หลายปีที่ผ่านมา กระแส ‘ทิ้ง’ สิ่งที่ไม่สำคัญและเก็บไว้แต่สิ่งที่จำเป็นทำให้เราเริ่ม ‘ลดทอน’ รายละเอียดบางอย่างในชีวิตลง เพราะเชื่อว่ายิ่งย่อยให้เหลือน้อยเท่าไหร่ก็จะยิ่งรู้สึกสุนทรีย์มากเท่านั้น จึงเป็นที่มาของ ‘Minimal Style’ แนวคิดด้านการออกแบบที่เน้นความธรรมดา เรียบง่าย แต่ดูดี
‘Less is more.’ หรือ ‘น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้’ ถือเป็นคอนเซ็ปต์ที่มาแรงในอุตสาหกรรมการออกแบบของยุคสมัยใหม่มานานนับหลายปี ทำให้หลังๆ เรามักจะเห็นเทรนด์การแต่งห้องโล่ง ผนังขาว มีเฟอร์นิเจอร์ตั้งอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น หรือแฟชั่นการแต่งตัวสีพื้น ไม่มีลวดลาย ดูแล้วสบายตา และอาจลามไปถึงงานกราฟิก งานออกแบบ หรืองานศิลปะต่างๆ ที่แม้จะมีรายละเอียดไม่มาก แต่กลับดูแล้ว ‘มีอะไร’
แต่สำหรับใครที่ชื่นชอบความ ‘เล่นใหญ่’ สไตล์มินินอลอาจทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางความจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา และน่าเบื่อ เพราะเรียกได้ว่าเป็นสไตล์ที่พวกเขาไม่ได้ปลดปล่อยความรู้สึกและตัวตนออกมาเท่าที่ควร Less is more. จึงกลายเป็น ‘Less is a bore.’ อย่างที่โรเบิร์ต เวนทูรี สถาปนิกชาวอเมริกาเคยกล่าวเอาไว้ ทำให้ปัจจุบัน ‘Maximal Style’ เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการออกแบบมากขึ้น
สไตล์แม็กซิมอลแรกเริ่มนั้นเกิดจากการออกแบบกราฟิกของป้ายโฆษณาหรือป้ายการค้าในช่วงปีค.ศ. 1700 โดยช่างฝีมือที่ต้องการจะโฆษณาการบริการของเขา ซึ่งป้ายนี้ทำให้เกิดความแพร่หลายของภาพพิมพ์หินสีในเวลาต่อมาด้วย
พอถึงยุควิคตอเรียน ภาพพิมพ์หินสีจึงกลายมาเป็นวิธีที่ผู้คนใช้ในการทำป้ายโฆษณาสินค้าและบริการ เรียกได้ว่าวิคตอเรียนถือว่าเป็นผู้ริเริ่มสไตล์แม็กซิมอลขึ้นมา แต่บางคนก็เชื่อว่าสไตล์แม็กซิมอลมีที่มาจากอาการที่เรียกว่า ‘horror vacui’ หรือ ‘โรคกลัวที่ว่าง’ (a fear of empty space) ซึ่ง มาริโอ้ ปราซ (Mario Praz) นักวิจารณ์ศิลปะชาวอิตาเลียนก็ได้ใช้คำนี้ในการเรียกศิลปะยุควิคตอเรียนที่ดูหรูหราฟุ่มเฟือย ไม่ยอมให้เกิดพื้นที่สีขาวหรือพื้นที่ว่าง ซึ่งการเติมพื้นที่ว่างเปล่านี้เองเป็นอิทธิพลจากศิลปินในยุคโบราณและส่งผลจนถึงนักออกแบบกราฟิกในยุคปัจจุบัน
ปรัชญาว่าด้วยสไตล์แม็กซิมอล
ทำไมแนวคิด more is more. ถึงได้รับความนิยมในชาวแม็กซิมอล? ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ชายที่ชื่อ ออสการ์ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนนวนิยายชาวไอริชที่มีผลงานเรื่อง The Picture of Dorian Gray เขามองว่าศิลปะคือ ‘ความไร้ประโยชน์ที่สวยงาม’ และถ้าหากการมีชีวิตอยู่ของคนเรานั้นมีแค่การกินกับการนอน มันจะทำให้ภายในบ้านมีเพียงแค่โต๊ะอาหารและเตียงตั้งอยู่แค่สองอย่าง ซึ่งมองดูแล้วช่างเป็นสถานที่ที่น่าเกลียดสำหรับเขา เพราะมีเพียงแต่สิ่งที่มีประโยชน์เท่านั้น แต่กลับกัน บ้านที่เต็มไปด้วยสิ่งไม่มีประโยชน์แต่น่าดึงดูด อย่างรูปปั้น ภาพวาด กองหนังสือ เก้าอี้นุ่มสบายสักตัว และเปียโนตัวใหญ่ ดูแล้วเป็นสถานที่ที่โคตรจะสวยงามและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นพื้นฐานปรัชญาสุนทรียศาสตร์ในมุมมองของไวลด์ หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘สุขนิยมแบบใหม่’ และเป็นรากฐานของความเป็นแม็กซิมอลเช่นกัน
