ทำไมเราถึงมีความรู้สึกรุนแรงกับกรณีที่วัยรุ่นอารมณ์ร้ายลงจากรถมาลากคอหนุ่มขี่มอเตอร์ไซค์ให้มากราบรถสีเหลืองราคาแพง (กว่า) ของตัวเอง
ความโกรธเกรี้ยวของมวลชนที่มันรุนแรงมากๆ หลักๆ ไม่น่าจะอยู่ที่การทำร้ายร่างกายของดาราใจร้อนที่รัวกำปั้นใส่ชายหนุ่มที่ดูไร้ทางสู้ แต่มันเกิดจากการบังคับลากคอชายหนุ่มคนนั้น ให้ลงกราบขอโทษรถคันงามจากแดนยุโรป
นัยทางชนชั้นในระบบทุนนิยมเลยเจิดจ้าขึ้นท่ามกลางฝูงชน ในเชิงความหมาย มันกลายเป็นว่าชายหนุ่มคนนั้น ผู้ซึ่งเป็น ‘คน’ กลับถูกบังคับให้แสดงความเคารพกับ ‘วัตถุสิ่งของ’ ซึ่งแน่ล่ะ การกราบสิ่งใดๆ มันเป็นการแสดงออกถึงลำดับชั้น แปลว่าสิ่งที่เรากำลังกราบนั้น เป็นสิ่งที่สูงส่งกว่าตัวเราเอง
แล้วยิ่งเป็นรถยนต์ด้วย!? เวลาเรากราบไหว้วัตถุสิ่งของอื่นๆ เราไม่ได้กราบตัววัตถุนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังแสดงความเคารพ… เคารพอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์
ยิ่งเป็นรถยนต์แล้ว ด้วยตัวมันเอง รถยนต์ก็เป็นนวัตกรรมและตัวแทนหนึ่งของโลกสมัยใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จและความร่ำรวยในโลกของระบบทุนนิยม
โลกที่ผลิตสิ่งของและความหมายออกมารายล้อมเรามากมาย และเราก็อาจจะไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่
โลกของวัตถุ
คำว่าวัตถุนิยมเป็นคำที่เราฟังแล้วรู้สึกคันในหัวใจ คือเราไม่ชอบคำนี้เนอะ เราก็อยู่ในโลกทุนนิยม เรากินเราใช้สิ่งต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าไม่ชอบไอ้ระบบที่มันเต็มไปด้วยความโลภและความหมายจอมปลอมพวกนี้ มันเป็นโลกที่เราต้องคอยระมัดระวังกายและใจไม่ให้หลงใหลไปกับความหมายและหลุมพรางต่างๆ ที่โลกแห่งเงินตรานี้สร้างขึ้น
ทุนนิยมเป็นโลกแห่งวัตถุ เป็นโลกที่ยืนอยู่บนการผลิตสิ่งของจำนวนมากมายจนล้นเกินจากความต้องการของเราๆ
ในโลกสมัยใหม่ เราจึงรายล้อมไปด้วยข้าวของที่เกินไปจากแค่คำว่า ‘จำเป็น’
สิ่งที่ระบบทุนนิยมและโลกของการบริโภคได้สร้างขึ้นมาคือความฝันและความปรารถนาที่ไม่สิ้นสุดผ่านการสร้างชุดความหมายต่างๆ ความหมายที่เข้ารหัสไว้ในข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ตัวตนและรสนิยมของเราถูกบ่งชี้ผ่านสิ่งของและวิธีการที่เราบริโภคสิ่งต่างๆ ผ่านรถที่เราขับ เสื้อผ้าที่เราใส่ ห้างที่เราเดิน
ตรรกะของการบริโภค
เราอาจจะรู้สึกว่า การบริโภคเป็นแค่เรื่องของตัวเราเอง แต่จริงๆ แล้ว หลักคิดที่โลกบริโภคนิยมกำลังใส่ความหมายให้กับข้าวของที่เราอยากได้ มันยืนอยู่บนการเปรียบเทียบความแตกต่างกับคนอื่น
ความหมายต่างๆ เกิดขึ้นจากการ ‘เทียบเคียง’ กับสิ่งอื่นๆ และในนัยของการเทียบเคียงนั้นมันไม่ได้เทียบเปล่าๆ แต่มันแฝงไว้ด้วยการแบ่งแยกว่าสิ่งที่เราบริโภคนี้มันดีกว่า แพงกว่า มีรสนิยมกว่า เก๋กว่า สุขภาพดีกว่า หรือมีความรู้มากกว่าเสมอ
