่งก่อกวนใจคนอยู่เรื่อยๆ แต่ทั้งหมดก็จะคลี่คลาย ฟื้นฟูเยียวยาไปพร้อมกับความกระจ่างของคดีที่ตำรวจจะต้องพิสูจน์
เห็นอะไรบ้างจากผู้ก่อเหตุครั้งนี้
คุณลองตั้งต้นสังเกตดูทั้งกราดยิงที่โคราช และหนองบัวลำภู มีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการถูกกดทับ ดูหมิ่น เหยียดหยามให้เสียศักดิ์ศรี ไม่มีใครเอา แทนที่เขามีปัญหาแล้วช่วยให้รู้สึกว่ายังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กลายเป็นผลักให้เป็นหมาหัวเน่าไปเลย นี่เป็นปัจจัยที่มีความคล้ายคลึงกัน ที่มีส่วนให้เขาตัดสินใจทำร้ายสังคมคืน เป็นวิธีคิดของการฆาตกรหมู่
ที่ผมจะบอกว่าน่าเป็นห่วง คือ มีคนคิดว่ามันมีเหตุผล จริงๆ ฟังดูผิวเผินเหมือนจะมีเหตุผล แต่มันเป็นเหตุผลเทียมของผู้ก่อเหตุ ที่เขาคิดไปเอง ว่าเขาถูกสังคมทำให้เจ็บปวดแสนสาหัส จนเขาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อีก และก่อนจากไปขอเอาคืนให้สังคมเจ็บปวดเสียก่อน เราอย่าไปคิดว่าเขามีเหตุผล
“ทั้งหมดนี้ตั้งแต่ประโยคต้นจนจบไม่มีเหตุผลเลยสักประโยค ผมอธิบายได้หมดเลยว่าไม่มียังไง ถึงจะฟังดูเหมือนมีเหตุผลแต่ความจริงไม่มี ขอย้ำว่าระบบเหตุผลเขาบิดเบี้ยวคิดไปเอง”
ประเด็นต่อมาที่คนยังสับสนว่าผู้ก่อเหตุทำไปโดยขาดความยั้งคิดหรือไม่ ก่อนจะมีงานศึกษาทุกคนก็เคยเชื่อแบบนั้น แต่ตอนนี้รู้กันแล้วว่านี่เป็นหมวดหมู่หนึ่งของการฆ่าตัวตาย คนกระทำเขาจะมีกระบวนการคิดมาก่อนหลักหลายเดือน วางแผนมาก่อนระดับสัปดาห์ และตั้งใจทำล่วงหน้าเป็นวัน แถมยังตัดสินใจว่าจะตายก่อนชัดเจน
แน่นอนการวางแผนขนาดนี้ทุกคนจะมีความลังเลในช่วงแรก ทุกคนจะส่งสัญญาณการขอความช่วยเหลือทางอ้อม (call for help) เป็นกลไกเดียวกับที่เราเจอในคนไข้ฆ่าตัวตายเลย จะมีการเปรยๆ ทำโน่นทำนี่เหมือนสั่งเสีย แต่ไม่มีใครสนใจทำให้เขารู้สึกว่าสมควรทำแล้ว
หลายคนกังวลเรื่อง copy cat (การลอกเลียนแบบ) อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง
ผมไม่ได้สรุปว่าเป็น copy cat 100% นะ เพียงแต่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปได้สูงมาก ถ้าดูจากพฤติกรรมการก่อเหตุ มันอาจจะเป็น copy cat ของเหตุที่โคราช ซึ่งเหตุที่โคราชก็เป็น copy cat ของเหตุที่ลพบุรี จุดเริ่มต้นอาจไม่ต้องเป็น mass murder (การสังหารหมู่) แต่เนื่องจากมันสร้างให้ผู้ก่อเหตุเป็นฮีโร่ในสายตาคนที่มีความคิดบิดเบี้ยวบางคน