นอกจากนี้ การออกแบบสไตล์แม็กซิมอลยังสามารถนำมาใช้อธิบายสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ เพราะหากความเป็นมินิมอลคือการประหยัดโดยตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป แสดงว่าเรากำลังหลุดพ้นจากกระแสบริโภคนิยม ซึ่งย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
เดวิด อัลฮาเดฟฟ์ (David Alhadeff) ผู้ก่อตั้ง The Future Perfect แกลอรี่และร้านค้าปลีกด้านการออกแบบ ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนรสนิยมจากมินิมอลไปสู่แม็กซิมอล ถือเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มดีขึ้น
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู การบริโภคสินค้าแบบบ้าคลั่งก็เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ เพราะตลาดจะนำสิ่งที่พวกเขาสามารถจับต้องได้มาให้” – เดวิด อัลฮาเดฟฟ์
‘เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ชอบ’ ไม่จำกัดกรอบความเป็นตัวเอง
‘more is more.’ หรือ ‘มากก็คือมาก’ ขอให้ทุกคนนึกไปถึงสีสันที่ฉูดฉาด เฉดที่สดใส จัดเต็มไปด้วยลวดลายและเลเยอร์ เพราะทั้งหมดนี้คือหัวใจสำคัญของความเป็นแม็กซิมอลที่จะช่วยกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก และตัวตนของพวกเขาออกมาได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าสะท้อนออกมาผ่านทางแฟชั่น การดีไซน์ตกแต่ง หรือการแสดงความคิดสร้างสรรค์ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้สิ่งนั้นหรือพื้นที่ตรงนั้นท่วมท้นไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำ
ไม่ว่าจะเป็นสไตล์มินิมอลหรือแม็กซิมอลก็ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในงานศิลปะหรืองานออกแบบเท่านั้น เพราะแนวคิดเหล่านี้ได้สอดแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันเราเรียกได้ว่าเกือบจะทุกอย่าง เพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน และบ้านที่จัด ถ้าในแง่ของการตกแต่งบ้าน ความแม็กซิมอลคือการจัดวางหรือนำสิ่งของที่เรารักหรือพอใจเข้ามาไว้ในห้อง แม้ว่ามันจะไม่แมทช์กับอะไรเลยก็ตาม แต่เพื่อเป็นการปลุกเร้าอารมณ์ ความหลงใหล และสะท้อนตัวตน จึงไม่จำเป็นจะต้องไปสนใจในเรื่องของความเข้าคู่กันเท่าไหร่นัก หรือเรียกว่าอยากวางอะไรไว้ตรงไหนก็วางไป โนสน โนแคร์
เช่นเดียวกันกับการแต่งตัว ชาวมินิมอลอาจจะแมทช์แค่เสื้อและกางเกงสีพื้นอย่างละตัว แต่ชาวแม็กซิมอลจะมาพร้อมกับเสื้อผ้าหลายเลเยอร์ที่มีลวดลายและสีสันฉูดฉาด รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่ง สไตล์แม็กซิมอลจึงถือว่าเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้อารมณ์และความรู้สึกได้โลดแล่นอย่างเต็มที่
Bigger is better.