ในโลกของการบริโภคสมัยใหม่ เราจึงไม่ได้บริโภคแค่วัตถุต่างๆ อีกต่อไป ปิแอร์ บูร์ดิเยอ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส บอกว่าการบริโภคของเราเป็นสิ่งที่เราใช้เพื่อแสดงความโดดเด่น (distinction) ของตัวเอง โดยในนัยของความแตกต่างมันมีการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ รถยุโรปถูกมองว่าแสดงรสนิยมและความมั่งคั่งมากกว่ารถญี่ปุ่นหรือมอเตอร์ไซค์ กระเป๋าแบรนด์เนมแสดงฐานะที่สูงกว่ากระเป๋ายี่ห้อดาษๆ ร้านอาหารหรูๆ ดูดีกว่าร้านส้มตำริมทาง
เราอาจจะบอกว่าเราไม่ได้ให้ค่ากับข้าวของที่มันไร้ความหมายพวกนี้ แต่ลึกๆ หรือเวลาที่เราเห็นใคร เราก็อดตัดสินคนๆ นั้นจากข้าวของหรือวัตถุที่คนๆ นั้นครอบครองไม่ได้อยู่ดี
เรา ‘ประมาณค่า’ ของผู้คน จากข้าวของและทรัพย์สินที่คนนั้นครอบครอง
ฝันในโลกทุนนิยม
ความฝัน ในด้านหนึ่งมันคือสิ่งที่บอกว่าเราใช้ชีวิตอยู่เพื่ออะไร ในโลกทุนนิยมมีคำสัญญาประมาณว่าในโลกเสรีนี้เราสามารถจะนำตัวเองและครอบครัวไปสู่การมี ‘ชีวิตที่ดี’ ได้ นิยามของการมีชีวิตที่ดีดูจะเป็นความฝันเลือนๆ ที่เรามีคล้ายๆ กัน แต่เราก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป ในฝันของเรามีบ้าน มีรถ ซึ่งก็สุดแท้แต่รายละเอียด แล้วแต่ว่าจะชอบแบบไหน อาจจะเป็นสีเหลืองมั้ย
จะว่าไป คำว่าความฝันฟังดูเป็นเรื่องอุดมคติ เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ดี ดังนั้นเลยมีเหตุผลหนึ่งแว่วๆ มาว่า นี่มันเป็นสิ่งของในฝัน ดังนั้นอารมณ์ที่หลั่งออกมามันเลยรุนแรงกว่าปกติ
ไม่ได้บอกว่าการปล่อยให้อารมณ์ครอบงำเป็นเรื่องถูกต้อง แต่อำนาจของมูลค่ามันก็เป็นเรื่องที่ถูกนำมาท้าทายศีลธรรมหรือพฤติกรรมของเราเสมอ คำถามแบบที่ว่า ถ้าจะให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อแลกกับเงินจึงเป็นเกมที่ถูกเอามา ‘วัด’ มูลค่าทางศีลธรรมของเราอยู่เสมอ ถ้าแลกกับเงิน 1 แสนบาทแลกกับการตบหน้าเพื่อนเราเอามั้ย หรือสองพันบาทแล้วกินอาหารตลกๆ เอารึเปล่า
ในการสำรวจ มีการถามอเมริกันชนว่า ถ้าจะให้ฆ่าใครซักคนเพื่อแลกกับเงินสามล้านเหรียญจะเอามั้ย ผลคือ 1 ใน 14 คนบอกว่ายินดีที่จะทำ ส่วนที่ไม่ต้องฆ่าใคร เช่นการให้ไปเผชิญความลำบากในเกาะร้างเพื่อแลกกับเงิน 1 ล้านเหรียญ ผลคือมีคนตั้ง 65% บอกว่ายินดีที่จะทำ
ช้าก่อน ไม่ได้บอกว่าคุณพี่รถเหลืองจะมีความชอบธรรมที่จะซัดชาวบ้าน การกระทำใดๆ ย่อมมีผลต่อเนื่องเสมอ พี่แกก็ได้รับโทษ โทษที่ไม่รู้เหมือนกันว่ารุนแรงพอดีกับการกระทำของพี่แกรึเปล่า แต่ประเด็นที่มันน่าคิดคือ หรือจริงๆ แล้ว ในโลกของระบบทุนนิยม ‘เงิน’ อันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของโลกบริโภค (ซึ่งจะนำไปสู่ข้าวของและการมีชีวิตที่ดี) มันอาจจะเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่ามนุษย์เราเสมอ
เพราะสุดท้าย ชีวิตของเราเองก็อาจจะประมาณค่าได้ด้วยเงิน เป็นสิ่งที่เรายอมเอาชีวิตเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อให้ได้มันมา
อย่างน้อยๆ ก็เวลาละเนอะ ถ้าเรามองว่าเวลาก็คือค่าพลังชีวิตหนึ่งของเรา
Cover Illustration by Namsai Supavong