ต้องยอมรับว่าว่าวิธีการบริหารจัดการของตำรวจมีส่วนสนับสนุนให้กลุ่มคนที่มีทัศนคติไม่ดีต่อสังคมอยู่แล้วเห็นผู้ก่อเหตุเป็นฮีโร่จนอยากนำมาเป็นแบบอย่าง เช่นคิดเองเออเองว่า ถ้าอยากดัง ถ้าต้องการแก้แค้นสังคม ถ้าต้องการทำร้ายคนหมู่มากต้องทำแบบนี้
กรณีของหนองบัวลำภูที่ผมสงสัย ไม่ใช่เพราะมีข่าวว่าเขาเคยเปรยถึงเรื่องที่โคราช แต่เพราะมันมีพฤติกรรมบางอย่างบ่งบอกว่า ขณะทำเขามีการกระทำไปพร้อมนับจำนวนผู้เสียชีวิตไปด้วย ผมลงรายละเอียดไม่ได้มากนักเพราะมันเกี่ยวข้องกับคดีและหลายอย่างก็ดูสะเทือนใจเกินไป แต่ชัดเจนว่ามีลักษณะที่พยายามแสวงหาจำนวนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ต้องการ ดูจากการที่เมื่อก่อเหตุในศูนย์เด็กเล็กแล้ว ยังมีพฤติกรรมของการหาเหยื่อเพิ่มให้ได้ตามเป้า ได้แล้วก็เริ่มชะลอการกระทำทันที ก่อนจะกลับบ้านเพื่อปิดจ็อบตัวเอง
ในฐานะจิตแพทย์ มีอะไรที่รู้สึกเป็นกังวลใจไหม
ส่วนของการดูแลเหยื่อผมไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไหร่ กรมสุขภาพจิตเขาก็บริหารจัดการตามหลักวิชาด้วยกระบวนการที่ใช้ได้พอสมควร แต่ไม่เห็นด้วยเลยที่ทำคลิปแม่ผู้ก่อเหตุขอโทษ เมื่อมาดูทางฟากตำรวจ เนื่องจากเป็นระบบราชการแบบมีชั้นอำนาจ ผมเป็นกังวลว่าเขาจะรับมือแบบทหาร คือจัดการเพื่อจุดประสงค์ในการถนอมหน้าตัวเองก่อน ทั้งที่หน้าที่อันดับต้นคือการค้นหาความจริง วิเคราะห์ด้วยหลักวิชาการ เพื่อคลายข้อสงสัย เป็นบทเรียน และฟื้นฟูเยียวยาจิตใจคนในสังคม
คุณต้องเข้าใจนะว่า หน้าที่ในการฟื้นฟูจิตใจของสังคมนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของจิตแพทย์ ไม่ใช่หน้าที่นักจิตวิทยา เพราะเราไม่มีอำนาจ การทำ mass encouragement (ให้กำลังใจมวลชน) เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลความมั่นคงปลอดภัยของสังคม
ยกตัวอย่างถ้าสังคมไม่ไว้ใจว่าตำรวจจะดูแลความปลอดภัยของเขาได้อีกเลย จะเป็นเรื่องใหญ่มาก บาดแผลทางใจนี้จะฝังลึกให้ประชาชนหวาดระแวงตำรวจไปอีกนาน ในแง่มุมนี้มันอันตรายทั้งต่อตำรวจและระบบราชการเอง ตอนนี้ตำรวจเข้าใจเรื่องนี้รึเปล่าคือคำถามของผม
ถ้าจะให้ย้อนไปครั้งสมัยเหตุเกิดที่โคราช หน่วยงานราชการใช้หลักจิตวิทยาในการทำความเข้าใจกับสังคมน้อยมาก และคิดว่าเดี๋ยวคนก็ลืมไปเอง คนไม่ลืมนะ คนจำได้ พอคนหายตกใจหลังจากรับรู้เหตุที่หนองบัวลำภู คนก็จะนึกเลย เฮ้ย! เหมือนที่โคราชนี่
ผู้มีอำนาจรัฐไทยมักพูดถึงการถอดบทเรียน อาจารย์เห็นว่าที่ผ่านมาเราถอดบทเรียนเพียงพอแล้วหรือไม่
บุคลากรบางส่วนมีปัญหาในจิตใจ แต่ราชการไม่รู้ว่าจะรับมือยังไง ดันสรุปไปเองว่าโน่นนี่คือทางออก ถ้าจะแก้ปัญหานี้แต่เรายังไม่รู้อะไรเลย ดัชนีบ่งบอกว่าสภาวะนี้คืออะไร จะไปหาจากไหน ระบบเก็บข้อมูลอยู่ตรงไหนคุณยังไม่มีเลย คุณจะทำอะไร
ที่ผ่านมาเราไม่มีแม้กระทั่งการถอดบทเรียน เราถึงจำเป็นมากที่ต้องมีการประชุมทางวิชาการเพื่อวิเคราะห์เหตุร้ายแรง อย่างฝั่งแพทย์จะมีการประชุมอยู่บ่อย แต่เท่าที่ผมเข้าใจตำรวจไม่ค่อยมีวัฒนธรรมนี้ อย่างเรื่องที่โคราช ไม่เคยมีการจัดประชุมวิชาการเรื่องนี้ในไทยนะ แล้วการเรียนรู้ทั้งทางด้านทหารและทางจิตวิทยาแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะนี่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ คุณไม่สามารถแยกปัจจัยใดปัจจัยนึงออกไปได้เลย หลักวิชาบ่งบอกอยู่ว่าห้ามแยกศึกษา การแยกนั้นคือความพยายามผลักภาระออกนอกตัวเอง
แล้วตอนนี้มันยิ่งกว่าจำเป็นแล้ว เพราะนี่ไม่ได้เป็นการฆาตกรรมปกติ มันเป็นเหตุร้ายทางด้านอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยเจอมาก่อน ต้องระดมผู้มีความรู้ในทุกด้านเข้ามา ทั้งสังคมศาสตร์ นักมนุษยศาสตร์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์
การระบาดของปัญหาทางพฤติกรรมของมนุษย์ มันต่างจากการระบาดของความเจ็บป่วยทางกาย เพราะการเจ็บป่วยทางกายนั้นระบาดโดยเชื้อโรค แต่พฤติกรรมของมนุษย์นี้ระบาดด้วยการรับรู้ทางสังคม เป็นการได้แรงบันดาลใจ นำไปสู่การเลียนแบบ
ต้องเอาทุกอย่างมาช่วยกันนะครับ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าเจอกับอะไร ต้องทำให้เร็ว ทำให้เข้มข้น มอนิเตอร์ให้ดี ถ้าเกิดเหตุอีกภายในกรอบเวลานึง แปลว่ามันกำลังจะเป็น epidemic mass murder คือกำลังจะเกิดการระบาดของการสังหารหมู่ ซึ่งถ้ายังเป็นอย่างนี้เราคงรับมือไม่ได้แน่ เพราะบ้านเราไม่มีหน่วยงานตำรวจที่รับมือเรื่องแบบนี้เลย
โครงสร้างและวัฒนธรรมแบบไหน ที่หล่อหลอมให้คนใช้ความรุนแรงต่อกันได้
คงเจาะจงไม่ได้ว่าอะไรประกอบสร้างให้คนใช้ความรุนแรง ต้องบอกว่า ปัจจัยหลายอย่างของสังคมเป็นส่วนผสมที่ก่อกำเนิดความบรรลัยนี้ โดยที่ระบบราชการแบบตำรวจทหารรวมถึงระบบราชการไทย จะมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวไม่ได้
ผมเคยโพสต์ในเฟสบุ๊กว่า ‘ถ้าตัวชี้วัดของสุขภาพจิตดีเป็นเช่นไร ค่านิยมของตำรวจทหาร ตรงข้ามทุกอย่าง’ ผมจะอธิบายให้ฟัง ไม่กี่วันก่อนองค์การอนามัยโลกเพิ่งออกมาพูดถึงการรณรงค์เรื่องภาวะสุขภาพจิตในที่ทำงาน ไปดูในนั้นได้เลย วัฒนธรรมโครงสร้างของตำรวจตรงข้ามทุกข้อกับการอำนวยบรรยากาศในการทำงานให้ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนทำงาน
ยกตัวอย่าง องค์กรตำรวจมีการบริหารแบบแนวตั้งเข้มข้น เวลาจะสั่งงานต้องขออนุมัติไปเบื้องบนเป็นลำดับขั้นขึ้นไป ทำให้บางเรื่องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน แม้แต่เรื่องที่ถูกต้องและสมควรทำเร่งด่วนก็ต้องขออนุมัติไปหลายขั้น
มันเป็นวัฒนธรรมที่สร้างคนมีปัญหา ไม่ใช่ที่ที่คนมีสำนึกจะอยู่ได้ เวลาเขาบังคับคุณทำอะไรบังคับลงมาห้าชั้น แล้วก็ไม่มีสิทธิปฏิเสธ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะขัดมโนธรรมหรือไร้เหตุผลเพียงใดก็ต้องทำ ผมเชื่อว่าคน 90% อยู่ไม่ได้ แต่ตำรวจต้องอยู่
จริงๆ สังคมไทย ไม่ใช่สังคมที่มีพื้นฐานความรุนแรง แต่เดิมเราถึงเกิดเรื่องราวลักษณะนี้ไม่มากนัก แต่เราเป็นสังคมแบบตะวันออกที่จะมีปัญหาอีกแบบ ตามหลักการจิตวิทยาสังคม
อย่างตะวันตกเราเรียกว่า guilt society คือเป็นสังคมที่ใช้อุบายในการบังคับสมาชิกของสังคม ด้วยความรู้สึกผิดผ่านเครื่องมือศาสนา ใช้ความรู้สึกผิดเป็นตัวบังคับให้คนอยู่ในกรอบ ฝรั่งเวลาป่วยจะรู้สึกผิดมาก ไม่ไหวก็ฆ่าตัวตาย
ขณะที่สังคมไทยนั้นมีพื้นฐานแบบสังคมตะวันออกที่เรียกว่า shame society เราควบคุมคนในสังคมด้วยอุบายผ่านทางความน่าอาย พูดง่ายๆ คือสังคมตะวันออกกใช้ความน่าอับอายบังคับให้คนอยู่ในกรอบ เกิดขึ้นจากระบบปรัชญาขงจื๊อ
เพราะฉะนั้นเวลาคนไข้ของเรามีอาการทางจิต ซึมเศร้า อาการจะแสดงออกว่าอับอาย สิ่งใดที่ทำให้อับอาย เขาจะเคียดแค้นมาก คนไทยถึงหน้าบางในบางเรื่องอย่างไม่มีเหตุผล มีอะไรมาดูหมิ่นศักดิ์ศรีเลือดขึ้นหน้าง่ายมาก ถึงได้เกิดเหตุแบบล้อกันนิดหน่อยก็ตีกัน บอลแพ้ก็ยิงกัน แต่ความรู้สึกผิดไม่ค่อยมากนัก
ถ้ามองว่าโครงสร้างระบบตำรวจส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจ แล้วต้องรับมือต่อยังไง
ผมพยายามสืบหานะว่าตำรวจมีทรัพยากรอะไรในการรับมือเรื่องนี้บ้าง ไม่มีอะไรเลย องค์กรใหญ่ขนาดนั้นไม่มีแผนกสรรหาและคัดเลือกบุคลากร (Recruitment Office) ระบบตรวจสอบเป็นแบบโบราณ ไม่มีความทันสมัย มีแต่แผนกดูแลจัดการตัวเลขกำลังพล การเลื่อนยศ การจัดชั้นยศ
ทั้งที่สิ่งที่สมควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือระบบการคัดคน การพัฒนาบุคคล ระบบสวัสดิการบุคคล แต่นี่ไม่มีเป็นกิจจะลักษณะ ที่ต้องยกเรื่องนี้มาพูด เพราะมันมีผลกับการประเมินสุขภาพจิตของตำรวจ ที่ควรเป็นระบบบริหารแนวราบ
ทุกวันนี้ตำรวจคนนึงเวลามีปัญหาทางจิตใจ แค่จะพูดเอ่ยออกมาว่าตนเองมีปัญหา ก็ผิดวัฒนธรรมตำรวจแล้ว เพราะตำรวจมีวัฒนธรรม toxic masculinity คือบุรุษนิยมที่ยกย่องความแข็งแกร่งของผู้ชายแบบผิดเพี้ยน ทั้งที่ผู้ชายน่ายกย่องไม่ใช่เพราะอ่อนแอไม่ได้ แต่ต้องอยู่ที่การรู้จักรับผิดชอบ และอ่อนแอเป็น ซึ่งเป็นค่านิยมของสังคมสมัยใหม่
แต่สำหรับตำรวจ ทันทีที่เขาเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ต้องขออนุมัติผู้บังคับบัญชา ต้องขออนุมัติไปยังเบื้องบน แล้วเบื้องบนถึงค่อยอนุมัติให้ทำเรื่องส่งตัว ผู้บังคับบัญชาถึงได้อนุมัติส่งตัวไปยังรพ.ตำรวจข้ามกรม พอเรื่องไปถึงรพ. ตำรวจคนนี้ถึงค่อยถือหนังสือไปรพ.ตำรวจได้ กว่าจะไปได้ใช้เวลาไม่รู้กี่วันกี่อาทิตย์ พอไปถึงนั่งรอค่อนวัน เจอหมอ 5 นาที เป็นคุณจะรอขั้นตอนขนาดนี้ไหม
หน่วยงานต้องบริหารแบบแนวราบ ในทุกระดับกรมกองต้องมีตำรวจที่มีความรู้ด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษา ขนาดโรงงานใหญ่ๆ ยังมีการจ้างนักจิตวิทยาเข้าไปให้บริการเลย แต่ตำรวจกลับไม่มีระบบดูแลนี้ ไม่มีหน่วยงานให้คำปรึกษา บ้าขึ้นมาก็ลากปืนขึ้นโรงพักยิงเพื่อนตาย ยิงนายตาย ยิงตัวเองตาย เกิดขึ้นตลอด
อย่างกรณีผู้ก่อเหตุที่หนองบัวลำภู ตามที่รับทราบข้อมูล เขาเคยไปรักษา แต่ที่ จ.หนองบัวลำภูไม่มีจิตแพทย์ประจำการ จึงอาศัยจิตแพทย์จากรพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ ที่อยู่ห่างออกไปเป็น 100 กิโลเมตร มาตรวจสัปดาห์ละไม่กี่ชม. จะว่าเป็นปัญหาการเข้าถึงจิตแพทย์ก็ได้นะ ตลอดทางก่อนจะเกิดเหตุมีสัญญาณมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ก็ยังเกิดขึ้น นั่นกำลังบ่งบอกว่าสังคมเราไม่มีองค์ความรู้พอที่จะรับมือกับเรื่องนี้
มาถึงตอนนี้ รัฐต้องเร่งแก้ไขได้ยังไงบ้าง
เมื่อเรายอมรับกันแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ นักวิชาการก็ต้องนำเอาเหตุการณ์กราดยิงทั้งสามครั้ง คือ ลพบุรี โคราช และหนองบัวลำภู มาศึกษาด้วยวิธีการทางสถิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และประชากรศาสตร์ เพื่อปักหมุดหาปัจจัยสัมพันธ์ของเหตุการณ์ โดยเชื่อมโยงเข้ากับการฆ่าตัวตายของตำรวจ การฆ่ากันตาย รวมถึงการระบาดของการฆ่าตัวตายของประชากรไทย ซึ่งมีสถิติเพิ่มขึ้นมาแล้วหลายปี
ถ้าทำเช่นนี้ได้ เราก็จะสามารถทำนายเวลาที่จะเกิดได้ระดับนึง เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังได้ทัน อย่างเหตุกราดยิงครั้งล่าสุด เราก็เห็นสัญญาณอะไรบ้างอย่างแล้ว ประการแรก คือมีคนเข้าข้างผู้ก่อเหตุจำนวนมาก สิ่งนี้น่าอันตรายมาก และประการที่สอง คือมีเจ้าหน้าที่รัฐยกย่องผู้ก่อเหตุในที่ลับหรือไม่ สัญญาณเช่นนี้ในต่างประเทศ ซึ่งมีการระบาดของกรณีสังหารหมู่ล้วนเคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว เราจึงต้องเรียนรู้แล้วนำมาปรับใช้อย่างเข้มข้น
เช่นนี้แล้ว ยังมีความหวังไหมว่าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก
มันเกิดขึ้นอีกแน่นอน แต่การเกิดเหตุครั้งต่อไปนี่แหละสำคัญมาก จะเป็นตัวกำหนดว่า ปรากฏการณ์สังหารหมู่เป็นสภาวะระบาดในสังคมไทยแล้วหรือไม่ ซึ่งเราจะทราบได้ก็ต่อเมื่อรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงวิชาการอย่างเหมาะสมแล้ว
ถ้าเกิดขึ้นในกรอบระยะเวลาเงื่อนไขที่ศึกษา ก็เป็นไปได้ว่าเราได้เข้าสู่ระยะการระบาดของการสังหารหมู่แล้ว แต่หากอีก 7-8 ปีถึงจะปรากฏอีกครั้ง และยังไม่มีความเกี่ยวข้องกับที่เหตุก่อนหน้า ก็ยังบอกได้ว่ายังอยู่ในระยะที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง
แต่ผมไม่ค่อยเชื่อแบบนั้น เรามักตามหลังสถานการณ์ต่างประเทศอยู่ตลอดโดยเฉพาะสหรัฐฯ แถมเรามีเชื้อพร้อมปะทุ และหากการระบาดเกิดขึ้นจริงในบ้านเรายิ่งน่าห่วง เนื่องจากเหตุสังหารหมู่ในอเมริกานั้น จำนวนมากเกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียน ผู้ก่อเหตุเกือบทั้งหมดเป็นเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่ในยุโรปก็เกิดขึ้นในสังคมโดยรวม แต่ส่วนหนึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยแรงจูงใจทางเชื้อชาติ และการเมือง อย่างใน นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เป็นต้น
ต่างกับประเทศไทย ที่ผมเชื่อว่า จะระบาดอยู่ในกลุ่มข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งเข้าถึงอาวุธได้ง่าย และจะมีเหตุตั้งต้นมาจากระบบโครงสร้างภายในขององค์กรเอง
ถ้าพูดแบบนักวิชาการที่ทำงานเป็นจิตแพทย์ คอยให้บริการด้านสุขภาพประชาชน ผมต้องบอกว่าสังคมเรายังมีความหวัง ถ้าเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องที่เกิดขึ้น ใช้องค์ความรู้บริหารจัดการอย่างเหมาะสม แต่ในฐานะมนุษย์อายุ 50 กว่าปี ในหัวใจมีอคติบ้าง ผมมองระบบราชการแล้วสิ้นหวังไม่รู้จะแก้ยังไงเสียแล้ว
“ผมอยากให้ผมคิดผิดนะ สมมติว่าเดือนหน้ามีใครมาด่าผมว่าผิด ผมดีใจมาก ผมไม่ได้อยากพูดถูก แต่ผมกลัวว่าถ้าผมถูกขึ้นมาใครจะมีปัญญารับผิดชอบ” นับเป็นความปรารถนาสูงสุดทั้งในฐานะจิตแพทย์ และผู้สังเกตการณ์ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์กราดยิงของไทยอย่างใกล้ชิดมาตลอด