การตกแต่งที่ดูเยอะไม่ได้หมายความว่าจะต้องรกรุงรังหรือดูยุ่งเหยิงเสมอไป เพราะความเป็นระเบียบก็ยังคงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอยู่ ถืงแม้เราจะมีของมากหรือน้อยชิ้น แต่ถ้าเราอยากจับมาเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นสไตล์แม็กซิมอลก็ย่อมทำได้ โดยอาศัยการเล่นกับองค์ประกอบของสีและพื้นผิว หรือการจัดวางแบบมั่วๆ ก็อาจก่อให้เกิดความสวยงามแบบบังเอิญได้
แต่อย่างไรก็ตาม ความแม็กซิมอลอาจทำให้เราขาดทิศทางที่ชัดเจน จนบางครั้งเกิดเป็นความวุ่นวายหรือดูแน่นจนเกินไป และอาจจะหลุดออกจากคอนเซ็ปต์ความงามที่เราพูดถึงกันอยู่
ถ้ามินิมอลคือการทิ้ง แม็กซิมอลคือการ ‘เก็บทุกสิ่ง’ เอาไว้
“ไม่สปาร์กจอยก็ทิ้งไป” ประโยคเด็ดที่ มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo) กูรูด้านการจัดบ้านชื่อดังเคยกล่าวเอาไว้ โดยเธอเองเปรียบเสมือนไอดอลในการแต่งบ้านของชาวมินิมอล ด้วยวิถี ‘คมมาริ’ (Konmari) ของเธอจึงทำให้ใครหลายคนสามารถเก็บกวาดบ้านให้เหลือเป็นพื้นที่โล่งสบายตา ด้วยการสัมผัสวัตถุต่างๆ แล้วถามใจตัวเองว่า ‘สปาร์กจอย’ กับสิ่งๆ นั้นหรือเปล่า
แต่พอมานึกๆ ดูแล้ว ถ้าเราดันสปาร์กจอยกับของทุกอย่างเลยล่ะ ถือเป็นเรื่องแปลกหรือเปล่า?
สำหรับชาวแม็กซิมอลแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ถ้าสิ่งเหล่านั้นมันแสดงออกถึงอารมณ์และตัวตนของพวกเขาได้เป็นอย่างดี อยากติดรูปภาพบนผนังหรอ? ก็ติดไปเลย ติดไปเยอะๆ เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นแกลอรี่ส่วนตัวก็ดีเหมือนกัน อยากได้โซฟาตัวใหญ่ๆ สีเจ็บๆ หรอ? ก็จัดไปสิ ยิ่งใหญ่ยิ่งดี หรือถ้ามีหนังสือที่สะสมไว้แล้วอยากเอาออกมาจัดเรียงก็ย่อมทำได้ เพราะของทุกชิ้นมีเรื่องราวและสื่อถึงความเป็นตัวบุคคลนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นพวกเขาซื้อหรือมีสิ่งที่ดูไม่มีประโยชน์รอบๆ ตัว
คนส่วนมากอาจจะเก็บเฉพาะสิ่งที่ชอบหรือมีประโยชน์เอาไว้ แต่กับชาวแม็กซิมอลชอบที่จะเก็บสิ่งที่กระตุ้นความคิดและสร้างแรงบันดาลใจเอาไว้รอบตัวมากกว่า แม้ว่ามันจะใช้อะไรไม่ได้เลยก็ตาม ซึ่งพวกเขามองว่า ถ้าจำนวน สีสัน หรือลวดลายสามารถช่วยเติมเต็มความสุขและทำให้เรารู้สึกสปาร์กจอยได้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะ ‘เพิ่ม’ รายละเอียดบางอย่างเข้าไปหรือ ‘เก็บ’ บางสิ่งเอาไว้ เพราะสุดท้าย ‘มากคือมาก’ ยิ่งเพิ่มเข้าไปมาก ก็ยิ่งรู้สึกสุนทรีย์มากเช่นเดียวกัน
การดีไซน์ตกแต่งก็เหมือนกับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่มักจะมีการวนกลับมาอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งไหนตายตัวหรือกำหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด ขอแค่สะท้อนความเป็นตัวเราออกมาได้และเราพึงพอใจกับมันก็พอแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก